เรามองหาหลักฐานจากการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมว่าวิธีการรักษาด้วยการระบายความร้อนเฉพาะที่มีประสิทธิผลในการลดความเจ็บปวดจากการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นระหว่างช่องคลอดและทวารหนักนั่นคือ 'แผลฝีเย็บ' เมื่อคลอดบุตร
เรื่องนี้มีประเด็นอย่างไร
การฉีกขาดของฝีเย็บเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในระหว่างการคลอดบุตร นอกจากนี้บางครั้งผู้ที่เข้ารับการคลอดจะถูกตัดฝีเย็บเพื่อให้มีพื้นที่เพิ่มขึ้นสำหรับทารกที่จะคลอดออกมา (การตัดฝีเย็บ)
บาดแผลเหล่านี้มักทำให้เกิดความเจ็บปวด และแม่อาจมีปัญหาในการเดินหรือการนั่งหรือการให้นมและการดูแลลูกน้อย
ทำไมเรื่องนี้จึงมีความสำคัญ
ความเจ็บปวดจากการฉีกขาดหรือบาดแผลที่ฝีเย็บมีผลต่อการลดความสามารถในการเคลื่อนไหวของสตรีและทำให้รู้สึกไม่สบายตัวเมื่อปัสสาวะหรืออุจจาระ สิ่งนี้อาจส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีทางอารมณ์ของเธอ อาการปวดฝีเย็บอาจมีผลในระยะยาว เช่น ความเจ็บปวดระหว่างมีเพศสัมพันธ์ และปัญหาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของลำไส้และการปัสสาวะ สตรีควรใช้วิธีต่างๆ ในการบรรเทาอาการปวดรวมถึงการใช้การรักษาด้วยความเย็น เช่น การประคบน้ำแข็งหรือแผ่นเจลเย็น สิ่งสำคัญคือต้องทราบว่าการระบายความร้อนได้ผลหรือไม่และมีผลชะลอการหายของบาดแผลหรือการฉีกขาดได้หรือไม่
นี่คือการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2007 และปรับปรุงอีกครั้งในปี 2012
ผู้ทบทวนวรรณกรรมพบหลักฐานอะไรบ้าง
เราค้นหาหลักฐานให้ทันสมัยจนถึงเดือนตุลาคม 2019 ขณะนี้เราพบการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม 10 รายการที่จะรวบรวมเข้ามา มีการศึกษา 9 รายการจากจำนวนการศึกษาทั้งหมดที่มีข้อมูลจากสตรี 998 คน ที่เราสามารถใช้ในการทบทวนวรรณกรรมครั้งนี้ได้
การประคบน้ำแข็งหรือแผ่นเจลเย็นวางไว้บนฝีเย็บ ครั้งละ 10 ถึง 20 นาที ใน 2 วันแรกหลังการคลอดบุตร เปรียบเทียบกับการไม่ได้รับการรักษา (การศึกษา 5 รายการ, สตรี 612 คน) หรือการรักษาด้วยยาหลอกโดยใช้แผ่นเจล (การศึกษา 1 รายการ) หรือถุงน้ำ (การศึกษา 1 รายการ) ที่อุณหภูมิห้อง แพ็คน้ำแข็งถูกเปรียบเทียบกับแผ่นเจลเย็นในการศึกษา 3 รายการ (สตรี 338 คน)
การทดลองส่วนใหญ่มีคุณภาพต่ำมาก เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความถูกต้องของผลการศึกษา โดยมีสตรีจำนวนน้อยสำหรับการเปรียบเทียบแต่ละครั้ง ผลการรักษาที่หลากหลาย และผู้เข้าร่วมวิจัยรู้ว่าพวกได้รับวิธีการรักษาแบบใด (หรือไม่มีการรักษา) มีการทดลองเพียงไม่กี่เรื่องที่ดูการเปรียบเทียบหรือการทดลองเดียวกัน ที่ใช้เครื่องมือในการประเมินหรือดูผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน ผลการวิจัยส่วนใหญ่มาจากการศึกษาเดี่ยว
อาการปวดฝีเย็บที่ได้รับการจัดอันดับด้วยตัวของสตรีเองหลังการใช้แผ่นความเย็นภายใน 6 ชั่วโมงหลังคลอดอาจน้อยกว่าสตรีที่ไม่ได้รับการรักษา (การศึกษา 1 รายการ, สตรี 100 คน) ไม่มีความแตกต่างที่ชัดเจนในความเจ็บปวดที่รายงานด้วยตนเองภายใน 24 ชั่วโมง หรือนานถึง 48 ชั่วโมงหลังคลอด (การศึกษา 1 รายการ, สตรี 316 คน) หรือในเรื่องการหายของฝีเย็บ
แผ่นเจลเย็นที่มีการบีบอัดเมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอกอาจส่งผลให้ความเจ็บปวดลดลงเล็กน้อยใน 24 ถึง 48 ชั่วโมงหลังคลอด (การศึกษา 1 รายการ, สตรี 250 คน) การหายของแผลฝีเย็บอาจไม่ได้รับผลกระทบจากการระบายความร้อน ไม่มีสตรีที่ใช้การประคบน้ำแข็งหรือถุงน้ำที่อุณหภูมิห้องรายงานว่ามีอาการปวดใน 24 ชั่วโมงแรกหลังคลอดบุตร (การศึกษา 1 รายการ, สตรี 63 คน) ไม่มีรายงานผลเสียต่อการหายของบาดแผล
การเปรียบเทียบการประคบน้ำแข็งกับแผ่นเจลเย็นอาจไม่มีความแตกต่างของอาการปวดฝีเย็บในช่วงเวลาการวัดใด ๆ (การศึกษา 3 รายการ, สตรี 338 คน) การทดลอง 1 รายการ รายงานว่าสตรีที่ใช้การประคบน้ำแข็ง มีขอบแผลไม่ชิดในวันที่ 5 แต่ไม่ใช่ในวันที่ 10 (สตรี 215 คน) ในการศึกษาเดี่ยว สตรีให้คะแนนความคิดเห็นเกี่ยวกับการรักษาด้วยการประคบน้ำแข็งน้อยกว่าการใช้แผ่นเจลเย็น 5 วันหลังคลอด (สตรี 49 คน) และเมื่อประเมินในวันที่ 10 (สตรี 208 คน)
หลักฐานนี้หมายความว่าอย่างไร
มีหลักฐานเพียงเล็กน้อยหรือคุณภาพต่ำมากจากการทดลองขนาดเล็ก ชี้ให้เห็นว่า การรักษาด้วยความเย็นอาจช่วยบรรเทาอาการปวดฝีเย็บหลังจากการมีลูกได้ จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อดูว่าการระบายความร้อนส่งผลต่อการหายของการฉีกขาดหรือบาดแผลได้ดีเพียงใด น้ำแข็งสามารถหาซื้อได้ง่ายในประเทศที่มีรายได้สูง แต่อาจไม่เป็นเช่นนั้นในประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง แผ่นเจลที่ต้องวางในช่องแช่แข็งเพื่อระบายความร้อนอาจไม่สามารถหาซื้อได้ง่ายในพื้นที่ที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง
มีหลักฐานที่จำกัด ที่มีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ ซึ่งอาจสนับสนุนการใช้การรักษาด้วยความเย็นในรูปแบบหรือประคบน้ำแข็งหรือแผ่นเจลเย็นเพื่อบรรเทาอาการปวดฝีเย็บใน 2 วันแรกหลังการคลอดบุตร เป็นไปได้ว่าจำเป็นต้องใช้การรักษาหลายอย่างร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างเพียงพอ รวมถึงยาแก้ปวดที่ต้องสั่งโดยแพทย์และไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ การศึกษาที่รวมอยู่ในการทบทวนนี้เกี่ยวข้องกับการใช้การรักษาด้วยความเย็นเป็นเวลา 10 ถึง 20 นาที และแม้ว่าจะไม่มีการสังเกตผลข้างเคียง แต่การค้นพบเหล่านี้มาจากการศึกษาสตรีจำนวนไม่มากนักหรือไม่มีรายงานเลย การขาดหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นในระดับสูงอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับประโยชน์ของการรักษาด้วยความเย็น ควรได้รับการพิจารณาด้วยความระมัดระวังและควรทำการทดลองที่ออกแบบมาอย่างดีเพิ่มเติม
การบาดเจ็บของฝีเย็บเป็นเรื่องปกติในระหว่างการคลอดบุตรและอาจสร้างความเจ็บปวด แนวทางปฏิบัติในการคลอดบุตรแบบร่วมสมัยรวมถึงการบรรเทาอาการปวดหลากหลายรูปแบบที่ให้กับสตรี รวมถึงการประยุกต์ใช้การรักษาด้วยความเย็นเฉพาะที่ การศึกษานี้เป็นการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบของ Cochrane หลังจากมีการปรับปรุงครั้งล่าสุดในปี 2012
เพื่อประเมินประสิทธิภาพของการรักษาด้วยความเย็นเฉพาะที่เปรียบเทียบกับการไม่รักษา การใช้ยาหลอก หรือการรักษาด้วยความเย็นอื่นๆ บริเวณฝีเย็บเพื่อบรรเทาอาการปวดหลังจากการบาดเจ็บของฝีเย็บที่เกิดขึ้นระหว่างการคลอดบุตร
ผู้วิจัยได้สืบค้นหลักฐานจากฐานข้อมูล Pregnancy and Childbirth'sTrials Register, ClinicalTrials.gov, the WHO International Clinical Trials Registry Platform (ICTRP) (7 ตุลาคม 2019) และสืบค้นเอกสารอ้างอิงของรายงานการศึกษาที่สืบค้นได้
การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) และแบบ quasi-randomised trials (RCTs) ที่เผยแพร่และไม่ได้เผยแพร่ ซึ่งเปรียบเทียบการรักษาด้วยความเย็นเฉพาะที่ที่ใช้กับฝีเย็บ กับการไม่มีการรักษา ยาหลอก หรือการรักษาด้วยความเย็นอื่นๆ ที่ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดที่เกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บที่ฝีเย็บที่เกิดขึ้นระหว่างการคลอดบุตร
ผู้ทบทวนวรรณกรรม 2 คน ประเมินความเหมาะสมของการศึกษา รวบรวมข้อมูล และประเมินความเสี่ยงของการมีอคติของการศึกษาที่รวบรวมนำเข้าอย่างเป็นอิสระต่อกัน ข้อมูลได้รับการตรวจสอบอีกครั้งเพื่อความถูกต้อง คุณภาพของหลักฐานที่ได้ประเมินโดยวิธีการของ GRADE
เราได้รวม RCTs 10 รายการ มีสตรีจำนวน 1233 คน โดยสุ่มให้ใช้การบำบัดความเย็นแบบใดแบบหนึ่ง (น้ำแข็ง แผ่นเจลเย็น การระบายความร้อนบวกการประคบ การระบายความร้อนบวกการประคบบวก (เป็น) แนวนอน) เปรียบเทียบกับการให้ความเย็นแบบอื่น การไม่มีการรักษา หรือยาหลอก (ถุงน้ำ, การประคบ) การทดลองที่รวบรวมเข้ามามีความเสี่ยงของการมีอคติโดยรวมต่ำหรือมีความไม่แน่นอน ยกเว้นว่าความเสี่ยงของการมีอคติในประเด็นที่ไม่สามารถปกปิดผู้เข้าร่วมและผู้วิจัยจากการจัดสรรเข้ากลุ่มได้ หมายความว่าเราประเมินความเสี่ยงของการมีอคติในประเด็นนี้ว่าไม่ชัดเจน หรือมีความเสี่ยงของการมีอคติสูง
เราได้ทำการเปรียบเทียบเพื่อประเมินการรักษาที่แตกต่างกัน
การรักษาด้วยความเย็น (ประคบน้ำแข็งหรือแผ่นเจลเย็น) เทียบกับการไม่รักษา
มีหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมากว่า การรักษาด้วยความเย็นอาจลดอาการปวดฝีเย็บจากการรายงานด้วยตัวเองของสตรีภายใน 4 ถึง 6 ชั่วโมง (mean difference (MD) −4.46, 95% confidence interval (CI) −5.07 ถึง −3.85 ที่ 10-point scale; การศึกษา 1 รายการ, ผู้เข้าร่วม 100 คน) หรือระหว่าง 24 ถึง 48 ชั่วโมงหลังคลอด (risk ratio (RR) 0.73, 95% CI 0.57 ถึง 0.94; การศึกษา 1 รายการ, ผู้เข้าร่วม 316 คน) หลักฐานมีความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับมาตรการต่างๆในการรักษาบาดแผลเช่น ขอบแผลไม่ชิดเมื่อตรวจที่ 5 วันหลังคลอด (RR 2.56, 95% CI 0.58 ถึง 11.33; การศึกษา 1 รายการ, ผู้เข้าร่วม 315 คน) โดยทั่วไปสตรีให้คะแนนความพึงพอใจกับการดูแลฝีเย็บในทำนองเดียวกันหลังการรักษาด้วยความเย็นหรือไม่ได้รับการรักษา ข้อยกเว้นที่อาจเกิดขึ้นคืออาจมีความแตกต่างของค่าเฉลี่ยที่ต่ำกว่าเล็กน้อยของ −0.1 ใน 5-point scale ของความสุขสบายในด้านจิต-วิญญาณ จากการรักษาด้วยความเย็น ซึ่งไม่น่าจะมีความสำคัญทางคลินิก
การรักษาด้วยความเย็น (แผ่นเจลเย็น) + การบีบอัด เทียบกับยาหลอก (แผ่นเจล + การบีบอัด)
มีหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นระดับต่ำว่า อาจมีความแตกต่างของค่าเฉลี่ยเล็กน้อยที่ -0.43 ในคะแนนความเจ็บปวดจากการวัดโดยใช้ 10-point scale ที่ 24 ถึง 48 ชั่วโมงหลังคลอด (95% CI −0.73 ถึง −0.13; การศึกษา 1 รายการ, ผู้เข้าร่วม 250 คน) เมื่อเปรียบเทียบการรักษาด้วยความเย็นและการบีบอัดที่มีความปลอดภัยบริเวณฝีเย็บกับยาหลอก ระดับของอาการบวมของฝีเย็บอาจใกล้เคียงกันสำหรับทั้ง 2 กลุ่ม (หลักฐานมีความเชื่อมั่นระดับต่ำ) และไม่พบรอยช้ำของฝีเย็บ มีหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นระดับต่ำว่า สตรีอาจให้คะแนนความพึงพอใจว่าสูงกว่าเล็กน้อยสำหรับการดูแลฝีเย็บด้วยแผ่นเจลเย็นและกลุ่มการบีบอัด (MD 0.88, 95% CI 0.38 ถึง 1.38; การศึกษา 1 รายการ, ผู้เข้าร่วม 250 คน)
การรักษาด้วยความเย็น (ประคบน้ำแข็ง) เทียบกับยาหลอก (ประคบน้ำ)
มีการศึกษา 1 รายการ ชี้ให้เห็นว่าไม่มีสตรีที่รายงานความเจ็บปวดหลังจากใช้น้ำแข็งประคบหรือประคบน้ำ ภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด มีหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นระดับต่ำว่า อาการบวมอาจคล้ายกันสำหรับทั้ง 2 กลุ่มเมื่อได้รับการประเมินที่ 4 ถึง 6 ชั่วโมง (RR 0.96, 95% CI 0.50 ถึง 1.86; การศึกษา 1 รายการ, ผู้เข้าร่วม 63 คน) หรือภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด (RR 0.36, 95% CI 0.08 ถึง 1.59) ไม่มีสตรีที่สังเกตเห็นว่ามีอาการช้ำในฝีเย็บ ผู้ทดลองรายงานว่าไม่มีสตรีในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มีอาการไม่พึงประสงค์ในการหายของบาดแผล มีหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นระดับต่ำมากว่า สตรีอาจให้คะแนนมุมมองและประสบการณ์ของพวกเขากับการรักษาในทำนองเดียวกัน (ตัวอย่างเช่นพอใจกับการรักษา: RR 0.91, 95% CI 0.77 ถึง 1.08; ผู้เข้าร่วม 63 คน)
การรักษาด้วยความเย็น (ประคบน้ำแข็ง) เทียบกับ การรักษาด้วยความเย็น (แผ่นเจลเย็น)
หลักฐานยังไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับผลของการใช้ประคบน้ำแข็งหรือแผ่นเจลเย็นต่ออาการปวดฝีเย็บที่ประเมินด้วยตัวของสตรีเอง การช้ำฝีเย็บ หรืออาการบวมที่ฝีเย็บในเวลา 4 ถึง 6 ชั่วโมงหรือภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด อาการบวมของฝีเย็บอาจคงอยู่ 24 ถึง 48 ชั่วโมงหลังคลอดในสตรีที่ใช้ถุงน้ำแข็ง (RR 1.69, 95% CI 1.03 ถึง 2.7; การศึกษา 2 รายการ, ผู้เข้าร่วม 264 คน; ความเชื่อมั่นระดับต่ำมาก) ความเสี่ยงของการเกิดขอบแผลไม่ชิดใน 5 วันหลังคลอดบุตรอาจลดลงในสตรีที่ใช้ถุงน้ำแข็ง (RR 0.22, 95% CI 0.05 ถึง 1.01; ผู้เข้าร่วม 215 คน; ความเชื่อมั่นระดับต่ำมาก) อย่างไรก็ตามสิ่งนี้ดูเหมือนจะไม่คงอยู่จนถึงวันที่ 10 (RR 3.06, 95% CI 0.63 ถึง 14.81; ผู้เข้าร่วม 214 คน) สตรีอาจให้คะแนนความคิดเห็นเกี่ยวกับการรักษาน้อยลงหลังจากใช้ถุงน้ำแข็งที่ 5 วันหลังคลอดบุตร (RR 0.33, 95% CI 0.17 ถึง 0.68; การศึกษา 1 รายการ, ผู้เข้าร่วม 49 คน) และเมื่อประเมินในวันที่ 10 (RR 0.82, 95% CI 0.73 ถึง 0.92; การศึกษา 1 รายการ, ผู้เข้าร่วม 208 คน) ทั้งสองเรื่องมีความเชื่อมั่นระดับต่ำมาก
แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว