คำถามของการทบทวนวรรณกรรม
อาหารเลี้ยงเชื้อที่มีปัจจัยการเจริญเติบโต GM-CSF (granulocyte macrophage colony-stimulated factor) ช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์และการเกิดมีชีพและลดความเสี่ยงต่อการแท้งบุตร การตั้งครรภ์แฝดสองหรือแฝดสาม การคลอดก่อนกำหนดความพิการของทารกแรกเกิด ปัญหาทางพันธุกรรมในทารกและการตายคลอดหรือไม่
ความเป็นมา
การปฏิสนธิภายนอกร่างกาย (IVF) และการผสมด้วยการฉีดเชื้ออสุจิเข้าภายในเซลล์ไข่ (ICSI) คือ กระบวนการที่นำเซลล์ไข่ของสตรีและน้ำเชื้อของผู้ชายมาผสมให้เกิดการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย ตัวอ่อนจะถูกวางไว้ในสารละลายที่เรียกว่า อาหารเลี้ยงเชื้อ เพื่อรองรับตัวอ่อนที่กำลังเติบโตจนกว่าจะสามารถใส่เข้าไปในมดลูกของสตรีได้ อาหารเลี้ยงเชื้อที่เสริมด้วย GM-CSF มีจำหน่ายทั่วไปในคลินิกและมักถูกเสนอเป็น 'ส่วนเสริม' ของรอบการปฏิสนธินอกร่างกาย (IVF) เพื่อพยายามปรับปรุงอัตราความสำเร็จของการรักษา การใช้อาหารเลี้ยงเชื้อที่เสริม GM-CSF สามารถทำให้เด็กหลอดแก้วมค่าใช้จ่ายที่แพงขึ้น
ลักษณะของการศึกษา
หลักฐานงานวิจัยเป็นปัจจุบัน ถึงเดือนตุลาคม 2019 เราได้ข้อมูลจาก 3 การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ (ประเภทของการศึกษาที่ผู้เข้าร่วมได้รับการสุ่มให้กับกลุ่มที่ได้รับการรักษาหนึ่งในสองกลุ่มขึ้นไป) ของสตรีที่มีบุตรยาก 1532 คนที่ได้รับการทำเด็กหลอดแก้วหรือการทำ ICSI ซึ่งเป็นรูปแบบเฉพาะของการทำเด็กหลอดแก้วโดยที่อสุจิถูกฉีดเข้าไปในไข่ เราเปรียบเทียบอาหารเลี้ยงตัวอ่อนที่เสริม GM-CSF กับอาหารเลี้ยงตัวอ่อนที่ไม่เสริมด้วย GM-CSF สำหรับผู้ที่รับการรักษาด้วยการช่วยการเจริญพันธ์
สิ่งที่พบจากการทบทวนวรรณกรรมคืออะไร
หลักฐานคุณภาพต่ำแสดงให้เห็นว่าเราไม่แน่ใจว่าอาหารเลี้ยงเชื้อที่มี GM-CSF ทำให้อัตราการเกิดมีชีพแตกต่างกันหรือไม่เมื่อเทียบกับการใช้อาหารเลี้ยงตัวอ่อนที่ไม่มี GM-CSF สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่า หากอัตราการเกิดมีชีพที่เกี่ยวข้องกับอาหารเลี้ยงเชื้อที่ไม่มี GM-CSF เท่ากับ 22% อัตราการเกิดโดยใช้อาหารเลี้ยงเชื้อที่มี GM-CSF จะอยู่ระหว่าง 21% ถึง 30% หลักฐานคุณภาพต่ำยังแสดงให้เห็นว่าเราไม่แน่ใจว่าอาหารเลี้ยงตัวอ่อนที่มี GM-CSF ทำให้อัตราการแท้งแตกต่างกันหรือไม่เมื่อเทียบกับการใช้อาหารเลี้ยงตัวอ่อนที่ไม่มี GM-CSF สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าหากอัตราการแท้งบุตรที่เกี่ยวข้องกับอาหารเลี้ยงตัวอ่อนที่ไม่มี GM-CSF เท่ากับ 4% อัตราการแท้งเมื่อใช้อาหารเลี้ยงเชื้อที่มี GM-CSF จะอยู่ระหว่าง 2% ถึง 5% หลักฐานคุณภาพต่ำสำหรับการตั้งครรภ์ ความพิการแต่กำเนิดและปัญหาทางพันธุกรรมของทารกและหลักฐานคุณภาพต่ำมากสำหรับการตั้งครรภ์แฝดหรือแฝดสามและการคลอดก่อนกำหนด แสดงให้เห็นว่าเราไม่แน่ใจว่าอาหารเลี้ยงตัวอ่อนที่มี GM-CSF สร้างความแตกต่างหรือไม่ ต่อผลลัพธ์เหล่านี้เมื่อเปรียบเทียบกับอาหารเลี้ยงตัวอ่อนที่ไม่มี GM-CSF สองการศึกษาดูที่การตายคลอด แต่เนื่องจากไม่มีการตายคลอดในการศึกษาใด ๆ เราจึงไม่สามารถวิเคราะห์ผลลัพธ์นี้ได้
ข้อสรุปโดยรวม
เนื่องจากคุณภาพของหลักฐานที่ต่ำถึงต่ำมากเราจึงไม่สามารถมั่นใจได้ว่า GM-CSF มีประสิทธิภาพหรือเป็นอันตรายมากหรือน้อยกว่าอาหารเลี้ยงตัวอ่อนที่ไม่ได้เสริมด้วย GM-CSF เป็นสิ่งสำคัญที่ข้อมูลที่เป็นอิสระเกี่ยวกับหลักฐานที่มีอยู่จะต้องสามารถเข้าถึงได้สำหรับผู้ที่พิจารณาใช้อาหารเลี้ยงตัวอ่อนที่เสริม GM-CSF ในระหว่างนี้จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มความแน่นอนของข้อสรุปของเรา
เนื่องจากคุณภาพของหลักฐานที่ต่ำถึงต่ำมาก เราจึงไม่สามารถมั่นใจได้ว่า GM-CSF มีประสิทธิภาพหรือเป็นอันตรายมากหรือน้อยกว่าอาหารเลี้ยงตัวอ่อนที่ไม่ได้เสริมด้วย GM-CSF เป็นสิ่งสำคัญที่ข้อมูลที่เป็นอิสระเกี่ยวกับหลักฐานที่มีอยู่จะต้องสามารถเข้าถึงได้สำหรับผู้ที่พิจารณาใช้อาหารเลี้ยงตัวอ่อนที่เสริม GM-CSF การอ้างอิงจากข้อมูลทางการตลาดว่า GM-CSF มีผลในเชิงบวกต่ออัตราการตั้งครรภ์นั้นไม่ได้รับการสนับสนุนจากหลักฐานที่มีอยู่ในขณะนี้ จำเป็นต้องมี RCT ที่ได้รับการออกแบบมาอย่างดีและมีจำนวนผู้เข้าร่วมอย่างเหมาะสมเพื่อให้หลักฐานมีความแน่นอน
GM-CSF (granulocyte macrophage colony-stimulated factor) เป็นปัจจัยการเจริญเติบโตที่ใช้เสริมอาหารเลี้ยงตัวอ่อนเพื่อปรับปรุงผลลัพธ์ทางคลินิกสำหรับผู้ที่ได้รับการช่วยการเจริญพันธ์ เป็นที่น่าสังเกตว่าการใช้อาหารเลี้ยงตัวอ่อนที่เสริม GM-CSF มักจะเพิ่มต้นทุนให้กับราคาของรอบการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) การทบทวนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินหลักฐานที่มีอยู่จากการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) เกี่ยวกับประสิทธิผลและความปลอดภัยของอาหารเลี้ยงตัวอ่อนที่เสริม GM-CSF
เพื่อประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยของอาหารเลี้ยงตัวอ่อนมนุษย์ที่เสริม GM-CSF เทียบกับอาหารเลี้ยงตัวอ่อนที่ไม่เสริมด้วย GM-CSF ในผู้หญิงหรือคู่สามีภรรยาที่ได้รับการการช่วยการเจริญพันธ์
เราใช้ระเบียบวิธีวิจัยมาตรฐานในการดำเนินการศึกษาตาม Cochrane เราค้นหา Cochrane Gynecology and Fertility Group Trials Register, CENTRAL, MEDLINE, Embase, CINAHL, LILACS, DARE, OpenGrey, PubMed, Google Scholar และการลงทะเบียนการทดลองสองรายการในวันที่ 15 ตุลาคม 2019 ตรวจสอบการอ้างอิงของเอกสารที่เกี่ยวข้องและสื่อสารกับผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้น
เราได้รวม RCT ที่เปรียบเทียบ GM-CSF (รวมถึง G-CSF (granulocyte colony-stimulating factor)) - อาหารเลี้ยงตัวอ่อนเสริมเทียบกับอาหารเลี้ยงตัวอ่อนที่ไม่เสริม GM-CSF อื่น ๆ (กลุ่มควบคุม) ในสตรีที่ได้รับการช่วยการเจริญพันธ์
เราใช้วิธีมาตรฐานตามคำแนะนำของ Cochrane ผลลัพธ์หลัก คือ การเกิดมีชีพ และการแท้งบุตร ผลลัพธ์รอง ได้แก่ การตั้งครรภ์ทางคลินิก การตั้งครรภ์แฝด การคลอดก่อนกำหนด ความผิดปกตแต่กำเนิด โครโมโซมผิดปกติและอัตราการตายคลอด เราได้ประเมินคุณภาพของหลักฐานที่ได้โดยวิธีการของเกรด (GRADE) เราเปรียบเทียบอาหารเลี้ยงตัวอ่อนที่เสริม GM-CSF กับอาหารเลี้ยงตัวอ่อนที่ไม่เสริมด้วย GM-CSF สำหรับผู้ที่รับการรักษาด้วยการช่วยการเจริญพันธ์
เราได้รวมการศึกษาไว้ 5 การศึกษา ซึ่งข้อมูลจาก 3 การศึกษา (ผู้เข้าร่วม 1532 คน) ได้รับการวิเคราะห์เมตต้า เราไม่แน่ใจว่าอาหารเลี้ยงตัวอ่อนที่เสริม GM-CSF จะสร้างความแตกต่างให้กับอัตราการเกิดมีชีพหรือไม่เมื่อเทียบกับการใช้อาหารเลี้ยงตัวอ่อนแบบเดิมที่ไม่เสริมด้วย GM-CSF (odds ratio (OR) 1.19, ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) 0.93 ถึง 1.52, 2 RCTs, N = 1432, I 2 = 69%, หลักฐานคุณภาพต่ำ) สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่า หากอัตราการเกิดมีชีพที่เกี่ยวข้องกับอาหารเลี้ยงตัวอ่อนที่ไม่มี GM-CSF เท่ากับ 22% อัตราการเกิดโดยใช้อาหารเลี้ยงตัวอ่อนที่มี GM-CSF จะอยู่ระหว่าง 21% ถึง 30%
เราไม่แน่ใจว่าอาหารเลี้ยงตัวอ่อนที่เสริม GM-CSF สร้างความแตกต่างให้กับอัตราการแท้งบุตรหรือไม่เมื่อเทียบกับการใช้อาหารเลี้ยงตัวอ่อนทั่วไปที่ไม่เสริมด้วย GM-CSF (OR 0.75, 95% CI 0.41 ถึง 1.36, 2 RCTs, N = 1432, I 2 = 0%, หลักฐานคุณภาพต่ำ) สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าหากอัตราการแท้งบุตรที่เกี่ยวข้องกับอาหารเลี้ยงตัวอ่อนที่ไม่มี GM-CSF เท่ากับ 4% อัตราการแท้งเมื่อใช้อาหารเลี้ยงตัวอ่อนที่มี GM-CSF จะอยู่ระหว่าง 2% ถึง 5%
นอกจากนี้เรายังไม่แน่ใจว่าอาหารเลี้ยงตัวอ่อนที่เสริม GM-CSF สร้างความแตกต่างกับผลลัพธ์ต่อไปนี้หรือไม่: การตั้งครรภ์ทางคลินิก (OR 1.16, 95% CI 0.93 ถึง 1.45, 3 RCTs, N = 1532 คน, I 2 = 67%, หลักฐานคุณภาพต่ำ); การตั้งครรภแฝด (OR 1.24, 95% CI 0.73 ถึง 2.10, 2 RCTs, N = 1432, I 2 = 35%, หลักฐานคุณภาพต่ำมาก); การคลอดก่อนกำหนด (OR 1.20, 95% CI 0.70 ถึง 2.04, 2 RCTs, N = 1432, I 2 = 76%, หลักฐานคุณภาพต่ำมาก); ความพิการแต่กำเนิด (OR 1.33, 95% CI 0.59 ถึง 3.01, I 2 = 0%, 2 RCTs, N = 1432, หลักฐานคุณภาพต่ำ); และ aneuploidy (OR 0.34, 95% CI 0.03 ถึง 3.26, I 2 = 0%, 2 RCTs, N = 1432, หลักฐานคุณภาพต่ำ) เราไม่สามารถทำการวิเคราะห์การตายคลอดได้เนื่องจากไม่มีเหตุการณ์ใด ๆ ในแขนทั้งสองของการศึกษาทั้งสองที่ประเมินผลลัพธ์นี้
แปลโดย นพ. เจน โสธรวิทย์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ 27 สิงหาคม 2020