การใช้ salbutamol (albuterol) ในการดูแลภาวะหายใจเร็วชั่วคราวของทารกแรกเกิด

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม: Salbutamol ช่วยลดระยะเวลาของการให้ออกซิเจนและการช่วยหายใจในทารกแรกเกิดที่มีอาการหายใจเร็วชั่วคราวหรือไม่

ความเป็นมา: ภาวะหายใจเร็วชั่วคราวของทารกแรกเกิด (transient tachypnea of the newborn) คือ การมีอัตราการหายใจที่เร็ว (มากกว่า 60 ครั้งต่อนาที) และมีอาการแสดงของภาวะหายใจลำบาก (respiratory distress); โดยทั่วไปจะพบภายในสองชั่วโมงแรกหลังคลอดของทารกที่อายุครรภ์ตั้งแต่ 34 สัปดาห์ขึ้นไป แม้ว่าภาวะหายใจเร็วชั่วคราวของทารกแรกเกิดมักจะดีขึ้นโดยไม่ต้องได้รับการรักษา แต่พบว่ามีความสัมพันธ์กับกลุ่มอาการหลอดลมตีบ (wheezing syndromes) ในวัยเด็กตอนปลาย ส่วนแนวคิดในการใช้ salbutamol สำหรับภาวะหายใจเร็วชั่วคราวของทารกแรกเกิดนั้น อ้างอิงจากการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่ายา β-agonists เช่น epinephrine (หรือ adrenaline) สามารถเร่งอัตราการระบายของเหลวจากโพรงเล็กๆ (ถุงลม) ภายในปอดได้ การทบทวนนี้จึงได้รายงานและวิเคราะห์อย่างละเอียดถึงหลักฐานที่มีอยู่เกี่ยวกับประสิทธิผลของ salbutamol ในการดูแลภาวะหายใจเร็วชั่วคราวของทารกแรกเกิด

ลักษณะการศึกษา: ในการสืบค้นเอกสารทางการแพทย์ที่เสร็จสมบูรณ์จนถึงเดือนเมษายน 2020 ผู้วิจัยพบการทดลองทางคลินิก 7 รายงาน (ทารกแรกเกิด 498 คน) ที่เปรียบเทียบ salbutamol กับยาหลอก โดยมีการศึกษา 6 รายการประเมินการให้ยา salbutamol รูปแบบละอองฝอย (nebulized) เพียงหนึ่งครั้ง และมีการศึกษาอีก 1 ฉบับประเมินการให้ยาสองครั้งที่ขนาดยาแตกต่างกัน ผู้วิจัยพบการทดลองเพิ่มเติมอีก 5 โครงการที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ

ผลลัพธ์ที่สำคัญ: ผู้วิจัยไม่มั่นใจว่าการให้ยา salbutamol จะช่วยลดระยะเวลาของการให้ออกซิเจน, ระยะเวลาของอาการหายใจเร็ว, ความจำเป็นในการใช้แรงดันทางเดินหายใจบวกอย่างต่อเนื่อง (continuous positive airway pressure; CPAP) และความจำเป็นในการใช้เครื่องช่วยหายใจหรือไม่ แต่พบว่า salbutamol อาจลดระยะเวลานอนโรงพยาบาลได้เล็กน้อย

ความน่าเชื่อถือของหลักฐาน อยู่ในระดับต่ำในแง่ของระยะเวลาการนอนโรงพยาบาล, และอยู่ในระดับต่ำมากสำหรับ ระยะเวลาการรักษาด้วยออกซิเจน, ระยะเวลาที่หายใจเร็ว, ความจำเป็นในการใช้ CPAP และ ความจำเป็นในการใช้เครื่องช่วยหายใจ เนื่องจากข้อมูลจากการศึกษามีค่อนข้างน้อยและมีความน่าเชื่อถือต่ำ ผู้วิจัยจึงไม่สามารถระบุได้ว่า salbutamol มีความปลอดภัยหรือมีประสิทธิผลในการรักษาอาการหายใจเร็วชั่วคราวของทารกแรกเกิด

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

มีหลักฐานค่อนข้างจำกัดที่จะสรุปข้อดีข้อเสียของ salbutamol ในการรักษาภาวะหายใจเร็วชั่วคราวของทารกแรกเกิด ผู้วิจัยไม่มั่นใจว่าการให้ยา salbutamol จะช่วยลดระยะเวลาของการให้ออกซิเจน, ระยะเวลาของอาการหายใจเร็ว, ความจำเป็นในการใช้ CPAP และความจำเป็นในการใช้เครื่องช่วยหายใจหรือไม่ แต่พบว่า salbutamol อาจลดระยะเวลานอนโรงพยาบาลได้เล็กน้อย นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาอีก 5 โครงการที่กำลังดำเนินอยู่ เนื่องจากข้อมูลจากการศึกษามีค่อนข้างน้อยและมีความน่าเชื่อถือต่ำ ผู้วิจัยจึงไม่สามารถระบุได้ว่า salbutamol มีความปลอดภัยหรือมีประสิทธิผลในการรักษาอาการหายใจเร็วชั่วคราวของทารกแรกเกิด

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

ภาวะหายใจเร็วชั่วคราวของทารกแรกเกิด (transient tachypnea of the newborn) มีลักษณะคือ มีอาการหายใจเร็วร่วมกับภาวะหายใจลำบาก โดยทั่วไปภาวะนี้จะพบภายในสองชั่วโมงแรกหลังคลอดของทารกที่คลอดครบกำหนดและทารกเกิดก่อนกำหนดเล็กน้อย (late preterm) แม้ว่าส่วนใหญ่อาการมักจะดีขึ้นโดยไม่ต้องได้รับการรักษา แต่พบว่ามีความสัมพันธ์กับกลุ่มอาการหลอดลมตีบ (wheezing syndromes) ในวัยเด็กตอนปลาย ส่วนเหตุผลในการใช้ salbutamol (albuterol) สำหรับภาวะหายใจเร็วชั่วคราวของทารกแรกเกิดอ้างอิงจากการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า β-agonists สามารถเร่งอัตราการระบายของเหลวในถุงลมปอดได้ การทบทวนวรรณกรรมนี้เผยแพร่ครั้งแรกในปี 2016 และปรับปรุงในปี 2020

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินว่า salbutamol ได้ผลและปลอดภัยในการรักษาภาวะหายใจเร็วชั่วคราวของทารกแรกเกิดในทารกที่คลอดเมื่ออายุครรภ์ตั้งแต่ 34 สัปดาห์ขึ้นไป เมื่อเทียบกับยาหลอก หรือการไม่ได้รับการรักษาใดๆ หรือการใช้ยาชนิดอื่นใด

วิธีการสืบค้น: 

ผู้วิจัยสืบค้นจากฐานข้อมูล Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL; 2020, Issue 4) ใน Cochrane Library, PubMed (1996 ถึงเมษายน 2020), Embase (1980 ถึงเมษายน 2020); และ CINAHL (1982 ถึงเมษายน 2020) โดยไม่มีข้อจำกัดด้านภาษา และยังสืบค้นในบทคัดย่อของการประชุมใหญ่ในสาขานี้ (Perinatal Society of Australia New Zealand and Pediatric Academic Society) ตั้งแต่ปี 2000 ถึง 2020 และทะเบียนการทดลองทางคลินิก

เกณฑ์การคัดเลือก: 

การทดลองแบบ randomized controlled trials, quasi-randomized controlled trials และ cluster trials ที่เปรียบเทียบ salbutamol กับยาหลอก หรือการไม่ได้รับการรักษาใดๆ หรือการใช้ยาชนิดอื่นใดที่ให้กับทารกที่คลอดเมื่ออายุครรภ์ 34 สัปดาห์ขึ้นไปและอายุน้อยกว่าสามวัน ที่มีภาวะหายใจเร็วชั่วคราวของทารกแรกเกิด

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้วิจัยใช้วิธีการมาตรฐานของ Cochrane สำหรับการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล โดยผลลัพธ์หลักในการทบทวนนี้ ได้แก่ ระยะเวลาของการให้ออกซิเจน, ความจำเป็นในการใช้ความดันทางเดินหายใจเป็นบวกอย่างต่อเนื่อง (continuous positive airway pressure; CPAP) และความจำเป็นในการใช้เครื่องช่วยหายใจ ผู้วิจัยประเมินความน่าเชื่อถือของหลักฐานโดยวิธี GRADE

ผลการวิจัย: 

การศึกษา 7 ฉบับได้รวมเอาทารก 498 คนที่เข้าเกณฑ์การคัดเลือก การศึกษาทั้งหมดได้เปรียบเทียบระหว่างการพ่นละอองฝอยของ salbutamol กับน้ำเกลือ (normal saline) มี 4 การศึกษาที่ให้ salbutamol เพียงครั้งเดียว; มี 2 การศึกษาที่มีการให้ยา 3 ถึง 4 ครั้ง; มี 1 การศึกษาที่จะให้ยาเพิ่มเติมหากจำเป็น ความน่าเชื่อถือของหลักฐานอยู่ในระดับต่ำในแง่ของระยะเวลานอนโรงพยาบาล และต่ำมากในแง่ของผลลัพธ์อื่นๆ ในส่วนของผลลัพธ์หลักของการทบทวนนี้ มีการศึกษา 4 รายการ (ทารก 338 คน) รายงานระยะเวลาของการให้ออกซิเจน (mean difference (MD) -19.24 ชั่วโมง, 95% confidence interval (CI) -23.76 ถึง -14.72); การศึกษา 1 รายการ (ทารก 46 คน) รายงานความจำเป็นในการใช้ CPAP (risk ratio (RR) 0.73, 95% CI 0.38 ถึง 1.39; risk difference (RD) -0.15, 95% CI -0.45 ถึง 0.16) และการศึกษา 3 รายการ (ทารก 254 ราย) รายงานความจำเป็นในการใช้เครื่องช่วยหายใจ (RR 0.60, 95% CI 0.13 ถึง 2.86; RD -0.01, 95% CI -0.05 ถึง 0.03) นอกจากนี้มีรายงานว่าทั้งระยะเวลานอนโรงพยาบาล (4 การศึกษา; ทารก 338 คน) และระยะเวลาในการช่วยหายใจ (2 การศึกษา; ทารก 228 คน) สั้นกว่าในกลุ่ม salbutamol (MD -1.48, 95% CI -1.8 ถึง -1.16; MD -9.24, 95% CI -14.24 ถึง -4.23 ตามลำดับ) การศึกษา 1 ฉบับ (ทารก 80 คน) รายงานระยะเวลาของการใช้เครื่องช่วยหายใจและการเกิดลมในช่องเยื่อหุ้มปอด (pneumothorax) แต่ไม่สามารถดึงข้อมูลเหล่านี้ได้ เนื่องจากความไม่ชัดเจนของการรายงานหน่วยการวัดผล และจำนวนเหตุการณ์ที่ไม่ชัดเจน ตามลำดับ) นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาอีก 5 โครงการที่กำลังดำเนินอยู่

บันทึกการแปล: 

ผู้แปล นพ.จักรพงศ์ รู้ปิติวิริยะ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2021

Tools
Information