เราได้ทบทวนวรรณกรรมระหว่างประเทศเกี่ยวกับการทดลองการรักษาทางเภสัชวิทยา (ยา) และผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ (อาหารเสริม) ซึ่งเป็นการทดลองการรักษาในภาคสนาม พบการทดลองทั้งหมด 7 รายการที่ตรงตามเกณฑ์การคัดเลือกของเรา มีหลักฐานเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับประโยชน์ของการรักษาทางยาหรือผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม มีการทดลองเพียงไม่กี่เรื่องและมีขนาดเล็ก ซึ่งหมายความว่าประโยชน์ที่เป็นไปได้ของการรักษาบางอย่างไม่สามารถที่จะตัดออกไปได้
ทำไมการทบทวนวรรณกรรมนี้จึงสำคัญ
การทำร้ายตัวเอง (SH) ซึ่งรวมถึงการใช้ยาเกินขนาดโดยเจตนาและการทำร้ายตัวเอง เป็นปัญหาสำคัญในหลายประเทศและมีความเชื่อมโยงอย่างมากกับการฆ่าตัวตาย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมีการพัฒนาการรักษาที่มีประสิทธิผลสำหรับผู้ป่วยที่ทำร้ายตัวเอง ในขณะที่มีการใช้วิธีการทางจิตสังคมสำหรับผู้ป่วยที่ทำร้ายตัวเองในผู้ใหญ่เพิ่มขึ้น (ซึ่งเป็นจุดสำคัญของการทบทวนวรรณกรรมแยกออกมาโดยเฉพาะ) การรักษาด้วยยามักใช้ในการปฏิบัติทางคลินิก ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องประเมินหลักฐานเชิงประจักษ์สำหรับประสิทธิผล
ใครที่จะมีความสนใจในการทบทวนวรรณกรรมนี้
ผู้บริหารโรงพยาบาล (เช่น ผู้ให้บริการ) เจ้าหน้าที่นโยบายสุขภาพ และผู้จ่ายเงินที่เป็นบุคคลภายนอก (เช่นผู้ประกันสุขภาพ) แพทย์ที่ทำงานกับผู้ป่วยที่มีประสบการณ์ทำร้ายตัวเอง ตัวผู้ป่วยเองและญาติ
การทบทวนวรรณกรรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตอบคำถามอะไร
การทบทวนนี้เป็นการปรับปรุงให้ทันสมัยของ Cochrane Review ก่อนหน้านี้จากปี 2015 ซึ่งพบหลักฐานเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับประโยชน์ของการรักษาด้วยยาต่อการทำร้ายตัวเองซ้ำ การทบทวนวรรณกรรมฉบับปัจจุบันนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อประเมินหลักฐานเพิ่มเติมสำหรับประสิทธิผลของยาและผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ สำหรับผู้ป่วยที่ทำร้ายตัวเอง โดยมีผลลัพธ์ที่หลากหลายรายการ
การศึกษาใดที่นำเข้าในการทบทวนวรรณกรรม
การจะรวมไว้ในการทบทวนวรรณกรรมนี้ การศึกษาจะต้องเป็นการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมศึกษาผลของการรักษาด้วยยาสำหรับผู้ใหญ่ที่เพิ่งทำร้ายตัวเอง
หลักฐานจากการทบทวนวรรณกรรมนี้บอกอะไรเราบ้าง
ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับประสิทธิผลของยารักษาอาการซึมเศร้า ยารักษาโรคจิต ยาที่ช่วยปรับอารมณ์หรือผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติในการป้องกันการเกิดการทำร้ายตัวเองซ้ำ
อะไรที่ควรจะศึกษาต่อไป
เราแนะนำให้มีการทดลองเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ยาสำหรับผู้ป่วยที่ทำร้ายตัวเอง โดยอาจใช้ร่วมกับการรักษาทางจิตใจ
เนื่องจากคุณภาพของหลักฐานที่มีอยู่ต่ำหรือต่ำมาก และการทดลองที่พบมีจำนวนน้อย มีเพียงหลักฐานที่ไม่แน่นอนเกี่ยวกับวิธีการรักษาด้วยยาในผู้ป่วยที่ทำร้ายตัวเอง จำเป็นต้องมีการทดลองเรื่องยาบำบัดจำนวนมากขึ้นและขนาดกลุ่มตัวอย่างที่ใหญ่ขึ้น โดยควรใช้ยารุ่นที่ใหม่กว่า สิ่งเหล่านี้อาจรวมถึงการประเมินยารักษาโรคจิตรุ่นใหม่ งานวิจัยเพิ่มเติมควรศึกษาถึงผลลัพธ์ไม่พึงประสงค์ของยา การวิจัยอื่น ๆ อาจรวมถึงการประเมินเภสัชบำบัดร่วมและการรักษาทางจิตวิทยา
การทำร้ายตัวเอง (SH; การทำร้ายตัวเองโดยเจตนา หรือการทำร้ายตัวเองโดยไม่คำนึงถึงระดับความตั้งใจฆ่าตัวตาย หรือแรงจูงใจประเภทอื่น ๆ) เป็นปัญหาที่เพิ่มมากขึ้นในหลายประเทศ มักเกิดซ้ำและเกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตาย ยังขาดหลักฐานที่ประเมินประสิทธิผลของยา และ/หรือ ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติในการรักษาผู้ป่วยที่ทำร้ายตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับหลักฐานของวิธีการบำบัดทางจิตสังคม การทบทวนวรรณกรรมนี้จึงปรับปรุง Cochrane Review ก่อนหน้า (เผยแพร่ล่าสุดในปี 2015) เกี่ยวกับบทบาทของวิธีการรักษาด้วยยาสำหรับผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่ที่ทำร้ายตัวเอง
เพื่อประเมินประสิทธิผลของยา หรือผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติสำหรับผู้ป่วยที่ทำร้ายตัวเอง เปรียบเทียบกับการรักษารูปแบบอื่นๆ (เช่นยาหลอกหรือการรักษาด้วยยาชนิดอื่น) สำหรับผู้ใหญ่ (อายุ 18 ปีขึ้นไป) ที่ทำร้ายตัวเอง
เราสืบค้น Cochrane Common Mental Disorders Specialized Register, Cochrane Library (Central Register of Controlled Trials [CENTRAL] และ Cochrane Database of Systematic Reviews [CDSR]) ร่วมกับ MEDLINE Ovid Embase และ PsycINFO (ถึง 4 กรกฎาคม 2020)
เราได้รวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) ทั้งหมดที่มีการเปรียบเทียบระหว่างยาหรือผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติกับยาหลอก / ยาอื่นในบุคคลที่เพิ่งผ่านประสบการณ์การทำร้ายตัวเอง (ภายใน 6 เดือนก่อนเข้าการทดลอง) ซึ่งส่งผลให้ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือรับบริการที่คลินิก ผลลัพธ์หลักคือการเกิดการทำร้ายตัวเองซ้ำ ในระยะเวลาติดตามผลนานสุด 2 ปี ผลลัพธ์รอง ได้แก่ การยอมรับการรักษา การปฏิบัติตัวตามแผนการรักษา ภาวะซึมเศร้า ภาวะสิ้นหวัง การทำหน้าที่ทั่วไป การทำหน้าที่ทางสังคม การคิดฆ่าตัวตาย และการฆ่าตัวตาย
เราเลือกการทดลอง คัดลอกข้อมูลและประเมินคุณภาพการทดลองโดยอิสระต่อกัน สำหรับผลลัพธ์แบบ binary เราคำนวณ odds ratio (ORs) และช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) สำหรับผลลัพธ์แบบต่อเนื่องเราคำนวณความแตกต่างของค่าเฉลี่ย (MD) หรือความแตกต่างของค่าเฉลี่ยมาตรฐาน (SMD) และ 95% CI เราประเมินความเชื่อมั่นโดยรวมของหลักฐานสำหรับผลลัพธ์หลัก (เช่นการทำซ้ำของการทำร้ายตัวเอง ในภายหลังการได้รับการรักษา) สำหรับการทดลองแต่ละอย่างโดยใช้วิธี GRADE
เรารวบรวมการทดลองได้ทั้งหมดจำนวน 7 รายการ มีผู้เข้าร่วมการศึกษาทั้งหมด 574 คน ผู้เข้าร่วมการทดลองเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (63.5%) อายุเฉลี่ย 35.3 ปี (ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) 3.1 ปี) ผลการทบทวนพบว่าไม่แน่ใจว่ายารุ่นใหม่ที่ใช้รักษาภาวะซึมเศร้าจะลดการทำซ้ำของการทำร้ายตัวเองเมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก (OR 0.59, 95% CI 0.29 ถึง 1.19; N = 129; k = 2; หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมาก) อาจมีอัตราการทำร้ายตัวเองซำ้น้อยกว่าสำหรับผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยยารักษาโรคจิต (21%) เมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก (75%) (OR 0.09, 95% CI 0.02 ถึง 0.50; N = 30; k = 1; หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำ) อย่างไรก็ตามไม่มีหลักฐานของความแตกต่างระหว่างยารักษาโรคจิตเมื่อเปรียบเทียบกับยาอื่นๆ/ หรือขนาดของยาที่ใช้เปรียบเทียบสำหรับผลลัพธ์การทำร้ายตัวเองซ้ำ (OR 1.51, 95% CI 0.50 ถึง 4.58; N = 53; k = 1; หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำ) นอกจากนี้ยังไม่มีหลักฐานของความแตกต่างของยาที่ใช้ปรับอารมณ์เมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอกสำหรับผลลัพธ์การทำร้ายตัวเองซ้ำ (OR 0.99, 95% CI 0.33 ถึง 2.95; N = 167; k = 1; หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมาก) หรือสำหรับผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติเมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอกสำหรับผลลัพธ์การทำร้ายตัวเองซ้ำ (หรือ 1.33, 95% CI 0.38 ถึง 4.62; N = 49; k = 1; หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำ)
แปลโดย สมพร รุ่งเรืองกลกิจ ภาควิชาการพยาบาลจิตเวช คณะพยาบาลศษสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 2 กรกฎาคม 2021