คำถามการทบทวน: ผู้วิจัยได้ตรวจสอบหลักฐานที่มีอยู่เกี่ยวกับประสิทธิผลของการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดต่อสมรรถภาพในการออกกำลังกาย, อาการหอบเหนื่อย และคุณภาพชีวิตของผู้ที่เป็นโรคผังพืดที่ปอด (interstitial lung disease; ILD)
ความเป็นมา: ผู้ที่มี ILD (ภาวะที่ผนังถุงลมปอดมีการอักเสบและหนาตัวขึ้นทำให้การหายใจลำบากขึ้น) มักจะมีความถดถอยของสมรรถภาพในการออกกำลังกาย รวมทั้งมีอาการหอบเหนื่อยระหว่างออกกำลังกาย การฟื้นฟูสมรรถภาพปอดพบว่าสามารถปรับปรุงสุขภาวะในผู้ที่เป็นโรคปอดเรื้อรังอื่นๆ ได้ แต่มีข้อมูลเพียงเล็กน้อยที่กล่าวถึงประสิทธิผลของการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดใน ILD ผู้วิจัยจึงต้องการค้นหาว่าการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดให้ประโยชน์มากกว่าการไม่ฟื้นฟูสมรรถภาพปอดสำหรับผู้ที่มี ILD หรือไม่ และสามารถดำเนินการได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ นอกจากนี้ยังดูด้วยว่าผู้ที่เป็นโรคพังผืดที่ปอดที่ไม่ทราบสาเหตุ (idiopathic pulmonary fibrosis; IPF) ซึ่งเป็นโรค ILD ชนิดหนึ่งที่มีการดำเนินโรคอย่างอย่างรวดเร็วจะได้รับประโยชน์จากการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดนี้หรือไม่
การศึกษาที่พบ:ผู้วิจัยค้นพบ 21 การศึกษาที่เข้าเกณฑ์คัดเลือก และมีจำนวนผู้ป่วย ILD 909 คน ผู้วิจัยได้รวบรวมและเปรียบเทียบผลจากการศึกษา 16 รายการ (ผู้เข้าร่วม 356 คน ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพปอด และผู้เข้าร่วม 319 คน ไม่ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพปอด) มีการศึกษา 9 ฉบับที่รวมเฉพาะผู้ที่มี IPF, 3 การศึกษาที่รวมเฉพาะผู้ที่เป็นโรค sarcoidosis (การมีเนื้อเยื่อสีแดงและบวมกระจายภายในปอด), 2 การศึกษาที่รวมเฉพาะผู้ที่มี ILD ที่เกี่ยวข้องกับฝุ่นจากการทำงาน (occupational dust-related ILD) และอีก 8 การศึกษาที่รวมถึงผู้ที่มี ILDs ชนิดอื่นๆ อายุเฉลี่ยของผู้เข้าร่วมการศึกษาอยู่ระหว่าง 36 ถึง 72 ปี โปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดทั้งหมดประกอบด้วย การฝึกความอึด (การฝึกก้าว, การเดิน, การขี่จักรยาน หรือวิธีฝึกหลายรูปแบบรวมกัน) และบางโปรแกรมยังสอดแทรกการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงด้วย ซึ่งโปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดส่วนใหญ่ใช้เวลา 8 ถึง 12 สัปดาห์โดยผู้เข้าร่วมจะเข้าร่วม 2 ถึง 3 ครั้งต่อสัปดาห์
ผลลัพธ์ที่สำคัญ: ทันทีหลังจบโปรแกรมฟื้นฟูสมรรถภาพปอด ผู้เข้าร่วมสามารถเดินได้ไกลกว่าผู้ที่ไม่ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพปอด (โดยเฉลี่ยแล้วเดินได้ระยะทางไกลขึ้น 40 เมตรใน 6 นาที) และผู้เข้าร่วมยังมีความสามารถในการออกกำลังกายสูงสุดได้มากขึ้น และมีอาการหอบเหนื่อยลดลงและคุณภาพชีวิตดีขึ้น นอกจากนี้ผู้ที่มี IPF ก็ให้ผลบวกเช่นเดียวกันต่อความสามารถในการออกกำลังกาย, อาการหอบเหนื่อย และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหลังได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพปอด และเมื่อประเมินผลที่ 6 ถึง 12 เดือน หลังจากการฟื้นฟูสมรรถภาพปอด พบว่าผู้เข้าร่วมยังคงสามารถเดินได้ไกลกว่าผู้ที่ไม่ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพปอด (โดยเฉลี่ย 37 เมตรใน 6 นาที) และยังคงมีอาการหอบเหนื่อยที่ลดลงและคุณภาพชีวิตที่ดี แต่ในผู้ที่มี IPF ยังไม่แน่ชัดว่าผลเชิงบวกจะยังคงอยู่เมื่อวัดผลที่ 6 ถึง 12 เดือนหลังจากการฟื้นฟูสมรรถภาพปอด ไม่มีการศึกษาใดที่รายงานผลข้างเคียงใดๆ ของการฟื้นฟูสมรรถภาพปอด
คุณภาพของงานวิจัย: อยู่ในระดับต่ำถึงปานกลาง สาเหตุหลักมาจากการรายงานวิธีการวิจัยที่ไม่เพียงพอ, ผู้ประเมินทราบว่าผู้เข้าร่วมได้รับการรักษาแบบใด, และความแปรปรวนในผลลัพธ์บางอย่าง
สรุป: การฟื้นฟูสมรรถภาพปอดอาจช่วยเพิ่มความสามารถในการออกกำลังกาย, อาการและคุณภาพชีวิต และสามารถทำได้อย่างปลอดภัยในผู้ที่มี ILD รวมถึงผู้ที่มี IPF ผลลัพธ์เหล่านี้สนับสนุนการนำเอาการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลผู้ที่มี ILD การศึกษาในอนาคตควรศึกษาเพื่อหาโปรแกรมการฝึกที่มีผลหลังการฝึกยาวนานขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มี IPF และโปรแกรมการฝึกแบบใดที่ให้ประโยชน์สูงสุด
เนื้อหารวบรวมถึงเดือนมิถุนายน 2020
การฟื้นฟูสมรรถภาพปอดสามารถทำได้อย่างปลอดภัยในผู้ที่มี ILD และอาจช่วยเพิ่มความสามารถในการออกกำลังกาย, ลดอาการหอบเหนื่อย และเพิ่มคุณภาพชีวิตในระยะสั้นได้ โดยมีประโยชน์เช่นกันในกลุ่มผู้ป่วย IPF และผลดีในระยะยาวต่อสมรรถภาพในการออกกำลังกาย, อาการหอบเหนื่อยและคุณภาพชีวิต โดยที่ผลดีต่ออาการหอบเหนื่อยและคุณภาพชีวิตอาจยังคงอยู่ในผู้ที่มี IPF ความน่าเชื่อถือของหลักฐานอยู่ในระดับต่ำถึงปานกลาง เนื่องจากการรายงานวิธีการวิจัยที่ไม่เพียงพอ, การขาดการอำพรางในการประเมินผลลัพธ์ และความไม่สอดคล้องกันในผลลัพธ์บางอย่าง จึงจำเป็นต้องมีการทดลองแบบสุ่มที่ออกแบบมาอย่างดีเพื่อหาโปรแกรมการฝึกที่เหมาะสมที่สุดและให้ผลบวกในระยะยาวโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มี IPF
โรคผังพืดที่ปอด (Interstitial lung disease; ILD) ทำให้ความสามารถในการทำงานลดลง, มีอาการหอบเหนื่อย และภาวะขาดออกซิเจนหลังออกกำลังกาย การฟื้นฟูสมรรถภาพปอดมักใช้เพื่อบรรเทาอาการ, เพิ่มคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพ และเพิ่มความสามารถในการทำงานในโรคปอดเรื้อรังชนิดอื่นๆ มีหลักฐานหลายชิ้นที่พบว่าการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดให้ผลดีเช่นกันในผู้ที่มี ILD อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อบ่งชี้ถึงประโยชน์ในระยะยาว และเพื่อเพิ่มข้อบ่งชี้ในการนำเอาโปรแกรมฟื้นฟูสมรรถภาพปอดเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานการรักษาผู้ที่มี ILD การทบทวนวรรณกรรมนี้เป็นการอัพเดตผลการศึกษาที่รายงานไว้ในปี 2014
เพื่อตรวจสอบว่าการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดในผู้ที่มี ILD ให้ผลดีต่อความสามารถในการออกกำลังกาย, อาการทางปอด, คุณภาพชีวิตและอัตรารอดชีวิตหรือไม่ เมื่อเทียบกับการไม่ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพปอด
เพื่อประเมินความปลอดภัยของโปรแกรมฟื้นฟูสมรรถภาพปอดในผู้ที่มี ILD
ผู้วิจัยสืบค้นในฐานข้อมูล CENTRAL, MEDLINE (Ovid), Embase (Ovid), CINAHL (EBSCO) และ PEDro ตั้งแต่เริ่มต้นถึงเมษายน 2020 และค้นหาในรายการอ้างอิงของการศึกษาที่เกี่ยวข้อง, ทะเบียนการทดลองทางคลินิกสากล และบทคัดย่อของการประชุมโรคทางเดินหายใจเพื่อค้นหาการศึกษาที่มีคุณสมบัติเหมาะสม
ผู้วิจัยได้รวบรวมการทดลองที่มีการควบคุมแบบ randomised controlled trials และ quasi-randomised controlled trials ที่เปรียบเทียบระหว่างการให้การฟื้นฟูสมรรถภาพปอดกับการไม่ให้การฟื้นฟูสมรรถภาพปอด หรือเทียบกับการรักษาอื่นๆ ในผู้ที่มี ILD จากสาเหตุใดๆ
ผู้ทบทวนสองคนได้ คัดเลือกการศึกษา, ประเมินความเสี่ยงต่อการมีอคติ และดึงข้อมูลอย่างเป็นอิสระต่อกัน นอกจากนี้ยังได้ติดต่อเจ้าของงานวิจัยเพื่อขอข้อมูลที่ขาดหายไปและข้อมูลเกี่ยวกับผลข้างเคียง ผู้วิจัยระบุการวิเคราะห์กลุ่มย่อยเบื้องต้นสำหรับผู้เข้าร่วมที่มีโรคพังผืดในปอดที่ไม่ทราบสาเหตุ (idiopathic pulmonary fibrosis; IPF) และผู้เข้าร่วมที่เป็นโรคปอดขั้นรุนแรง (ค่า diffusing capacity ต่ำหรือระดับออกซิเจนในเลือดลดลงระหว่างออกกำลังกาย) มีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะทำการวิเคราะห์กลุ่มย่อยที่กำหนดไว้ล่วงหน้าในหัวข้อประเภทของโปรแกรมการฝึก
สำหรับการอัปเดตนี้ ผู้วิจัยได้รวมเอาการศึกษาเพิ่มเติมอีก 12 รายการ ซึ่งทำให้มีการศึกษาทั้งหมด 21 ฉบับ โดยรวมการศึกษา 16 รายการ ไว้ในการวิเคราะห์อภิมาน (ผู้เข้าร่วม 356 คนได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดและ 319 คนเป็นกลุ่มควบคุม) อายุเฉลี่ยของผู้เข้าร่วมอยู่ระหว่าง 36 ถึง 72 ปี และรวมถึงผู้ที่มี ILD จากสาเหตุหลายอย่าง, โรค sarcoidosis หรือ IPF (โดยมีค่าเฉลี่ยของ transfer factor of carbon dioxide (TLCO)% ที่คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ 37% ถึง 63%) โปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดส่วนใหญ่ดำเนินการแบบผู้ป่วยนอก มีส่วนน้อยที่ทำการฝึกที่บ้าน, ขณะนอนโรงพยาบาล หรือโปรแกรมฝึกทางไกล โดยระยะเวลาของโปรแกรมฟื้นฟูสมรรถภาพปอดอยู่ระหว่าง 3 ถึง 48 สัปดาห์ มีความเสี่ยงปานกลางที่จะเกิดอคติเนื่องจากไม่มีการอำพรางผู้ประเมินผลลัพธ์และการวิเคราะห์แบบ intention-to-treat และการรายงานวิธีการสุ่มและการแบ่งกลุ่มที่ไม่เพียงพอใน 60% ของการศึกษา
การฟื้นฟูสมรรถภาพปอดอาจช่วยเพิ่มระยะทางที่เดินได้ใน 6 นาที (six-minute walk distance; 6MWD) โดยมีค่า mean difference (MD) ที่ 40.07 เมตร, 95% confidence interval (CI) 32.70 ถึง 47.44; ผู้เข้าร่วม 585 คน; หลักฐานความน่าเชื่อถือปานกลาง) และอาจเพิ่มปริมาณงานสูงสุด (peak workload) ที่ทำได้ (MD 9.04 วัตต์, 95% CI 6.07 ถึง 12.0; ผู้เข้าร่วม 159 คน; หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำ), เพิ่มปริมาณการใช้ออกซิเจนสูงสุด (peak oxygen consumption) (MD 1.28 มล./กก./นาที, 95% CI 0.51 ถึง 2.05; ผู้เข้าร่วม 94 คน; หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำ) และเพิ่มอัตราการหายใจสูงสุด (maximum ventilation) (MD 7.21 L/minute, 95% CI 4.10 ถึง 10.32; ผู้เข้าร่วม 94 คน; หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำ) และในการวิเคราะห์กลุ่มย่อยของผู้เข้าร่วมที่มี IPF พบว่าให้ผลบวกเช่นกันต่อค่า 6MWD (MD 37.25 เมตร, 95% CI 26.16 ถึง 48.33; ผู้เข้าร่วม 278 คน; หลักฐานความน่าเชื่อถือปานกลาง), peak workload (MD 9.94 วัตต์, 95% CI 6.39 ถึง 13.49; หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำ), VO2 (oxygen uptake) peak (MD 1.45 มล./กก./นาที, 95% CI 0.51 ถึง 2.40; หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำ) และ maximum ventilation (MD 9.80 L/minute, 95% CI 6.06 ถึง 13.53; ผู้เข้าร่วม 62 คน; หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำ) แต่ผลของการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดต่ออัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดยังไม่แน่ชัด
การฟื้นฟูสมรรถภาพปอดอาจลดอาการหอบเหนื่อยในผู้เข้าร่วมที่มี ILD (standardised mean difference (SMD) –0.36, 95% CI –0.58 ถึง –0.14; ผู้เข้าร่วม 348 คน; หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำ) และในกลุ่มย่อย IPF (SMD –0.41, 95% CI - 0.74 ถึง –0.09; ผู้เข้าร่วม 155 คน; หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำ) การฟื้นฟูสมรรถภาพปอดอาจช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพ: คือมีการเพิ่มขึ้นในทั้งสี่โดเมนของแบบสอบถามโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง (Chronic Respiratory Disease Questionnaire; CRQ) และแบบสอบถาม the St George's Respiratory Questionnaire (SGRQ) สำหรับผู้เข้าร่วมที่มี ILD และสำหรับกลุ่มย่อยของผู้ที่มี IPF คะแนนรวม SGRQ ดีขึ้น –9.29 สำหรับผู้เข้าร่วมที่มี ILD (95% CI –11.06 ถึง –7.52; ผู้เข้าร่วม 478 คน; หลักฐานความน่าเชื่อถือปานกลาง) และ –7.91 สำหรับผู้เข้าร่วม IPF (95% CI –10.55 ถึง –5.26; ผู้เข้าร่วม 194 คน ; หลักฐานความน่าเชื่อถือปานกลาง) มีการศึกษา 5 ฉบับที่รายงานผลลัพธ์ในระยะยาว โดยพบว่าผลลัพธ์ยังคงดีขึ้นในด้านความสามารถในการออกกำลังกาย, อาการหอบเหนื่อย และคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพที่ 6 ถึง 12 เดือนหลังจากจบโปรแกรมการฝึก (6MWD: MD 32.43, 95% CI 15.58 ถึง 49.28; ผู้เข้าร่วม 297 คน; หลักฐานความน่าเชื่อถือปานกลาง; อาการหอบเหนื่อย: MD –0.29, 95% CI –0.49 ถึง –0.10; ผู้เข้าร่วม 335 คน; คะแนนรวมของ SGRQ: MD -4.93, 95% CI –7.81 ถึง -2.06; ผู้เข้าร่วม 240 คน; หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำ) ในการวิเคราะห์กลุ่มย่อยของผู้ที่มี IPF พบว่าโปรแกรมการฝึกยังคงให้ผลบวกต่ออาการหอบเหนื่อยและคะแนน SGRQ หลังผ่านไป 6 ถึง 12 เดือน แต่ผลของการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดต่ออัตรารอดชีวิตในระยะยาวนั้นยังไม่แน่ชัด อีกทั้งยังมีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะตรวจสอบผลต่อความรุนแรงของโรคปอดหรือรูปแบบโปรแกรมการฝึก
มี 10 การศึกษาที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์; อย่างไรก็ตามไม่มีรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในระหว่างโปรแกรมการฝึก การศึกษา 4 ฉบับรายงานการเสียชีวิตของผู้เข้าร่วมการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดหนึ่งคน อย่างไรก็ตามการศึกษาทั้ง 4 รายการ ระบุว่าการเสียชีวิตนี้ไม่เกี่ยวข้องกับโปรแกรมการฝึกที่ได้รับ
ผู้แปล นพ.จักรพงศ์ รู้ปิติวิริยะ แปลเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2021