ยาปฏิชีวนะเซฟาโลสปอรินสำหรับรักษาไข้รากสาดน้อย (ไข้ไทฟอยด์)

ข้อความสำคัญ

• อาจไม่มีความแตกต่างในประสิทธิภาพของ ceftriaxone (ยากลุ่ม cephalosporin) เมื่อเทียบกับ azithromycin, fluoroquinolones หรือ chloramphenicol (ยาต้านจุลชีพอื่นๆ) สำหรับผู้ใหญ่และเด็กที่เป็นไข้รากสาดน้อย (ไข้ไทฟอยด์)

• Cefixime (เซฟาโลสปอรินอีกชนิดหนึ่ง) สามารถใช้รักษาไข้รากสาดน้อยในผู้ใหญ่และเด็กได้เช่นกัน แต่อาจไม่ได้ผลดีเท่า fluoroquinolones

• ผู้กำหนดนโยบายและแพทย์จำเป็นต้องพิจารณารูปแบบการดื้อยาปฏิชีวนะในท้องถิ่นเมื่อพิจารณาทางเลือกในการรักษาโรคไข้รากสาดน้อย

ไข้รากสาดน้อยคืออะไร

Enteric fever เป็นคำสามัญสำหรับอาการเจ็บป่วยที่คล้ายคลึงกัน 2 ชนิดที่รู้จักกันในชื่อไข้ไทฟอยด์และไข้พาราไทฟอยด์ ความเจ็บป่วยเหล่านี้เกิดขึ้นในคนเท่านั้น และเกิดจากแบคทีเรียที่รู้จักกันในชื่อ Salmonella typhi และ Salmonella paratyphi A, B หรือ C ความเจ็บป่วยเหล่านี้พบได้บ่อยที่สุดในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง ซึ่งน้ำและสุขอนามัยอาจไม่เพียงพอ Enteric fever มักทำให้เกิดไข้และปวดศีรษะร่วมกับอาการท้องร่วง ท้องผูก ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน หรือเบื่ออาหาร หากปล่อยไว้โดยไม่รักษา บางคนอาจมีอาการแทรกซ้อนร้ายแรงและอาจเสียชีวิตได้

Cephalosporins คืออะไรและทำงานอย่างไร

Cephalosporins เป็นกลุ่มใหญ่ของยาต้านจุลชีพ ซึ่งมักใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อต่างๆ ยาเซฟาโลสปอรินแต่ละชนิด (เช่น เซฟิซิมและเซฟไตรอะโซน) จะแตกต่างกันไปตามแบคทีเรียเฉพาะที่รักษาได้ วิธีให้ยาทางปาก (ทางปาก) หรือฉีด (ทางหลอดเลือดดำ) และเวลาที่ได้ถูกพัฒนาขึ้นมา เซฟาโลสปอรินบางชนิดสามารถรักษา Salmonella typhi และ Salmonella paratyphi A, B หรือ C แบคทีเรียที่ทำให้เกิดไข้ไทฟอยด์

ในอดีต enteric fever ตอบสนองดีมากต่อยาต้านจุลชีพประเภทอื่นๆ เช่น คลอแรมเฟนิคอล อย่างไรก็ตาม การดื้อยาของแบคทีเรียต่อยาต้านจุลชีพหลายชนิดได้กลายเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในเอเชียและแอฟริกา cephalosporins ที่เฉพาะเจาะจง มักใช้เพื่อรักษาไข้รากสาดน้อย เนื่องจากการดื้อยาต่อยาต้านจุลชีพอื่น ๆ

เราต้องการค้นหาอะไร

เราต้องการทราบว่า cephalosporins ดีกว่าหรือแย่กว่าในการรักษาผู้ใหญ่และเด็กที่เป็นไข้รากสาดน้อย เมื่อเทียบกับยาต้านจุลชีพอื่นๆ ที่ให้โดยทั่วไป เช่น fluoroquinolones และ azithromycin ในการค้นหานี้ เราต้องการทราบว่าการรักษาด้วยเซฟาโลสปอรินจะนำไปสู่อาการของโรคที่คงอยู่ (ความล้มเหลวทางคลินิก) การคงอยู่ของ แบคทีเรีย Salmonella typhi และ Salmonella paratyphi A, B หรือ C ในเลือด (ความล้มเหลวทางจุลชีววิทยา) หรือการกลับมาของอาการหรือ Salmonella typhi และ Salmonella paratyphi A, B หรือ C ในเลือด (กลับเป็นซ้ำ)

นอกจากนี้ เรายังต้องการทราบว่ายา cephalosporins ใช้เวลานานเท่าใดในการลดไข้ ยาลดระยะเวลาที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล อุจจาระของผู้ป่วย (อุจจาระ) จะยังคงมีแบคทีเรียและยังคงแพร่เชื้ออยู่หรือไม่ และยาก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ในผู้ป่วยหรือไม่

เราทำอะไร

เราค้นหาการศึกษาที่เปรียบเทียบการรักษาด้วยยาต้านจุลชีพเซฟาโลสปอรินกับยาต้านจุลชีพชนิดอื่น หรือเปรียบเทียบการรักษาด้วยยาต้านจุลชีพเซฟาโลสปอรินกับยาต้านจุลชีพเซฟาโลสปอรินชนิดอื่นที่แตกต่างกัน ในผู้ใหญ่หรือเด็กที่เป็นไข้รากสาดน้อยซึ่งได้รับการวินิจฉัยผ่านการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การเพาะเชื้อจากเลือด

เราพบอะไร

เราพบการศึกษา 27 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับผู้ใหญ่และเด็ก 2231 คนจากแอฟริกา เอเชีย ยุโรป ตะวันออกกลาง และแคริบเบียน ที่เปรียบเทียบการรักษาด้วยยาต้านจุลชีพเซฟาโลสปอรินในไข้รากสาดน้อยกับยาต้านจุลชีพอื่นๆ

Ceftriaxone ถูกพบว่าเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพสำหรับไข้เอนเทอริก โดยมีผลข้างเคียงเพียงเล็กน้อย และมีความคล้ายคลึงกับอะซิโธรมัยซิน ฟลูออโรควิโนโลน และคลอแรมเฟนิคอลในด้านความสามารถในการรักษาไข้เอนเทอริก

สามารถใช้ Cefixime เพื่อรักษาไข้รากสาดน้อยได้แต่อาจไม่ดีเท่าเมื่อเทียบกับยาต้านจุลชีพฟลูออโรโลควิโนโลน

การค้นพบนี้ใช้เฉพาะในกรณีที่แบคทีเรียที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อไข้รากสาดน้อยมีความไวต่อยาต้านจุลชีพที่ให้เพื่อรักษาการติดเชื้อ นั่นคือแบคทีเรียไม่ดื้อต่อยาต้านจุลชีพ

ข้อจำกัดของหลักฐานคืออะไร

เรามีความเชื่อมั่นต่ำในการประมาณการของเราสำหรับการค้นพบนี้ เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยในการศึกษาที่รวบรวมมีน้อย นอกจากนี้ ในการศึกษาส่วนใหญ่ที่รวบรวมผู้ป่วยและแพทย์ทราบว่าผู้ป่วยได้รับยาต้านจุลชีพชนิดใด ซึ่งอาจทำให้ผลลัพธ์มีอคติ

หลักฐานนี้ทันสมัยแค่ไหน

ผลลัพธ์เหล่านี้เป็นปัจจุบันจนถึง 24 พฤศจิกายน 2021

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

จากหลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือในระดับต่ำถึงต่ำมาก Ceftriaxone เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพสำหรับผู้ใหญ่และเด็กที่เป็นไข้รากสาดน้อย โดยมีผลข้างเคียงเพียงเล็กน้อย การทดลองแสดงให้เห็นว่าอาจไม่มีความแตกต่างกันในประสิทธิภาพของ ceftriaxone เมื่อเทียบกับ azithromycin, fluoroquinolones หรือ chloramphenicol cefixime สามารถใช้รักษาไข้รากสาดน้อยได้ แต่อาจทำงานได้ไม่ดีเท่า fluoroquinolones

เราไม่สามารถสรุปข้อสรุปทั่วไปที่แน่ชัดเกี่ยวกับประสิทธิผลร่วมสมัยเชิงเปรียบเทียบได้ เนื่องจากการทดลองส่วนใหญ่มีขนาดเล็กและดำเนินการมามากกว่า 20 ปีก่อนหน้านี้ แพทย์จำเป็นต้องคำนึงถึงรูปแบบการดื้อยาการเฉพาะพื้นที่ในปัจจุบันรวมทั้งวิธีบริหารยาเมื่อเลือกยาต้านจุลชีพ

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

ไทฟอยด์และพาราไทฟอยด์ (ไข้รากสาดน้อย : Enteric fever) เป็นโรคที่เกิดจากแบคทีเรียแล้วทำให้มีไข้ ซึ่งพบได้บ่อยในหลายประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง ปัจจุบัน องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้รักษาด้วย azithromycin, ciprofloxacin หรือ ceftriaxone เนื่องจากการดื้อยาในวงกว้างต่อยาต้านจุลชีพแบบเดิม รูปแบบการดื้อต่อตาต้านจุลชีพแตกต่างกันไปในแต่ละสถานที่และมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การดื้อต่อ fluoroquinolone ในเอเชียใต้มักจะทำให้ใช้ ciprofloxacin ไม่ได้ ไข้รากสาดน้อยสายพันธุ์ที่ดื้อต่อยาอย่างกว้างขวางเกิดขึ้นในปากีสถาน ในบางพื้นที่ของโลก เชื้อที่ตอบสนองดีต่อยาต้านจุลชีพขนานแรกแบบเก่า เช่น คลอแรมเฟนิคอล ได้ปรากฏขึ้นอีกครั้ง มีการทบทวน Cochrane เกี่ยวกับการใช้ fluoroquinolones และ azithromycin ในการรักษาไข้รากสาดน้อย แต่การใช้ cephalosporins ยังไม่ได้รับการตรวจสอบอย่างเป็นระบบ และทางเลือกที่เหมาะสมของยาและระยะเวลาในการรักษายังไม่แน่นอน

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินประสิทธิผลของ cephalosporins ในการรักษาโรคไข้รากสาดน้อยในเด็กและผู้ใหญ่เปรียบเทียบกับยาต้านจุลชีพชนิดอื่น

วิธีการสืบค้น: 

ผู้วิจัยสืบค้นจากฐานข้อมูลต่อไปนี้ the Cochrane Infectious Diseases Group Specialized Register; CENTRAL; MEDLINE; Embase; และ LILACS, the WHO ICTRP and ClinicalTrials.gov จนถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2021 นอกจากนี้ เรายังค้นหารายการอ้างอิงของการทดลองที่รวมอยู่ ติดต่อนักวิจัยที่ทำงานในสาขานี้ และติดต่อองค์กรที่เกี่ยวข้อง

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ (RCTs) ในผู้ใหญ่และเด็กที่เป็นไข้รากสาดน้อย ซึ่งเปรียบเทียบเซฟาโลสปอรินกับยาต้านจุลชีพอื่น ยาเซฟาโลสปอรินที่ต่างกัน หรือระยะเวลาการรักษาเซฟาโลสปอรินที่แตกต่างกัน การวินิจฉัยไข้รากสาดน้อยขึ้นอยู่กับการเพาะเชื้อจากเลือด การเพาะเชื้อจากไขกระดูก หรือการตรวจระดับโมเลกุล

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราใช้ระเบียบวิธีมาตรฐานของ Cochrane ผลลัพธ์หลักของเราคือความล้มเหลวทางคลินิก ความล้มเหลวทางจุลชีววิทยา และการกำเริบของโรค ผลลัพธ์รองของเรา ได้แก่ ระยะเวลาที่ไข้ลง ระยะเวลาที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล การตรวจพบเชื้อในอุจจาระ และผลไม่พึงประสงค์ เราใช้แนวทาง GRADE เพื่อประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐานสำหรับแต่ละผลลัพธ์

ผลการวิจัย: 

เรารวบรวม RCTs 27 ฉบับ โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 2231 คน ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ระหว่างปี 1986 และ 2016 ทั่วแอฟริกา เอเชีย ยุโรป ตะวันออกกลาง และแคริบเบียน โดยมีการเปรียบเทียบระหว่างเซฟาโลสปอรินกับยาต้านจุลชีพอื่นๆ ที่ใช้รักษาไข้รากสาดน้อยในเด็กและผู้ใหญ่ การเปรียบเทียบหลักคือระหว่างยาต้านจุลชีพที่ใช้กันทั่วไปทางคลินิก ได้แก่ เซฟาโลสปอรินเทียบกับฟลูออโรควิโนโลน และเซฟาโลสปอรินเทียบกับอะซิโธรมัยซิน

Cephalosporin (cefixime) กับ fluoroquinolones

ความล้มเหลวทางคลินิก ความล้มเหลวทางจุลชีววิทยา และการกลับเป็นซ้ำโรคอาจเพิ่มขึ้นในผู้ป่วยที่ได้รับ cefixime เมื่อเทียบกับ fluoroquinolones ในการทดลองขนาดเล็ก 3 ฉบับ ที่เผยแพร่เมื่อ 14 ปีที่แล้ว: ความล้มเหลวทางคลินิก (อัตราส่วนความเสี่ยง (RR) 13.39, ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) 3.24 ถึง 55.39; การทดลอง 2 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 240 คน หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ); ความล้มเหลวทางจุลชีววิทยา (RR 4.07, 95% CI 0.46 ถึง 36.41; การทดลอง 2 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 240 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ); การกลับเป็นซ้ำ (RR 4.45, 95% CI 1.11 ถึง 17.84; การทดลอง 2 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 220 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) เวลาในการที่ไข้ลงของผู้เข้าร่วมที่รักษาด้วย cefixime อาจนานกว่าเมื่อเทียบกับผู้เข้าร่วมที่รักษาด้วย fluoroquinolones (ความแตกต่างของค่าเฉลี่ย (MD) 1.74 วัน, 95% CI 0.50 ถึง 2.98, การศึกษา 3 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 425 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ)

Cephalosporin (ceftriaxone) กับ azithromycin

Ceftriaxone อาจส่งผลให้ความล้มเหลวทางคลินิกลดลงเมื่อเทียบกับ azithromycin และไม่ชัดเจนว่า ceftriaxone มีผลต่อความล้มเหลวทางจุลชีววิทยาเมื่อเทียบกับ azithromycin ในการทดลองเล็ก ๆ 2 ฉบับที่ตีพิมพ์เมื่อ 18 ปีที่แล้วและในการทดลองล่าสุดอีก 1 ฉบับ ซึ่งดำเนินการทั้งหมดในผู้เข้าร่วมอายุต่ำกว่า 18 ปี: ความล้มเหลวทางคลินิก (RR 0.42, 95% CI 0.11 ถึง 1.57; การศึกษา 3 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 196 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ); ความล้มเหลวทางจุลชีววิทยา (RR 1.95, 95% CI 0.36 ถึง 10.64, การศึกษา 3 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 196 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก) ไม่ชัดเจนว่า ceftriaxone เพิ่มหรือลดการกลับเป็นซ้ำของโรคเมื่อเทียบกับ azithromycin (RR 10.05, 95% CI 1.93 ถึง 52.38; การศึกษา 3 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 185 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก) เวลาในการที่ไข้ลงของผู้เข้าร่วมที่ได้รับการรักษาด้วย ceftriaxone อาจสั้นกว่าเมื่อเทียบกับผู้เข้าร่วมที่ได้รับการรักษาด้วย azithromycin (ความแตกต่างเฉลี่ย −0.52 วัน, 95% CI −0.91 ถึง −0.12; การศึกษา 3 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 196 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ)

Cephalosporin (cefixime) เทียบกับ Fluoroquinolones

ไม่ชัดเจนว่า ceftriaxone มีผลต่อความล้มเหลวทางคลินิก ความล้มเหลวทางจุลชีววิทยา การกลับเป็นซ้ำของโรค และเวลาที่ไข้ลงเมื่อเทียบกับ fluoroquinolones ในการทดลอง 3 ฉบับที่เผยแพร่เมื่อ 28 ปีที่แล้ว และอีก 2 การทดลองล่าสุด: ความล้มเหลวทางคลินิก (RR 3.77, 95% CI 0.72 ถึง 19.81); การทดลอง 4 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 359 คน หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก); ความล้มเหลวทางจุลชีววิทยา (RR 1.65, 95% CI 0.40 ถึง 6.83; การทดลอง 3 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 316 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก); การกลับเป็นซ้ำ (RR 0.95, 95% CI 0.31 ถึง 2.92; การทดลอง 3 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 297 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก) และเวลาที่ไข้ลง (MD 2.73 วัน, 95% CI −0.37 ถึง 5.84; การทดลอง 3 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 285 คน; หลักฐานแน่นอนต่ำมาก) ยังไม่ชัดเจนว่า ceftriaxone ลดการตรวจพบเชื้อเป็นพาหะในอุจจาระ เมื่อเทียบกับ fluoroquinolone gatifloxacin (RR 0.18, 95% CI 0.01 ถึง 3.72; การทดลอง 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 73 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) และระยะเวลาการนอนโรงพยาบาลอาจนานขึ้นในผู้เข้าร่วมที่ได้รับการรักษาด้วย ceftriaxone เปรียบเทียบกับผู้เข้าร่วมที่ได้รับ fluoroquinolone ofloxacin (ค่าเฉลี่ย 12 วัน (ช่วง 7 ถึง 23 วัน) ในกลุ่ม ceftriaxone เทียบกับค่าเฉลี่ย 9 วัน (ช่วง 6 ถึง 13 วัน) ในกลุ่ม ofloxacin; การทดลอง 1 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 47 คน หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ)

บันทึกการแปล: 

แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว Edit โดย ผกากรอง 26 มกราคม 2023

Tools
Information