การอุดเส้นเลือดไปเลี้ยงต่อมลูกหมากเพื่อรักษาอาการ LUTS ในชายที่เป็นโรคต่อมลูกหมากโต

การแปลนี้ไม่ทันสมัย โปรด คลิกที่นี่ เพื่อดูฉบับภาษาอังกฤษล่าสุดของการทบทวนนี้

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม

ผลของการทำหัตถการที่ไปลดเลือดไปเลี้ยงต่อมลูกหมาก (ที่เรียกว่า prostatic arterial embolization) ในชายที่มีอาการจากต่อมลูกหมากโตเป็นอย่างไร

ความเป็นมา

ต่อมลูกหมากโตอาจทำให้ปัสสาวะลำบากเช่นปัสสาวะไม่แรงหรือต้องปัสสาวะบ่อยในตอนกลางวันหรือตอนกลางคืน ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยยาหรือโดยการผ่าตัดประเภทต่างๆ การรักษาหลักประเภทหนึ่งคือการตัดต่อมลูกหมากผ่านทางท่อปัสสาวะ ซึ่งเป็นการผ่าตัดผ่านทางท่อปัสสาวะทางองคชาติและเอาเนื้อต่อมลูกหมากออก การอุดเส้นเลือดไปเลี้ยงต่อมลูกหมากเป็นการรักษาอีกวิธีหนึ่งโดยการหยุดเลือดที่ไปเลี้ยงต่อมลูกหมาก เราทำการศึกษานี้เพื่อเปรียบเทียบว่าการอุดเส้นเลือดของต่อมลูกหมากเมื่อเปรียบเทียบกับการผ่าตัดต่อมลูกหมากและวิธีการอื่น ๆ ที่ใช้ในผู้ชายที่มีต่อมลูกหมากโต

ลักษณะของการศึกษา

เราพบการศึกษา 8 การศึกษาที่เปรียบเทียบการอุดเส้นเลือดของต่อมลูกหมากกับการผ่าตัดต่อมลูกหมากทางท่อปัสสาวะ การศึกษาหกในแปดการศึกษาที่เป็นการทดลองแบบสุ่ม มีการสุ่มเลือกว่าผู้ป่วยรายใดจะได้รับการรักษาแบบไหน อีก 2 การศึกษาผู้ป่วยและแพทย์เลือกวิธีการรักษาร่วมกัน นอกจากนี้เรายังรวมการศึกษาชิ้นหนึ่งที่เปรียบเทียบการอุดเส้นเลือดของต่อมลูกหมากกับการรักษาแบบลวง (ผู้ป่วยถูกทำให้เชื่อว่าพวกเขาได้รับการรักษา แต่ในความเป็นจริงพวกเขาไม่ได้ทำ) เราไม่พบหลักฐานที่เปรียบเทียบการอุดเส้นเลือดของต่อมลูกหมากกับการรักษาอื่น ๆ นอกเหนือจาก TURP

ผลการศึกษาที่สำคัญ

การอุดหลอดเลือดของต่อมลูกหมากเมื่อเทียบกับการผ่าตัดต่อมลูกหมากทางท่อปัสสาวะ

จากการติดตามผล 12 เดือน (ระยะสั้น) การอุดเส้นเลือดของต่อมลูกหมากและการผ่าตัดต่อมลูกหมากทางท่อปัสสาวะอาจได้ผลดีเช่นเดียวกันในการช่วยบรรเทาอาการ คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยก็อาจดีขึ้นเช่นเดียวกัน เราไม่แน่ใจอย่างมากเกี่ยวกับความแตกต่างของผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ การอุดหลอดเลือดต่อมลูกหมากอาจเพิ่มความจำเป็นในการได้รับการรักษาอีกครั้งสำหรับปัญหาเดิม เราไม่แน่ใจในความแตกต่างเกี่ยวกับปัญหาการแข็งตัวของอวัยวะเพศ แต่การอุดตันของหลอดเลือดต่อมลูกหมากอาจมีปัญหาการหลั่งน้ำอสุจิลดลง

จากการติดตามผลที่ 13 ถึง 24 เดือน (ระยะยาว) เราไม่แน่ใจอย่างมากเกี่ยวกับผลของการอุดหลอดเลือดต่อมลูกหมากต่ออาการทางเดินปัสสาวะเมื่อเทียบกับการผ่าตัดต่อมลูกหมากทางท่อปัสสาวะ คุณภาพชีวิตอาจใกล้เคียงกัน นอกจากนี้เรายังไม่แน่ใจอย่างมากเกี่ยวกับผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์จากการอุดหลอดเลือดต่อมลูกหมาก การอุดหลอดเลือดต่อมลูกหมากอาจเพิ่มความจำเป็นที่จะต้องรับการรักษาอื่นเพิ่มเติม เราไม่พบข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาการแข็งตัวของอวัยวะเพศหรือการหลั่ง

ความชื่อมั่น ของหลักฐาน

ความแน่นอนของหลักฐานสำหรับผลลัพธ์หลักทั้งหมดอยู่ในระดับต่ำหรือต่ำมาก หมายความว่า ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงอาจแตกต่างอย่างมากจากผลสรุปของการทบทวนวรรณกรรมนี้ จำเป็นต้องมีการศึกษาที่ดีขึ้นและมีขนาดใหญ่ขึ้นพร้อมการติดตามผลที่ยาวนานขึ้นเพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับการอุดหลอดเลือดแดงต่อมลูกหมากเมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาอื่น ๆ

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

เมื่อเทียบกับ TURP ที่ระยะเวลา 12 เดือน (การติดตามผลระยะสั้น) PAE อาจให้คะแนนอาการทางระบบทางเดินปัสสาวะและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเทียบเท่ากัน ในขณะที่เราไม่แน่ใจอย่างมากเกี่ยวกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่สำคัญ และ PAE อาจเพิ่มอัตราการรักษาซ้ำ เราไม่แน่ใจเกี่ยวกับผลต่อการแข็งตัวของอวัยวะเพศ แต่ PAE อาจลดความผิดปกติของการหลั่งได้ ในระยะยาว (ติดตามผลที่ 13 ถึง 24 เดือน) เราไม่แน่ใจว่าคะแนนอาการทางระบบทางเดินปัสสาวะเทียบกันเป็นอย่างไร แต่คุณภาพชีวิตดูเหมือนจะใกล้เคียงกัน เราไม่แน่ใจอย่างมากเกี่ยวกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่สำคัญ แต่ PAE อาจเพิ่มการรักษาซ้ำ เราไม่พบหลักฐานระยะยาวเกี่ยวกับผลต่อการแข็งตัวของอวัยวะเพศและความผิดปกติของการหลั่ง ความเชื่อมั่นของหลักฐานสำหรับผลลัพธ์หลักของการทบทวนนี้อยู่ในระดับต่ำหรือต่ำมากซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่าความเชื่อมั่นของเราในขนาดเอฟเฟกต์ที่รายงานนั้นมี จำกัด หรือ จำกัดมาก ข้อสรุปในหัวข้อนี้ควรได้รับการปรับปรุงเมื่อมีการวิจัยเพิ่มเติมในอนาคต

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

มีวิธีการผ่าตัดที่มีลุกล้ำร่างกายน้อยหลายวิธีเพื่อเป็นทางเลือกนอกเหนือจากการผ่าตัดต่อมลูกหมากทางท่อปัสสาวะ (TURP) สำหรับรักษาอาการทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง (LUTS) ในผู้ชายที่เป็นโรคต่อมลูกหมากโต (BPH) Prostatic arterial embolization (PAE) เป็นวิธีการรักษาที่ค่อนข้างใหม่และมีการลุกล้ำร่างกายน้อย

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินผลของ PAE เทียบกับการรักษาอื่น ๆ ในการรักษา LUTS ในผู้ชายที่มีโรคต่อมลูกหมากโต

วิธีการสืบค้น: 

เราทำการค้นหาที่ครอบคลุมโดยใช้ฐานข้อมูลหลายแห่ง (The Cochrane Library, MEDLINE, Embase, LILACS, Scopus, Web of Science และ Google Scholar) การทดลองที่มีการลงทะเบียน แหล่งที่มาของวรรณกรรมที่ไม่ได้ตีพิมพ์อื่น ๆ และข้อมูลจากการประชุมโดยไม่มีข้อ จำกัด ด้านภาษาในการตีพิมพ์หรือ สถานะการเผยแพร่จนถึงวันที่ 25 กันยายน 2020

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เราได้รวมการทดลองแบบ parallel-group randomized controlled trials (RCTs) เช่นเดียวกับการศึกษาแบบไม่สุ่ม (NRS, จำกัดเฉพาะการศึกษาที่มีกลุ่มเปรียบเทียบที่เกิดขึ้นพร้อมกัน) ที่มีผู้เข้าร่วมเป็นชายที่อายุเกิน 40 ปีที่มี LUTS ซึ่งเป็นผลจากโรคต่อมลูกหมากโตที่ได้รับการรักษาโดย PAE เทียบกับ TURP หรืออื่น ๆ

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้วิจัยสองคนจำแนกการศึกษาอย่างเป็นอิสระสำหรับการรวบรวมหรือการคัดออกและสรุปข้อมูลจากการศึกษาที่รวมไว้ และทำการวิเคราะห์ทางสถิติโดยใช้แบบจำลอง random-effects model และแปลผลข้อมูลตาม Cochrane Handook for Systematic Reviews of Interventions เราใช้คำแนะนำ GRADE เพื่อประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐาน RCT และ NRS

ผลการวิจัย: 

เราพบข้อมูลเพื่อการเปรียบเทียบ 2 รายการ: PAE เทียบกับ TURP (RCT 6 การศึกษาและ NRS 2 การศึกษา) และ PAE กับการรักษาหลอก (RCT 1 การศึกษา) อายุเฉลี่ย คะแนน IPSS และปริมาณต่อมลูกหมากของผู้เข้าร่วมคือ 66 ปี 22.8 และ 72.8 มล. ตามลำดับ บทคัดย่อนี้มุ่งเน้นไปที่การเปรียบเทียบ PAE กับ TURP เป็นหัวข้อหลักที่สนใจ

PAE กับ TURP

เรารวม RCT 6 การศึกษาและ NRS 2 การศึกษาที่มีการติดตามผลระยะสั้น (สูงสุด 12 เดือน) และหนึ่ง RCT พร้อมการติดตามผลระยะยาว (13 ถึง 24 เดือน)

ในการติดตามผลระยะสั้น: จากหลักฐาน RCT อาจมีความแตกต่างเล็กน้อยในการทำให้คะแนนอาการระบบทางเดินปัสสาวะดีขึ้น (ค่าเฉลี่ยความแตกต่าง [MD] 1.55, ช่วงความเชื่อมั่น 95% [CI] -0.40 ถึง 3.50; ผู้เข้าร่วม 369 คน; RCT 6 การศึกษา; I² = 75%; หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำ) วัดโดยคะแนนอาการต่อมลูกหมากนานาชาติ (IPSS) ในระดับ 0 ถึง 35 โดยคะแนนที่สูงกว่าแสดงถึงอาการแย่ลง คุณภาพชีวิตอาจมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่แตกต่างกัน (MD 0.16, 95% CI -0.37 ถึง 0.68; ผู้เข้าร่วม 309 คน; RCT 5 การศึกษา; I² = 56%; หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำ) โดยวัดจากคำถามคุณภาพชีวิตใน IPSS โดยมีคะแนน 0 ถึง 6 โดยคะแนนที่สูงขึ้นแสดงถึงคุณภาพชีวิตที่แย่ลงระหว่าง PAE และ TURP ตามลำดับ แม้ว่าเราจะไม่แน่ใจอย่างมากเกี่ยวกับผลกระทบของ PAE ต่อเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่สำคัญ (อัตราส่วนความเสี่ยง [RR] 0.71, 95% CI 0.16 ถึง 3.10; ผู้เข้าร่วม 250 คน; RCT 4 การศึกษา; I² = 26%; หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมาก) PAE อาจเพิ่มการรักษาซ้ำ (RR 3.64, 95% CI 1.02 ถึง 12.98; ผู้เข้าร่วม 204 คน; RCT 3 การศึกษา; I² = 0%; หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำ) ในกลุ่ม TURP มีการรักษาซ้ำ 18 ครั้งต่อผู้ชาย 1000 คน เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ทำ PAE จะมีผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาซ้ำเพิ่มขึ้น 47 คน (เพิ่มขึ้น 0 ถึง 214 ครั้ง) ต่อผู้ชาย 1000 คน

เราไม่แน่ใจมากเกี่ยวกับผลกระทบต่อการแข็งตัวของอวัยวะเพศ (MD -0.03, 95% CI -6.35 ถึง 6.29; ผู้เข้าร่วม 129 คน; RCT 2 การศึกษา; I² = 78%; หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมาก) วัดโดยดัชนี IIEF 5 ในระดับ 1 ถึง 25 โดยคะแนนที่สูงกว่าแสดงถึงฟังก์ชันที่ดีกว่า หลักฐาน NRS ที่มีให้ผลลัพธ์ที่คล้ายกัน จากหลักฐาน NRS, PAE อาจลดการเกิดความผิดปกติของการหลั่ง (RR 0.51, 95% CI 0.35 ถึง 0.73; ผู้เข้าร่วม 260 คน; 1 NRS; หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำ)

การติดตามผลในระยะยาว: จากหลักฐาน RCT เราไม่แน่ใจอย่างมากเกี่ยวกับผลของ PAE ต่อคะแนนอาการระบบทางเดินปัสสาวะ (MD 0.30, 95% CI -3.17 ถึง 3.77; ผู้เข้าร่วม 95 คน; หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมาก) เมื่อเทียบกับ TURP คุณภาพชีวิตอาจไม่ต่างกัน (MD 0.20, 95% CI -0.49 ถึง 0.89; ผู้เข้าร่วม 95 คน; หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำ) นอกจากนี้เรายังไม่แน่ใจอย่างมากเกี่ยวกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่สำคัญ (RR 1.96, 95% CI 0.63 ถึง 6.13; ผู้เข้าร่วม 107 คนหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมาก) เราไม่พบหลักฐานเกี่ยวกับการทำงานของอวัยวะเพศและความผิดปกติของการหลั่ง จากหลักฐานจาก NRS PAE อาจเพิ่มอัตราการรักษาซ้ำ (RR 1.51, 95% CI 0.43 ถึง 5.29; ผู้เข้าร่วม 305 คนหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำ); ในกลุ่ม TURP มีการรักษาซ้ำ 56 ครั้งต่อผู้ชาย 1000 คน ส่วนกลุ่มที่ทำ PAE จะมีการรักษาซ้ำเพิ่มขึ้น 143 คน (เพิ่ม 25 คนถึง 430 คน) ต่อผู้ป่วย 1000 คน

บันทึกการแปล: 

แปลโดย นพ.ศุภณัฏฐ์ ลุมพิกานนท์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น