มาตรการเพื่อลดพฤติกรรมเนือยนิ่งหลังเกิดโรคหลอดเลือดสมอง

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม
เราทบทวนหลักฐานที่ตรวจสอบผลของการรักษาเพื่อลดจำนวนพฤติกรรมเนือยนิ่งในผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง

ความเป็นมา
'พฤติกรรมเนือยนิ่ง' หมายถึงการนั่งหรือนอนราบ (เช่น การนั่งดูโทรทัศน์) ในตอนกลางวัน แทนที่จะขยับตัวและ 'ลุกเดิน' หลังจากเป็นโรคหลอดเลือดสมองชนิดใดก็ตาม เป็นเรื่องปกติมากที่ผู้คนจะใช้เวลาส่วนใหญ่กับพฤติกรรมเนือยนิ่ง ซึ่งเป็นเรื่องปกติทั้งในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่อยู่ในโรงพยาบาลและผู้ที่กลับบ้านได้แล้ว เป็นที่รู้กันว่าพฤติกรรมเนือยนิ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง และเพิ่มโอกาสเสียชีวิต การใช้เวลานั่งน้อยลงหลังเกิดโรคหลอดเลือดสมองสามารถลดความเสี่ยงเหล่านี้สำหรับผู้ป่วยในช่วงชีวิตหลังเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ หากเวลาอยู่นิ่งลดลง ตามคำจำกัดความแล้ว การออกกำลังกาย (เช่น การเดิน) จะต้องเพิ่มขึ้น เมื่อรวมกันแล้ว สิ่งนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยลดความเสี่ยงด้านสุขภาพเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ที่ผู้เป็นโรคหลอดเลือดสมองขยับเพิ่มขึ้นและช่วยเรื่องความรู้สึกของพวกเขาอีกด้วย

ลักษณะของการศึกษา
ในเดือนธันวาคม 2019 หลังจากค้นหาวรรณกรรมทางวิทยาศาสตร์อย่างครอบคลุม เราได้ระบุการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม 10 ฉบับเพื่อรวมในการทบทวนวรรณกรรม การศึกษานี้มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 753 คนในทุกขั้นตอนของการดูแล รวมทั้งผู้ที่รักษาอยู่ในโรงพยาบาลหรือกลับไปใช้ชีวิตที่บ้าน ผู้ที่เข้าร่วมส่วนใหญ่สามารถเดินและยืนได้ด้วยตนเอง การรักษามีระยะเวลาตั้งแต่หกสัปดาห์ถึง 18 เดือน และทั้งหมดเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบบางส่วนของการออกกำลังกายที่เพิ่มขึ้น การศึกษารวมทั้งการออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว (การศึกษา 1 ฉบับ) หรือร่วมกับการให้ความรู้และการแนะนำช่วยเหลือ (การศึกษา 1 ฉบับ) การออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว (การศึกษา 1 ฉบับ) หรือใช้ร่วมกับ 'แอป' โทรศัพท์มือถือ (การศึกษา 1 ฉบับ) การแทรกแซงวิถีชีวิตที่มีองค์ประกอบหลายองค์ประกอบ รวมถึงการออกกำลังกาย (การศึกษา 4 ฉบับ) และการทำกายภาพบำบัดเพิ่มเติมในผู้ป่วยใน (การศึกษา 1 ฉบับ) การศึกษา 1 ฉบับใช้มาตรการที่มุ่งเป้าไปที่การหยุดการนั่งต่อเนื่องเป็นเวลานานโดยเฉพาะ

เนื่องจากปัญหาในวิธีดำเนินการและวิธีที่ทีมวิจัยรายงาน การศึกษาทั้งหมดจึงมีความเสี่ยงสูงหรือไม่ชัดเจนของอคติ

ผลการศึกษาที่สำคัญ
ปัจจุบัน หลักฐานแสดงให้เห็นว่ามาตรการลดพฤติกรรมเนือยนิ่งไม่ช่วยเพิ่มหรือลดการเสียชีวิต โรคหัวใจและหลอดเลือด การล้มหรือเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์อื่นๆ หรือระยะเวลาที่ใช้ในการนั่ง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลักฐานจะไม่สมบูรณ์ แต่ก็ยังมีประโยชน์ในผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองโดยพยายามนั่งให้น้อยลง หากทำได้อย่างปลอดภัย

ความน่าเชื่อถือของหลักฐาน
เราได้ประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐานที่ได้โดยวิธีการ GRADE ความเชื่อมั่นของเราอยู่ในระดับต่ำเกี่ยวกับผลกระทบของสิ่งแทรกแซงเหล่านี้ต่อการเสียชีวิต เหตุการณ์เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด และการหกล้ม และสำหรับผลกระทบต่อเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์อื่นๆ นั้นอยู่ในระดับปานกลาง ความเชื่อมั่นต่ำมากต่อผลกระทบต่อพฤติกรรมเนือยนิ่ง มุ่งความสนใจในพฤติกรรมเนือยนิ่งหลังจากเกิดโรคหลอดเลือดสมองเกิดขึ้นใหม่ ปัญหาหลักของหลักฐานก็คือมีงานวิจัยเพียงไม่กี่ฉบับเท่านั้นที่ศึกษาเรื่องนี้จนถึงปัจจุบัน หลักฐานที่มีอยู่มีแนวโน้มที่จะจำกัดเฉพาะผู้ป่วยหลังโรคหลอดเลือดสมองที่มีความคล่องตัวมากกว่า การศึกษาจำนวนมากไม่ได้ดำเนินการในระยะเวลานานพอที่จะแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการนั่งในระยะยาว หรือการเปลี่ยนแปลงความเสี่ยงของการเจ็บป่วยหรือการเสียชีวิต

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

การวิจัยพฤติกรรมเนือยนิ่งในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองดูเหมือนจะมีความสำคัญ แต่ขณะนี้หลักฐานยังไม่สมบูรณ์ และเราไม่พบหลักฐานที่แสดงถึงผลประโยชน์ที่ได้ แนวปฏิบัติปัจจุบันขององค์การอนามัยโลก (WHO) ทั่วไปแนะนำให้ลดระยะเวลาเนือยนิ่งของคนพิการ ขณะนี้หลักฐานยังไม่ชัดเจนพอที่จะเป็นแนวทางปฏิบัติในการลดการเนือยนิ่งได้ดีที่สุดโดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

จำเป็นต้องมีการทดลองแบบสุ่มคุณภาพสูงเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งศึกษาในผู้เข้าร่วมที่มีข้อจำกัดด้านการเคลื่อนไหว การทดลองควรรวมถึงมาตรการระยะยาวที่มุ่งเป้าไปที่การลดเวลาที่ต้องอยู่นิ่ง ผลลัพธ์ของปัจจัยเสี่ยง การวัดพฤติกรรมเนือยนิ่ง (และการออกกำลังกาย) และการติดตามผลในระยะยาว

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

ผู้รอดชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองมักไม่เคลื่อนไหวร่างกายและอยู่นิ่งๆ และอาจนั่งเป็นเวลานานในแต่ละวัน สิ่งนี้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดและมีผลกระทบต่อร่างกายและการทำงานของร่างกายอื่น ๆ มาตรการเพื่อลดหรือขัดขวางระยะเวลาเนือยนิ่ง รวมทั้งเพิ่มการออกกำลังกายหลังเกิดโรคหลอดเลือดสมอง สามารถลดความเสี่ยงการเกิดซ้ำของโรคหลอดเลือดหัวใจและการเสียชีวิตในช่วงชีวิตหลังเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้

วัตถุประสงค์: 

เพื่อตรวจสอบว่าสิ่งแทรกแซงที่ออกแบบมาเพื่อลดพฤติกรรมเนือยนิ่งหลังเกิดโรคหลอดเลือดสมอง หรือสิ่งแทรกแซงที่มีศักยภาพในการดำเนินการดังกล่าว สามารถลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตหรือเหตุการณ์ทุติยภูมิเกี่ยวกับหลอดเลือด ปรับเปลี่ยนความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ และลดพฤติกรรมเนือยนิ่งหรือไม่

วิธีการสืบค้น: 

ในเดือนธันวาคม 2019 เราสืบค้นใน Cochrane Stroke Trials Register, CENTRAL, MEDLINE, Embase, CINAHL, PsycINFO, Conference Proceedings Citation Index และ PEDro นอกจากนี้เรายังค้นหาทะเบียนการทดลองที่กำลังดำเนินอยู่ รายการอ้างอิงที่ผ่านการคัดกรอง และติดต่อผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้น

เกณฑ์การคัดเลือก: 

การทดลองแบบสุ่มเปรียบเทียบการทดลองที่เพิ่มสิ่งแทรกแซงเพื่อลดเวลาการเนือยนิ่งกับการดูแลตามปกติ ไม่มีสิ่งแทรกแซง หรือการควบคุมรายการรอ การควบคุมความสนใจ สิ่งแทรกแซงหลอก หรือสิ่งแทรกแซงเสริม นอกจากนี้เรายังรวมสิ่งแทรกแซงที่มีจุดประสงค์เพื่อแยกส่วนหรือขัดขวางระยะเวลาการมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ทบทวน 2 คนเลือกการศึกษาและดำเนินการประเมิน 'ความเสี่ยงของอคติ' อย่างเป็นอิสระต่อกัน เราวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์เมตต้าแบบสุ่มและประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐานด้วยวิธี GRADE

ผลการวิจัย: 

เรารวบรวมการศึกษา 10 ฉบับ มีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง 753 คน การศึกษา 5 ฉบับใช้สิ่งแทรกแซงโดยการออกกำลังกาย การศึกษา 4 ฉบับใช้การแทรกแซงรูปแบบการใช้ชีวิตแบบหลายองค์ประกอบ และการศึกษา 1 ฉบับใช้สิ่งแทรกแซงเพื่อลดและขัดขวางพฤติกรรมเนือยนิ่ง ในการศึกษาทั้งหมด ความเสี่ยงของการมีอคติสูงหรือไม่ชัดเจนใน 2 โดเมนขึ้นไป การศึกษา 9 ฉบับมีความเสี่ยงสูงต่อการมีอคติอย่างน้อย 1 โดเมน

สิ่งแทรกแซงไม่ได้เพิ่มหรือลดการเสียชีวิต (ความแตกต่างความเสี่ยง (RD) 0.00 ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) -0.02 ถึง 0.03; การศึกษา 10 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 753 คน หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) อุบัติการณ์ของเหตุการณ์หลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองกำเริบซ้ำ (RD -0.01, 95% CI -0.04 ถึง 0.01; การศึกษา 10 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 753 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ), อุบัติการณ์ของการล้ม (และการบาดเจ็บ) (RD 0.00, 95% CI -0.02 ถึง 0.02; การศึกษา 10 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 753 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) หรืออุบัติการณ์ของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์อื่นๆ (หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง)

สิ่งแทรกแซงไม่ได้เพิ่มหรือลดระยะเวลาพฤติกรรมกมเนือยนิ่ง (Mean Difference (MD) +0.13 ชั่วโมง/วัน, 95% CI -0.42 ถึง 0.68; การศึกษา 7 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 300 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) มีข้อมูลน้อยเกินไปที่จะตรวจสอบผลกระทบต่อรูปแบบพฤติกรรมเนือยนิ่ง

ผลของการแทรกแซงที่มีต่อปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด มีการวิเคราะห์แบบเมตต้าที่จำกัดมาก

บันทึกการแปล: 

ผู้แปล แพทย์หญิงชุติมา ชุณหะวิจิตร วันที่ 24 มีนาคม 2024

Tools
Information