การส่องไฟแบบไม่ต่อเนื่องเทียบกับการส่องไฟแบบต่อเนื่องสำหรับภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม

ในทารกแรกเกิดที่มีภาวะตัวเหลือง การส่องไฟเป็นช่วงๆ เมื่อเทียบกับการส่องไฟแบบต่อเนื่องมีประสิทธิภาพในการลดระดับบิลิรูบินหรือไม่

ความเป็นมา

อาการตัวเหลืองในทารกแรกเกิดคือการที่ผิวหนังของทารกแรกเกิดเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเนื่องจากระดับบิลิรูบินสูง (สารประกอบสีเหลืองที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในเลือด) การส่องไฟ (การบำบัดด้วยแสง) ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพสำหรับทารกแรกเกิดที่มีภาวะตัวเหลือง การส่องไฟมักใช้อย่างต่อเนื่อง แต่การส่องไฟเป็นระยะมีข้อดีบางประการ เช่น ช่วยให้แม่ให้นมทารกได้ดีขึ้นและเสริมสร้างสายสัมพันธ์แม่ลูก เราไม่ทราบว่าการส่องไฟเป็นระยะมีประสิทธิภาพเท่ากับการส่องไฟอย่างต่อเนื่องหรือไม่

ลักษณะการศึกษา

เราพบการศึกษา 33 ฉบับที่ประเมินผลของการส่องไฟเป็นระยะในทารกผ่านการค้นหาฐานข้อมูลทางการแพทย์จนถึงเดือนมกราคม 2022 ในจำนวนนี้มีการศึกษา 12 ฉบับ (รวมทารก 1600 คน) ที่เข้าเกณฑ์ในการทบทวนวรรณกรรมนี้ การศึกษา 1 ฉบับกำลังดำเนินการอยู่ และอีก 4 ฉบับกำลังรอการจำแนกประเภท ผลลัพธ์หลักที่เราสนใจคืออัตราการลดลงของระดับบิลิรูบินในซีรั่มและความผิดปกติของสมองที่เกิดจากบิลิรูบิน (BIND) การค้นหาเป็นปัจจุบัน ณ วันที่ 31 มกราคม 2022

ผลลัพธ์ที่สำคัญ

เราพบความแตกต่างเล็กน้อยหรือไม่มีเลยระหว่างการส่องไฟเป็นระยะและการส่องไฟอย่างต่อเนื่องในการลดระดับบิลิรูบิน การส่องไฟอย่างต่อเนื่องมีประสิทธิภาพมากกว่าในทารกที่คลอดก่อนกำหนด อย่างไรก็ตาม เราไม่รู้ว่านี่เป็นความแตกต่างที่มีนัยสำคัญทางสถิติหรือไม่ การส่องไฟเป็นระยะสัมพันธ์กับจำนวนชั่วโมงรวมของการส่องไฟที่ลดลง มีประโยชน์ทางทฤษฎีต่อการรักษาโดยการส่องไฟเป็นระยะๆ แต่ผลลัพธ์ด้านความปลอดภัยที่สำคัญไม่ได้รับการศึกษาอย่างเพียงพอ

ความแน่นอนของหลักฐาน

เราให้คะแนนความแน่นอนของหลักฐานโดยรวมว่า 'ต่ำ' หรือ 'ต่ำมาก' จำเป็นต้องมีการทดลองขนาดใหญ่และมีคุณภาพสูงทั้งในทารกที่คลอดก่อนกำหนดและทารกครบกำหนดก่อนที่จะสามารถสรุปได้ว่าการรักษาด้วยการส่องไฟเป็นระยะและต่อเนื่องนั้นมีประสิทธิภาพเท่าเทียมกัน

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

หลักฐานที่มีอยู่ตรวจพบความแตกต่างเล็กน้อยหรือไม่มีเลยระหว่างการส่องไฟเป็นระยะและต่อเนื่องที่เกี่ยวกับอัตราการลดลงของบิลิรูบิน การส่องไฟอย่างต่อเนื่องดูเหมือนจะมีประสิทธิภาพมากกว่าในทารกที่คลอดก่อนกำหนด อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบความเสี่ยงของการส่องไฟอย่างต่อเนื่องและประโยชน์ที่เป็นไปได้ของระดับบิลิรูบินที่ลดลงเล็กน้อย การส่องไฟเป็นระยะสัมพันธ์กับจำนวนชั่วโมงรวมของการส่องไฟที่ลดลง มีประโยชน์ทางทฤษฎีต่อการรักษาโดยการส่องไฟเป็นระยะๆ แต่ผลลัพธ์ด้านความปลอดภัยที่สำคัญไม่ได้รับการศึกษาอย่างเพียงพอ จำเป็นต้องมีการทดลองขนาดใหญ่ที่ออกแบบอย่างดีในทารกที่คลอดก่อนกำหนดและทารกครบกำหนดก่อนที่จะสรุปได้ว่าการรักษาด้วยการส่องไฟเป็นระยะและต่อเนื่องนั้นมีประสิทธิภาพเท่าเทียมกัน

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

การส่องไฟเป็นวิธีการรักษาขั้นแรกที่มีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางสำหรับอาการตัวเหลืองในทารกแรกเกิด โดยทั่วไปใช้การส่องไฟแบบต่อเนื่อง แต่มีการเสนอว่าการส่องไฟเป็นระยะเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพเท่าเทียมกันโดยมีข้อได้เปรียบในทางปฏิบัติของการให้อาหารทารกและทำให้สายสัมพันธ์ของมารดาและทารกดีขึ้น ประสิทธิภาพของการส่องไฟเป็นระยะเมื่อเปรียบเทียบกับการส่องไฟอย่างต่อเนื่องไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินความปลอดภัยและประสิทธิผลของการบำบัดด้วยแสงแบบเป็นระยะเมื่อเปรียบเทียบกับการบำบัดด้วยแสงแบบต่อเนื่อง

วิธีการสืบค้น: 

ดำเนินการสืบค้นเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2022 ในฐานข้อมูลต่อไปนี้ CENTRAL ผ่าน CRS Web, MEDLINE และ Embase ผ่าน Ovid นอกจากนี้ เรายังค้นหาฐานข้อมูลการทดลองทางคลินิกและรายการอ้างอิงของบทความที่ดึงมาสำหรับการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) และการทดลองกึ่งสุ่ม

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวม RCTs, cluster-RCTs และ quasi-RCTs เปรียบเทียบการบำบัดด้วยแสงแบบไม่ต่อเนื่อง (เป็นระยะ) กับการส่องไฟอย่างต่อเนื่องในทารกตัวเหลือง (ทั้งทารกคลอดครบกำหนดและคลอดก่อนกำหนด) จนถึงอายุ 30 วัน เราเปรียบเทียบการส่องไฟแบบไม่ต่อเนื่องกับการส่องไฟแบบต่อเนื่องด้วยวิธีการใดๆ และที่ปริมาณและระยะเวลาใดๆ ตามที่ผู้เขียนกำหนด

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ทบทวนสามคนเลือกการทดลองอย่างอิสระ ประเมินคุณภาพการทดลอง และดึงข้อมูลจากการศึกษาที่รวบรวม เราทำการวิเคราะห์ผลกระทบคงที่และแสดงผลการรักษาเป็นความแตกต่างของค่าเฉลี่ย (MD) อัตราส่วนความเสี่ยง (RR) และความแตกต่างของความเสี่ยง (RD) ด้วยช่วงความเชื่อมั่น 95% (CIs) ผลลัพธ์หลักที่เราสนใจคืออัตราการลดลงของบิลิรูบินในเลือดและเคอร์นิกเทอรัส (Kernicterus) เราใช้วิธี GRADE เพื่อประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐาน

ผลการวิจัย: 

เรารวม RCTs 12 ฉบับ (ทารก 1600 คน) ในการทบทวนวรรณกรรมนี้ มีการศึกษาที่กำลังดำเนินการอยู่ 1 ฉบับ และอีก 4 ฉบับที่กำลังรอการจำแนกประเภท มีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยระหว่างการส่องไฟเป็นระยะและการส่องไฟอย่างต่อเนื่องในอัตราการลดลงของบิลิรูบินในทารกแรกเกิดที่มีภาวะตัวเหลือง (MD -0.09 ไมโครโมล/ลิตร/ชม., 95% CI -0.21 ถึง 0.03; I² = 61%; การศึกษา 10 ฉบับ; ทารก 1225 คน หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) การศึกษา 1 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับทารก 60 ราย รายงานว่าไม่มีอุบัติการณ์ของความผิดปกติของสมองที่เกิดจากบิลิรูบิน (Bilirubin induce brain dysfunction: BIND) ไม่แน่ใจว่าการส่องไฟเป็นระยะๆ หรือต่อเนื่องจะลด BIND หรือไม่ เนื่องจากความเชื่อมั่นของหลักฐานนี้ต่ำมาก มีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในความล้มเหลวของการรักษา (RD 0.03, 95% CI 0.08 ถึง 0.15; RR 1.63, 95% CI 0.29 ถึง 9.17; การศึกษา 1 ฉบับ; ทารก 75 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) หรือการตายของทารก (RD -0.01, 95% CI -0.03 ถึง 0.01; RR 0.69, 95% CI 0.37 ถึง 1.31 I² = 0%; การศึกษา 10 ฉบับ, ทารก 1470 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ)

บันทึกการแปล: 

แปลโดย แพทย์หญิงวิลาสินี หน่อแก้ว โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี Edit โดย ผกากรอง 3 มิถุนายน 2023

Tools
Information