คำถามของการทบทวนวรรณกรรม
ในการทบทวน Cochrane นี้เราต้องการทราบว่าการบำบัดด้วยการกระตุ้นให้ทำพฤติกรรมมีประสิทธิผลได้ดีเพียงใดสำหรับผู้ใหญ่ที่มีภาวะซึมเศร้า
ทำไมเรื่องนี้จึงมีความสำคัญ
ภาวะซึมเศร้าเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่พบบ่อยซึ่งอาจทำให้เกิดความรู้สึกเศร้ายาวนานและสูญเสียความสนใจในผู้อื่น ในการทำกิจกรรม และสิ่งต่างๆ ที่เคยรู้สึกสนุกสนาน คนที่มีภาวะซึมเศร้าอาจรู้สึกร้องไห้ฟูมฟาย หงุดหงิดหรือเหนื่อยเกือบตลอดเวลา และอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ สมาธิและความจำ อาการเหล่านี้และอาการอื่น ๆ อาจทำให้การใช้ชีวิตประจำวันยากขึ้นกว่าปกติ
การรักษาภาวะซึมเศร้า ได้แก่ การใช้ยา (ยาต้านอาการซึมเศร้า) และการบำบัดทางจิตใจ (การบำบัดด้วยการพูดคุย) การกระตุ้นพฤติกรรมเป็นวิธีบำบัดทางจิตวิทยาประเภทหนึ่งที่กระตุ้นให้บุคคลพัฒนาหรือกลับเข้ามาทำกิจกรรมที่มีความหมายต่อพวกเขา การบำบัดเกี่ยวข้องกับการจัดตารางกิจกรรมและติดตามการทำพฤติกรรมและดูสถานการณ์เฉพาะที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเหล่านี้และกิจกรรมที่อาจเป็นประโยชน์ นักบำบัดอาจให้การสนับสนุนผู้ป่วยด้วยตนเองทางโทรศัพท์หรือทางออนไลน์โดยปกติจะใช้เวลาพบกันหลายครั้ง
สิ่งสำคัญคือต้องทราบว่าการกระตุ้นให้ทำพฤติกรรมอาจเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับสำหรับผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่
สิ่งที่เราทำ
ในเดือนมกราคม 2020 เราได้สืบค้นการศึกษาเกี่ยวกับการบำบัดด้วยการกระตุ้นให้ทำพฤติกรรมสำหรับภาวะซึมเศร้าในผู้ใหญ่ (อายุมากกว่า 18 ปี) เราสืบค้นการทดลองแบบสุ่มอาสาสมัครเข้ากลุ่มควบคุมหรือกลุ่มทดลองซึ่งเป็นรูปแบบการวิจัยที่มีความเชื่อถือได้มากที่สุด
เรารวบรวม 53 การศึกษา มีผู้เข้าร่วมโครงการวิจัยทั้งหมด 5495 คน การศึกษาเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่มีการกระตุ้นพฤติกรรมกับกลุ่มที่ไม่มีการรักษา การดูแลที่เป็นมาตรฐานหรือตามปกติ การรักษาหลอก (กลุ่มหลอก) การรักษาด้วยยา กลุ่มที่มีรายชื่อรอการรักษา หรือการบำบัดทางจิตอื่น ๆ (การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (CBT), CBT คลื่นลูกที่สาม, การบำบัดแบบมนุษยนิยม , จิตบำบัดบำบัดแบบพลวัตร และการบำบัดแบบผสมผสาน)
การศึกษาที่นำมาทบทวน ดำเนินการใน 14 ประเทศ; ส่วนใหญ่ดำเนินการในสหรัฐอเมริกา (27 การศึกษา) การศึกษาใช้เวลาตั้งแต่ 4 สัปดาห์ถึง 16 สัปดาห์
ผลลัพธ์ที่เราให้ความสำคัญคือกิจกรรมการทดลองการกระตุ้นให้ทำพฤติกรรมได้ผลดีเพียงใดและเป็นที่ยอมรับของผู้เข้าร่วมวิจัยหรือไม่ กิจกรรมการทดลองมีประสิทธิภาพเพียงใด วัดได้จากจำนวนผู้ที่ตอบสนองต่อการรักษาได้ดี หรือไม่เข้าเกณฑ์ภาวะซึมเศร้าอีกต่อไปเมื่อสิ้นสุดการรักษา การยอมรับต่อรูปแบบการรักษาประเมินได้จากการนับจำนวนคนที่ออกจากการทดลองในระหว่างการศึกษา
เราพบอะไร
การกระตุ้นให้ทำพฤติกรรมอาจรักษาอาการซึมเศร้าได้ดีกว่าการได้รับการดูแลตามปกติ เราไม่แน่ใจว่าการกระตุ้นพฤติกรรมได้ผลดีกว่าการใช้ยาหรือดีกว่ากลุ่มที่อยู่ในรายชื่อผู้รอการรักษาหรือไม่และเราไม่พบหลักฐานใด ๆ สำหรับผลลัพธ์นี้เมื่อเปรียบเทียบการกระตุ้นพฤติกรรมกับการไม่ได้รับการรักษาหรือการรักษาด้วยยาหลอก
เราไม่พบความแตกต่างระหว่างการกระตุ้นให้ทำพฤติกรรมและ การรักษาด้วย CBT ในการรักษาภาวะซึมเศร้า แม้ว่าเราไม่พบหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้เพียงพอที่จะเปรียบเทียบการกระตุ้นพฤติกรรมกับจิตบำบัดรูปแบบอื่น ๆ แต่การกระตุ้นพฤติกรรม ก็อาจได้ผลดีกว่าการบำบัดแบบมนุษยนิยมและเราไม่พบความแตกต่างระหว่างการกระตุ้นให้ทำพฤติกรรมและ CBT คลื่นลูกที่สาม หรือการบำบัดทางจิตแบบพลวัตร ไม่มีหลักฐานเปรียบเทียบการกระตุ้นให้ทำพฤติกรรมกับการบำบัดแบบผสมผสาน
การกระตุ้นให้ทำพฤติกรรมอาจเป็นที่ยอมรับของผู้ป่วยน้อยกว่าการดูแลตามปกติ เราไม่พบความแตกต่างในผลลัพธ์การยอมรับวิธีการรักษาแบบการกระตุ้นให้ทำพฤติกรรมเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่มีการอยู่ในรายชื่อรอการรักษา หรือไม่มีการรักษา หรือการใช้ยาต้านอาการซึมเศร้า หรือการได้รับการรักษาด้วยยาหลอก นอกจากนี้เรายังไม่พบความแตกต่างในการยอมรับรูปแบบการรักษาเมื่อเปรียบเทียบระหว่างการกระตุ้นให้ทำพฤติกรรมกับการบำบัดทางจิตรูปแบบอื่น ๆ ที่ศึกษา (CBT, CBT คลื่นลูกที่สาม, การบำบัดแบบมนุษยนิยม, การบำบัดแบบผสมผสาน) สำหรับการกระตุ้นให้ทำพฤติกรรมเมื่อเปรียบเทียบกับการบำบัดทางจิตพลวัตรเราไม่พบหลักฐานเกี่ยวกับการยอมรับรูปแบบการรักษา
บทสรุป
การกระตุ้นพฤติกรรมอาจเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับสำหรับผู้ใหญ่ที่มีภาวะซึมเศร้า การเสนอรูปแบบการบำบัดวิธีการนี้ในทางปฏิบัติจะช่วยให้ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ามีทางเลือกในการรักษามากขึ้น และสามารถศึกษารูปแบบการรักษาและวิธีการของการรักษาที่แตกต่างกันเพื่อตอบสนองความต้องการการสนับสนุนด้านสุขภาพจิต ความเชื่อมั่นของเราในการค้นพบนี้มีจำกัด เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความเชื่อมั่นของหลักฐาน
การค้นพบส่วนใหญ่เป็นเพียงการประเมินผลในระยะสั้นซึ่งหมายความว่าเราไม่สามารถแน่ใจได้ว่าการกระตุ้นให้ทำพฤติกรรมจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าในระยะยาว
ความน่าเชื่อถือของหลักฐาน
ความเชื่อถือได้ (ความมั่นใจ) ของหลักฐานส่วนใหญ่อยู่ในระดับต่ำถึงระดับปานกลาง การค้นพบบางอย่างมาจากการศึกษาเพียงไม่กี่เรื่อง คุณภาพการรายงานผลไม่ดีเพราะผู้เข้าร่วมวิจัยทราบว่าได้รับการรักษาแบบใด ดังนั้นเราจึงไม่แน่ใจว่าผลลัพธ์มีความน่าเชื่อถือเพียงใด ข้อสรุปของเราอาจเปลี่ยนแปลงได้หากมีการศึกษาเพิ่มเติม
การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบฉบับนี้แสดงให้เห็นว่าการกระตุ้นพฤติกรรมอาจมีประสิทธิผลมากกว่าการบำบัดแบบมนุษยนิยม การรักษาด้วยยา และการรักษาตามปกติและอาจมีประสิทธิผลไม่น้อยไปกว่าการบำบัดแบบ CBT การบำบัดทางจิตพลวัตร หรือการอยู่ในกลุ่มรอรับการรักษา ความเชื่อมั่นของเราต่อการค้นพบนี้มีจำกัด เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความเชื่อมั่นของหลักฐาน
เราไม่พบหลักฐานของความแตกต่างในการยอมรับรูปแบบการรักษาในการติดตามประเมินผลระยะสั้น (ประเมินจากข้อมูลการออกกลางคัน) ระหว่างการกระตุ้นให้ทำพฤติกรรมกับกลุ่มเปรียบเทียบเกือบทั้งหมด (CBT, การบำบัดแบบมนุษยนิยม, กลุ่มมีรายชื่อรอรับการรักษา, กลุ่มยาหลอก, การรักษาด้วยยา, ไม่มีการรักษาหรือการรักษาตามปกติ) ความเชื่อมั่นของเราต่อการค้นพบนี้มีจำกัด เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความเชื่อมั่นของหลักฐาน
ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิผลของการกระตุ้นให้ทำพฤติกรรมเมื่อเทียบกับยาหลอกหรือเกี่ยวกับการยอมรับรูปแบบการรักษาเปรียบเทียบการกระตุ้นให้ทำพฤติกรรมกับการบำบัดทางจิตพลวัตร สัมพันธภาพบำบัด การวิเคราะห์การรู้คิดและการบำบัดแบบผสมผสาน
หลักฐานจะมีจุดแข็งมีความเชื่อถือได้มากขึ้นหากมีการรายงานที่ดีขึ้นและ RCTs ที่ใช้วิธีการกระตุ้นพฤติกรรมมีคุณภาพการวิจัยที่ดีขึ้นและโดยการประเมินกลไกการทำงานของการกระตุ้นพฤติกรรม
การกระตุ้นให้ทำพฤติกรรมเป็นวิธีการทางจิตบำบัดระยะสั้น ที่พยายามเปลี่ยนวิธีการที่บุคคลมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมของตน การกระตุ้นให้ทำพฤติกรรมกำลังได้รับความสนใจมากขึ้นเนื่องจากอาจเป็นการบำบัดที่คุ้มค่าสำหรับภาวะซึมเศร้าซึ่งอาจใช้ทรัพยากรน้อยและการให้บริการและการดำเนินการอาจทำได้ง่ายกว่าจิตบำบัดประเภทอื่น ๆ
เพื่อตรวจสอบผลของการกระตุ้นให้ทำพฤติกรรมเปรียบเทียบกับการบำบัดทางจิตวิทยารูปแบบอื่น ๆ สำหรับผู้ใหญ่ที่มีภาวะซึมเศร้า
เพื่อตรวจสอบผลของการกระตุ้นให้ทำพฤติกรรมเปรียบเทียบกับการบำบัดด้วยยา สำหรับผู้ใหญ่ที่มีภาวะซึมเศร้า
เพื่อตรวจสอบผลของการกระตุ้นให้ทำพฤติกรรมเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมอื่นๆ เช่น ในการรักษาแบบปกติ หรือกลุ่มที่มีรายชื่อรอรับการบำบัด หรือ กลุ่มหลอกที่ไม่มีการบำบัด ในผู้ใหญ่ที่มีภาวะซึมเศร้า
เราสืบค้นจาก CCMD-CTR (ปีที่มีข้อมูลทั้งหมด), CENTRAL (ฉบับปัจจุบัน), Ovid MEDLINE (ปี 1946 เป็นต้นไป), Ovid EMBASE (1980 เป็นต้นไป) และ Ovid PsycINFO (1806 เป็นต้นไป) ในวันที่ 17 มกราคม 2020 เพื่อค้นหาการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs ) ของ 'การกระตุ้นพฤติกรรม' หรือมีองค์ประกอบหลักของการกระตุ้นพฤติกรรมสำหรับภาวะซึมเศร้าในผู้เข้าร่วมวิจัยที่มีภาวะซึมเศร้าที่ได้รับการวินิจฉัยทางการแพทย์หรือมีภาวะซึมเศร้าที่ยังไม่เข้าเกณฑ์การวินิจฉัยโรค เราไม่มีข้อจำกัดการสืบค้นเกี่ยวกับวันที่ ภาษา หรือสถานะการตีพิมพ์ เราสืบค้นจากการลงทะเบียนการทดลองระหว่างประเทศผ่านพอร์ทัลการทดลองขององค์การอนามัยโลก (ICTRP) และ ClinicalTrials.gov เพื่อค้นหาการทดลองที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์หรือกำลังดำเนินอยู่
เราได้รวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) ของการกระตุ้นพฤติกรรมเพื่อรักษาภาวะซึมเศร้าหรืออาการของโรคซึมเศร้าในผู้ใหญ่ที่มีอายุ 18 ปีหรือมากกว่า เราไม่รวม RCT ที่ดำเนินการในผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยในและผู้เข้าร่วมการทดลองที่ถูกเลือกเนื่องจากมีปัญหาสุขภาพทางกายร่วม การศึกษานี้ได้รวมงานวิจัยโดยไม่คำนึงถึงผลลัพธ์ที่รายงาน
ผู้ทบทวนวรรณกรรม 2 คนทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นอิสระต่อกันในการทำการคัดกรองชื่อเรื่องและบทคัดย่อ และบทความฉบับเต็มตามเกณฑ์การคัดเข้า ผู้วิจัย 2 คนได้คัดเลือกงานวิจัย, ประเมินความเสี่ยงของการมีอคติ และคัดลอกข้อมูลอย่างเป็นอิสระต่อกัน เมื่อจำเป็นเราจะติดต่อผู้นิพนธ์บทความวิจัยเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม
รวม 53 การศึกษา ที่มีผู้เข้าร่วมวิจัย 5495 คน; RCT แบบ parallel group 51 การศึกษา และ cluster-RCTs 2 การศึกษา
เราพบหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นในระดับปานกลางว่าการกระตุ้นพฤติกรรมมีประสิทธิภาพในระยะสั้นมากกว่าการรักษาตามปกติ (อัตราส่วนความเสี่ยง (RR) 1.40, 95% ช่วงความเชื่อมั่น (CI) 1.10 ถึง 1.78; 7 RCTs, ผู้เข้าร่วม 1533 คน) แม้ว่าความแตกต่างนี้จะไม่เห็นได้ชัดในการวิเคราะห์ความไวโดยใช้สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดหรือการวิเคราะห์ตาม intention-to-treat scenario เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่มีรายชื่อรอการกระตุ้นพฤติกรรม กลุ่มที่ได้รับการกระตุ้นพฤติกรรมอาจมีประสิทธิผลมากกว่า แต่ในการเปรียบเทียบนี้ขนาดของกลุ่มตัวอย่างมีขนาดเล็กและหลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ (RR 2.14, 95% CI 0.90 ถึง 5.09; 1 RCT, 26 คน) ไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับประสิทธิผลในการรักษาสำหรับการกระตุ้นพฤติกรรมเปรียบเทียบกับยาหลอก และการกระตุ้นพฤติกรรมเปรียบเทียบกับไม่มีการรักษา
เราพบว่าหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นในระดับปานกลางบ่งชี้ว่าในการติดตามประเมินผลระยะสั้นไม่มีความแตกต่างในประสิทธิผลการรักษาระหว่างกลุ่มที่ได้รับการกระตุ้นพฤติกรรมและ กลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วย CBT (RR 0.99, 95% CI 0.92 ถึง 1.07; RCTs 5 เรื่อง, ผู้เข้าร่วมวิจัย 601 คน) ไม่มีข้อมูลสำหรับผลลัพธ์ที่สำคัญอื่น ๆ ไม่พบหลักฐานของความแตกต่างในประสิทธิภาพระยะสั้นระหว่างการกระตุ้นให้ทำพฤติกรรมและ การบำบัดด้วย CBT คลื่นลูกที่สาม (RR 1.10, 95% CI 0.91 ถึง 1.33; RCT 2 เรื่อง ผู้เข้าร่วมวิจัย 98 คน ความเชื่อถือได้อยู่ในระดับต่ำ) และการบำบัดทางจิตพลวัตร (RR 1.21, 95% CI 0.74 ถึง 1.99; RCT 1 เรื่อง, มีผู้เข้าร่วมวิจัย 60 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำมาก) การกระตุ้นให้ทำพฤติกรรมมีประสิทธิผลมากกว่าการบำบัดแบบมนุษยนิยม (RR 1.84, 95% CI 1.15 ถึง 2.95; RCT 2 เรื่อง, ผู้เข้าร่วมวิจัย 46 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ) และการรักษาด้วยยา (RR 1.77, 95% CI 1.14 ถึง 2.76; RCT 1 เรื่อง; ผู้เข้าร่วมวิจัย 141 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับปานกลาง) แต่ผลลัพธ์ทั้งสองนี้มาจากการทดลองและผู้เข้าร่วมจำนวนน้อย ไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับประสิทธิผลการรักษาด้วยวิธีการกระตุ้นพฤติกรรมเปรียบเทียบกับการได้รับการบำบัดแบบสัมพันธภาพบำบัด การวิเคราะห์การรู้คิด และการบำบัดแบบผสมผสาน
มีหลักฐานที่มีความเชื่อถือได้ในระดับปานกลางว่าการกระตุ้นพฤติกรรมอาจได้รับการยอมรับในการรักษาต่ำ (ใช้ข้อมูลจากอัตราการออกกลางคัน) กว่าการรักษาตามปกติในการประเมินระยะสั้น แม้ว่าข้อมูลจะไม่สนับสนุนความแตกต่างและผลลัพธ์เพราะข้อมูลขาดความแม่นยำ (RR 1.64, 95% CI 0.81 ถึง 3.31; RCTs 14 เรื่อง, ผู้เข้าร่วมวิจัย 2518 คน) หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นในระดับปานกลางไม่ได้แสดงให้เห็นความแตกต่างในการยอมรับรูปแบบการรักษาเมื่อประเมินผลในระยะสั้นระหว่างกลุ่มทดลองที่ได้รับการกระตุ้นพฤติกรรมกับกลุ่มที่มีรายชื่อรอการบำบัด (RR 1.17, 95% CI 0.70 ถึง 1.93; 8 RCTs ผู้เข้าร่วมวิจัย 359 คน) ไม่มีการรักษา (RR 0.97, 95% CI 0.45 ถึง 2.09; RCTs 3 เรื่อง, ผู้เข้าร่วมวิจัย 187 คน), การรักษาด้วยยา (RR 0.52, 95% CI 0.23 ถึง 1.16; RCTs 2 เรื่อง, ผู้เข้าร่วม วิจัย 243 คน) หรือกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (RR 0.72, 95 % CI 0.31 ถึง 1.67; RCT 1 เรื่อง; ผู้เข้าร่วมวิจัย 96 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ) สำหรับการกระตุ้นให้ทำพฤติกรรมเมื่อเปรียบเทียบกับการบำบัดทางจิตพลวัตรเราไม่พบหลักฐานเกี่ยวกับการยอมรับรูปแบบการรักษา
หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำไม่ได้แสดงให้เห็นความแตกต่างในการยอมรับรูปแบบการรักษาเมื่อประเมินผลระยะสั้น (ใช้อัตราการออกกลางคันเป็นข้อมูลประเมินผล) ระหว่างกลุ่มที่ได้รับการกระตุ้นพฤติกรรมเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับการบำบัดแบบ CBT (RR 1.03, 95% CI 0.85 ถึง 1.25; RCTs 12 เรื่อง, ผู้เข้าร่วมวิจัย 1195 คน), เปรียบเทียบกับ CBT คลื่นลูกที่สาม (RR 0.84, 95% CI 0.33 ถึง 2.10; RCTs 3 เรื่อง, ผู้เข้าร่วมวิจัย 147 คน); การบำบัดแบบมนุษยนิยม (RR 1.06, 95% CI 0.20 ถึง 5.55; RCTs 2 เรื่อง, ผู้เข้าร่วมวิจัย 96 คน) (หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำมาก) และสัมพันธภาพบำบัด การวิเคราะห์การรู้คิด และการบำบัดแบบผสมผสาน (RR 0.84, 95% CI 0.32 ถึง 2.20; RCTs 4 เรื่อง, ผู้ร่วมวิจัย 123 คน)
ผลการศึกษาจากการประเมินผลลัพธ์หลักในการติดตามประเมินผลระยะกลางและระยะยาว ผลลัพธ์รอง การวิเคราะห์กลุ่มย่อยและการวิเคราะห์ความไวต่อการเปลี่ยนแปลงได้สรุปไว้ในเนื้อหา
แปลโดย สมพร รุ่งเรืองกลกิจ ภาควิชาการพยาบาลจิตเวช คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 14 เมษายน 2021