จำนวนพนักงานที่ทุกข์ทรมานจากความผิดปกติของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อจากการทำงานคาดว่าจะมีสัดส่วน 21% ถึง 28% ของการลาป่วยจากการประกอบอาชีพทั้งหมดในปี 2017/2018 ในสหราชอาณาจักร เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ ตัวเลขเหล่านี้บ่งชี้ว่าความผิดปกติของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อจากการทำงานเป็นปัญหาสำคัญสำหรับสังคมและนายจ้าง วิธีการที่อาจแก้ไขปัญหานี้ได้ ตัวอย่างเช่นโดยการเปลี่ยนแปลงสถานที่ทำงานหรือองค์กรที่ทำงาน มีการประเมินวิธีการหลายอย่าง เช่น การฝึกอบรมเกี่ยวกับหลักการยศาสตร์ (งาน การออกแบบเพื่อเพิ่มผลผลิตและความสะดวกสบายในที่ทำงาน) ข้อมูลและการให้คำปรึกษาการปรับจุดทำงาน การปรับตารางเวลาพักงานและการหมุนเวียนงาน การทบทวนวรรณกรรมฉบับปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่ผลของตารางเวลาพักงานที่แตกต่างกันต่อผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องกับอาการทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เนื่องจากปัจจุบันยังขาดภาพรวมอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับวิธีการนี้ ตารางเวลาพักงานที่แตกต่างกันอาจนำไปสู่การหยุดหรือการลดปริมาณงานที่ซ้ำซากหรือน่าเบื่อหน่ายในระยะยาวลง นอกจากนี้ยังอาจนำไปสู่การหยุดระยะเวลาที่ยาวนานซึ่งพนักงานต้องใช้ท่าทางของร่างกายที่อยู่นิ่งหรืออึดอัด ซึ่งเป็นที่รับรู้ว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงในการพัฒนาเป็นความผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อและกระดูกที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน
จุดมุ่งหมาย
เราต้องการค้นหาว่า ความถี่ ระยะเวลา และประเภทของการหยุดพักงานที่แตกต่างกันสามารถป้องกันอาการและความผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อและกระดูกที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในพนักงานที่มีสุขภาพดีได้หรือไม่ เราถือว่าคนงานมีสุขภาพที่ดีถ้าไม่มีอาการเกี่ยวกับกล้ามเนื้อและกระดูกในการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ
การศึกษา
เราเลือกผลลัพธ์หลักหลายประการ รวมถึงความผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อและกระดูกที่ได้รับการวินิจฉัยใหม่ อาการทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อที่รายงานโดยผู้เข้าร่วม รวมถึงความเจ็บปวด ความรู้สึกไม่สบายและความเมื่อยล้า ตลอดจนผลผลิตและประสิทธิภาพในการทำงาน มาตรการหลังนี้ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับพนักงาน แต่เกี่ยวข้องกับนายจ้างในการรักษาผลผลิตทางธุรกิจ เราเลือกการเปลี่ยนแปลงปริมาณงานเป็นผลลัพท์รอง ซึ่งอาจรวมถึงการเปลี่ยนแปลงผลผลิต electromyographic (การบันทึกคลื่นไฟฟ้าของกล้ามเนื้อโดยใช้อิเล็กโทรด) อาการของความเหนื่อยล้าของกล้ามเนื้อ หรือความรู้สึกของการเปลี่ยนแปลงภาระงาน (NASA-TLX) ไม่มีการศึกษาใดที่รวบรวมนำเข้าการศึกษาที่รายงานความผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อและโครงกระดูกที่ได้รับการวินิจฉัยใหม่หรือการเปลี่ยนแปลงภาระงาน
เราสืบค้นวรรณกรรมจนถึงวันที่ 2 พฤษภาคม 2019 เพื่อค้นหาการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT), quasi- RCTs, cluster - RCTs และ cross-over RCT ของวิธีการหยุดพักงานโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันความผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อและกระดูกในที่ทำงาน เราวิเคราะห์การศึกษาที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อตอบคำถามการวิจัยและพบการศึกษา 6 เรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับคนงาน 373 คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (≥ 78%) โดยมีระยะเวลาติดตามผล 2 ถึง 10 สัปดาห์
ผลการศึกษาที่สำคัญ
ผลของการพักงานที่มีความถี่แตกต่างกัน
การศึกษา 5 ใน 6 เรื่อง ประเมินความถี่ของการพักงานที่แตกต่างกัน การใช้ช่วงพักงานเพิ่มเติม (การศึกษา 3 เรื่อง) อาจไม่มีผลต่ออาการปวดกล้ามเนื้อและโครงกระดูก ความรู้สึกไม่สบายหรือความเหนื่อยล้าเมื่อเทียบกับการไม่มีการหยุดงานเพิ่มเติมหรือหยุดพักงานตามความจำเป็น การหยุดพักงานเพิ่มเติม (การศึกษา 3 เรื่อง) อาจส่งผลดีต่อผลผลิตและประสิทธิภาพการทำงานเมื่อเทียบกับตารางเวลาพักงานแบบเดิม การพักงานที่มีความถี่สูงขึ้นได้รับการเปรียบเทียบกับการหยุดพักงานที่มีความถี่ต่ำในการศึกษา 1 เรื่องซึ่งส่งผลให้ไม่มีความแตกต่างในอาการปวดกล้ามเนื้อและโครงกระดูกที่ผู้เข้าร่วมรายงาน ความรู้สึกไม่สบายและความเหนื่อยล้าหรือผลผลิตและประสิทธิภาพในการทำงาน
ผลของการพักงานที่มีระยะเวลาแตกต่างกัน
ไม่มีการศึกษาใดประเมินผลของระยะเวลาพักงาน
ผลของประเภทการพักงานที่แตกต่างกัน
การศึกษา 2 ใน 6 เรื่อง ประเมินประเภทของการพักงานที่แตกต่างกัน การหยุดพักการทำงาน (การศึกษา 1 เรื่อง) อาจจะไม่ลดหรือเพิ่มอุบัติการณ์ของอาการปวดกล้ามเนื้อและกระดูกที่รายงานโดยผู้เข้าร่วม ความรู้สึกไม่สบาย และความเหนื่อยล้าหรือผลผลิตและประสิทธิภาพในการทำงาน ในทำนองเดียวกัน การพักงานที่ active ประเภทต่างๆ ได้รับการเปรียบเทียบกับการพักงานแบบอื่น (การศึกษา 1 เรื่อง) เช่น แบบการผ่อนคลายและแบบ physical active ไม่มีความแตกต่างในอาการปวดกล้ามเนื้อและโครงกระดูกที่ผู้เข้าร่วมรายงาน ความรู้สึกไม่สบายและความเหนื่อยล้าหรือผลผลิตและประสิทธิภาพในการทำงาน
บทสรุป
ในปัจจุบันเราสรุปได้ว่ามีหลักฐานคุณภาพต่ำถึงต่ำมากที่แสดงว่าความถี่และประเภทของการหยุดพักงานที่แตกต่างกันอาจไม่ช่วยลดอุบัติการณ์ของความผิดปกติของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อได้มากนัก แม้ว่าผลการวิจัยจะชี้ให้เห็นว่าอาจมีผลในเชิงบวกของความถี่ในการหยุดพักงานที่แตกต่างกันต่อผลผลิตและประสิทธิภาพการทำงาน แต่ก็จำเป็นต้องมีการศึกษาที่มีคุณภาพสูงโดยมีขนาดตัวอย่างที่ใหญ่พอเพื่อประเมินประสิทธิผลของวิธีการหยุดพักงานที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ควรพิจารณาวิธีการหยุดพักงานใหม่ โดยคำนึงถึงประชากรของพนักงานนอกเหนือจากพนักงานออฟฟิศ และความเป็นไปได้ในการรวมวิธีการพักงานกับวิธีการอื่น ๆ เช่นการฝึกอบรมตามหลักการยศาสตร์หรือการให้คำปรึกษาซึ่งอาจป้องกันความผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อและกระดูกได้
เราพบหลักฐานคุณภาพต่ำว่าความถี่ในการพักงานที่แตกต่างกันอาจไม่มีผลต่ออาการปวดกล้ามเนื้อและกระดูกที่ผู้เข้าร่วมรายงานอาการไม่สบายและความเหนื่อยล้า สำหรับผลผลิตและประสิทธิภาพในการทำงาน มีหลักฐานคุณภาพต่ำมากแสดงว่าความถี่ในการหยุดพักงานที่แตกต่างกันอาจส่งผลในเชิงบวก สำหรับประเภทการหยุดพักงานที่ต่างกัน อาจไม่มีผลต่ออาการปวดกล้ามเนื้อและกระดูกที่ผู้เข้าร่วมรายงานอาการไม่สบายและความเหนื่อยล้าโดยหลักฐานคุณภาพต่ำ จำเป็นต้องมีการศึกษาที่มีคุณภาพสูงเพิ่มเติมเพื่อประเมินประสิทธิภาพของความถี่ ระยะเวลา และประเภทของการหยุดพักของคนงาน หากเป็นไปได้ โดยมีขนาดตัวอย่างที่มากขึ้นกว่าการศึกษาที่รวมอยู่ในการทบทวนปัจจุบัน นอกจากนี้ควรพิจารณาวิธีการหยุดพักงานใหม่ โดยคำนึงถึงประชากรของคนงานนอกเหนือจากพนักงานสำนักงาน และความเป็นไปได้ในการรวมวิธีการพักงานกับวิธีการอื่น ๆ เช่นการฝึกอบรมตามหลักการยศาสตร์หรือการให้คำปรึกษาซึ่งอาจป้องกันความผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อและกระดูกได้
ความผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อและโครงกระดูกที่เกี่ยวข้องกับการทำงานเป็นหนึ่งในความผิดปกติที่พบบ่อยที่สุดที่เกี่ยวข้องกับการลาป่วยจากการทำงานทั่วโลก ความผิดปกติของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อคิดเป็น 21% ถึง 28% ของวันที่ขาดงานในปี 2017/2018 ในเนเธอร์แลนด์ เยอรมนีและสหราชอาณาจักร มีวิธีการหลายอย่างที่อาจได้ผลในการจัดการกับความชุกของความผิดปกติของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในคนงานเช่นวิธีการทางร่างกาย ความรู้ความเข้าใจและองค์กร ในการทบทวนวรรณกรรมนี้ เราจะมุ่งเน้นไปที่การหยุดพักงานเพื่อเป็นมาตรการป้องกันเบื้องต้น ซึ่งเป็นวิธีการระดับองค์กรประเภทหนึ่ง
การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบนี้ประเมินประสิทธิผลของตารางการหยุดพักการทำงานที่แตกต่างกันเพื่อป้องกันอาการและความผิดปกติของระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เมื่อเปรียบเทียบกับตารางการหยุดพักการทำงานแบบเดิมหรือแบบอื่น
เราสืบค้นจาก Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL) MEDLINE, Embase, CINAHL, PsycINFO, SCOPUS, Web of Science, ClinicalTrials.gov and the World Health Organization International Clinical Trials Registry Platform, ถึง เมษายน/พฤษภาคม 2019 นอกจากนี้เรายังค้นหาข้อมูลอ้างอิงของการศึกษาที่รวมอยู่และการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง
เราได้รวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ (RCTs) ของวิธีการหยุดพักงานเพื่อป้องกันอาการและความผิดปกติของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อจากการทำงาน การศึกษาเป็นไปตามเกณฑ์การคัดเข้าเมื่อมีวิธีการที่เปลี่ยนแปลงความถี่ ระยะเวลาในการหยุดพักงานและ / หรือประเภทการหยุดพัก เทียบกับวิธีการแบบเดิมหรือแบบอื่น เรารวมเฉพาะการศึกษาที่กลุ่มตัวอย่างได้รับการตรวจสอบ ได้แก่ พนักงานที่เป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีอาการเกี่ยวกับระบบกระดูกและกล้ามเนื้อในระหว่างการลงทะเบียนเข้าร่วมโดยไม่มีข้อจำกัด เรื่องเพศหรืออาชีพ ผลลัพธ์หลักคือ การวินิจฉัยความผิดปกติของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ อาการปวดกล้ามเนื้อและโครงกระดูกที่รายงานด้วยตนเอง ความรู้สึกไม่สบาย หรือความเหนื่อยล้าและประสิทธิภาพการทำงานหรือผลการทำงาน เรากำหนดการเปลี่ยนแปลงภาระงานเป็นผลลัพธ์รอง
ผู้ประพันธ์การทบทวน 2 คน คัดกรองชื่อเรื่อง บทคัดย่อและบทความฉบับสมบูรณ์ ดึงข้อมูลและ ประเมินความเสี่ยงของการมีอคติอย่างอิสระต่อกัน เราติดต่อผู้เขียนเพื่อขอข้อมูลการศึกษาเพิ่มเติมหากจำเป็น เราทำ meta-analysis ถ้าเป็นไปได้ และเราประเมินคุณภาพโดยรวมของหลักฐานสำหรับแต่ละผลลัพธ์ของการเปรียบเทียบแต่ละครั้งโดยใช้การพิจารณาแบบ GRADE
เราได้รวมการศึกษา 6 เรื่อง (พนักงาน 373 คน) ประกอบด้วย parallel RCTs 4 เรื่อง, cross-over RCT 1 เรื่อง, และ combined parallel plus cross-over RCT 1 เรื่อง พนักงานอย่างน้อย 295 คนเป็นเพศหญิงและเป็นเพศชายอย่างน้อย 39 คน สำหรับพนักงานที่เหลือ 39 คนไม่ได้ระบุเพศในการศึกษา การศึกษาได้ศึกษาถึงความถี่ในการหยุดพักงานที่แตกต่างกัน (การศึกษา 5 เรื่อง) และประเภทการหยุดพักงานที่แตกต่างกัน (การศึกษา 2 เรื่อง) ไม่มีการศึกษาใดที่ประเมินระยะเวลาพักงานที่แตกต่างกัน เราตัดสินว่าการศึกษาทั้งหมดมีความเสี่ยงของการมีอคติสูง คุณภาพของหลักฐานสำหรับผลลัพธ์หลักของอาการปวดกล้ามเนื้อและโครงกระดูกที่รายงานด้วยตนเอง ความรู้สึกไม่สบายและความเหนื่อยล้าอยู่ในระดับต่ำ คุณภาพของหลักฐานสำหรับผลลัพธ์หลักของผลผลิตและประสิทธิภาพการทำงานต่ำมาก การศึกษาได้ดำเนินการในยุโรปหรืออเมริกาเหนือโดยไม่มีประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ไม่สามารถรวมการศึกษา 1 เรื่อง ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้เนื่องจากไม่มีการรายงานผลโดยละเอียด
การเปลี่ยนแปลงความถี่ของการหยุดพักงาน
มีหลักฐานคุณภาพต่ำที่แสดงว่าการหยุดพักงานเพิ่มเติมอาจไม่มีผลอย่างมากต่ออาการปวดกล้ามเนื้อและกระดูกไม่สบายหรือเมื่อยล้าเมื่อเทียบกับการไม่มีการหยุดพักเพิ่มเติม (ค่าเฉลี่ยความแตกต่างมาตรฐาน (SMD) -0.08; 95% CI -0.35 ถึง 0.18; การศึกษา 3 เรื่อง; ผู้เข้าร่วม 225 คน) การหยุดพักเพิ่มเติมอาจไม่ส่งผลดีต่อผลผลิตหรือประสิทธิภาพการทำงานเมื่อเปรียบเทียบกับการไม่มีช่วงพักงานเพิ่มเติม (SMD -0.07; 95% CI -0.33 ถึง 0.19; การศึกษา 3 เรื่อง ผู้เข้าร่วม 225 คนหลักฐานคุณภาพต่ำมาก)
เราพบหลักฐานคุณภาพต่ำว่าการหยุดพักงานเพิ่มเติมอาจไม่มีผลมากนักต่ออาการปวดกล้ามเนื้อและโครงกระดูกที่รายงานโดยผู้เข้าร่วมรู้สึกไม่สบายหรือเมื่อยล้า (MD 1.80 ในการวัด VAS 100 มม. 95% CI -41.07 ถึง 64.37; การศึกษา 1 เรื่อง; ผู้เข้าร่วม 15 คน ) เมื่อเทียบกับช่วงพักงานตามความจำเป็น (เช่น microbreaks ที่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของตนเอง) มีหลักฐานคุณภาพต่ำมากว่าการหยุดพักงานเพิ่มเติมอาจส่งผลดีต่อผลผลิตหรือประสิทธิภาพการทำงานเมื่อเทียบกับช่วงพักงานตามต้องการ (MD 542.5 จำนวนคำที่พิมพ์ต่อระยะเวลาการบันทึก 3 ชั่วโมง; 95% CI 177.22 ถึง 907.78; การศึกษา 1 เรื่อง; ผู้เข้าร่วม 15 คน)
การหยุดพักงานเพิ่มเติมที่มีความถี่สูงขึ้นอาจไม่มีผลมากนักต่ออาการปวดกล้ามเนื้อและโครงกระดูกที่รายงานโดยผู้เข้าร่วม ความรู้สึกไม่สบาย หรือเมื่อยล้า (MD 11.65 ในการวัด VAS 100 มม. 95% CI -41.07 ถึง 64.37; การศึกษา 1 เรื่อง; ผู้เข้าร่วม 10 คน ) เมื่อเทียบกับการพักงานเพิ่มเติมที่มีความถี่ต่ำกว่า มีหลักฐานคุณภาพต่ำมากให้ผลว่าการหยุดพักงานเพิ่มเติมที่มีความถี่สูงกว่า อาจไม่มีผลสำคัญต่อผลผลิตหรือประสิทธิภาพการทำงานเมื่อเทียบกับช่วงพักงานตามต้องการ ((MD -83.00 จำนวนคำที่พิมพ์ต่อระยะเวลาการบันทึก 3 ชั่วโมง; 95% CI -305.27 ถึง 139.27; การศึกษา 1 เรื่อง; ผู้เข้าร่วม 10 คน) เมื่อเปรียบการหยุดพักงานเพิ่มเติมที่มีความถี่ต่ำกว่า
การเปลี่ยนแปลงระยะเวลาของการหยุดพักงาน
ไม่พบการทดลองที่ประเมินผลของระยะเวลาพักงานที่แตกต่างกัน
การเปลี่ยนแปลงประเภทของการหยุดพักงาน
เราพบหลักฐานคุณภาพต่ำว่า การหยุดพักงานเพิ่มเติมแบบ active อาจไม่มีผลมากนักต่ออาการปวดกล้ามเนื้อและโครงกระดูกที่รายงานโดยผู้เข้าร่วม ความรู้สึกไม่สบายหรือเมื่อยล้า (MD -0.17 on a 1-7 NRS scale; 95% CI -0.71 ถึง 0.37; การศึกษา 1 เรื่อง; ผู้เข้าร่วม 153 คน) เมื่อเทียบกับการพักงานแบบ passive
การหยุดพักงานแบบผ่อนคลายอาจไม่มีผลมากนักต่ออาการปวดกล้ามเนื้อและโครงกระดูกที่รายงานโดยผู้เข้าร่วม ความรู้สึกไม่สบายหรือเมื่อยล้า (MD -0.20 on a 1-7 NRS scale; 95% CI -0.43 ถึง 0.82; การศึกษา 1 เรื่อง; ผู้เข้าร่วม 97 คน) หลักฐานคุณภาพต่ำ
ผู้แปล ศ.นพ. ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 15 สิงหาคม 2020