คำถามของการทบทวนวรรณกรรม
น้ำผึ้งสามารถลดอาการไอที่เกิดจากแบคทีเรียและไวรัสในเด็กได้หรือไม่
ความเป็นมา
อาการไอทำให้เกิดความกังวลสำหรับผู้ปกครองและเป็นสาเหตุสำคัญของการมาแผนกผู้ป่วยนอก เชื่อกันว่าน้ำผึ้งช่วยป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อโรคและลดการอักเสบ
วันที่สืบค้น
เราสืบค้นฐานข้อมูลจนถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2018 และสืบค้นในทะเบียนการทดลอง ถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2018
ลักษณะของการศึกษา
เรารวมการทดลองขนาดเล็ก 6 รายการ ที่เกี่ยวข้องกับเด็ก 899 คนที่มีอายุระหว่าง 12 เดือนถึง 18 ปีที่ดำเนินการในอิหร่าน อิสราเอล สหรัฐอเมริกา บราซิล และเคนยา การปรับปรุงนี้รวมการทดลองใหม่ 3 ฉบับที่ดำเนินการระหว่างปี 2007 ถึงปี 2016 โดยเกี่ยวข้องกับเด็ก 331 คน
แหล่งเงินทุนสนับสนุนการศึกษา
การศึกษา 2 รายการได้รับการสนับสนุนจากผู้ผลิตยา; การศึกษา 1 รายการได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์วิจัยของมหาวิทยาลัย; การศึกษา 1 รายการได้รับการสนับสนุนจาก Honey Board of Israel และหน่วยงานที่ไม่ใช่ภาครัฐ และการศึกษา 1 รายการ ได้รับทุนสนับสนุนจาก USA National Honey Board มีการศึกษา 1 รายการที่ไม่มีการรายงานแหล่งที่มาของเงินทุน
ผลการศึกษาที่สำคัญ
เราเปรียบเทียบน้ำผึ้งกับยาแก้ไอที่จำหน่ายหน้าเคาน์เตอร์ bromelin (เอนไซม์สับปะรด) ผสมกับน้ำผึ้ง, ยาหลอก และไม่มีการรักษา
น้ำผึ้งอาจลดอาการไอได้มากกว่ายาหลอกและ salbutamol (ยาที่ช่วยเปิดทางเดินหายใจ) เมื่อให้นาน 3 วัน น้ำผึ้งอาจมีประสิทธิผลในการบรรเทาอาการไอและลดผลกระทบของอาการไอต่อการนอนหลับของเด็กในเวลากลางคืนมากกว่าไม่รักษา
อาจมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างระหว่างผลของน้ำผึ้งกับ dextromethorphan (ส่วนผสมในการรักษาอาการไอที่จำหน่ายหน้าเคาน์เตอร์) หรือน้ำผึ้งและ bromelin กับน้ำผึ้งต่ออาการไอทั้งหมด น้ำผึ้งอาจดีกว่า diphenhydramine (ยาต้านฮีสตามีน) ในการบรรเทาและลดอาการไอของเด็ก
พ่อแม่ของเด็ก 7 คนที่ได้รับน้ำผึ้งและอีก 2 คนที่ได้รับ dextromethorphan รายงานผลข้างเคียงในลูกของพวกเขา เช่น หลับยาก, กระสับกระส่าย และตื่นเต้นมากเกินไป ผู้ปกครองของเด็ก 3 คนในกลุ่ม diphenhydramine รายงานว่าลูกๆ ของพวกเขามักง่วงนอน ผู้ปกครองของเด็ก 9 คนที่ได้รับ salbutamol 7 คนได้รับน้ำผึ้งและอีก 6 คนที่ได้รับยาหลอกรายงานว่ามีอาการท้องเสีย ผู้ปกครองของเด็ก 4 คนที่ได้รับ salbutamol และเด็ก 1 คนที่ได้รับน้ำผึ้งรายงานว่ามีผื่นขึ้น
เราไม่พบหลักฐานที่สนับสนุนหรือคัดค้านการใช้น้ำผึ้งเพื่อบรรเทาอาการไอในเด็ก ไม่แนะนำให้ใช้น้ำผึ้งสำหรับทารกอายุไม่ถึง 12 เดือน เนื่องจากภูมิคุ้มกันไม่ดีต่อแบคทีเรียที่อาจมีอยู่ ซึ่งอาจทำให้เกิดอัมพาตได้ เด็กส่วนใหญ่ได้รับน้ำผึ้งเพียงคืนเดียว ซึ่งเป็นข้อจำกัดของการทบทวนวรรณกรรมนี้
คุณภาพของหลักฐาน
โดยรวมแล้ว คุณภาพของหลักฐานอยู่ในระดับต่ำถึงปานกลาง การศึกษาบางรายการไม่ได้ปกปิดผู้เข้าร่วม
น้ำผึ้งอาจบรรเทาอาการไอได้ดีกว่าไม่มีการรักษาใดๆ, diphenhydramine และยาหลอก แต่อาจสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตก่ตางเมื่อเทียบกับ dextromethorphan น้ำผึ้งอาจช่วยลดระยะเวลาการไอได้ดีกว่ายาหลอกและ salbutamol ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดสำหรับการสนับสนุนหรือต่อต้านการใช้น้ำผึ้ง เด็กส่วนใหญ่ได้รับการรักษาในคืนเดียว ซึ่งเป็นข้อจำกัดสำหรับการทบทวนวรรณกรรมนี้ ไม่มีความแตกต่างในการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ระหว่างน้ำผึ้งกับกลุ่มควบคุม
อาการไอทำให้เกิดความกังวลสำหรับผู้ปกครองและเป็นสาเหตุสำคัญของการมาแผนกผู้ป่วยนอก อาการไออาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ทำให้เกิดความวิตกกังวล และส่งผลต่อการนอนหลับของเด็กและผู้ปกครอง น้ำผึ้งถูกนำมาใช้เพื่อบรรเทาอาการไอ นี่เป็นการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมที่เผยแพร่ก่อนหน้านี้ในปี 2014, 2012 และ 2010
เพื่อประเมินประสิทธิผลของน้ำผึ้งสำหรับอาการไอเฉียบพลันในเด็กแบบผู้ป่วยนอก
เราสืบค้น CENTRAL (2018, Issue 2) ซึ่งรวมถึง Cochrane Acute Respiratory Infections Group's Specialized Register, MEDLINE (2014 ถึง 8 กุมภาพันธ์ 2018), Embase (2014 ถึง 8 กุมภาพันธ์ 2018), CINAHL (2014 ถึง 8 กุมภาพันธ์ 2018), EBSCO ( 2014 ถึง 8 กุมภาพันธ์ 2018), Web of Science (2014 ถึง 8 กุมภาพันธ์ 2018) และ LILACS (2014 ถึง 8 กุมภาพันธ์ 2018) นอกจากนี้เรายังค้นหา ClinicalTrials.gov และ the World Health Organization International Clinical Trial Registry Platform (WHO ICTRP) เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2018 การทบทวนวรรณกรรมปี 2014 รวมการค้นหา AMED และ CAB Abstracts แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ถูกสืบค้นสำหรับการปรับปรุงนี้เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงสถาบัน
การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม เปรียบเทียบน้ำผึ้งเพียงอย่างเดียวหรือใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะกับไม่ได้รับการรักษา, ยาหลอก, ยาแก้ไอจากน้ำผึ้ง, หรือยาแก้ไอที่จำหน่ายหน้าเคาน์เตอร์สำหรับเด็กอายุ 12 เดือนถึง 18 ปี สำหรับรักษาอาการไอเฉียบพลันแบบผู้ป่วยนอก
เราใช้ระเบียบวิธีมาตรฐานตามที่ Cochrane กำหนด
เรารวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม 6 รายการที่เกี่ยวข้องกับเด็ก 899 คน; เราเพิ่มการศึกษา 3 รายการ (เด็ก 331 คน) ในการปรับปรุงนี้
เราประเมินการศึกษา 2 รายการว่ามีความเสี่ยงสูงต่อการมี performance bias และ detection bias; มีการศึกษา 3 รายการเกี่ยวกับความเสี่ยงของการมีอคติที่ไม่ชัดเจนในประเด็น attrition bias และการศึกษา 3 รายการ ที่มีความเสี่ยงของการมีอคติไม่ชัดเจนด้านอื่นๆ
การศึกษาเปรียบเทียบน้ำผึ้งกับ dextromethorphan, diphenhydramine, salbutamol, bromelin (an enzyme from the Bromeliaceae (pineapple) family), ไม่มีการรักษา และยาหลอก การศึกษา 5 รายการใช้ 7-point Likert scales เพื่อวัดการบรรเทาอาการไอ; มีการศึกษา 1 รายการ ใช้ 5-point scale ที่ไม่ชัดเจน ในการศึกษาทั้งหมด คะแนนต่ำบ่งชี้ว่าบรรเทาอาการไอได้ดีขึ้น
การใช้ 7-point Likert scale พบว่า น้ำผึ้งอาจช่วยลดความถี่ในการไอได้ดีกว่าไม่รักษาหรือใช้ยาหลอก (ไม่รักษา: ความแตกต่างของค่าเฉลี่ย (MD) -1.05, ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) -1.48 ถึง -0.62; I² = 0%; 2 การศึกษา; เด็ก 154 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง; ยาหลอก: MD -1.62, 95% CI -3.02 ถึง -0.22; I² = 0%; 2 การศึกษา; เด็ก 402 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) น้ำผึ้งอาจมีผลคล้ายกับ dextromethorphan ในการลดอาการไอ (MD -0.07, 95% CI -1.07 ถึง 0.94; I² = 87%; 2 การศึกษา; เด็ก 149 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) น้ำผึ้งอาจดีกว่า diphenhydramine ในการลดอาการไอ (MD -0.57, 95% CI -0.90 ถึง -0.24; 1 การศึกษา; เด็ก 80 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ)
การให้น้ำผึ้งนานถึง 3 วันน่าจะมีประสิทธิผลในการบรรเทาอาการไอมากกว่าเมื่อเทียบกับยาหลอกหรือ salbutamol เกิน 3 วัน น้ำผึ้งอาจไม่มีข้อได้เปรียบเหนือ salbutamol หรือยาหลอกในการลดความรุนแรงของอาการไอ อาการไอที่น่ารำคาญ และผลกระทบของการไอต่อการนอนสำหรับผู้ปกครองและเด็ก (หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) ด้วยการใช้ 5-point cough scale พบว่า ผลของน้ำผึ้งกับ bromelin ที่ผสมกับน้ำผึ้งอาจมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่าง ในการลดอาการไอและความรุนแรง
เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ ได้แก่ อาการวิตกกังวล, นอนไม่หลับ และสมาธิสั้น ซึ่งพบในเด็ก 7 คน (9.3%) ที่ได้รับน้ำผึ้งและเด็ก 2 คน (2.7%) ที่ได้รับการรักษาด้วย dextromethorphan (risk ratio (RR) 2.94, 95% Cl 0.74 ถึง 11.71; I² = 0% ; 2 การศึกษา; เด็ก 149 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) เด็กสามคน (7.5%) ในกลุ่ม diphenhydramine มีอาการง่วงซึม (RR 0.14, 95% Cl 0.01 ถึง 2.68; 1 การศึกษา; เด็ก 80 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) เมื่อเปรียบเทียบน้ำผึ้งกับยาหลอก พบว่า เด็ก 34 คน (12%) ในกลุ่มน้ำผึ้งและ 13 คน (11%) ในกลุ่มยาหลอกบ่นเรื่องอาการทางเดินอาหาร (RR 1.91, 95% CI 1.12 ถึง 3.24; I² = 0%; 2 การศึกษา; เด็ก 402 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) เด็ก 4 คนที่ได้รับ salbutamol มีผื่นเมื่อเทียบกับเด็ก 1 คนในกลุ่มที่ได้น้ำผึ้ง (RR 0.19, 95% CI 0.02 ถึง 1.63; 1 การศึกษา; เด็ก 100 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) ไม่พบผลค้างเคียงที่รุนแรงในการศึกษา
แปลโดย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อ 24 มิถุนายน มกราคม 2021