คำถามทบทวน
การรักษาแบบใดที่มีประสิทธิผลและปลอดภัยสำหรับภาวะผมร่วงจากกรรมพันธุ์ในผู้หญิง (female pattern hair loss; FPHL)
ที่มาและความสำคัญ
ประเภทผมร่วงที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิง คือ FPHL หรือที่เรียกว่า androgenic alopecia (โรคผมบางจากกรรมพันธุ์) ไม่เหมือนผู้ชาย ผู้หญิงจะไม่หัวล้าน แต่ผมจะบาง ส่วนใหญ่บริเวณกลางศีรษะและด้านหน้าศีรษะ อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงเมื่ออายุมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มักเกิดขึ้นบ่อยครั้งในสตรีวัยหมดประจำเดือนมากกว่า
การวินิจฉัยได้รับการสนับสนุนโดยการซักประวัติอย่างละเอียด (รวมถึงประวัติครอบครัว) ควรพิจารณาสาเหตุอื่น ๆ ด้วย ดังนั้นอาจจำเป็นต้องมีการตรวจร่างกายและการทดสอบทางห้องปฏิบัติการ โรคผมบางจากพันธุกรรมในผู้หญิงอาจส่งผลกระทบต่อความกังวลต่อภาพลักษณ์อย่างมาก และการทำลายความมั่นใจในตนเองของผู้หญิงอาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิต (quality of life; QoL) ของผู้หญิงได้ นำไปสู่ความรู้สึกไม่น่าดึงดูดความอับอาย ไม่สบายใจ เครียดทางอารมณ์ และมีความมั่นใจในตนเองที่ต่ำ
ลักษณะของการศึกษา
เราได้ตรวจสอบหลักฐานที่มีอยู่จนถึงวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 2015 การศึกษาจำนวน 47 ฉบับ มีผู้เข้าร่วมเป็นผู้หญิงจำนวน 5290 คน ซึ่งตรงตามเกณฑ์ของการคัดผู้เข้าร่วมเข้าของ Cochrane review นี้ อายุเฉลี่ยของผู้เข้าร่วมการศึกษาอยู่ระหว่าง 27 ถึง 57 ปี เราประเมินว่าการศึกษาที่รวบรวมมากกว่าครึ่งหนึ่งว่ามีความเสี่ยงของการมีอคติที่ไม่ชัดเจน ในขณะที่การศึกษา 16 ฉบับ มีความเสี่ยงของการมีอคติสูง และมีเพียงการศึกษา 5 ฉบับที่มีความเสี่ยงของการมีอคติต่ำ การศึกษา 26 ฉบับจากทั้งหมด 47 ฉบับ ได้รับเงินทุน โดยส่วนใหญ่มาจากบริษัทเภสัชกรรม
ผลการศึกษาที่สำคัญ
การทบทวนของ Cochrane นี้พบว่าไมนอกซิดิลมีประสิทธิภาพมากกว่ายาหลอก จากการศึกษาทั้ง 6 ฉบับ พบว่าสัดส่วนของผู้หญิงที่มีผมงอกใหม่อย่างน้อยในระดับปานกลางนั้นสูงกว่าในกลุ่มที่ใช้ไมนอกซิดิลถึง 2 เท่าเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก ข้อเท็จจริงนี้ได้รับการยืนยันจากการประเมินของผู้วิจัยในการศึกษา 7 ฉบับ จากการศึกษา 8 ฉบับ พบว่าจำนวนเส้นผมทั้งหมดต่อตารางเซนติเมตรเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มที่ใช้ไมนอกซิดิลเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก มีการประเมินคุณภาพชีวิตเพียงการศึกษาเดียว และจากข้อมูล มีความไม่ชัดเจนว่าไมนอกซิดิลช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ จำนวนของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์นั้นเทียบเคียงกันในทั้งสองกลุ่ม อาการเหล่านี้ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง เช่น อาการคัน ระคายเคืองผิวหนัง ผิวหนังอักเสบ และมีขนขึ้นบริเวณอื่นนอกเหนือจากหนังศีรษะ
การศึกษาทั้ง 4 ฉบับ ได้เปรียบเทียบไมนอกซิดิล (2%) กับไมนอกซิดิล (5%) แต่ไม่มีการศึกษาใดระบุถึงประโยชน์ของความเข้มข้นที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับความเข้มข้นที่ต่ำกว่า จำนวนของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ไม่แตกต่างกันระหว่างทั้งสองกลุ่ม ไม่ควรใช้ไมนอกซิดิลในสตรีมีครรภ์หรือให้นมบุตร
การศึกษา 3 ฉบับ เปรียบเทียบฟินาสเตอไรด์กับยาหลอก ฟินาสเตอไรด์ได้รับการอนุมัติให้ใช้เฉพาะในผู้ชายเพื่อใช้ในการรักษาผมร่วงและอาการต่อมลูกหมากโตเท่านั้น ในการศึกษา 1 ใน 3 ฉบับ ได้มีการประเมินความคิดเห็นของทั้งผู้เข้าร่วมและนักวิจัย แต่พบว่าฟินาสเตอไรด์ไม่มีประสิทธิผลมากกว่ายาหลอก จำนวนเส้นผมเพิ่มขึ้นเฉพาะในกลุ่มฟินาสเตอไรด์ในการศึกษาวิจัยขนาดเล็กที่มีผู้เข้าร่วม 12 ราย แต่ไม่ดีขึ้นในการศึกษาอีก 2 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 219 ราย) เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ได้รับการกล่าวถึงในการศึกษา 1 ฉบับ และเหตุการณ์เหล่านี้มีความคล้ายคลึงกันในทั้งสองกลุ่ม นักวิจัยของการศึกษาเหล่านี้ไม่ได้ประเมินคุณภาพชีวิต
พบว่าการบำบัดด้วยหวีเลเซอร์ไม่ได้มีประสิทธิผลมากกว่าการบำบัดหลอกตามรายงานของผู้เข้าร่วมในการศึกษา 2 ฉบับซึ่งมีผู้เข้าร่วม 141 ราย อย่างไรก็ตาม มีการรายงานการเพิ่มขึ้นที่สำคัญของการเจริญเติบโตของเส้นผมในการศึกษาทั้ง 2 ฉบับนี้ ไม่มีการกล่าวถึงคุณภาพชีวิต และไม่มีการรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ต่อกลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยหวีเลเซอร์ ซึ่งทำให้ข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์น้อยลง
การศึกษารายบุคคลได้ตรวจสอบวิธีการรักษาและการเปรียบเทียบอื่น ๆ และเราไม่สามารถสรุปผลใด ๆ ที่แน่ชัดเกี่ยวกับประสิทธิผลหรือความปลอดภัยของวิธีการรักษาอื่น ๆ เหล่านี้ได้
แม้ว่าจะเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าการหลุดร่วงของเส้นผมเกิดขึ้นค่อนข้างเร็วหลังจากหยุดการรักษา แต่ไม่มีการศึกษาที่รวบรวมอยู่นี้รายงานข้อมูลเกี่ยวกับความยั่งยืนของผลการรักษา หรือผลกระทบที่เป็นไปได้ของการงอกของเส้นผมใหม่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากเวลาที่ผู้หญิงใช้ในการจัดแต่งทรงผมหรือสวมวิกผมที่ลดลง
คุณภาพของหลักฐาน
เราประเมินคุณภาพของหลักฐานสำหรับผลลัพธ์ส่วนใหญ่ว่าปานกลางหรือต่ำ คุณภาพของหลักฐานที่ต่ำลง ส่วนใหญ่เกิดจากความเสี่ยงของอคติในการศึกษาวิจัย (เช่น ไม่มีการปกปิดข้อมูล) หรือขนาดตัวอย่างที่เล็ก ทำให้ผลลัพธ์มีความแม่นยำน้อยลง
แม้ว่าการศึกษาที่ถูกคัดเข้าส่วนใหญ่มีความไม่ชัดเจนว่ามีความเสี่ยงของการมีอคติสูงหรือไม่ แต่ก็มีหลักฐานสนับสนุนประสิทธิผลและความปลอดภัยของไมนอกซิดิลทาเฉพาะที่ในการรักษาโรคผมบางทางพันธุกรรมในเพศหญิง (ส่วนใหญ่เป็นหลักฐานคุณภาพปานกลางถึงต่ำ) นอกจากนี้ ไม่มีความแตกต่างของประสิทธิผลจากยาระหว่างไมนอกซิดิลความเข้มข้น 2% และ 5% โดยคุณภาพของหลักฐานได้รับการประเมินว่าปานกลางถึงต่ำสำหรับผลลัพธ์ส่วนใหญ่ ฟินาสเตอไรด์ไม่มีประสิทธิผลมากกว่ายาหลอก (หลักฐานคุณภาพต่ำ) มีผลลัพธ์ที่ไม่สอดคล้องกันในการศึกษาที่ประเมินอุปกรณ์เลเซอร์ (หลักฐานคุณภาพปานกลางถึงต่ำ) แต่พบว่ามีการเพิ่มขึ้นของจำนวนเส้นผมทั้งหมดที่ในตอนเริ่มต้น
จำเป็นต้องมีการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรักษาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายอื่น ๆ เช่น ยา spironolactone (สไปโรโนแลกโทน), finasteride (ฟินาสเตอไรด์ในขนาดยาอื่นๆ), dutasteride (ดูทาสเตอไรด์), cyproterone acetate (ไซโปรเทอโรนอะซิเตท) และการบำบัดด้วยเลเซอร์
โรคผมบางจากพันธุกรรมในเพศหญิง หรือศีรษะล้านจากกรรมพันธุ์ถือเป็นภาวะผมร่วงที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิง ลักษณะเฉพาะคือระยะการเจริญเติบโตของเส้นผมจะสั้นลงเรื่อย ๆ ตามวัฏจักรของเส้นผมที่ต่อเนื่องกัน และขนาดของต่อมรากผมจะเล็กลงเรื่อย ๆ โดยมีการเปลี่ยนจากต่อมรากผม terminal hair เป็นต่อมรากผม vellus hair (terminal hair คือผมเส้นหนาและยาวกว่า ในขณะที่ vellus hair เป็นผมอ่อนนุ่ม บาง และสั้น) แนวไรผมด้านหน้าอาจรักษาไว้หรือไม่ก็ได้ ภาวะผมร่วงอาจส่งผลกระทบทางจิตใจอย่างมากต่อผู้หญิง
เพื่อค้นหาประสิทธิผลและความปลอดภัยของทางเลือกที่มีอยู่สำหรับการรักษาโรคผมบางจากพันธุกรรมในเพศหญิง
เราได้อัปเดตการค้นหาฐานข้อมูลต่อไปนี้จนถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ.2015 ได้แก่ Cochrane Skin Group Specialised Register, CENTRAL in the Cochrane Library (ค.ศ.2015, ฉบับที่ 6), MEDLINE (จาก ค.ศ. 1946), EMBASE (จาก ค.ศ. 1974), PsycINFO (จาก ค.ศ. 1872), AMED (จาก ค.ศ. 1985), LILACS (จาก ค.ศ. 1982), PubMed (จาก ค.ศ. 1947) และ Web of Science (จาก ค.ศ. 1945) เรายังค้นหาในทะเบียนการทดลองทางคลินิกและตรวจสอบจากรายการเอกสารอ้างอิงของการศึกษาที่ถูกคัดเข้าและคัดออก
เราได้รวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมที่ประเมินประสิทธิผลของการรักษาโรคผมบางจากพันธุกรรมในเพศหญิง
ผู้เขียน 2 คนได้ประเมินคุณภาพของการทดลอง นำข้อมูลออกมาใช้ และดำเนินการวิเคราะห์อย่างเป็นอิสระจากกัน
เราได้รวมการทดลองทั้งหมด 47 ฉบับ โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 5290 ราย โดย 25 ฉบับเป็นการทดลองใหม่ในการอัปเดตนี้ มีเพียงการทดลอง 5 ฉบับเท่านั้นที่มี "ความเสี่ยงของการมีอคติต่ำ" การทดลอง 26 ฉบับมี "ความเสี่ยงของการมีอคติไม่ชัดเจน" และการทดลอง 16 ฉบับมี "ความเสี่ยงของการมีอคติสูง"
การทดลองที่ถูกคัดเข้าได้ประเมินวิธีการรักษาที่หลากหลาย และการศึกษา 17 ฉบับมีการประเมินยา minoxidil (ไมนอกซิดิล) ข้อมูลรวมจากการศึกษาจำนวน 6 ฉบับ บ่งชี้ว่าผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ (157/593) ที่ได้รับการรักษาด้วยไมนอกซิดิล (ความเข้มข้นยา 2% และมีการศึกษา 1 ฉบับที่ใช้ควมเข้มข้น 1%) รายงานว่าผมงอกขึ้นใหม่เพิ่มขึ้นปานกลางถึงมากเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (77/555) (อัตราส่วนความเสี่ยง (RR) = 1.93, ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) 1.51 ถึง 2.47; หลักฐานคุณภาพปานกลาง) ผลลัพธ์เหล่านี้ได้รับการยืนยันโดยการประเมินโดยนักวิจัยในการศึกษา 7 ฉบับที่มีผู้เข้าร่วม 1181 ราย (RR 2.35, 95% CI 1.68 ถึง 3.28; หลักฐานคุณภาพปานกลาง) มีเพียงการศึกษา 1 ฉบับที่รายงานคุณภาพชีวิต (quality of life; QoL) (ผู้เข้าร่วม 260 ราย) แม้ว่าจะไม่เพียงพอ (หลักฐานคุณภาพต่ำ) มีการเพิ่มขึ้นของจำนวนเส้นผมที่นับได้ทั้งหมดอย่างมาก โดยเพิ่มขึ้น 13.18 เส้นต่อตารางเซนติเมตรในกลุ่มที่ใช้ไมนอกซิดิลเมื่อเทียบกับกลุ่มยาหลอก (95% CI 10.92 ถึง 15.44; หลักฐานคุณภาพต่ำ) ในการศึกษา 8 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 1242 ราย) มีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ 40/407 เคส ในกลุ่มที่ใช้ไมนอกซิดิลความเข้มข้น 2% 2 ครั้งต่อวัน เทียบกับ 28/320 เคสในกลุ่มยาหลอก (RR 1.24, 95% CI 0.82 ถึง 1.87; หลักฐานคุณภาพต่ำ) นอกจากนี้ยังไม่มีความแตกต่างที่มีนัยสำคัญทางสถิติในเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ระหว่างกลุ่มที่ใช้ไมนอกซิดิลความเข้มข้นใดๆ เมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก
การศึกษา 4 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 1006 ราย) ประเมินไมนอกซิดิลความเข้มข้น 2% เทียบกับ 5% ในการศึกษา 1 ฉบับ พบว่าผู้เข้าร่วม 25 รายจากทั้งหมด 57 รายในกลุ่มที่ใช้ไมนอกซิดิล 2% พบว่าเส้นผมงอกใหม่เพิ่มขึ้นปานกลางถึงมาก เมื่อเทียบกับ 22 รายจากทั้งหมด 56 รายในกลุ่มที่ใช้ไมนอกซิดิล 5% (RR 1.12, 95% CI 0.72 ถึง 1.73) ในการศึกษาวิจัยอีกกรณี ผู้เข้าร่วม 209 คนไม่พบความแตกต่างเมื่อพิจารณาจาก visual analogue scale หรือมาตรวัดระดับคะแนนโดยใช้ภาพ (P = 0.062; หลักฐานคุณภาพต่ำ) การประเมินของผู้วิจัยจากการศึกษา 3 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 586 ราย) สอดคล้องกับผลการค้นพบเหล่านี้ (หลักฐานคุณภาพปานกลาง) การศึกษา 1 ฉบับประเมินคุณภาพชีวิต (ผู้เข้าร่วม 209 ราย) และรายงานข้อมูลจำกัด (หลักฐานคุณภาพต่ำ) การทดลอง 4 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 1006 คน) ไม่ได้แสดงความแตกต่างของจำนวนเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ระหว่างความเข้มข้นทั้งสองแบบ (RR 1.02, 95% CI 0.91 ถึง 1.20; หลักฐานคุณภาพต่ำ) ความเข้มข้นทั้งสองแบบไม่ได้แสดงความแตกต่างในการเพิ่มขึ้นของจำนวนเส้นผมทั้งหมดเมื่อสิ้นสุดการศึกษาในการทดลอง 3 ฉบับที่มีผู้เข้าร่วม 631 ราย (ความแตกต่างเฉลี่ย (MD) -2.12, 95% CI -5.47 ถึง 1.23; หลักฐานคุณภาพต่ำ)
การศึกษา 3 ฉบับ ศึกษาการใช้ finasteride (ฟินาสเตอไรด์) 1 มก. เปรียบเทียบกับยาหลอก ในกลุ่มที่ใช้ยาฟินาสเตอไรด์ ผู้เข้าร่วม 30 จาก 67 ราย รู้สึกว่าผมขึ้นมากขึ้นเมื่อเทียบกับ 33 จาก 70 รายในกลุ่มยาหลอก (RR 0.95, 95% CI 0.66 ถึง 1.37; หลักฐานคุณภาพต่ำ) สอดคล้องกับการประเมินของผู้วิจัย (RR 0.77, 95% CI 0.31 ถึง 1.90; หลักฐานคุณภาพต่ำ) คุณภาพชีวิตไม่ได้รับการประเมิน มีเพียงการศึกษาเดียวที่กล่าวถึงเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ (ผู้เข้าร่วม 137 ราย) (RR 1.03, 95% CI 0.45 ถึง 2.34; หลักฐานคุณภาพต่ำ) จากการศึกษา 2 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 219 ราย) พบว่าไม่มีความแตกต่างที่มีนัยสำคัญทางคลินิกในด้านการเปลี่ยนแปลงของจำนวนเส้นผม ในขณะที่การศึกษา 1 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 12 ราย) สนับสนุนให้ใช้ยาฟินาสเตอไรด์ (หลักฐานคุณภาพต่ำ)
การศึกษา 2 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 141 ราย) ประเมินการบำบัดด้วยหวีเลเซอร์พลังงานต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับอุปกรณ์หลอก ผู้เข้าร่วมการวิจัยระบุว่าหวีเลเซอร์พลังงานต่ำไม่ได้มีประสิทธิภาพมากกว่าอุปกรณ์หลอก (RR 1.54, 95% CI 0.96 ถึง 2.49; และ RR 1.18, 95% CI 0.74 ถึง 1.89; หลักฐานคุณภาพปานกลาง) อย่างไรก็ตาม มีความแตกต่างในความพึงพอใจต่อหวีเลเซอร์พลังงานต่ำในการเปลี่ยนแปลงจากระดับเริ่มต้นของจำนวนเส้นผม (MD 17.40, 95% CI 9.74 ถึง 25.06; และ MD 17.60, 95% CI 11.97 ถึง 23.23; หลักฐานคุณภาพต่ำ) การศึกษาเหล่านี้ไม่ได้ประเมินคุณภาพชีวิต และไม่ได้รายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ตามกลุ่มการรักษา และรายงานในลักษณะทั่วไปเท่านั้น (หลักฐานคุณภาพต่ำ) การบำบัดด้วยเลเซอร์พลังงานต่ำเมื่อเทียบกับอุปกรณ์หลอกในการศึกษา 2 ฉบับที่แยกกัน ยังแสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของจำนวนเส้นผมทั้งหมด แต่มีข้อมูลเพิ่มเติมที่จำกัด
การศึกษาเดี่ยวๆ ได้กล่าวถึงการเปรียบเทียบอื่นๆ และให้หลักฐานที่จำกัดเกี่ยวกับประสิทธิผลหรือความปลอดภัยของวิธีการรักษาเหล่านี้ หรือไม่น่าจะได้รับการตรวจสอบในทดลองในอนาคต
แปลโดย นศพ.พิมพ์มาดา เปี่ยมมงคลชัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล วันที่ 5 ตุลาคม 2024