วิธีการพัฒนาทักษะการสื่อสารสำหรับนักศึกษาแพทย์

วิธีใดที่ดีที่สุดในการสอนนักศึกษาแพทย์ในการพูดคุยแก่ผู้ป่วย

การสอนทักษะการสร้างมนุษยสัมพันธ์

เราใช้ทักษะมนุษยสัมพันธ์ทุกวันเวลาเราพูดคุยหรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ทักษะมนุษยสัมพันธ์นั้นรวมไปถึงทักษะการสื่อสาร เช่น การฟัง การพูด และการถามคำถาม การสื่อสารที่ดีระหว่างแพทย์และผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการให้คำปรึกษาทางการแพทย์ทั้งหมด ซึ่งแพทย์จำเป็นต้องสร้างความสัมพันธ์, แสดงความเห็นอกเห็นใจ, รวบรวมข้อมูล, อธิบายแนวคิด และแผนการรักษาร่วมกับผู้ป่วย

นักศึกษาแพทย์จำเป็นต้องพิสูจน์ว่าตนมีความสามารถในด้านมนุษยสัมพันธ์และทักษะการสื่อสารก่อนที่จะจบการศึกษา ซึ่งแนวทางในการสอนนักศึกษาแพทย์ในทักษะเหล่านี้ มีหลายรูปแบบ ได้แก่ การสอนแบบตัวต่อตัว, การสอนในหลักสูตรออนไลน์, โปรแกรมที่ให้ข้อเสนอแนะรายบุคคลหรือปรับให้เหมาะกับนักศึกษาแต่ละคน และการแสดงบทบาทสมมติกับเพื่อนหรือกับผู้ป่วยจำลอง

ทำไมเราถึงทำการทบทวนวรรณกรรมนี้

โรงเรียนแพทย์และมหาวิทยาลัยทั่วโลกใช้แนวทางหลายวิธีในการสอนทักษะมนุษยสัมพันธ์และการสื่อสาร ผู้วิจัยต้องการค้นหาว่าโปรแกรมการสอนวิธีใดให้ผลลัพธ์ดีที่สุด

ผู้วิจัยทำการศึกษาอย่างไร

ผู้วิจัยสืบค้นการศึกษาที่ประเมินโปรแกรมการสอนการสร้างเสริมทักษะมนุษยสัมพันธ์และการสื่อสารให้แก่นักศึกษาแพทย์

วันที่ค้นข้อมูล: เรารวบรวมหลักฐานที่เผยแพร่ถึง กันยายน 2020

สิ่งที่พบ

ผู้วิจัยพบการศึกษาที่เกี่ยวข้อง 90 ฉบับซึ่งมีนักศึกษาเข้าร่วมวิจัยรวมทั้งหมด 10,124 คน และจัดทำในประเทศสหรัฐอเมริกา และในประเทศต่างๆ ในยุโรป, ตะวันออกกลาง และเอเชียแปซิฟิก การศึกษาเหล่านี้ประเมินโปรแกรมการสอนการสร้างเสริมทักษะมนุษยสัมพันธ์และการสื่อสาร ที่มีทั้งการใช้บทบาทสมมติและให้ข้อเสนอแนะเป็นรายบุคคล และการสาธิตเป็นกลุ่ม ซึ่งวิธีการสอนมีทั้งสอนแบบเห็นหน้าตัวต่อตัว, ทางวิดีโอหรือทางออนไลน์ ในการศึกษาส่วนใหญ่จะประเมินผลลัพธ์ทันทีหลังจากจบโปรแกรมการสอนและติดตามประเมินผลจนถึง 12 เดือน

ผู้วิจัยเปรียบเทียบผลการศึกษาต่างๆ เพื่อค้นหาว่าโปรแกรมการสอนแต่ละวิธีมีผลอย่างไรต่อ:

·ทักษะการสื่อสารโดยรวม

มีความเข้าใจว่าอีกฝ่ายกำลังมีความรู้สึกอย่างไร ·(ความเห็นอกเห็นใจ)

·การสร้างความสัมพันธ์หรือเข้าใจความรู้สึกหรือความคิดของอีกฝ่าย (rapport)

·การรวบรวมข้อมูล รวมถึงความพึงพอใจของผู้ป่วย, ความเข้าใจหรือมุมมองของผู้ป่วย และ

·การอธิบายและวางแผนการรักษา (การให้ข้อมูล)

ผลลัพธ์หลักของการทบทวนวรรณกรรมนี้คืออะไร

เมื่อเปรียบเทียบโปรแกรมการสอนมนุษยสัมพันธ์กับโปรแกรมการสอนตามปกติ หรือเปรียบเทียบกับกลุ่มที่อยู่ระหว่างรอเรียนโปรแกรมการสอนมนุษยสัมพันธ์ แสดงให้เห็นว่าโปรแกรมเหล่านี้:

·อาจช่วยเพิ่มทักษะการสื่อสารโดยรวมของนักศึกษาเล็กน้อย (หลักฐานจากการศึกษาจำนวน 18 ฉบับ, นักศึกษาเข้าร่วมวิจัย 1356 คน) และทักษะความเห็นอกเห็นใจ (การศึกษาจำนวน 6 ฉบับ, นักศึกษา 831 คน)

·อาจช่วยเพิ่มทักษะในการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับมุมมองของผู้ป่วย (การศึกษาจำนวน 5 ฉบับ, นักศึกษา 405 คน) แต่

·อาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีผลต่อทักษะการสร้างความสัมพันธ์ (การศึกษาจำนวน 9 ฉบับ, นักศึกษา 834 คน)

ผู้วิจัยยังไม่แน่ใจว่าโปรแกรมการสอนมนุษยสัมพันธ์ส่งผลต่อทักษะในการให้ข้อมูลหรือไม่ (การศึกษาจำนวน 5 ฉบับ, นักศึกษา 659 คน)

ผู้วิจัยยังไม่แน่ใจว่าโปรแกรมการสอนออนไลน์หรือการเรียนรู้ด้วยตนเองจะส่งผลต่อทักษะการสื่อสารโดยรวมของนักศึกษาหรือไม่ (การศึกษาจำนวน 4 ฉบับ, นักศึกษา 1578 คน) หรือทักษะในการรวบรวมข้อมูล (การศึกษาจำนวน 1 ฉบับ, นักศึกษา 164 คน) เมื่อเปรียบเทียบกับการสอนแบบเห็นหน้าตัวต่อตัว

เมื่อเปรียบเทียบโปรแกรมการสอนออนไลน์หรือการเรียนรู้ด้วยตนเองกับการสอนแบบเห็นหน้าตัวต่อตัว:

·อาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีผลต่อทักษะการสร้างความเห็นอกเห็นใจ (การศึกษาจำนวน 3 ฉบับ, นักศึกษา 421 คน)

·อาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีผลต่อทักษะการสร้างความสัมพันธ์ (การศึกษาจำนวน 3 ฉบับ, นักศึกษา 176 คน)

·อาจลดทักษะในการให้ข้อมูลลงเล็กน้อย (การศึกษาจำนวน 1 ฉบับ, นักศึกษา 122 คน)

โปรแกรมที่ให้ข้อเสนอแนะรายบุคคลหรือปรับให้เหมาะกับนักศึกษาแต่ละคนเมื่อเปรียบเทียบกับโปรแกรมที่สอนแบบทั่วไปหรือไม่ให้ข้อเสนอแนะเลย พบว่า

·ช่วยเพิ่มทักษะการสื่อสารโดยรวมได้เล็กน้อย (การศึกษาจำนวน 6 ฉบับ, นักศึกษา 502 คน) และ

·อาจช่วยเพิ่มทักษะความเห็นอกเห็นใจได้เล็กน้อย (การศึกษาจำนวน 1 ฉบับ, นักศึกษา 66 คน) และทักษะในการรวบรวมข้อมูล (การศึกษาจำนวน 1 ฉบับ, นักศึกษา 48 คน)

ผู้วิจัยยังไม่แน่ใจว่าโปรแกรมที่ให้ข้อเสนอแนะรายบุคคลหรือปรับให้เหมาะกับนักศึกษาแต่ละคนนั้น ส่งผลต่อทักษะการสร้างความสัมพันธ์หรือไม่ (การศึกษาจำนวน 1 ฉบับ, นักศึกษา 190 คน) ไม่มีการศึกษาใดรายงานผลต่อทักษะในการให้ข้อมูล

ผู้วิจัยยังไม่แน่ใจว่าโปรแกรมที่ใช้บทบาทสมมติกับผู้ป่วยจำลองจะช่วยเพิ่มทักษะการสื่อสารโดยรวมของนักศึกษาหรือไม่ (การศึกษาจำนวน 4 ฉบับ, นักศึกษา 637 คน) เมื่อเปรียบเทียบกับโปรแกรมที่ใช้บทบาทสมมติกับเพื่อนด้วยกัน แต่การแสดงบทบาทสมมติกับผู้ป่วยจำลองอาจช่วยเพิ่มทักษะความเห็นอกเห็นใจได้เล็กน้อย (การศึกษาจำนวน 2 ฉบับ, นักศึกษา 213 คน) ไม่มีการศึกษาใดรายงานผลว่าโปรแกรมที่ใช้บทบาทสมมติกับผู้ป่วยจำลองส่งผลต่อทักษะในการสร้างความสัมพันธ์หรือทักษะการรวบรวมและการให้ข้อมูลอย่างไร

ไม่มีการศึกษาใดรายงานผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์จากโปรแกรมการสอนแต่ละวิธีที่ได้รับการประเมิน

ผู้วิจัยเชื่อมั่นในผลการทบทวนนี้เท่าไร

ผู้วิจัยมั่นใจในระดับปานกลางว่าโปรแกรมการพัฒนามนุษยสัมพันธ์และโปรแกรมการสอนที่ให้ข้อเสนอแนะรายบุคคลอาจช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารโดยรวมได้

แต่ยังไม่มั่นใจในผลลัพธ์ของโปรแกรมการสอนวิธีอื่น ๆ การศึกษาบางฉบับมีข้อจำกัดในรูปแบบการออกแบบงานวิจัย เช่น การกำหนดให้นักศึกษาเข้าไปอยู่ในกลุ่มต่างๆใช้วิธีใด การศึกษาอื่นๆ มีผลลัพธ์ที่แตกต่างกันอย่างมากและบางการศึกษามีเวลาติดตามผลในเวลาสั้น งานวิจัยเพิ่มเติมจึงมีแนวโน้มจะเปลี่ยนข้อสรุปนี้ได้

ใจความสำคัญ

โปรแกรมการพัฒนามนุษยสัมพันธ์สำหรับนักศึกษาแพทย์มีผลในเชิงบวกต่อทักษะมนุษยสัมพันธ์ส่วนใหญ่ที่ผู้วิจัยสนใจ แม้ว่าผลเชิงบวกเหล่านี้จะมีเพียงเล็กน้อยและความมั่นใจในผลลัพธ์บางส่วนของผู้วิจัยอยู่ในระดับต่ำ

โปรแกรมที่ให้ข้อเสนอแนะรายบุคคลอาจช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารโดยรวมของนักศึกษาแพทย์ได้มากกว่าโปรแกรมที่ให้ข้อเสนอะแนะโดยรวมหรือไม่ให้ข้อเสนอแนะเลย

โปรแกรมการสอนออนไลน์หรือการเรียนรู้ด้วยตนเองอาจไม่ช่วยพัฒนาทักษะความเห็นอกเห็นใจหรือการสร้างความสัมพันธ์เมื่อเปรียบเทียบกับการสอนแบบเห็นหน้าตัวต่อตัว

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

การทบทวนนี้แสดงถึงหลักฐานจำนวนมากที่นำมาสู่การสร้างข้อสรุปได้ แต่จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มคุณภาพของหลักฐาน, เพื่อพิจารณาผลลัพธ์ในระยะยาวของโปรแกรมการฝึกอบรมต่อพฤติกรรมของนักศึกษาทั้งในขณะที่ยังฝึกอบรมอยู่และเมื่อได้ปฏิบัติงานจริง, และเพื่อประเมินผลของโปรแกรมการฝึกอบรมต่อผลลัพธ์ของผู้ป่วย ความพยายามในการสร้างมาตรฐานการประเมินทักษะมนุษยสัมพันธ์จะยิ่งสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้แก่งานวิจัยในอนาคต

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

การสื่อสารเป็นทักษะพื้นฐานในการให้คำปรึกษาทางการแพทย์ที่ส่งผลต่อผลลัพธ์ที่หลากหลายทั้งต่อแพทย์และต่อผู้ป่วย มีความต้องการมากขึ้นที่จะให้นักศึกษาแพทย์ได้รับการฝึกฝนทักษะการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ และได้ถูกกำหนดให้เป็นทักษะหลักที่พึงมีก่อนจบการศึกษาในโรงเรียนแพทย์ทั่วโลก โรงเรียนแพทย์หลายๆแห่งได้นำวิธีการสอนหลายรูปแบบมาใช้เพื่อพัฒนาและประเมินสมรรถนะเหล่านี้

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินวิธีการสอนรูปแบบต่างๆในการพัฒนาทักษะการสื่อสารระหว่างบุคคลของนักศึกษาแพทย์ในการให้คำปรึกษาทางการแพทย์

วิธีการสืบค้น: 

ผู้วิจัยสืบค้นจากฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ 5 ฐานข้อมูล: Cochrane Central Register of Controlled Trials, MEDLINE, Embase, PsycINFO และ ERIC (Educational Resource Information Center) ในเดือนกันยายน 2020 โดยไม่มีข้อจำกัดด้านภาษา, วันที่ หรือสถานะการตีพิมพ์ นอกจากนี้ ยังสืบค้นจากรายการอ้างอิงของบทความที่เกี่ยวข้องและติดต่อเจ้าของการศึกษาที่ถูกรวบรวมไว้

เกณฑ์การคัดเลือก: 

ผู้วิจัยรวบรวมการทดลองแบบสุ่มมีกลุ่มควบคุม (RCTs), cluster-RCTs (C-RCTs) และ การศึกษาแบบกึ่งการทดลอง (quasi-RCTs) ที่ประเมินประสิทธิผลของโปรแกรมการสอนให้กับนักศึกษาแพทย์ระดับปริญญาตรีหรือระดับบัณฑิตศึกษา เรารวบรวมการทดลองที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารระหว่างบุคคลในระหว่างการให้คำปรึกษาทางการแพทย์ รวมการทดลองที่มีเป้าหมายพัฒนาทักษะการสื่อสารเหล่านี้ การสร้างความเห็นอกเห็นใจ, การสร้างความสัมพันธ์, การรวบรวมข้อมูล, การให้คำอธิบายและการวางแผนการรักษา ตลอดจนทักษะเฉพาะในการสื่อสาร เช่น ทักษะการฟัง, โครงสร้างการสื่อสารที่เหมาะสม รูปแบบการใช้คำถามที่เหมาะสม

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้วิจัยใช้ระเบียบวิธีวิจัยตามมาตรฐานที่ Cochrane กำหนดไว้ โดยผู้วิจัยสองคนทำงานอย่างเป็นอิสระต่อกัน ในการตรวจสอบผลการสืบค้นทั้งหมด, แยกข้อมูล, ประเมินความเสี่ยงของการมีอคติของการศึกษาทั้งหมดทีเป็นไปตามเกณฑ์และให้คะแนนคุณภาพของหลักฐานโดยใช้ GRADE

ผลการวิจัย: 

ผู้วิจัยค้นพบงานวิจัยที่ได้ตีพิมพ์ 91 ฉบับที่มาจาก 76 การศึกษา (มีผู้เข้าร่วมโครงการวิจัย 10,124 คน): RCT 55 ฉบับ, quasi-RCT 9 ฉบับ, C-RCT 7 ฉบับ และ quasi-C-RCT 5 ฉบับ ผู้วิจัยทำการวิเคราะห์อภิมานตามการเปรียบเทียบและผลลัพธ์ที่ได้ ในการวิเคราะห์ประสิทธิผลและประสิทธิผลเชิงเปรียบเทียบ ผู้วิจัยได้จำแนกหัวข้อการประเมินผลลัพธ์ออกเป็น ทักษะการสื่อสารโดยรวม, การสร้างความเห็นอกเห็นใจ, การสร้างความสัมพันธ์, การรับรู้มุมมองและความพึงพอใจของผู้ป่วย, การรวบรวมข้อมูล, และการอธิบายและการวางแผนการรักษา ทักษะการสื่อสารโดยรวมและการสร้างความเห็นอกเห็นใจได้ถูกแบ่งออกเป็นผลที่ประเมินโดยผู้สอนหรือที่ประเมินโดยผู้ป่วยจำลอง คุณภาพโดยรวมของหลักฐานอยู่ในระดับปานกลางถึงต่ำมาก และมีความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันสูงที่ไม่สามารถอธิบายได้

โดยรวมแล้วโปรแกรมการฝึกอบรมวิธีต่างๆ ส่วนใหญ่มีผลในเชิงบวกต่อผลลัพธ์ แต่ด้วยอำนาจการทดลองโดยรวมมีขนาดเล็ก ร่วมกับคุณภาพของหลักฐานค่อนข้างมีข้อจำกัดในการสรุปผล โปรแกรมการพัฒนาทักษะการสื่อสารเมื่อเปรียบเทียบกับหลักสูตรปกติหรือกลุ่มควบคุมอาจช่วยพัฒนาทั้งทักษะการสื่อสารโดยรวม (standardised mean difference (SMD) 0.92, 95% confidence interval (CI) 0.53 ถึง 1.31; การศึกษาจำนวน 18 ฉบับ, ผู้เข้าร่วมวิจัย 1356 คน, I² = 90%, หลักฐานคุณภาพต่ำ) และการสร้างความเห็นอกเห็นใจ (SMD 0.64, 95% CI 0.23 ถึง 1.05; การศึกษาจำนวน 6 ฉบับ, ผู้เข้าร่วมวิจัย 831 คน; I² = 86%; หลักฐานคุณภาพต่ำ) เมื่อประเมินโดยผู้สอน แต่ไมได้ประเมินโดยผู้ป่วยจำลอง นอกจากนี้ ทักษะของนักศึกษาในการรวบรวมข้อมูลอาจพัฒนาขึ้นด้วยโปรแกรมการให้การศึกษา (SMD 1.07, 95% CI 0.61 ถึง 1.54; การศึกษาจำนวน 5 ฉบับ, ผู้เข้าร่วมวิจัย 405 คน, I² = 78%, หลักฐานคุณภาพปานกลาง) แต่อาจมีผลเล็กน้อยหรือไม่ส่งผลต่อทักษะการสร้างความสัมพันธ์ (SMD 0.18, 95% CI -0.15 ถึง 0.51; การศึกษาจำนวน 9 ฉบับ, ผู้เข้าร่วมวิจัย 834 คน, I² = 81%, หลักฐานคุณภาพต่ำ) และผลต่อทักษะการให้ข้อมูลยังไม่แน่นอน (หลักฐานคุณภาพต่ำมาก)

ผู้วิจัยยังไม่แน่ใจว่าโปรแกรมการสอนแบบผ่านประสบการณ์จะช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารโดยรวมได้หรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการสอนแบบบรรยาย (SMD 0.08, 95% CI -0.02 ถึง 0.19; การศึกษาจำนวน 4 ฉบับ, ผู้เข้าร่วมวิจัย 1578 คน; I² = 4%; หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) นอกจากนี้ โปรแกรมการสอนแบบอิเล็กทรอนิกส์อาจมีผลน้อยหรือไม่มีผลต่อคะแนนการสร้างความเห็นอกเห็นใจของนักศึกษา (SMD -0.13, 95% CI -0.68 ถึง 0.43; การศึกษาจำนวน 3 ฉบับ, ผู้เข้าร่วมวิจัย 421 คน; I² = 82%; หลักฐานคุณภาพต่ำ) หรือต่อการสร้างความสัมพันธ์ (SMD 0.02, 95% CI -0.33 ถึง 0.38; การศึกษาจำนวน 3 ฉบับ, ผู้เข้าร่วมวิจัย 176 คน; I² = 19%; หลักฐานคุณภาพปานกลาง) เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการสอนแบบเห็นหน้าตัวต่อตัว แต่อาจจะมีผลเชิงลบเล็กน้อยจากโปรแกรมการสอนแบบอิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวกับทักษะการให้ข้อมูล (หลักฐานคุณภาพต่ำ) และผลต่อทักษะการรวบรวมข้อมูลยังไม่แน่นอน (หลักฐานคุณภาพต่ำมาก)

การให้ข้อเสนอแนะรายบุคคลหรือที่เฉพาะเจาะจงอาจช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารโดยรวมได้เล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับการให้ข้อเสนอแนะโดยรวมหรือไม่มีการให้ผลการประเมินเลย (SMD 0.58, 95% CI 0.29 ถึง 0.87; การศึกษาจำนวน 6 ฉบับ, ผู้เข้าร่วมวิจัย 502 คน, I² = 56%; หลักฐานคุณภาพปานกลาง) นอกจากนี้การให้ข้อเสนอแนะรายบุคคลอาจมีผลเชิงบวกเล็กน้อยต่อทักษะความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ ทักษะการรวบรวมข้อมูล (หลักฐานคุณภาพต่ำ) แต่ผลลัพธ์ต่อการสร้างความสัมพันธ์ยังไม่แน่นอน (หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) และผู้วิจัยไม่พบหลักฐานที่เกี่ยวกับทักษะการให้ข้อมูล

ผู้วิจัยยังไม่แน่ใจว่าการแสดงบทบาทสมมติกับผู้ป่วยจำลองมีประสิทธิภาพในการพัฒนาทักษะการสื่อสารโดยรวมของนักศึกษาดีกว่าการแสดงบทบาทสมมติกับเพื่อนนักศึกษาหรือไม่ (SMD 0.17, 95% CI -0.33 ถึง 0.67; การศึกษาจำนวน 4 ฉบับ, ผู้เข้าร่วมวิจัย 637 คน, I² = 87%; หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) และอาจมีผลเล็กน้อยหรือไม่มีผลต่อทักษะการสร้างความเห็นอกเห็นใจของนักศึกษา (หลักฐานคุณภาพต่ำ) นอกจากนี้แล้วไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับผลลัพธ์ด้านอื่นๆ สำหรับการเปรียบเทียบนี้

การสังเคราะห์ผลลัพธ์เชิงพรรณนาถูกนำมาใช้กับข้อมูลที่ไม่สามารถรวมอยู่ในการวิเคราะห์อภิมานได้ ผลการเปรียบเทียบผลลัพธ์ทั้งหมดจากการศึกษาที่นำมาพรรณาได้ผลลัพธ์ที่ไม่สามารถแสดงให้เห็นผลลัพธ์ได้ชัดเจน อันเป็นผลมาจากโปรแกรมการฝึกอบรมและการเปรียบเทียบที่แตกต่างกันเกี่ยวกับทักษะการสื่อสารที่ถูกประเมินเฉพาะในการทดลองนั้นๆ คุณภาพของหลักฐานเชิงประจักษ์ถูกลดระดับลงเนื่องจากข้อจำกัดของระเบียบวิธีวิจัยในหลายหมวดของความเสี่ยงของการเกิดอคติ, ความไม่เป็นเนื้อเดียวกันสูงที่ไม่สามารถอธิบายได้ และความไม่แม่นยำของผลลัพธ์

โดยรวมแล้ว ผลลัพธ์หลายอย่างยังคงสอดคล้องกับการวิเคราะห์ sensitivity analysis โดยพิจารณาจากความเสี่ยงของการเกิดอคติ และการปรับแก้ไขในแต่ละกลุ่ม ไม่มีรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ใดๆ

บันทึกการแปล: 

ผู้แปล สมพร รุ่งเรืองกลกิจ วันที่ 25 เมษายน 2021

Tools
Information