มุมมองและประสบการณ์ของผู้มีส่วนในระบบสุขภาพที่มีต่อปัจจัยต่างๆ ของการใช้การแพทย์ทางไกลสำหรับผู้ป่วยวิกฤตเป็นอย่างไร

วัตถุประสงค์ของการทบทวนวรรณกรรมนี้คืออะไร

จุดมุ่งหมายของการทบทวนนี้คือเพื่อระบุปัจจัยที่มีผลต่อการยอมรับและการใช้การแพทย์ทางไกล (เรียกว่า telemedicine) สำหรับผู้ป่วยในหอผู้ป่วยหนัก (หรือผู้ป่วยวิกฤต) และเพื่อตอบคำถามนี้ ผู้วิจัยได้สืบค้นและวิเคราะห์การศึกษาเชิงคุณภาพเกี่ยวกับการรับรู้และประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่, ผู้จัดการและผู้บริหารในระบบสุขภาพ ตลอดจนผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัว การทบทวนวรรณกรรมนี้เชื่อมโยงไปยัง Cochrane Review อีกฉบับที่ประเมินประสิทธิผลของ telemedicine

ใจความสำคัญ

การทบทวนครั้งนี้ระบุปัจจัยหลายประการที่อาจมีผลต่อการยอมรับและการใช้ telemedicine ในการดูแลผู้ป่วยวิกฤต อันได้แก่ คุณค่าที่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลและสมาชิกในครอบครัวให้ความสำคัญในการเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้ป่วยวิกฤต, การเข้าถึงการฝึกอบรมที่เพียงพอสำหรับบุคลากร, และการที่บุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ข้างเตียงผู้ป่วยและผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้ป่วยวิกฤตที่สนับสนุนพวกเขาจากระยะไกลรับทราบและเคารพในความเชี่ยวชาญของกันและกัน

การทบทวนวรรณกรรมนี้ศึกษาอะไร

ในการใช้ critical care telemedicine (CCT), ผู้ป่วยในห้องผู้ป่วยหนัก (ICU) จะได้รับการติดตามดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้ป่วยวิกฤตที่ 'ศูนย์กลาง' ที่อยู่นอกโรงพยาบาล ซึ่งจะสามารถเตือนบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ข้างเตียงผู้ป่วยถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นและให้ข้อมูลเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ ซึ่งการใช้ CCT ทำให้ผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกลหรือโรงพยาบาลขนาดเล็กสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้ป่วยวิกฤตได้ แต่ก็ยังมีความท้าทายในการนำ CCT ไปใช้ในสถานการณ์จริง ในการทบทวนนี้ ผู้วิจัยจึงได้ประเมินการศึกษาที่พิจารณาถึงมุมมองและประสบการณ์ของบุคลากรทางการแพทย์, สมาชิกในครอบครัวและผู้มีส่วนร่วมอื่นๆ เพื่อค้นหาปัจจัยที่อาจมีผลต่อการยอมรับและการใช้ CCT

ผลลัพธ์หลักของการทบทวนวรรณกรรมนี้คืออะไร

ผู้วิจัยพบการศึกษาที่เกี่ยวข้อง 13 รายการ ซึ่ง 12 ฉบับมาจากสหรัฐอเมริกาและอีกหนึ่งฉบับมาจากแคนาดา ซึ่งผู้วิจัยพบว่าการศึกษาทั้งหมดทำในฝั่งอเมริกาเหนือซึ่งอาจมีผลต่อการนำผลลัพธ์ไปประยุกต์ใช้ในบริบทอื่น จึงได้สะท้อนข้อสังเกตนี้ในการประเมินความน่าเชื่อถือของการศึกษา การศึกษาเหล่านี้ได้สำรวจมุมมองและประสบการณ์ของผู้ดูแลผู้ป่วยวิกฤตทั้งที่อยู่ข้างเตียงและที่ศูนย์ ได้แก่ เจ้าหน้าที่ธุรการ, เจ้าหน้าที่เทคนิค, เจ้าหน้าที่เทคโนโลยีสารสนเทศ, เจ้าหน้าที่บริหารและสมาชิกในครอบครัวผู้ป่วย จาก ICU ของโรงพยาบาลทั้งในเมืองและในพื้นที่ห่างไกล

การทบทวนครั้งนี้ระบุปัจจัยหลายประการที่อาจมีผลต่อการยอมรับและการใช้ CCT ซึ่งผู้วิจัยมีความเชื่อมั่นสูงในผลลัพธ์ดังต่อไปนี้:

เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลและสมาชิกในครอบครัวอธิบายข้อดีหลายประการของ CCT, เจ้าหน้าที่ที่อยู่ข้างเตียงและที่ศูนย์เชื่ออย่างยิ่งว่าข้อได้เปรียบที่สำคัญของ CCT คือการเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญเวลาที่ไม่มีแพทย์ที่ประจำใน ICU, ครอบครัวผู้ป่วยยังให้ความสำคัญกับการเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้ป่วยวิกฤติ, เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลยังอธิบายว่า CCT สามารถสนับสนุนการตัดสินใจทางคลินิกและให้คำปรึกษาแก่เจ้าหน้าที่ที่ประสบการณ์น้อยกว่าได้

เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลให้ความสำคัญอย่างมากกับลักษณะและคุณภาพของการสื่อสารระหว่างทีมข้างเตียงผู้ป่วยและทีมที่ศูนย์กลางของ CCT ประเด็นสำคัญสำหรับพวกเขาคือ ความไว้วางใจ, การได้รับการยอมรับ, การเป็นส่วนหนึ่งของทีม, ความคุ้นเคย และการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพระหว่างทั้งสองทีม

การสนทนาระหว่างบุคลากรข้างเตียงและเจ้าหน้าที่ศูนย์ CCT บางครั้งมีความตึงเครียด, ความคับข้องใจและมีความขัดแย้ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายส่วนมากคิดว่าเกิดจากการไม่เคารพในความเชี่ยวชาญของแต่ละฝ่าย, การต่อต้านและความเกลียดชัง

เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลคิดว่าการส่งเสริมและฝึกอบรมการใช้ CCT เป็นสิ่งสำคัญก่อนนำมาเริ่มใช้จริง ซึ่งรวมถึงการซักซ้อมทุกขั้นตอนในแต่ละกระบวนการ, เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ได้ซักถาม และเผยแพร่แหล่งเรียนรู้เพิ่มเติม, เจ้าหน้าที่บางคนบ่นว่ามีพนักงานที่มีประสบการณ์ถูกย้ายจากการดูแลข้างเตียงเข้าไปอยู่ในศูนย์ CCT

ทัศนคติของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลต่อความรู้และคุณค่าของ CCT มีผลต่อการยอมรับของระบบ CCT, มีเจ้าหน้าที่หลายคนให้ความสำคัญกับ CCT เนื่องจากมีข้อดีหลายประการ แต่บางคนกังวลว่าเจ้าหน้าที่ที่ศูนย์ไม่สามารถเข้าใจสถานการณ์ของผู้ป่วยผ่านกล้องได้ บางคนยังกังวลเกี่ยวกับการรักษาความลับของข้อมูลผู้ป่วย

นอกจากนี้ผู้วิจัยยังระบุปัจจัยอื่นๆ ที่อาจมีผลต่อการยอมรับและการใช้ CCT แม้ว่าความเชื่อมั่นในการค้นพบนี้จะอยู่ในระดับปานกลางถึงต่ำ ปัจจัยเหล่านี้ ได้แก่ การที่ซอฟต์แวร์ telemedicine สามารถปรับให้เข้ากับความต้องการของโรงพยาบาลในแต่ละพื้นที่ได้ และเจ้าหน้าที่ของศูนย์ตระหนักถึงวัฒนธรรมการทำงานของโรงพยาบาลในพื้นที่; ความกังวลเกี่ยวกับงานบริหารและต้นทุนที่เพิ่มขึ้น; ความปรารถนาของผู้ป่วยและครอบครัวที่จะได้อยู่ใกล้ชิดกับชุมชนท้องถิ่น; ประเภทของสถานพยาบาล; การได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูง; เจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายและขั้นตอนต่างๆ; ความพร้อมของแต่ละบุคคลในการเปลี่ยนแปลง; แรงจูงใจ, ความสามารถและค่านิยมของเจ้าหน้าที่; กลยุทธ์ที่ชัดเจนสำหรับการมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่; ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับความคืบหน้า; และผลกระทบของ CCT ต่อจำนวนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน

ความเป็นปัจจุบันของการทบทวนวรรณกรรมนี้เป็นอย่างไร

ผู้ทบทวนสืบค้นการศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์จนถึงตุลาคม 2019

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

การทบทวนครั้งนี้ระบุปัจจัยหลายประการที่อาจมีผลต่อการยอมรับและการใช้ telemedicine ในการดูแลผู้ป่วยวิกฤต อันได้แก่ คุณค่าที่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลและสมาชิกในครอบครัวให้ความสำคัญในการเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้ป่วยวิกฤต, การเข้าถึงการฝึกอบรมที่เพียงพอสำหรับบุคลากร, และการที่บุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ข้างเตียงผู้ป่วยและผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้ป่วยวิกฤตที่สนับสนุนพวกเขาจากระยะไกลรับทราบและเคารพในความเชี่ยวชาญของกันและกัน การศึกษาเพิ่มเติมโดยเฉพาะในบริบทอื่นๆ นอกเหนือจากอเมริกาเหนือภายใต้วัฒนธรรม, บรรทัดฐาน, และแนวปฏิบัติที่แตกต่างกัน จะยิ่งเสริมหลักฐานสำหรับการนำ CCT ไปใช้ในระดับสากลและความเชื่อมั่นของผู้วิจัยในการค้นพบเหล่านี้ การนำระบบ CCT ไปใช้ดูเหมือนจะมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นในบริบทของการจัดการโรคระบาดในวงกว้าง โดยเฉพาะในประเทศที่มีการกระจายตัวทางภูมิศาสตร์ที่กว้างขวางและการเข้าถึงความเชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้ป่วยวิกฤติที่จำกัด และเพื่อให้เกิดความสำเร็จในการนำไปใช้จริง ผู้กำหนดนโยบายและผู้มีส่วนร่วมอื่นๆ ควรพิจารณาถึงการเตรียมการล่วงหน้าและปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการนำไปใช้ รวมถึงการเสริมสร้างความเป็นทีมระหว่างทีมข้างเตียงและทีมศูนย์กลาง; การมีส่วนร่วมและสนับสนุนบุคลากรในแนวหน้า; ฝึกอบรมแพทย์ ICU เกี่ยวกับการใช้ CCT ก่อนเริ่มใช้จริง; และสร้างความมั่นใจว่าเจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับเวลา, เหตุผลและวิธีการใช้ CCT ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

การแพทย์ทางไกลสำหรับผู้ป่วยวิกฤต (critical care telemedicine; CCT) ได้รับการสนับสนุนมานานแล้วเพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้ป่วยวิกฤตที่หายากในพื้นที่ห่างไกล ข้อดีเพิ่มเติมของ CCT ได้แก่ ศักยภาพในการลดความหลากหลายของการรักษา และการดูแลผู้ป่วยด้วยการตัดสินใจทางคลินิกที่ถูกสนับสนุนด้วยหลักฐานจำนวนมากและมีเครื่องมือช่วยทำนายแนวโน้มการรักษา มีหลักฐานชี้ให้เห็นว่าระบบสุขภาพที่ลงทุนใน telemedicine มีความพร้อมที่จะตอบสนองต่อความต้องการทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างกะทันหันเช่น ในช่วงที่เกิดโรคระบาด อย่างไรก็ตาม ความท้าทายเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น CCT มาใช้ยังคงมีอยู่และต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

วัตถุประสงค์: 

การสังเคราะห์นี้เชื่อมโยงและเติมเต็ม Cochrane Review อีกฉบับที่ประเมินประสิทธิผลของ telemedicine แบบสื่อสารสองฝ่ายในการดูแลสุขภาพโดยเฉพาะในการดูแลผู้ป่วยวิกฤต จุดมุ่งหมายของผู้วิจัยคือ การระบุ, ประเมิน และสังเคราะห์หลักฐานการวิจัยเชิงคุณภาพเกี่ยวกับมุมมองและประสบการณ์ของผู้มีส่วนต่างๆ ในระบบสุขภาพต่อปัจจัยที่มีผลต่อการนำ CCT ไปใช้ และเพื่อระบุปัจจัยที่มีแนวโน้มที่จะทำให้การใช้ CCT ประสบความสำเร็จสำหรับการพิจารณาและการประเมินประสิทธิผลของ telemedicine ในภายหลัง

วิธีการสืบค้น: 

ผู้วิจัยสืบค้นจาก MEDLINE, Embase, CINAHL และ Web of Science สำหรับการศึกษาที่มีเข้าเกณฑ์ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึง 14 ตุลาคม 2019 ควบคู่ไปกับการค้นหาการศึกษาที่ไม่ได้รับการตีพิมพ์และบทความอื่นๆ โดยไม่มีข้อจำกัดด้านภาษา, วันที่ หรือสถานที่ที่ทำการศึกษา

เกณฑ์การคัดเลือก: 

ผู้วิจัยคัดเอาการศึกษาที่ใช้การเก็บรวบรวมและวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ ซึ่งการศึกษาเหล่านี้ได้สำรวจมุมมองและประสบการณ์ของผู้ดูแลผู้ป่วยวิกฤตทั้งที่อยู่ข้างเตียงและที่ศูนย์ ได้แก่ เจ้าหน้าที่ธุรการ, เจ้าหน้าที่เทคนิค, เจ้าหน้าที่เทคโนโลยีสารสนเทศ, เจ้าหน้าที่บริหาร และสมาชิกในครอบครัวผู้ป่วย

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้วิจัยสกัดข้อมูลโดยใช้แบบฟอร์มที่กำหนดไว้ล่วงหน้า และใช้แบบประเมิน Critical Appraisal Skills Program (CASP) สำหรับกาวิจัยเชิงคุณภาพเพื่อประเมินความรัดกุมของระเบียบวิธีวิจัยของการศึกษาแต่ละรายการ ผู้วิจัยได้ปฏิบัติตาม Best-fit framework ที่ใช้ Consolidated Framework for Implementation Research (CFIR) เพื่อรายงานข้อมูลครั้งนี้ และจัดประเภทเพิ่มเติมที่ CFIR ไม่ได้บันทึกไว้ภายใต้ธีมแยกต่างหาก และใช้ GRADE-CERQual เพื่อประเมินความเชื่อมั่นในผลการวิจัย

ผลการวิจัย: 

ผู้วิจัยพบการศึกษาที่เกี่ยวข้อง 13 รายการ ซึ่ง 12 ฉบับมาจากสหรัฐอเมริกาและอีกหนึ่งฉบับมาจากแคนาดา ซึ่งผู้วิจัยพบว่าการศึกษาทั้งหมดทำในฝั่งอเมริกาเหนือซึ่งอาจมีผลต่อการนำผลลัพธ์ไปประยุกต์ใช้ในบริบทอื่น จึงได้สะท้อนข้อสังเกตนี้ในการประเมินความน่าเชื่อถือของการศึกษา การศึกษาเหล่านี้ได้สำรวจมุมมองและประสบการณ์ของผู้ดูแลผู้ป่วยวิกฤตทั้งที่อยู่ข้างเตียงและที่ศูนย์ ได้แก่ เจ้าหน้าที่ธุรการ, เจ้าหน้าที่เทคนิค, เจ้าหน้าที่เทคโนโลยีสารสนเทศ, เจ้าหน้าที่บริหารและสมาชิกในครอบครัวผู้ป่วย หอผู้ป่วยหนัก (ICU) มาจากโรงพยาบาลตติยภูมิในเขตเมืองและในพื้นที่ห่างไกล

การทบทวนครั้งนี้บ่งชี้ปัจจัยหลายประการที่อาจมีผลต่อการนำ CCT ไปใช้ ซึ่งผู้วิจัยมีความเชื่อมั่นสูงในผลลัพธ์ดังต่อไปนี้:

เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลและสมาชิกในครอบครัวอธิบายข้อดีหลายประการของ CCT บุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ข้างเตียงและที่ศูนย์เชื่ออย่างยิ่งว่าข้อได้เปรียบที่สำคัญของ CCT คือการเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญในเวลาที่ไม่มีแพทย์ที่ประจำใน ICU, ครอบครัวผู้ป่วยยังให้ความสำคัญกับการเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้ป่วยวิกฤติ, นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลยังอธิบายว่า CCT สามารถสนับสนุนการตัดสินใจทางคลินิกและให้คำปรึกษาแก่เจ้าหน้าที่ที่ประสบการณ์น้อยกว่าได้

เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลให้ความสำคัญอย่างมากกับลักษณะและคุณภาพของการสื่อสารระหว่างทีมข้างเตียงผู้ป่วยและทีมที่ศูนย์กลางของ CCT ประเด็นสำคัญสำหรับพวกเขาคือ ความไว้วางใจ, การได้รับการยอมรับ, การเป็นส่วนหนึ่งของทีม, ความคุ้นเคย และการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพระหว่างทั้งสองทีม

การสนทนาระหว่างบุคลากรข้างเตียงและเจ้าหน้าที่ศูนย์ CCT บางครั้งมีความตึงเครียด, ความคับข้องใจและมีความขัดแย้ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายส่วนมากคิดว่าเกิดจากการไม่เคารพในความเชี่ยวชาญของแต่ละฝ่าย, การต่อต้านและความเกลียดชัง

เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลคิดว่าการส่งเสริมและฝึกอบรมการใช้ CCT เป็นสิ่งสำคัญก่อนนำมาเริ่มใช้จริง ซึ่งรวมถึงการซักซ้อมทุกขั้นตอนในแต่ละกระบวนการ, เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ได้ซักถาม และเผยแพร่แหล่งเรียนรู้, เจ้าหน้าที่บางคนบ่นว่ามีพนักงานที่มีประสบการณ์ถูกย้ายจากการดูแลข้างเตียงเข้าไปอยู่ในศูนย์ CCT

ทัศนคติของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลต่อความรู้และคุณค่าของ CCT มีผลต่อการยอมรับการใช้ CCT มีเจ้าหน้าที่หลายคนเห็นด้วยกับการใช้ CCT เนื่องจากมีข้อดีหลายประการ แต่บางคนกังวลว่าเจ้าหน้าท่ีที่ศูนย์อาจไม่สามารถเข้าใจสถานการณ์ของผู้ป่วยผ่านกล้องได้ บางคนยังกังวลเกี่ยวกับการรักษาความลับของข้อมูลผู้ป่วย

นอกจากนี้ผู้วิจัยยังระบุปัจจัยอื่นๆ ที่อาจมีผลต่อการใช้ CCT แม้ว่าความเชื่อมั่นในการค้นพบนี้จะอยู่ในระดับปานกลางถึงต่ำ ปัจจัยเหล่านี้ ได้แก่ การที่ซอฟต์แวร์ telemedicine สามารถปรับให้เข้ากับความต้องการของโรงพยาบาลในแต่ละพื้นที่ได้ และเจ้าหน้าที่ของศูนย์ตระหนักถึงวัฒนธรรมการทำงานของโรงพยาบาลในพื้นที่; ความกังวลเกี่ยวกับงานบริหารและต้นทุนที่เพิ่มขึ้น; ความปรารถนาของผู้ป่วยและครอบครัวที่จะได้อยู่ใกล้ชิดกับชุมชนท้องถิ่น; ประเภทของสถานพยาบาล; การได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูง; เจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายและขั้นตอนต่างๆ; ความพร้อมของแต่ละบุคคลในการเปลี่ยนแปลง; แรงจูงใจ, ความสามารถและค่านิยมของเจ้าหน้าที่; กลยุทธ์ที่ชัดเจนสำหรับการมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่; ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับความคืบหน้า; และผลกระทบของ CCT ต่อจำนวนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน

บันทึกการแปล: 

ผู้แปล นพ.จักรพงศ์ รู้ปิติวิริยะ แปลเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2021

Tools
Information