วัตถุประสงค์ของการทบทวนวรรณกรรมนี้คืออะไร
จุดมุ่งหมายของการทบทวนนี้คือเพื่อค้นหาว่าคนที่ป่วยหนักในโรงพยาบาลควรอาบด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อคลอเฮกซิดีนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อหรือไม่ นักวิจัยจาก Cochrane รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อตอบคำถามนี้และพบว่ามีการศึกษา 8 เรื่องที่เกี่ยวข้อง การทดลองแบบสุ่ม (randomised trials) เป็นการศึกษาทางการแพทย์ที่ประชากรถูกเลือกแบบสุ่มในการได้รับการรักษาที่แตกต่างกัน การออกแบบการศึกษานี้ให้หลักฐานที่น่าเชื่อถือที่สุดว่าการรักษามีความสัมพันธ์กับผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ต้องการหรือไม่พึงประสงค์
ใจความสำคัญ
การตรวจสอบนี้ประเมินว่าการใช้ chlorhexidine (แทนสบู่และน้ำ) เพื่ออาบน้ำผู้ป่วยในห้องไอซียู (ICU) หรือหน่วยพึ่งพาสูงหรือดูแลเป็นพิเศษ สามารถลดจำนวนของการติดเชื้อในโรงพยาบาล หลักฐานที่มีอยู่จากการศึกษาที่เราวิเคราะห์นั้นมีคุณภาพต่ำมากซึ่งหมายความว่าเราไม่สามารถแน่ใจได้ว่าการอาบน้ำยา chlorhexidine จะช่วยลดโอกาสของผู้ป่วยวิกฤตที่จะติดเชื้อหรือการเสียชีวิต นอกจากนี้เรายังไม่แน่ใจด้วยว่าการอาบผู้ป่วยที่ป่วยหนักด้วย chlorhexidine จะลดระยะเวลาการนอนโรงพยาบาลหรือลดความเสี่ยงในการเกิดปฏิกิริยาทางผิวหนัง
ในการทบทวนวรรณกรรมนี้สิ่งที่ศึกษาคืออะไร
คนที่ป่วยหนัก (ในห้องไอซียูหรือหน่วยงานดูแลผู้ป่วยวิกฤติ) มักติดเชื้อในช่วงเวลาที่อยู่ในโรงพยาบาล การติดเชื้อเหล่านี้สามารถนำไปสู่การพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนานขึ้น ภาวะแทรกซ้อนทางการแพทย์มากขึ้น ความพิการถาวรหรือแม้กระทั่งการเสียชีวิต ผู้ป่วยในห้องไอซียูมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเป็นพิเศษเนื่องจากความสามารถของร่างกายในการต่อสู้กับการติดเชื้อจะลดลงจากการเจ็บป่วยหรือการบาดเจ็บ การใส่ท่อและเส้นโดยการผ่าตัด (เช่น เพื่อช่วยในการให้อาหารหรือหายใจ) อาจทำให้แบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายได้ Chlorhexidine เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีต้นทุนต่ำซึ่งใช้เป็นยาฆ่าเชื้อและยาป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล
ผลลัพธ์หลักของการทบทวนวรรณกรรมคืออะไร
ในเดือนธันวาคม 2018 เราค้นหาการศึกษาเพื่อดูการใช้ chlorhexidine สำหรับการอาบให้ผู้ป่วยวิกฤติ เราพบการศึกษา 8 เรื่อง ตั้งแต่ปี 2005 ถึงปี 2018 โดยมีผู้คนทั้งหมด 24,472 คนในกว่า 20 ห้องไอซียู การศึกษา 7 เรื่อง รวบรวมคนที่เป็นผู้ใหญ่และการศึกษา 1 เรื่อง ศึกษาในเด็กเท่านั้น ทุกการศึกษารวบรวมผู้เข้าร่วมทั้งเพศชายและเพศหญิง การศึกษาทั้งหมดเปรียบเทียบการอาบน้ำด้วย chlorhexidine เมื่อเทียบกับการอาบน้ำด้วยสบู่และน้ำหรือผ้าเช็ดตัวที่ไม่ใช่ยาต้านจุลชีพ การศึกษา 4 เรื่อง ได้รับเงินทุนจากผู้สนับสนุนอิสระ (หน่วยงานราชการ หรือจากโรงพยาบาล หรือหน่วยงานมหาวิทยาลัย) หรือรายงานว่าไม่มีเงินทุนภายนอกและ การศึกษา 4 เรื่อง ได้รับเงินทุนจากบริษัทที่ผลิตผลิตภัณฑ์คลอเฮกซิดีน
หลักฐานจากการศึกษาทั้ง 8 เรื่อง ที่รวมกันนั้นไม่เพียงพอที่จะทำให้เรามั่นใจได้ว่าผู้ป่วยที่อาบด้วยคลอเฮกซิดีนมีโอกาสน้อยที่จะติดเชื้อในระหว่างที่พวกเขาอยู่ในห้องไอซียู เรายังไม่แน่ใจว่าผู้ป่วยที่อาบด้วยคลอเฮกซิดีนมีโอกาสที่จะตายน้อยกว่าหรือไม่ เพราะหลักฐานจากการศึกษาทั้ง 6 เรื่อง ที่รายงานในเรื่องนี้ค่อนข้างต่ำ เราไม่ได้รวมหลักฐานจากการศึกษาทั้ง 6 เรื่อง ที่รายงานว่าผู้ป่วยอยู่ในห้องไอซียูนานเท่าใดเนื่องจากผลที่ได้แตกต่างกันหลายกรณี นอกจากนี้เรายังไม่แน่ใจว่าผู้ป่วยที่อาบด้วยคลอร์เฮกซิดีนมีแนวโน้มที่จะอยู่ในห้องไอซียูเป็นระยะเวลาน้อยลงหรือไม่เพราะความเชื่อมั่นของหลักฐานต่ำมาก รายงานจากการศึกษา 5 เรื่อง ระบุหลักฐานที่แตกต่างกันว่า chlorhexidine นำไปสู่ปฏิกิริยาทางผิวหนังมากหรือน้อย เราไม่แน่ใจว่าผู้ป่วยที่อาบด้วยคลอร์เฮกซิดีนมีแนวโน้มที่จะมีปฏิกิริยาทางผิวหนังมากกว่าหรือน้อยกว่าเพราะหลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก
คุณภาพของหลักฐาน
การศึกษาส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้วิธีการปิดบังประเภทของการอาบน้ำที่เจ้าหน้าที่ใช้ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงที่เจ้าหน้าที่อาจปฏิบัติต่อผู้ป่วยแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มศึกษาคลอเฮกซิดีนหรือกลุ่มศึกษาสบู่และน้ำ ผู้เข้าร่วมในการศึกษาบางส่วนอาจติดเชื้อแล้วก่อนเริ่มการศึกษาและเรากังวลว่าสิ่งนี้อาจส่งผลต่อผลลัพธ์ของเรา นอกจากนี้เรายังสังเกตเห็นความแตกต่างหลายกรณีในผลลัพธ์บางอย่าง และผลลัพธ์บางอย่างมีการรายงานการเกิดเหตุการณ์น้อย สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุผลที่ตัดสินคุณภาพของหลักฐานว่าต่ำมาก
ความเป็นปัจจุบันของการทบทวนนี้
ผู้ทบทวนสืบค้นการศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์จนถึง ธันวาคม 2018
เนื่องจากหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมากจึงไม่ชัดเจนว่าการอาบน้ำด้วย chlorhexidine จะช่วยลดการติดเชื้อในโรงพยาบาล การเสียชีวิตหรือระยะเวลาพักในห้องไอซียู หรือการใช้ chlorhexidine ส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาทางผิวหนังมากขึ้นหรือไม่
การติดเชื้อจากโรงพยาบาลเป็นเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยในการดูแลผู้ป่วย อาจทำให้ต้องอยู่ในห้องไอซียู นานขึ้น, มีภาวะแทรกซ้อนทางการแพทย์เพิ่มเติม, ความพิการถาวรหรือเสียชีวิต และมีการตรวจที่ต้องสอดอุปกรณ์เข้าไปในร่างกายเพิ่มขึ้น ในขณะที่ผู้ป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาลทั้งหมดมีความไวต่อการติดเชื้อ แต่ความชุกจะสูงเป็นพิเศษในห้องไอซียู ซึ่งผู้ที่ป่วยหนักจะมีภูมิคุ้มกันต่ำและต้องได้รับการตรวจที่ต้องสอดอุปกรณ์เข้าไปในร่างกายเพิ่มขึ้น คนที่ใช้เครื่องช่วยหายใจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเนื่องจากการเจาะหลอดลมและใส่ท่อช่วยหายใจอีกครั้งและใช้สายสวนหลอดเลือดดำส่วนกลางหลายเส้น ซึ่งสายและท่ออาจเป็นพาหะนำโรคในการส่งแบคทีเรียและอาจเพิ่มการติดเชื้อในกระแสเลือดและปอดอักเสบ Chlorhexidine เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีราคาถูก ใช้กันอย่างแพร่หลายในฐานะยาฆ่าเชื้อและน้ำยาฆ่าเชื้อ ซึ่งอาจใช้ในการอาบผู้ป่วยวิกฤติโดยมีจุดประสงค์เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียและลดการแพร่กระจายของการติดเชื้อจากโรงพยาบาล
เพื่อประเมินผลของการอาบน้ำด้วยคลอโรเฮกซิดีนต่อจำนวนผู้ติดเชื้อในโรงพยาบาลในผู้ป่วยวิกฤติ
ในเดือนธันวาคม 2018 เราสืบค้นใน Cochrane Wounds Specialized Register; the Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL); Ovid MEDLINE; Ovid Embase และ EBSCO CINAHL Plus นอกจากนี้เรายังได้สืบค้นการศึกษาทางคลินิกที่ลงทะเบียนและกำลังดำเนินการอยู่ และการศึกษาที่ไม่ได้ตีพิมพ์ และรายการเอกสารอ้างอิงจากการศึกษาที่เกี่ยวข้องที่ถูกรวบรวมเข้ามาทำการทบทวนวรรณกรรม การวิเคราะห์เมตต้า และรายงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีสุขภาพเพื่อค้นหาการศึกษาเพิ่มเติม ไม่มีข้อจำกัดด้านภาษา วันที่ตีพิมพ์ หรือสถานที่ที่ทำการศึกษา
เรารวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) ที่เปรียบเทียบการอาบ chlorhexidine กับการอาบด้วยสบู่และน้ำของผู้ป่วยในห้องไอซียู
ผู้ทบทวนวรรณกรรมสองคนประเมินผลของการศึกษาแล้วทำการดึงข้อมูล และประเมินความเสี่ยงของการมีอคติและความน่าเชื่อถือของหลักฐานโดยวิธี GRADE โดยอิสระต่อกัน
เรารวบรวมการศึกษา 8 เรื่อง ในการทบทวนวรรณกรรมนี้ RCTs 4 เรื่อง ที่ถูกรวมมาทั้งหมดมีผู้เข้าร่วมที่ได้รับการสุ่มรายบุคคล 1537 คน และการศึกษาแบบ cluster-randomised cross-over 4 เรื่อง ที่สุ่มห้องไอซียูรวมทั้งหมด 23 ห้อง ซึ่งมีผู้เข้าร่วม 22,935 คน เราพบการศึกษา 1 เรื่อง ที่กำลังรอการจำแนกประเภท ซึ่งเราไม่สามารถประเมินได้
การศึกษาเปรียบเทียบการอาบโดยใช้ 2% chlorhexidine washcloths impregnated หรือสารละลายเจือจางของ chlorhexidine 4% เทียบกับการอาบด้วยสบู่และน้ำหรืออาบน้ำที่มียาที่ไม่ใช่ยาต้านจุลชีพ
การศึกษา 8 เรื่อง รายงานข้อมูลสำหรับผู้เข้าร่วมที่มีการติดเชื้อในโรงพยาบาลที่ได้รับระหว่างการเข้าพักในห้องไอซียู เราไม่แน่ใจว่าการใช้คลอเฮกซิดีนในการอาบน้ำของผู้ป่วยวิกฤติช่วยลดอัตราการติดเชื้อในโรงพยาบาลได้หรือไม ่เพราะความเชื่อมั่นของหลักฐานต่ำมาก (rate difference 1.70, 95% CI 0.12 ถึง 3.29; ผู้เข้าร่วม 21,924 คน) การศึกษา 6 เรื่อง รายงานการเสียชีวิต (ในโรงพยาบาล ในห้องไอซียูและที่เวลา 48 ชั่วโมง) เราไม่สามารถแน่ใจได้ว่าการใช้ chlorhexidine สำหรับการอาบน้ำของผู้ป่วยวิกฤติช่วยลดอัตราการตายได้หรือไม่ เพราะหลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก (odds ratio 0.87, 95% CI 0.76 ถึง 0.99; ผู้เข้าร่วม 15,798 คน) การศึกษา 6 เรื่อง รายงานระยะเวลาที่อยู่ในห้องไอซียู เราตั้งข้อสังเกตว่าการศึกษาเดี่ยวไม่พบหลักฐานของระยะเวลาการเข้าพักที่แตกต่างกัน เราไม่ได้ทำการวิเคราะห์เมตต้าเพราะข้อมูลเบ้ ยังไม่ชัดเจนว่าการใช้ chlorhexidine สำหรับการอาบน้ำของคนป่วยวิกฤตลดระยะเวลาการเข้าพักในห้องไอซียูหรือไม่เพราะความเชื่อมั่นของหลักฐานต่ำมาก การศึกษา 7 เรื่อง รายงานว่าปฏิกิริยาทางผิวหนังเป็นเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ และการศึกษา 5 เรื่องดังกล่าวรายงานปฏิกิริยาทางผิวหนังซึ่งเชื่อว่าเป็นผลมาจากสารที่ใช้ในการอาบน้ำ ข้อมูลในการศึกษาเหล่านี้มีการรายงานที่ไม่สอดคล้องกันและเราไม่สามารถทำการวิเคราะห์เมตต้าได้ เราไม่สามารถบอกได้ว่าการใช้ chlorhexidine สำหรับการอาบน้ำของผู้ป่วยวิกฤติลดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ เนื่องจากหลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก
เราใช้วิธี GRADE เพื่อลดระดับความเชื่อมั่นของหลักฐานของผลลัพธ์แต่ละรายการ โดยให้ระดับต่ำมาก สำหรับผลลัพธ์ทั้งหมดเราได้ลดระดับหลักฐานเนื่องจาก การศึกษามีข้อจำกัด (การศึกษาส่วนใหญ่มีความเสี่ยงของการมีอคติสูลในเรื่องการเลือกปฏิบัติที่แตกต่างกัน (performance bias), และเราพบว่ามีความเสี่ยงของการมีอคติอื่นๆ สูงในบางการศึกษา) เราลดระดับหลักฐานเนื่องจากความไม่คล้ายคลึงกันของหลักฐานทางตรงระหว่างคู่เปรียบเทียบ (indirectness) เนื่องจากผู้เข้าร่วมการศึกษาบางคนอาจติดเชื้อในโรงพยาบาลก่อนรับเข้าการศึกษา เราตั้งข้อสังเกตว่าการศึกษาขนาดเล็ก 1 เรื่อง มีอิทธิพลอย่างมากต่อผลกระทบของการติดเชื้อที่ได้มาจากโรงพยาบาล และเราประเมินการตัดสินใจในการวิเคราะห์การศึกษาแบบ cluster-randomised cross-over เกี่ยวกับผลกระทบของการติดเชื้อในโรงพยาบาล เราปรับลดคุณภาพหลักฐานสำหรับผลลัพธ์เหล่านี้เนื่องจากความไม่สอดคล้องกัน (inconsistency) นอกจากนี้เรายังปรับลดคุณภาพของหลักฐานเกี่ยวกับระยะเวลาที่อยู่ในห้องไอซียูเนื่องจากความไม่แม่นยำ (imprecision) ข้อมูลสำหรับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์นั้นถูกจำกัดเนื่องจากเหตุการณ์เกิดขึ้นน้อย ดังนั้นเราจึงปรับลดคุณภาพของหลักฐานเนื่องจากความไม่แม่นยำ (imprecision)
หมายเหตุการแปล แปลโดย นพ.เจน โสธรวิทย์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 28 กรกฎาคม 2020