การทำกิจกรรมในโรงเรียนเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

นักวิจัย Cochrane ทบทวนผลของการทำกิจกรรมในโรงเรียนเพื่อลดการติดเชื้อเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STIs) และการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น หลังจากการสืบค้นการศึกษาที่เกี่ยวข้องถึง 7 เมษายน 2016 พบ 8 การศึกษา มีอาสาสมัครวัยรุ่นรวม 55,157 คน

ทำไมเรื่องนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญและการทำกิจกรรมในโรงเรียนได้ผลอย่างไร?

วัยรุ่นในหลายๆประเทศที่เริ่มมีเพศสัมพันธ์โดยเฉพาะเพศหญิงมีความเสี่ยงสูงของการติดเชื้อเอชไอวีและการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่น ๆ การตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ในช่วงอายุน้อยยังมีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่ออนาคตของคนหนุ่มสาว

สภาพแวดล้อมของโรงเรียนมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาของเด็กและคนหนุ่มสาวและการสอนเรื่องเพศศึกษาในหลักสูตรของโรงเรียนได้กลายเป็นที่นิยมในหลายภูมิภาคทั่วโลก ในขณะที่มีหลักฐานที่บอกว่ากิจกรรมเหล่านี้ได้พัฒนาความรู้และลดความเสี่ยงของวัยรุ่น การทบทวนนี้จะประเมินว่ากิจกรรมเหล่านี้จะมีผลต่อจำนวนของคนหนุ่มสาวที่ติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือจำนวนของการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นหรือไม่

ผลการวิจัยเป็นอย่างไร

กิจกรรมที่เกี่ยวกับเพศศึกษาและอนามัยเจริญพันธุ์

ตามที่ทราบกันว่าการให้การศึกษาเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่มีผลกระทบต่อจำนวนของคนหนุ่มสาวที่ติดเชื้อเอชไอวีในช่วงวัยรุ่น ( หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ ) และอาจจะไม่มีผลกระทบต่อจำนวนของคนหนุ่มสาวที่ติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ (ไวรัสเริม: หลักฐานความเชื่อมั่นในระดับปานกลาง ; ซิฟิลิส: หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ ) หรือจำนวนของการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ( หลักฐานความเชื่อมั่นในระดับปานกลาง )

กิจกรรมที่มีการให้สิ่งของหรือเงินเพื่อเป็นแรงจูงใจให้เข้าร่วมในโรงเรียน

การให้เงินเป็นรายเดือนหรือการให้ชุดเครื่องแบบนักเรียนฟรีเพื่อจูงใจให้นักเรียนยังคงอยู่ในระบบโรงเรียนอาจไม่มีผลต่อจำนวนคนหนุ่มสาวที่ติดเชื้อเอชไอวีในช่วงวัยรุ่น หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ ) ขณะนี้เราไม่ทราบว่าการให้เงินเป็นรายเดือนหรือการให้ชุดเครื่องแบบนักเรียนฟรีจะช่วยลดจำนวนของคนหนุ่มสาวที่ติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆหรือไม่ (หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก ) อย่างไรก็ตาม การให้สิ่งจูงใจเพื่อส่งเสริมการมาโรงเรียนอาจลดจำนวนของการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ( หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ )

กิจกรรมที่ให้การศึกษาร่วมกับการให้สิ่งตอบแทนเพื่อสร้างแรงจูงใจ

จากการศึกษา 1 การศึกษาที่ให้สิ่งตอบแทนเพื่อเป็นแรงจูงใจเช่นเครื่องแบบนักเรียนฟรีร่วมกับการให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาและอนามัยเจริญพันธุ์อาจลดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (ไวรัสเริม; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ ) ในหญิงสาว แต่ไม่มีผลต่อการติดเชื้อเอชไอวีหรือการตั้งครรภ์ (หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ )

ผลสรุปของผู้ทบทวน

ขณะนี้ยังมีหลักฐานน้อยมากว่าการให้การศึกษาเพียงอย่างเดียวจะมีประสิทธิภาพในการลดการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น การให้สิ่งตอบแทนเป็นแรงจูงใจเพื่อมุ่งเน้นให้คนหนุ่มสาวโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กผู้หญิงในชั้นมัธยมยังคงอยู่ในระบบโรงเรียนอาจจะลดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น แต่ยังต้องมีการศึกษาที่มีคุณภาพสูงที่จะยืนยันเรื่องนี้

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

มีความจำเป็นในการให้บริการสุขภาพอย่างต่อเนื่องให้กับวัยรุ่นซึ่งรวมถึงการให้ทางเลือกในการคุมกำเนิด ถุงยางอนามัยและการให้วัยรุ่นมีส่วนร่วมคิดรูปแบบของการให้บริการ โรงเรียนอาจจะเป็นสถานที่ที่ดีในการที่จะให้บริการเหล่านี้ มีหลักฐานเพียงเล็กน้อยว่ากิจกรรมในหลักสูตรการศึกษาเพียงอย่างเดียวมีประสิทธิภาพในการทำให้สุขภาวะอนามัยทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ของวัยรุ่นดีขึ้น การให้สิ่งตอบแทนเป็นแรงจูงใจเพื่อมุ่งเน้นให้คนหนุ่มสาวโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กผู้หญิงในชั้นมัธยมยังคงอยู่ในระบบโรงเรียนอาจจะลดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น แต่ยังต้องมีการศึกษาต่อไปเพื่อยืนยันเรื่องนี้

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

การจัดกิจกรรมการให้ความรู้เพศศึกษาและอนามัยเจริญพันธุ์ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นวิธีการในการลดความเสี่ยงของพฤติกรรมทางเพศของวัยรุ่น การศึกษาจำนวนมากรวมทั้งการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบเน้นการวัดผลด้านความรู้หรือการสอบถามพฤติกรรมมากกว่าผลทางชีวภาพเช่น การตั้งครรภ์หรือความชุกของการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินผลกระทบของกิจกรรมการให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาและอนามัยเจริญพันธุ์ต่อการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (เช่นเอชไอวี ไวรัสเริมและโรคซิฟิลิส) และการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

วิธีการสืบค้น: 

เราค้น MEDLINE, Embase และ ระบบทะเบียนกลางของการทดลองแบบมีกลุ่มควบคุมของ Cochrane เพื่อหาบทความในวารสารที่มี peer-reviewed และ ClinicalTrials.gov และระบบการลงทะเบียนการศึกษาทดลองทางคลินิกแบบไปข้างหน้าระดับนานาชาติขององค์การอนามัยโลก(WHO) ;เว็บไซต์ การให้ความรู้โรคเอดส์และระบบสารสนเทศระดับโลก( AIDS Education and Global Information System, AEGIS) และ National Library of Medicine (NLM) สำหรับนำเสนอผลการศึกษาจากการประชุม; ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) UNAIDS, องค์การอนามัยโลก และ the National Health Service (NIH) centre for Reviews and Dissemination (CRD) ตั้งแต่ปีค.ศ. 1990-7 เมษายนปี 2016 ผู้ทบทวนค้นรายการเอกสารอ้างอิงที่เกี่ยวข้องทั้งหมดด้วยมือ

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวมงานวิจัยแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (RCTs) ทั้งชนิดสุ่มรายคนและแบบสุ่มเป็นกลุ่มที่ประเมินการจัดกิจกรรมในโรงเรียนที่มุ่งเป้าไปที่การปรับปรุงสุขภาวะอนามัยทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ของวัยรุ่น

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ทบทวน 2 คนได้ทำการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นอิสระต่อกัน เพื่อประเมินงานวิจัยในเรื่องการคัดเข้าในการทบทวน ความเสี่ยงต่อการมีอคติ คัดแยกข้อมูล และตรวจสอบความถูกต้อง วิเคราะห์ค่าสรุปของผลการทำกิจกรรมโดยใช้ random-effects meta-analysis และรายงานอัตราส่วนความเสี่ยง (risk ratios,RR) ค่าความเชื่อมั่น 95% (CIs) ประเมินคุณภาพของหลักฐานที่ได้โดยวิธี GRADE

ผลการวิจัย: 

ผู้ทบทวนรวมผลของการทดลองแบบสุ่มเป็นกลุ่มและมีกลุ่มควบคุม (cluster-RCTs) 8 การศึกษา มีผู้เข้าร่วมในการศึกษา 55,157 คน 5 การศึกษาทำใน sub-Saharan Africa (มาลาวี, แอฟริกาใต้, แทนซาเนีย, ซิมบับเวและเคนยา) 1 การศึกษาทำในลาตินอเมริกา (ชิลี) และ 2 การศึกษาในยุโรป (อังกฤษและสกอตแลนด์)

กิจกรรมที่เกี่ยวกับเพศศึกษาและอนามัยเจริญพันธุ์

มี 6 การศึกษาที่ประเมินกิจกรรมการให้ความรู้ที่โรงเรียน

ในการศึกษาเหล่านี้พบว่ากิจกรรมการให้ความรู้ไม่มีผลต่อความชุกของการติดเชื้อเอชไอวี (RR 1.03, 95% CI 0.80-1.32 3 การศึกษา; อาสาสมัคร 14,163 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ ) หรือการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (ความชุกของการเป็นโรคเริม: RR 1.04, 95% CI 0.94-1.15; 3 การศึกษา อาสาสมัคร 17445 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นระดับปานกลาง ; ความชุกโรคซิฟิลิส: RR 0.81, 95% CI 0.47-1.39; 1 การศึกษา อาาสมัคร 6977 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ ) นอกจากนี้ยังไม่มีผลกระทบที่ชัดเจนเกี่ยวกับจำนวนของหญิงสาวที่ตั้งครรภ์ในตอนท้ายของการศึกษา (RR 0.99, 95% CI 0.84-1.16; 3 การศึกษา อาสาสมัคร 8280 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นระดับปานกลาง )

กิจกรรมที่มีการให้สิ่งของหรือเงินเพื่อเป็นแรงจูงใจให้มาโรงเรียน

มี 2 การศึกษาที่ประเมินการจัดกิจกรรมที่มีการให้สิ่งของหรือเงินเพื่อเป็นแรงจูงใจให้มาโรงเรียน

ในทั้ง 2 การศึกษาพบว่าการให้สิ่งต่างๆเป็นแรงจูงใจไม่มีผลต่อความชุกของการติดเชื้อเอชไอวี (RR 1.23, 95% CI 0.51-2.96; 2 การศึกษา อาสาสมัคร 3805 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ ) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม หญิงสาวที่ได้รับเงินเป็นรายเดือนเพื่อเป็นแรงจูงใจให้อยู่ในโรงเรียนมีความชุกของโรคติดเชื้อไวรัสเริมต่ำกว่า (RR 0.30, 95% CI 0.11-0.85) แต่ไม่ต่ำในคนหนุ่มสาวที่ได้รับชุดนักเรียนฟรี (ข้อมูลไม่ได้นำมาวิเคราะห์รวมกัน; 2 การศึกษา อาสาสมัคร 7229 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก ) มี 1 การศึกษาที่ประเมินผลกระทบต่อโรคซิฟิลิสและความชุกของซิฟิลิส ซึ่งผลที่ได้ต่ำเกินกว่าที่จะสามารถวิเคราะห์ว่ามีผลหรือไม่ได้อย่างมั่นใจ (RR 0.41, 95% CI 0.05-3.27; 1 การศึกษา อาสาสมัคร 1291 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก ) อย่างไรก็ตาม พบว่าจำนวนของหญิงสาวที่ตั้งครรภ์ในตอนท้ายของการศึกษาในกลุ่มที่ได้รับสิ่งตอบแทนเพื่อเป็นแรงจูงใจมีจำนวนต่ำกว่า (RR 0.76, 95% CI 0.58-0.99; 2 การศึกษา อาสาสมัคร 4200 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ )

กิจกรรมที่ให้การศึกษาร่วมกับการให้สิ่งตอบแทนเพื่อสร้างแรงจูงใจ

มีการศึกษาเดียวที่ประเมินการให้เครื่องแบบนักเรียนฟรีและรวมกลุ่มอาสาสมัครที่ได้รับทั้งเครื่องแบบนักเรียนฟรีและกิจกรรมการให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาและอนามัยเจริญพันธุ์ไว้ด้วยกัน พบว่ากลุ่มนี้มีการติดเชื้อไวรัสเริมลดลง โดยเฉพาะในหญิงสาว(RR 0.82, 95% CI 0.68-0.99; 1 การศึกษา อาสาสมัคร 5899 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ ) แต่ไม่มีผลต่อการตรวจพบเชื้อเอชไอวีหรือการตั้งครรภ์ (หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ )

บันทึกการแปล: 

ผู้แปล ศ.พญ ผกากรอง ลุมพิกานนท์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 24 พ.ย 2016

Tools
Information