คำถามการทบทวนวรรณกรรม
จุดมุ่งหมายของเราในการทบทวนนี้คือการค้นหาว่ายาในการรักษาอาการปวดในกลุ่มอาการกีแลง-บาร์เร (GBS) ปลอดภัยและมีประสิทธิผลหรือไม่
ความเป็นมา
GBS เป็นโรคหายากซึ่งส่งผลต่อเส้นประสาทและรากประสาทภายนอกสมองและไขสันหลัง เกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันของบุคคลโจมตีเส้นประสาท ปัจจัยกระตุ้นบางครั้งก็คือการติดเชื้อ อาการปวดจาก GBS มักจะถูกมองข้ามและไม่ได้รับการจัดการอย่างดี
ลักษณะของการศึกษา
ก่อนอื่นเราได้ดำเนินการค้นหาฐานข้อมูลทางการแพทย์อย่างกว้างขวางเพื่อค้นหาการศึกษาที่ตรงตามข้อกำหนดสำหรับการทบทวนนี้ เราพบการศึกษา 3 ฉบับ ที่มีผู้เข้าร่วม 277 ราย ซึ่งได้รับการสุ่มให้รับการรักษาอาการปวดจาก GBS ที่แตกต่างกัน การศึกษา 2 ฉบับได้เปรียบเทียบยาแก้ปวด (กาบาเพนตินหรือคาร์บามาเซพีน) กับยาหลอก (การรักษาที่ไม่มีฤทธิ์ทางยา) การศึกษาอีก 1 ฉบับ ได้เปรียบเทียบยาสเตียรอยด์กับยาหลอก
ผลลัพธ์ที่สำคัญและคุณภาพของหลักฐาน
ยาสองชนิด คือ กาบาเพนตินและคาร์บามาเซพีน ช่วยลดความรุนแรงของอาการปวดเมื่อเทียบกับการรักษาแบบหลอก (ที่ไม่มีฤทธิ์ทางยา) และมีผลข้างเคียงเพียงเล็กน้อย การศึกษา 1 ฉบับ พบว่าผู้ที่ใช้กาบาเพนตินมีอาการปวด ง่วงนอน หรือมีความจำเป็นต้องใช้ยาแก้ปวดเพิ่มเติมน้อยกว่าผู้ที่ได้รับคาร์บามาเซพีน อย่างไรก็ตาม การศึกษาดังกล่าวยังมีขนาดเล็ก และระยะเวลาการรักษาก็สั้น การทดลอง 1 ฉบับ ซึ่งมีผู้เข้าร่วม 223 คน พบว่าเมทิลเพรดนิโซโลน ซึ่งเป็นยาสเตียรอยด์ ไม่มีผลต่อจำนวนผู้ที่เกิดอาการปวด หรือเปลี่ยนแปลงจำนวนผู้ที่มีอาการปวดมากขึ้นหรือน้อยลง เมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก การศึกษานี้ไม่ได้รายงานว่ามีผลข้างเคียงใด ๆ หรือไม่
บทวิจารณ์นี้ไม่ได้ให้หลักฐานเพียงพอที่จะบอกได้ว่าการรักษาอาการปวดในผู้ป่วย GBS ได้ผลหรือไม่ แม้ว่าทั้งกาบาเพนตินและคาร์บามาเซพีนจะช่วยลดความรุนแรงของอาการปวดได้เมื่อเทียบกับยาหลอก และมีการรายงานผลข้างเคียงเพียงเล็กน้อย แต่การศึกษายังมีขนาดเล็ก และคุณภาพของหลักฐานก็ต่ำมาก จำเป็นต้องมีการศึกษาที่ใหญ่กว่านี้มากและได้รับการออกแบบมาอย่างดีเพื่อยืนยันว่าการรักษาด้วยยาจะปลอดภัยและมีประสิทธิผลสำหรับผู้ที่มีอาการปวดในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ หลังจากเริ่มมี GBS ควรทำการศึกษาในระยะยาวเกี่ยวกับการบำบัดอาการเจ็บปวดในระยะที่ผู้ป่วย GBS กำลังฟื้นตัว และควรรวมถึงการประเมินผลของการรักษาอาการเจ็บปวดต่อคุณภาพชีวิตด้วย
การทบทวนวรรณกรรมนี้เผยแพร่ครั้งแรกในปี 2013 และการค้นหาอัปเดตในปี 2014 พบว่าไม่มีการศึกษาเพิ่มเติม หลักฐานมีอยู่จนถึงเดือนพฤศจิกายน ปี 2014
ผู้ทบทวนวรรณกรรมไม่พบการศึกษาใหม่ตั้งแต่การทบทวนวรรณกรรมครั้งก่อน แม้ว่าการจัดการความเจ็บปวดใน GBS จะเป็นสิ่งสำคัญและการใช้ยาเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญของการรักษา แต่การทบทวนนี้ไม่ได้ให้หลักฐานที่เพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้วิธีการทางเภสัชวิทยาใด ๆ ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดใน GBS แม้ว่าจะพบว่าความรุนแรงของอาการปวดลดลงเมื่อเปรียบเทียบเมื่อใช้กาบาเพนตินและคาร์บามาเซพีนกับยาหลอก แต่หลักฐานยังมีจำกัด และคุณภาพยังต่ำมาก จำเป็นต้องมี RCT ที่ใหญ่และออกแบบมาอย่างดีเพื่อตรวจสอบประสิทธิผลและความปลอดภัยของการแทรกแซงที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่มีอาการปวดจาก GBS เพิ่มเติม นอกจากนี้ ควรมีการศึกษาการแทรกแซงสำหรับอาการปวดในระยะพักฟื้นของ GBS
อาการปวดจากโรคกิลแลง-บาร์เร (Guillain-Barré syndrome, GBS) ถือเป็นอาการที่พบได้บ่อย แต่มักจะถูกมองข้ามและไม่ได้รับการจัดการที่ดี ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการศึกษาการรักษาด้วยยาทางเลือกต่าง ๆ ในการทดลองทางคลินิกสำหรับผู้ที่มีอาการปวดที่เกี่ยวข้องกับ GBS นี่คือการปรับปรุงของการทบทวนวรรณกรรมที่เผยแพร่ในฉบับที่ 10 ปี 2013
เพื่อประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยของการรักษาด้วยยาสำหรับอาการปวดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ GBS ทั้งในระยะเฉียบพลันและระยะพักฟื้น (3 เดือนขึ้นไปหลังจากเริ่มมีอาการของโรค GBS)
เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2014 เราได้ค้นหาใน Cochrane Neuromuscular Disease Group Specialized Register, CENTRAL, MEDLINE และ EMBASE นอกจากนี้ เรายังได้ค้นหาในเว็บไซต์ ClinicalTrials.gov และแพลตฟอร์ม International Clinical Trials Registry Platform ขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization; WHO) อีกด้วย
เราได้รวมการทดลองแบบสุ่มที่มีการควบคุม (randomised controlled trials; RCT) และการทดลอง quasi-RCTs ในผู้เข้าร่วมที่ได้รับการยืนยัวว่ามีอาการ GBS โดยมีการประเมินความเจ็บปวดเป็นผลลัพธ์หลักหรือผลลัพธ์รอง สำหรับการทดลองแบบ cross-over trials จำเป็นต้องมีช่วงเวลาเว้นว่างที่เหมาะสมระหว่างเฟสต่าง ๆ ถึงจะนำเข้าในการทบทวนวรรณกรรมนี้
ผู้ประพันธ์ 2 คน ทำการคัดกรองหัวข้อและบทคัดย่อของบันทึกที่เกี่ยวข้อง, เลือกการศึกษาที่จะเข้ามา, ดึงข้อมูลและตรวจสอบข้อมูลเพื่อความถูกต้องและประเมินคุณภาพเกี่ยวกับระเบียบวิธีวิจัย
RCT ระยะสั้น 3 ฉบับ ได้รวมผู้ที่มี GBS ในระยะเฉียบพลันเข้าร่วมแบบสุ่ม 277 ราย ความเสี่ยงของการมีอคติในการศึกษารวมนั้นไม่ชัดเจนโดยทั่วไปเนื่องจากข้อมูลไม่เพียงพอ การศึกษาที่รวมอยู่ในการทบทวนนี้ไม่มีการรายงานผลลัพธ์หลักที่เลือกไว้สำหรับการตรวจสอบนี้ ซึ่งก็คือจำนวนผู้ป่วยที่รายงานตนเองว่าอาการปวดบรรเทาลง 50% หรือมากกว่า การศึกษาวิจัยขนาดเล็ก 1 ฉบับได้ศึกษาการใช้กาบาเพนตินเป็นเวลา 7 วันเทียบกับยาหลอก ความเจ็บปวดได้รับการประเมินโดยใช้มาตราส่วนตั้งแต่ 0 (ไม่เจ็บปวด) ถึง 10 (เจ็บปวดสูงสุด) ในบรรดาผู้เข้าร่วมทั้ง 18 ราย พบว่าคะแนนความเจ็บปวดเฉลี่ยลดลงอย่างมีนัยสำคัญในจุดสิ้นสุด (วันที่ 7) ในระยะกาบาเพนตินเมื่อเทียบกับจุดสิ้นสุดของระยะที่ใช้ยาหลอก (ความแตกต่างเฉลี่ย -3.61, 95% CI -4.12 ถึง -3.10) (หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) สำหรับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในอุบัติการณ์ของอาการคลื่นไส้ (อัตราส่วนความเสี่ยง (RR) 0.50, 95% CI 0.05 ถึง 5.04) หรืออาการท้องผูก (RR 0.14, 95% CI 0.01 ถึง 2.54) การศึกษาที่ 2 ซึ่งมีผู้เข้าร่วม 36 รายเปรียบเทียบกาบาเพนติน คาร์บามาเซพีน และยาหลอก โดยดำเนินการทั้งหมดเป็นเวลา 7 วัน ผู้เข้าร่วมในกลุ่มกาบาเพนตินมีคะแนนความเจ็บปวดเฉลี่ยต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญในทุกวันของการรักษาเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มยาหลอกและกลุ่มคาร์บามาเซพีน (P < 0.05) มีความแตกต่างอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติในคะแนนความเจ็บปวดเฉลี่ยระหว่างกลุ่มคาร์บามาเซพีนและกลุ่มยาหลอกตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 3 แต่ตั้งแต่วันที่ 4 จนถึงสิ้นสุดการศึกษา กลับพบว่าคะแนนความเจ็บปวดเฉลี่ยลดลงอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มคาร์บามาเซพีน (P < 0.05) (หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) ไม่มีการรายงานผลข้างเคียงของกาบาเพนตินหรือคาร์บามาเซพีน นอกเหนือจากอาการง่วงนอน RCT ขนาดใหญ่ 1 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 223 ราย ซึ่งทั้งหมดได้รับการรักษาด้วยอิมมูโนโกลบูลินทางเส้นเลือดด้วย) ได้เปรียบเทียบการใช้เมทิลเพรดนิโซโลนเป็นเวลา 5 วันกับยาหลอก และพบว่ามีความแตกต่างอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติในจำนวนผู้เข้าร่วมที่เกิดอาการปวด (RR 0.89, 95% CI 0.68 ถึง 1.16), จำนวนผู้เข้าร่วมที่มีอาการปวดลดลง (RR 0.95, 95% CI 0.63 ถึง 1.42) หรือจำนวนผู้เข้าร่วมที่มีอาการปวดเพิ่มขึ้น (RR 0.85, 95% CI 0.52 ถึง 1.41) (หลักฐานคุณภาพต่ำ) การศึกษาไม่ได้รายงานว่ามีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ใด ๆ
ผู้แปล แพทย์หญิงชุติมา ชุณหะวิจิตร วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2025