วัตถุประสงค์ของการทบทวนวรรณกรรมนี้คืออะไร?
จุดมุ่งหมายของการทบทวนนี้คือ ค้นหาว่าสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อให้ความรู้ ที่แจกให้กับบุคลากรด้านการดูแลสุขภาพ ทำให้พวกเขาสามารถปฏิบัติงานได้ดีขึ้น และทำให้สุขภาพของผู้ป่วยดีขึ้นได้หรือไม่
ใจความสำคัญ
ผลการทบทวนวรรณกรรมนี้พบว่า สื่อพิมพ์เพื่อให้ความรู้ อาจช่วยปรับปรุงการปฏิบัติงานของบุคลากรสุขภาพ และอาจสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อสุขภาพของผู้ป่วย ผลการวิจัยยังชี้ให้เห็นว่าสื่อในรูปแบบคอมพิวเตอร์อาจสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อการปฏิบัติของผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพเมื่อเทียบกับรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์ การวิจัยเพิ่มเติมด้วยวิธีการวิจัยที่เข้มงวด มีแนวโน้มที่จะมีผลกระทบที่สำคัญต่อความเชื่อมั่นของเราในการประมาณการผลของการศึกษาเหล่านี้ และอาจเปลี่ยนแปลงค่าประมาณของผลการศึกษาด้วย
การทบทวนวรรณกรรมนี้ได้ศึกษาอะไร
วารสารทางการแพทย์และแนวทางปฏิบัติทางคลินิกเป็นช่องทางทั่วไปในการเผยแพร่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ให้กับบุคลากรสุขภาพ เนื่องจากสามารถเผยแพร่ได้อย่างกว้างขวางโดยมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างต่ำ การจัดส่งสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อให้ความรู้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มการรับรู้ ความรู้ ทัศนคติ และทักษะของบุคลากรสุขภาพ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเพื่อเพิ่มการปฏิบัติการและผลลัพธ์ด้านสุขภาพของผู้ป่วยให้ดีขึ้น
อะไรคือผลลัพธ์หลักของการทบทวนวรรณกรรมนี้?
ผู้นิพนธ์การทบทวนวรรณกรรมพบการศึกษาจำนวน 84 รายการ การศึกษาเหล่านี้ส่วนใหญ่เปรียบเทียบผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพที่ได้รับสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อให้ความรู้ กับผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพที่ไม่ได้รับสื่อสิ่งพิมพ์ ผลการทบทวนวรรณกรรมนี้พบว่า สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อให้ความรู้ อาจช่วยปรับปรุงการปฏิบัติงานของบุคลากรสุขภาพ และอาจสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อสุขภาพของผู้ป่วย การศึกษา 2 รายการ (การวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่ม (randomised trial) และ การวิจัยเชิงทดลองที่วัดผลทั้งก่อนและหลังการทดลองโดยมีกลุ่มควบคุม (controlled before-after study: CBA)) เปรียบเทียบสื่อเพื่อให้ความรู้แบบสิ่งพิมพ์และแบบคอมพิวเตอร์ในเนื้อหาเดียวกัน และชี้ให้เห็นว่าแบบคอมพิวเตอร์อาจสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยสำหรับการปฏิบัติของบุคลากรสุขภาพเมื่อเทียบกับแบบที่พิมพ์
ความเป็นปัจจุบันของการทบทวนวรรณกรรมนี้เป็นอย่างไร
ผู้เขียนการทบทวนวรรณกรรมสืบค้นการศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์จนถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2019
ผลของการทบทวนนี้ชี้ให้เห็นว่าเมื่อใช้สื่อเพียงอย่างเดียวและเปรียบเทียบกับไม่ได้รับวิธีการใดๆ PEMs อาจช่วยปรับปรุงผลการปฏิบัติของผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพและผลลัพธ์ด้านสุขภาพของผู้ป่วยได้เล็กน้อย ประสิทธิผลของ PEMs เมื่อเทียบกับวิธีการอื่น ๆ หรือของ PEMs ที่เป็นส่วนหนึ่งของวิธีการหลายๆ อย่างนั้นไม่แน่นอน
สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อให้ความรู้เป็นกลยุทธ์การเผยแพร่ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายเพื่อเพิ่มคุณภาพการปฏิบัติงานของบุคลากรสุขภาพและผลลัพธ์ด้านสุขภาพของผู้ป่วย โดยปกติจะนำเสนอในรูปแบบกระดาษ เช่น เอกสาร การตีพิมพ์บทความในวารสารที่ผ่านการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ และแนวทางปฏิบัติทางคลินิก นี่เป็นการปรับปรุงครั้งที่ 4 ของการทบทวนวรรณกรรมเรื่องนี้
เพื่อประเมินผลของสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อให้ความรู้ (printed educational materials: PEMs) ที่มีต่อการปฏิบัติงานของบุคลากรสุขภาพ และผลลัพธ์ด้านสุขภาพของผู้ป่วย
เพื่อสำรวจผลของลักษณะเฉพาะบางประการของสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อให้ความรู้ (เช่น แหล่งที่มา เนื้อหา รูปแบบ) ที่มีต่อผลต่อการปฏิบัติของบุคลากรสุขภาพ และผลลัพธ์ด้านสุขภาพของผู้ป่วย
เราสืบค้นหลักฐทนจากฐานข้อมูล MEDLINE, Embase, Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL), HealthStar, CINAHL, ERIC, CAB Abstracts, Global Health และ EPOC Register ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึง 6 กุมภาพันธ์ 2019 เราตรวจสอบรายการอ้างอิงของการศึกษาทั้งหมดที่นำเข้าและการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบอื่นที่เกี่ยวข้อง
เรารวมการวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่ม (randomised trial: RTs) และ การวิจัยเชิงทดลองที่วัดผลทั้งก่อนและหลังการทดลองโดยมีกลุ่มควบคุม (controlled before-after studies: CBAs) และ interrupted time series (ITSs) ที่ประเมินผลของ PEMs ต่อการปฏิบัติของผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพหรือผลลัพธ์ด้านสุขภาพของผู้ป่วย เราได้รวบรวมการเปรียบเทียบไว้ 3 รูปแบบ: (1) PEM เปรียบเทียบกับ ไม่ได้รับวิธีการใดๆ (2) PEM เปรียบเทียบกับ การได้รับวิธีการ 1 อย่าง (3) การได้รับวิธีการหลายๆ อย่าง ซึ่งมี PEM รวมอยู่ด้วย เปรียบเทียบกับ การได้รับวิธีการหลายๆ อย่าง ซึ่งไม่มี PEM รวมอยู่ด้วย รวมถึงการวัดการปฏิบัติงานในเชิงวิชาชีพ (เช่น การสั่งยาสำหรับยาเฉพาะ) หรือ ผลลัพธ์ด้านสุขภาพของผู้ป่วย (เช่น ความดันโลหิต)
ผู้ทบทวนวรรณกรรม 2 คน ดำเนินการสกัดข้อมูลโดยอิสระต่อกัน เราแก้ไขความขัดแย้งใด ๆ ผ่านการปรึกษาหารือ สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูล เราได้จัดกลุ่มการศึกษาที่รวบรวมมาได้ตามรูปแบบของวิธีการศึกษา ประเภทของผลลัพธ์ และประเภทของคู่เปรียบเทียบ สำหรับการทดลองที่มีกลุ่มควบคุม เราได้รายงานค่ามัธยฐานสำหรับแต่ละผลลัพธ์ในการศึกษาแต่ละรายการ, ค่ามัธยฐานของผลลัพธ์ทั้งหมดสำหรับแต่ละการศึกษา และค่ามัธยฐานของขนาดผลเหล่านี้ของทุกการศึกษา ในกรณีที่มีข้อมูล เราจะวิเคราะห์การศึกษาของ ITS อีกครั้ง โดยการแปลงข้อมูลทั้งหมดเป็นรายเดือน และประมาณขนาดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงความชันของเส้นการถดถอยระหว่างก่อนและหลังการใช้ PEM เรารายงานการเปลี่ยนแปลงค่ามัธยฐานของความชันสำหรับแต่ละผลลัพธ์ สำหรับแต่ละการศึกษา และจากนั้นระหว่างการศึกษา เรากำหนดมาตรฐานการเปลี่ยนแปลงความชันทั้งหมดด้วย standard error ทำให้สามารถเปรียบเทียบและรวมผลลัพธ์ที่ต่างกันได้ เราจัดหมวดหมู่ PEM แต่ละรายการตาม potential effect modifiers ที่เกี่ยวข้องกับแหล่งที่มาของ PEM ช่องทางที่ใช้ในการส่งสื่อ เนื้อหา และรูปแบบของสื่อ เราได้ประเมินความเสี่ยงของอคติของการศึกษาทั้งหมดที่รวบรวมมาได้
เรารวบรวมการศึกษาได้จำนวน 84 รายการ: แบ่งเป็น RTs จำนวน 32 รายการ, CBAs จำนวน 2 รายการ และ ITS studies 50 รายการ จากการศึกษาที่เป็น RTs จำนวน 32 รายการ เป็น cluster RTs จำนวน 19 รายการ ที่ใช้หน่วยของการสุ่มที่มีความหลากหลาย เช่น สถานบริการ ศูนย์อนามัย เมือง หรือพื้นที่
การศึกษาส่วนใหญ่ที่รวบรวมไว้ (82/84) เปรียบเทียบประสิทธิผลของการให้ PEM เปรียบเทียบกับ ไม่ได้รับวิธีการใดๆ จากข้อมูล RTs ที่ให้หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นปานกลาง เราพบว่า PEM ที่แจกให้กับผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพอาจช่วยปรับปรุงการปฏิบัติของพวกเขาได้ เมื่อวัดด้วยตัวแปรทวิภาค (dichotomous variables) เปรียบเทียบกับการไม่ได้รับวิธีการใดๆ (ค่ามัธยฐานความเสี่ยงสมบูรณ์ (ARD): 0.04; ช่วงระหว่างควอไทล์ (IQR): 0.01 ถึง 0.09; บุคลากรสุขภาพ 3,963 คน ที่สุ่มมาจากหน่วยงานจำนวน 3073 หน่วย) เราไม่สามารถยืนยันการค้นพบนี้โดยใช้หลักฐานที่รวบรวมจากตัวแปรต่อเนื่อง (ผลต่างค่าเฉลี่ยมาตรฐาน (SMD): 0.11; IQR: -0.16 ถึง 0.52; 1631 ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพ ที่สุ่มมาจากหน่วยงานจำนวน 1373 หน่วย) จากการศึกษาของ ITS (การเปลี่ยนแปลงของค่าความชันของค่ามัธยฐานมาตรฐาน = 0.69; 35 การศึกษา) หรือจากการศึกษา CBA เนื่องจากความเชื่อมั่นของหลักฐานนี้ต่ำมาก นอกจากนี้เรายังพบจาก RTs ที่ให้หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นระดับปานกลางว่า PEM ที่ให้กับบุคลากรสุขภาพ อาจสร้างความแตกต่างให้กับสุขภาพของผู้ป่วยเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย เมื่อวัดโดยใช้ตัวแปรทวิภาค (dichotomous variables) เมื่อเทียบกับ ไม่ได้รับวิธีการใดๆ (ARD: 0.02; IQR: -0.005 ถึง 0.09; ผู้ป่วย 935,015 คน ที่สุ่มมาจากหน่วยงานจำนวน 959 หน่วย) หลักฐานที่รวบรวมจากตัวแปรต่อเนื่อง (SMD: 0.05; IQR: -0.12 ถึง 0.09; ผู้ป่วย 6,737 ราย ที่สุ่มมาจากหน่วยงานจำนวน 594 หน่วย) หรือจากผลการศึกษาของ ITS (การเปลี่ยนแปลงของค่าความชันของค่ามัธยฐานมาตรฐาน = 1.12; 8 การศึกษา) ซึ่งไม่ได้ช่วยเสริมการค้นพบเหล่านี้ เนื่องจากความเชื่อมั่นของหลักฐานนี้ต่ำมาก
การศึกษา 2 รายการ (การทดลองแบบสุ่มและ CBA) เปรียบสื่อแบบที่ใช้กระดาษกับแบบที่ใช้คอมพิวเตอร์ที่มีเนื้อหาเดียวกัน จาก RT ที่แสดงหลักฐานว่ามีความเชื่อมั่นต่ำ เราพบว่า PEM ในแบบคอมพิวเตอร์ อาจสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อการปฏิบัติของผู้เชี่ยวชาญเมื่อเทียบกับ PEM แบบที่พิมพ์ (ARD: -0.02; IQR: -0.03 ถึง 0.00; ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพ 139 คน) การค้นพบนี้ไม่ได้รับข้อมูลสนับสนุนเพิ่มเติมจากการศึกษาแบบ CBA ที่ให้หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก (SMD: 0.44; บุคลากรสุขภาพ 32 คน)
ข้อมูลที่รวบรวมไม่ได้ช่วยให้เราสามารถสรุปได้ว่า คุณลักษณะของ PEM ใดที่มีผลต่อประสิทธิผล
คุณภาพของระเบียบวิธีวิจัยของการศึกษาที่รวบรวมมาได้มีความแตกต่างกัน ครึ่งหนึ่งของ RTs ที่รวบรวมมาได้มีความเสี่ยงที่จะมี selection bias การศึกษาของ ITS ส่วนใหญ่ดำเนินการแบบย้อนหลัง โดยไม่ได้ระบุล่วงหน้าถึงผลที่คาดว่าจะได้รับจากวิธีการ หรือยอมรับว่ามีการเปลี่ยนแปลงตามเวลา
ผู้แปล ศ.นพ ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2021