ปัญหา
มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกพัฒนามาจากเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูก เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับที่หกของโลก และมักเกิดในสตรีในช่วงหมดประจำเดือนหรือหลังจากนั้น หากเป็นในระยะต้น ซึ่งมะเร็งยังไม่แพร่กระจายออกนอกมดลูกแล้วนั้น อัตราการรอดชีวิตดีมาก โดยมีอัตราการรอดชีวิตที่ห้าปีสูงถึง 97% การรักษามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ได้แก่การผ่าตัดโดยผ่าตัดนำมดลูก, ท่อนำไข่ทั้งสองข้าง และรังไข่ทั้งสองข้างออก ซึ่งนี่อาจทำให้เกิดอาการของวัยหมดระดูได้ในสตรีที่ได้รับการวินิจฉัยก่อนหมดประจำเดือนหรือในสตรีที่มีอาการของวัยหมดระดูอยู่แล้วในขณะที่ได้รับการวินิจฉัย
ฮอร์โมนทดแทน (HRT) ถูกใช้เพื่อรักษาอาการวัยหมดระดู เช่น อาการร้อนวูบวาบ, เหงื่อออกตอนกลางคืน และช่องคลอดแห้ง ในสตรีที่หมดประจำเดือนขณะอายุน้อย HRT ยังช่วยรักษาความแข็งแรงของกระดูกและป้องกันโรคกระดูกพรุนได้ อย่างไรก็ดี ความปลอดภัยของการใช้ฮอร์โมนทดแทนหลังจากรักษามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกแล้วนั้นยังไม่เป็นที่ทราบชัดเจน มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกบางชนิด อาจถูกกระตุ้นโดยเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนหลักที่ใช้ในฮอร์โมนทดแทน ดังนั้น ฮอร์โมนทดแทนสำหรับวัยหมดระดู มีแนวโน้มที่อาจจะทำให้เกิดการเติบโตของเซลล์มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกหลังการรักษาได้ (เช่นเซลล์ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าในการผ่าตัด และยังหลงเหลืออยู่) และเกิดการกลับเป็นซ้ำของมะเร็งขึ้น แพทย์บางท่านอาจไม่สั่งใช้ฮอร์โมนทดแทนหลังวินิจฉัยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เนื่องจากความเสี่ยงทางทฤษฎีดังกล่าว อย่างไรก็ดี สตรีส่วนใหญ่ที่ได้รับการรักษามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกระยะแรก อาจจะไม่มีเซลล์มะเร็งเหลือหลังการผ่าตัด อาการของวัยหมดระดูสามารถส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิต และหากหมดระดูก่อนวัยอันควรก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว ฮอร์โมนทดแทน สามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตและดีต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สตรีที่ได้รับการรักษามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกจำเป็นต้องตัดสินใจเพื่อเปรียบเทียบประโยชน์และโทษที่จะได้รับจากการใช้ฮอร์โมนทดแทน
วัตถุประสงค์ของการทบทวนวรรณกรรม
จุดประสงค์ของการทบทวนวรรณกรรมนี้คือ เพื่อประเมินประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของฮอร์โมนทดแทนในสตรีที่ได้รับการรักษาโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ความปลอดภัยของฮอร์โทนทดแทนในที่นี้คือ ผลต่ออัตราการรอดชีวิตและความเสี่ยงของการกลับเป็นซ้ำของมะเร็ง
ผลการค้นพบหลักคืออะไรบ้าง
ผู้เขียนสืบค้นฐานข้อมูลของการทดลองทางคลินิก เพื่อหาหลักฐานของประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการใช้ HRT ในสตรีที่ได้รับการรักษามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก จนถึง พฤษภาคม 2017 เราพบเพียงหนึ่งงานวิจัยซึ่งทำการแบ่งกลุ่มสตรีให้ได้รับฮอร์โมนทดแทนหรือยาหลอกแบบสุ่ม งานวิจัยนี้ไม่พบความแตกต่างของโอกาสการกลับเป็นซ้ำของมะเร็งระหว่างสองกลุ่ม ผู้วิจัยพบว่าฮอร์โมนทดแทนอาจหรือไม่อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งซ้ำ แต่ไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับอัตราการรอดชีวิตหรือการบรรเทาอาการของวัยหมดระดู อย่างไรก็ดี การศึกษานี้ไม่เสร็จสมบูรณ์เนื่องจากการหาผู้เข้าร่วมวิจัยที่ไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า ควรแนะนำการใช้ฮอร์โมนทดแทน หลังการรักษามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกหรือไม่
คุณภาพของหลักฐานการศึกษา
เราไม่แน่ใจว่า ฮอร์โมนทดแทนจะเพิ่มความเสี่ยงของการกลับเป็นซ้ำของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกหรือไม่ เนื่องจากหลักฐานงานวิจัยในปัจจุบันที่มีอยู่มีความน่าเชื่อถือต่ำมาก เราพบเพียงหนึ่งการศึกษาวิจัยแบบสุ่มและงานวิจัยนี้ไม่มีสตรีเข้าร่วมเพียงพอที่จะตอบคำถามงานวิจัยได้ และงานวิจัยนี้ยังมีความเสี่ยงของการเกิดอคติที่ลดความน่าเชื่อถือของผลงานวิจัย
บทสรุป
จากหลักฐานงานวิจัยที่มีความน่าเชื่อถือต่ำมากและมีจำกัด พบว่า ฮอร์โมนทดแทนอาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีผลต่อความเสี่ยงของการกลับเป็นซ้ำของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกในสตรีซึ่งได้รับการผ่าตัดรักษามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกระยะแรก ไม่มีข้อมูลที่จะบอกได้ว่า ฮอร์โมนทดแทนมีผลต่ออัตราการรอดชีวิตหลังผ่าตัดมดลูกในมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกหรือไม่
จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีหลักฐานงานวิจัยที่มีคุณภาพสูงที่เพียงพอจะให้คำแนะนำสตรีในการพิจารณาการใช้ฮอร์โมนทดแทนหลังจากรักษามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก หลักฐานงานวิจัยที่มีอยู่ (หนึ่งงานวิจัยแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบและงานวิจัยที่ไม่ใช่แบบสุ่ม) ไม่ได้ระบุถึงความเสี่ยงที่สำคัญ หากใช้ฮอร์โมนทดแทนหลังจากการผ่าตัดในมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกระยะแรก ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ฮอร์โมนทดแทนในมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกตั้งแต่ระยะ 2 ขึ้นไป (FIGO stage II and above) การใช้ฮอร์โมนทดแทนหลังการรักษามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกควรพิจารณาเป็นกรณีไป โดยคำนึงถึงอาการของสตรีและความต้องการใช้ และหลักฐานงานวิจัยที่ยังไม่แน่ชัดเกี่ยวกับประโยชน์และโทษของการใช้
มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับที่หกของโลก และมักเกิดในวัยหลังหมดประจำเดือน (75%) (globocan.iarc.fr) มีผู้ป่วยรายใหม่ราว 319,000 ราย ที่ได้รับการวินิจฉัยในปี 2012 มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกนั้นมักถูกจัดเป็น มะเร็งที่รักษาหายได้ เนื่องจากประมาณ 75% ของผู้ป่วย ได้รับการวินิจฉัยก่อนมีการแพร่กระจายออกไปนอกมดลูก (FIGO (International Federation of Gynecology and Obstetrics) stage I) อัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี ประมาณ 86% และหากมะเร็งยังไม่แพร่กระจายออกนอกมดลูก อัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี อาจสูงขึ้นถึง 97% สตรีส่วนใหญ่ที่ได้รับการวินิจฉัย มักอยู่ในมะเร็งระยะแรก ทำให้มีการพยากรณ์โรคที่ดีหลังจากตัดมดลูกและรังไข่ทั้งสองข้าง โดยอาจฉายแสงต่อหรือไม่ก็ได้ อย่างไรก็ดี สตรีเหล่านี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่วัยหมดระดูเร็วก่อนวัยอันควร โดยอาจเกิดจากวัยหมดระดูเองอยู่แล้วหรือเป็นผลจากการตัดรังไข่ทั้งสองข้าง ขึ้นกับอายุและลักษณะของประจำเดือน ขณะที่ได้รับการวินิจฉัย การขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน สามารถทำให้เกิดอาการร้อนวูบวาบ, เหงื่อออกตอนกลางคืน, ช่องคลอดแห้ง และผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว เช่น กระดูกพรุน และโรคหัวใจร่วมหลอดเลือด การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งอยู่ในรูปแบบของฮอร์โมนทดแทน (Hormone replacement therapy; HRT) อย่างไรก็ดี การใช้ฮอร์โมนดังกล่าวยังมีความเสี่ยงทางทฤษฎี ว่าสามารถกระตุ้นเซลล์มะเร็งที่อาจเหลืออยู่ ทำให้มีมะเร็งกลับเป็นซ้ำได้ ดังนั้น นี่อาจเป็นผลเสียที่เกิดในสตรีกลุ่มนี้ ในสตรีที่ยังไม่หมดประจำเดือนและเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก การรักษามะเร็งจะทำให้เกิดการหมดระดูก่อนวัยอันควร และอาจส่งผลต่ออัตราการรอดชีวิตได้ นอกจากนั้นแล้ว สตรีส่วนใหญ่ที่มีมะเร็งในระยะแรกจะได้รับการรักษา ทำให้คุณภาพชีวิตในระยะยาวของสตรีกลุ่มนี้เป็นประเด็นสำคัญ หลังจากการตัดรังไข่ทั้งสองข้าง สตรีที่ยังไม่หมดประจำเดือนอาจเกิดอาการของวัยหมดระดูที่เป็นมากกว่าปกติ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์และโทษของการใช้ฮอร์โมนทดแทน ทำให้สตรีสามารถตัดสินใจได้ว่าควรใช้ฮอร์โมนทดแทนในกรณีของตนหรือไม่
เพื่อประเมินความเสี่ยงและประโยชน์ของการใช้ฮอร์โมนทดแทน (เอสโตรเจนอย่างเดียวหรือเอสโตรเจนร่วมกับโปรเจสติน) สำหรับสตรีที่เคยได้รับการรักษามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
ผู้เขียนได้สืบค้นฐานข้อมูล the Cochrane Register of Controlled Trials (CENTRAL 2017, Issue 5), MEDLINE (1946 to April, week 4, 2017) และ Embase (1980 to 2017, week 18) และยังสืบค้นงานวิจัยทางคลินิคที่ลงทะเบียนไว้, บทคัดย่อจากงานประชุมวิชาการ และเอกสารอ้างอิงของบทความ
เรารวบรวมงานวิจัยแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ (RCTs) ในทุกภาษาที่ศึกษาประสิทธิภาพของการรักษาอาการจากวัยหมดระดูและความปลอดภัยของการใช้ฮอร์โมนทดแทนในสตรีที่ได้รับการรักษามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งความปลอดภัยในที่นี้คือการไม่เพิ่มความเสี่ยงของการกลับเป็นซ้ำของมะเร็งเกินสตรีที่ไม่ได้ใช้ฮอร์โมนทดแทน
ผู้ทบทวนวรรณกรรมสองคนประเมินว่างานวิจัยใดที่เข้าได้กับเกณฑ์การคัดเข้าอย่างเป็นอิสระต่อกัน เรา้ใช้วิธีมาตรฐานตามเกณฑ์ของ Cochrane
เราพบ 2190 งานวิจัย อ่านงานวิจัยฉบับเต็ม 7 เรื่อง และมี 1 งานวิจัย ทำในสตรี 1236 ราย ที่ผ่านเกณฑ์การคัดเข้า งานวิจัยนี้รายงานการกลับเป็นซ้ำของมะเร็ง 2.3% ในสตรีที่ใช้เอสโตรเจน เทียบกับ 1.9% ในสตรีที่ได้ยาหลอก (risk ratio (RR) 1.17, 95%CI 0.54 to 2.5; ความน่าเชื่อถือของหลักฐานงานวิจัยอยู่ในระดับต่ำมาก) การศึกษานี้รายงานการเกิดมะเร็งเต้านม ในสตรี 1 รายในกลุ่มที่ได้รับฮอร์โมนทดแทน (0.16%) และ 3 รายในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (0.49%) ในช่วงติดตามการรักษา (RR 0.80, 95%CI 0.32 to 2.01; สตรี 1236 ราย, 1 งานวิจัย; ความน่าเชื่อถือของหลักฐานงานวิจัยอยู่ในระดับต่ำมาก) ไม่มีการรายงานผลของการลดอาการจากวัยหมดระดู, อัตราการรอดชีวิต หรือ อัตราการสงบของโรค อย่างไรก็ดี มีการรายงานเปอร์เซ็นต์ของสตรีที่มีชีวิตโดยไม่มีมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกกลับเป็นซ้ำ (94.3% ในกลุ่มที่ได้ฮอร์โมนทดแทน และ 95.6% ในกลุ่มที่ได้ยาหลอก) และเปอร์เซ็นต์ของสตรีที่มีชีวิตโดยไม่คำนึงถึงการดำเนินของโรค (95.8% ในกลุ่มที่ได้ฮอร์โมนทดแทน และ 96.9% ในกลุ่มที่ได้ยาหลอก) เมื่อสิ้นสุดการติดตามที่ 36 เดือน งานวิจัยนี้ไม่ได้รายงานเวลาที่เกิดการกลับเป็นซ้ำของมะเร็ง และ underpower เนื่องจากปิดการศึกษาไปก่อน ผู้วิจัยปิดการศึกษาเนื่องจากผลวิจัยที่ตีพิมพ์ของ Women's Health Initiative (WHI) ซึ่งในขณะนั้นระบุว่าความเสี่ยงของการใช้ฮอร์โมนทดแทนมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับ ไม่มีการรายงานประสิทธิผลของการรักษา
ผู้แปล พญ.นันทสิริ เอี่ยมอุดมกาล ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น