พาราเซตามอลสำหรับอาการปวดจากโรคมะเร็ง

ส่วนสำคัญที่สุด

ไม่มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าพาราเซตามอลมีประโยชน์ในการรักษาผู้ที่มีอาการปวดจากมะเร็ง ไม่ว่าจะใช้เพียงอย่างเดียวหรือใช้ร่วมกับยาที่มีลักษณะคล้ายมอร์ฟีน ยังไม่มีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่ามีประโยชน์ ยังไม่มีการศึกษาที่ดีเกี่ยวกับการประเมินยาพาราเซตามอลในการจัดการกับความเจ็บปวดจากมะเร็ง

ความเป็นมา

1 ใน 2 หรือ 3 คนที่เป็นมะเร็งจะประสบกับความเจ็บปวดที่มีความรุนแรงระดับปานกลางถึงรุนแรง ความเจ็บปวดมีแนวโน้มที่จะแย่ลงเมื่อโรคมะเร็งดำเนินโรคไป ในปี 1986 องค์การอนามัยโลกแนะนำให้รับประทานยาที่มีลักษณะคล้ายมอร์ฟีน (ออปิออยด์) สำหรับอาการปวดระดับปานกลางถึงรุนแรงจากโรคมะเร็ง และยาที่ไม่ใช่ออปิออยด์ เช่น พาราเซตามอล เพียงอย่างเดียวสำหรับอาการปวดเล็กน้อยถึงปานกลาง หรือร่วมกับยาแก้ปวดในกลุ่มออปิออยด์ในผู้ที่มีอาการปวดปานกลางถึงรุนแรง

ลักษณะของการศึกษา

ในการทบทวนวรรณกรรมนี้ เรามุ่งที่จะตรวจสอบหลักฐานทั้งหมดว่าพาราเซตามอลดีอย่างไร (ใช้เพียงอย่างเดียวหรือใช้ร่วมกับยาที่คล้ายมอร์ฟีน) ในผู้ใหญ่และเด็กที่มีอาการปวดมะเร็ง นอกจากนี้เรายังต้องการทราบว่ามีกี่คนที่ได้รับผลข้างเคียง และผลข้างเคียงดังกล่าวมีความรุนแรงเพียงใด เช่น เป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องหยุกการรับยา

ในเดือนมีนาคม 2017 เราพบการศึกษา 3 ฉบับที่มีผู้เข้าร่วมในการศึกษา 122 คน ทั้งหมดเปรียบเทียบพาราเซตามอลที่ใช้ร่วมกับออปิออยด์เทียบกับออปิออยด์อย่างเดียวในปริมาณเท่ากัน หลายการศึกษามีขนาดเล็กและมีคุณภาพที่ไม่ดี พวกเขาใช้รูปแบบการศึกษาที่แตกต่างกันและแสดงผลลัพธ์ความเจ็บปวดต่างกัน ผลที่สำคัญจากผู้ที่เจ็บปวดจากโรคมะเร็งไม่ได้ถูกรายงาน

ผลการค้นพบที่สำคัญ

เราพบว่าไม่มีหลักฐานว่าการรับประทานยาพาราเซตามอลเพียงอย่างเดียวสามารถสร้างความแตกต่างให้กับระดับความเจ็บปวดที่ได้รับ เราไม่พบหลักฐานว่าการรับประทานยาพาราเซตามอลร่วมกับยาที่มีลักษณะคล้ายมอร์ฟีนจะดีกว่าการรับยาที่มีลักษณะคล้ายมอร์ฟีนเพียงอย่างเดียว ไม่ปรากฏว่าพาราเซตามอลทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ไม่สามารถสรุปผลเกี่ยวกับผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้ ปริมาณข้อมูลและความแตกต่างในวิธีการรายงานผลการศึกษาทำให้ไม่สามารถสรุปผลได้

คุณภาพของหลักฐาน

คุณภาพของหลักฐานอยู่ในระดับต่ำมาก หลักฐานคุณภาพต่ำมากซึ่งหมายความว่าเราไม่แน่ใจอย่างมากเกี่ยวกับผลกระทบของพาราเซตามอลในการรักษาอาการปวดจากมะเร็ง เราไม่ทราบว่าการใช้ยาพาราเซตามอลเพียงอย่างเดียวหรือร่วมกับออปิออยด์ เช่น โคเดอีนหรือมอร์ฟีนนั้นคุ้มค่าหรือไม่

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

ไม่มีหลักฐานคุณภาพสูงที่จะสนับสนุนหรือหักล้างการใช้ยาพาราเซตามอลเพียงอย่างเดียวหรือใช้ร่วมกับออปิออยด์สำหรับ 2 ขั้นตอนแรกจาก 3 ขั้นตอนของขั้นบันไดความเจ็บปวดจากมะเร็งขององค์การโลกอนามัย (WHO) ยังไม่ชัดเจนว่าประโยชน์ของการเพิ่มยาแก้ปวดใดใดของพาราเซตามอลสามารถหาได้ในการศึกษาที่มีอยู่ ในมุมของการใช้ยากลุ่มออปิออยด์

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

ความเจ็บปวดเป็นอาการที่พบได้ทั่วไปในผู้ป่วยโรคมะเร็ง และ 30% ถึง 50% ของผู้ที่เป็นมะเร็งทั้งหมดจะประสบกับความเจ็บปวดระดับปานกลางถึงรุนแรง ซึ่งส่งผลเสียอย่างมากต่อคุณภาพชีวิตของพวกเขา กลุ่มยาที่ไม่ใช่ออปิออยด์ (Non-opioid) มักใช้เพื่อรักษาอาการปวดจากโรคมะเร็งระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง และถูกแนะนำให้ใช้เพื่อจุดประสงค์การรักษาอาการปวดจากโรคมะเร็งในลักษณะเป็นขั้นบรรไดขององค์การโลกอนามัย (WHO) ไม่ว่าจะใช้ร่วมกับยาที่เป็นออปิออยด์หรือตัวมันเองเพียงอย่างเดียว

การทบทวนวรรณกรรม Cochrane ก่อนหน้านี้ที่ตรวจสอบหลักฐานของยาแก้อักเสบที่ไม่ใช้สเตียรอยด์ (NSAIDs) หรือพาราเซตามอล อย่างเดียวหรือใช้ร่วมกับกลุ่มยาออปิออยด์ สำหรับอาการปวดจากโรคมะเร็งถูกเพิกถอนในปี 2015 เนื่องจากมีความล้าสมัย วันที่ค้นหาครั้งสุดท้ายคือปี 2005 การทบทวนวรรณกรรมนี้และอีกเรื่องเกี่ยวกับ NSAIDs เป็นการปรับปรุงหลักฐาน

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินประสิทธิภาพของพาราเซตามอลแบบรับประทาน (อะเซตามิโนเฟน) ต่ออาการปวดจากโรคมะเร็งในผู้ใหญ่และเด็ก และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่รายงานระหว่างการใช้ยาในการทดลองทางคลินิก

วิธีการสืบค้น: 

เราค้นหา Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL), MEDLINE และ Embase ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงเดือนมีนาคม 2017 พร้อมด้วยรายการอ้างอิงของเอกสารและการทบทวนวรรณกรรมที่ดึงมา และทะเบียนการวิจัยออนไลน์ 2 แหล่ง

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวมการศึกษาแบบสุ่ม แบบปกปิดทั้งสองด้าน ที่มีระยะเวลาศึกษา 5 วันหรือนานกว่านั้น เปรียบเทียบพาราเซตามอลเพียงอย่างเดียวกับยาหลอก หรือพาราเซตามอลร่วมกับออปิออยด์เทียบกับออปิออยด์อย่างเดียวที่มีปริมาณยาเท่ากัน สำหรับอาการปวดจากมะเร็งทุกระดับความรุนแรง การศึกษาแบบปกปิดด้านเดียวและการศึกษาแบบเปิดก็เหมาะในการนำเข้ามาเช่นกัน ขนาดการศึกษาขั้นต่ำคือ 25 คนต่อกลุ่มที่ได้รับการรักษาในการสุ่มครั้งแรก

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ทบทวนวรรณกรรมสองคนเป็นอิสระต่อกันในการค้นหาการศึกษาวิจัย ดึงข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพและเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ และตรวจสอบประเด็นด้านคุณภาพการศึกษาและอคติที่อาจเกิดขึ้น เราไม่ได้รวมการการวิเคราะห์ใดๆ เราประเมินคุณภาพของหลักฐานโดยใช้ GRADE และสร้างตาราง 'สรุปผลการศึกษา'

ผลการวิจัย: 

การศึกษา 3 ฉบับ ศึกษาในผู้ใหญ่ เป็นไปตามเกณฑ์การคัดเลือก ซึ่งใช้เวลานานถึง 1 สัปดาห์ ผู้เข้าร่วมในการศึกษา 122 คน ได้รับการสุ่มตั้งแต่ตอนเริ่มแรก และ 95 คนได้รับการรักษาเสร็จสิ้น เราไม่พบการศึกษาในเด็ก การศึกษา 1 ฉบับ ออกแบบการทดลองแบบกลุ่มคู่ขนาน (Parallel-group design) และการศึกษา 2 ฉบับ มีการออกแบบการทดลองแบบสลับ (Cross-over design) ทั้งหมดใช้พาราเซตามอลเป็นยาเสริมในการรักษาด้วยยากลุ่มโอปิออยด์ชนิดเข้มข้น (ค่ามัธยฐานเทียบเท่ามอร์ฟีนต่อวันคือ 60 มก., 70 มก. และ 225 มก. โดยผู้เข้าร่วมบางรายรับยาเทียบเท่ามอร์ฟีนหลายร้อยมก. ด้วยการรับประทานต่อวัน) ยาที่ไม่ใช่พาราเซตามอลอื่นๆ ได้แก่ ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ยารักษาภาวะซึมเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก หรือยารักษาโรคประสาท การศึกษาทั้งหมดมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอคติต่อข้อมูลผลลัพธ์ที่ไม่สมบูรณ์และมีขนาดเล็ก ไม่มีสิ่งใดที่มีความเสี่ยงต่อการมีอคติต่ำเลย

ไม่มีการศึกษาใดที่รายงานผลลัพธ์หลักใดๆ ของเรา: ผู้เข้าร่วมในการศึกษาที่ลดความเจ็บปวดอย่างน้อย 50% และอย่างน้อย 30% จากการวัดครั้งแรก; ผู้เข้าร่วมที่มีอาการปวดไม่แย่กว่าปวดเล็กน้อยเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการรักษา ผู้เข้าร่วมที่การประเมินการเปลี่ยนแปลงทั่วไปของผู้ป่วย (PGIC) ดีขึ้นมาก หรือดีขึ้นอย่างมาก (หรือเทียบเท่า) ไม่มีรายงานความเจ็บปวดใดระบุความแตกต่างระหว่างพาราเซตามอลและยาหลอกเมื่อใช้ร่วมกับการรักษาอื่น ไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่าพาราเซตามอลแตกต่างจากยาหลอกในเรื่อง คุณภาพชีวิต การใช้ยาช่วยชีวิตฉุกเฉิน หรือความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมหรือความชื่นชอบ การวัดความอันตราย (เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรง เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์อื่นๆ และการถอนตัวเนื่องจากขาดประสิทธิภาพ) ผลการรายงานที่ไม่สอดคล้องกัน และไม่มีหลักฐานชัดเจนถึงความแตกต่าง

การประเมินคุณภาพหลักฐานด้วย GRADE ของเราต่ำมากสำหรับทุกผลลัพธ์การศึกษา เนื่องจากการศึกษามีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอคติจากหลายแหล่งที่มา

บันทึกการแปล: 

ผู้แปล ฎลกร จำปาหวาย

Tools
Information