ใจความสำคัญ
• เราพบ 14 เครื่องมือที่ใช้ในคนวัยกลางคนเพื่อทำนายภาวะสมองเสื่อมในอนาคต
•การศึกษา 7 ฉบับ ทดสอบเครื่องมือทำนายที่ชื่อว่า Cardiovascular Risk Factors, Ageing และ Dementia (CAIDE)
• ประโยชน์ของการใช้เครื่องมือเหล่านี้ในการทำนายภาวะสมองเสื่อมในภายหลังยังไม่ชัดเจน เนื่องจากการศึกษาให้หลักฐานคุณภาพสูงเพียงเล็กน้อย
ภาวะสมองเสื่อมคืออะไร
ภาวะสมองเสื่อมหมายถึงกลุ่มอาการทางสมองที่มักมีผลต่อผู้สูงอายุและนำไปสู่ปัญหาที่เป็นมากขึ้นเรื่อยๆด้านความจำ การแก้ปัญหา หรือการดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ผู้ที่มีภาวะสุขภาพหรือพฤติกรรมบางอย่างในวัยกลางคน เช่น ความดันโลหิตสูง ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป สูบบุหรี่ ซึมเศร้า ออกกำลังกายน้อย หรือรับประทานอาหารไม่ดี มีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมในภายหลัง เราจัดประเภทภาวะสุขภาพหรือพฤติกรรมเหล่านี้เป็น 'ปัจจัยเสี่ยงที่ปรับเปลี่ยนได้' สำหรับภาวะสมองเสื่อม เนื่องจากมาตรการต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตสามารถลดสิ่งเหล่านี้ได้
เครื่องมือทำนายคืออะไร
เพื่อพัฒนาเครื่องมือทำนาย นักวิจัยสังเกตกลุ่มคนเป็นเวลาหลายปีเพื่อดูว่าคนที่มีมีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวมีคนจำนวนเท่าใดที่เป็นภาวะสมองเสื่อม เครื่องมือกำหนดคะแนนความเสี่ยงที่สูงขึ้นให้กับผู้ที่มีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมในภายหลัง โดยพิจารณาจากปัจจัยเสี่ยงที่มีหรือไม่มีในวัยกลางคน
เหตุใดเราจึงใช้เครื่องมือที่ประเมินปัจจัยเสี่ยงเพื่อทำนายภาวะสมองเสื่อมในอนาคต
ปัจจุบัน ประชากรประมาณ 50 ล้านคนทั่วโลกมีภาวะสมองเสื่อม และหากไม่มีมาตรการป้องกันที่เหมาะสม จำนวนดังกล่าวคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าภายในปี 2050 หากเราควบคุมปัจจัยเสี่ยงในวัยกลางคน เราอาจป้องกันหรือชะลอการเกิดภาวะสมองเสื่อมในอนาคตหรือลดความรุนแรงของภาวะสมองเสื่อมได้ เครื่องมือป้องกันช่วยเลือกคนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับโปรแกรมการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่มุ่งควบคุมปัจจัยเสี่ยง
เราต้องการค้นหาอะไร
เราต้องการทราบว่ามีเครื่องมือใดบ้างสำหรับผู้ใหญ่วัยกลางคน (อายุ 45 ถึง 65 ปี) และทำนายภาวะสมองเสื่อมในภายหลังได้ดีเพียงใด (อย่างน้อย 5 ปีหลังจากการประเมินครั้งแรก) เราค้นหาเครื่องมือที่รวมปัจจัยเสี่ยงที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าเชื่อมโยงกับการเกิดภาวะสมองเสื่อม
เราทำอะไร
เราค้นหาการศึกษาที่ประเมินเครื่องมือที่ใช้ในผู้ใหญ่วัยกลางคนเพื่อค้นหาผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะสมองเสื่อมในภายหลัง เราตรวจสอบว่าเครื่องมือเหล่านี้ทำนายภาวะสมองเสื่อมในอนาคตได้ดีเพียงใดโดยพิจารณาจากค่าความแม่นยำ หากค่าความแม่นยำมากกว่าค่ามาตรฐานที่แนะนำคือ 0.75 เราสามารถพูดได้ว่าเครื่องมือนี้มีความแม่นยำในการทำนายภาวะสมองเสื่อมในอนาคต สิ่งสำคัญคือต้องสามารถบอกได้ว่าเครื่องมือที่พัฒนาขึ้นในคนกลุ่มหนึ่ง (ในการศึกษาการพัฒนาเดิม) สามารถทำนายภาวะสมองเสื่อมในคนอีกกลุ่มหนึ่งได้อย่างแม่นยำ (ในการศึกษาตรวจสอบความถูกต้อง) จึงจะสามารถนำเครื่องมือนั้นไปใช้ในการปฏิบัติด้านการดูแลสุขภาพตามปกติได้ เราได้เปรียบเทียบและสรุปผลการศึกษา
เราพบอะไร
เราพบการศึกษา 20 ฉบับ ที่อธิบายถึง 14 เครื่องมือที่แตกต่างกันสำหรับการทำนายภาวะสมองเสื่อม เครื่องมือรวมระหว่าง 2 ถึง 11 ปัจจัยเสี่ยงที่แก้ไขได้สำหรับภาวะสมองเสื่อม เครื่องมือ 7 รายการที่นำเสนอในการศึกษา 2 ฉบับขึ้นไปและได้รับการพิจารณาว่าผ่านการตรวจสอบแล้ว การศึกษา 7 ฉบับใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Cardiovascular Risk Factors, Ageing และ Dementia (CAIDE) เครื่องมือ CAIDE รวมค่าปัจจุบันของความดันโลหิต น้ำหนักและส่วนสูง ระดับคอเลสเตอรอล และความถี่ของการออกกำลังกาย เพื่อทำนายภาวะสมองเสื่อมในอนาคต ค่าความแม่นยำรวมของการศึกษาทั้งหมดคือ 0.71 ซึ่งไม่สูงพอที่เราจะถือว่า CAIDE เป็นเครื่องมือที่เชื่อถือได้สำหรับการทำนายภาวะสมองเสื่อมในอนาคต
ข้อจำกัด ของหลักฐานคืออะไร
เครื่องมือจำนวนครึ่งหนึ่ง (7) ถูกใช้ในการศึกษาเดียว ดังนั้นเราจึงไม่สามารถวัดได้ว่าเครื่องมือเหล่านี้ทำนายภาวะสมองเสื่อมในอนาคตได้ดีเพียงใด การศึกษาส่วนใหญ่ให้ข้อมูลน้อยเกินไปสำหรับเราในการประเมินค่าความแม่นยำ
หลักฐานนี้เป็นปัจจุบันแค่ไหน
หลักฐานเป็นปัจจุบันถึงเดือนมิถุนายน 2022
เราพบ 14 แบบจำลองการพยากรณ์โรคหลายโดเมนที่ไม่ซ้ำกัน ที่ใช้ในผู้ใหญ่วัยกลางคนเพื่อทำนายภาวะสมองเสื่อมที่ตามมา โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน และการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ที่พบมากที่สุดซึ่งใช้เป็นตัวทำนายในแบบจำลอง เราทำ meta-analyses ของ C-statistics สำหรับ 1 โมเดล (CAIDE) แต่ค่าสรุปไม่น่าเชื่อถือ เนื่องจากขาดข้อมูล เราจึงไม่สามารถทำ meta-analyses ของ มาตรวัดการสอบเทียบของ CAIDE ได้ การทบทวนวรรณกรรมนี้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการตรวจสอบภายนอกที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นของแบบจำลองการพยากรณ์โรคแบบหลายโดเมนสำหรับการทำนายความเสี่ยงในอนาคตของภาวะสมองเสื่อมในผู้ใหญ่วัยกลางคน
โรคสมองเสื่อมซึ่งมีความสำคัญด้านสุขภาพทั่วโลก ยังไม่มีวิธีรักษาในปัจจุบัน ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมประมาณ 50 ล้านคนทั่วโลก และคาดว่าจำนวนนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าภายในปี 2050 ภาวะสุขภาพและพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่างสามารถเพิ่มหรือลดความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมได้ และเป็นที่รู้จักกันว่าเป็น 'ตัวทำนาย' แบบจำลองการพยากรณ์จะรวมเอาตัวทำนายดังกล่าวเพื่อวัดความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมในอนาคต แบบจำลองที่สามารถทำนายภาวะสมองเสื่อมในอนาคตได้อย่างแม่นยำจะช่วยให้แพทย์เลือกผู้ใหญ่วัยกลางคนที่มีความเสี่ยงสูงและดำเนินการลดความเสี่ยงตามเป้าหมาย
วัตถุประสงค์หลักของเราคือการหาแบบจำลองการพยากรณ์โรคหลายโดเมนที่ใช้ในผู้ใหญ่วัยกลางคน (อายุ 45 ถึง 65 ปี) เพื่อทำนายภาวะสมองเสื่อมหรือความบกพร่องทางสติปัญญา แบบจำลองการพยากรณ์โรคหลายโดเมนที่เข้าเกณฑ์ต้องเกี่ยวข้องกับตัวทำนายภาวะสมองเสื่อมที่ปรับเปลี่ยนได้สองตัวหรือมากกว่าที่พบในรายงานของ Lancet Commission ในปี 2020 และรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ปี 2019 (การศึกษาน้อย สูญเสียการได้ยิน การบาดเจ็บที่สมอง ความดันโลหิตสูง การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป โรคอ้วน การสูบบุหรี่ ภาวะซึมเศร้า ความโดดเดี่ยวทางสังคม การไม่ออกกำลังกาย โรคเบาหวาน มลพิษทางอากาศ การรับประทานอาหารที่ไม่ดี และความเฉื่อยชาทางสติปัญญา) วัตถุประสงค์รองของเราคือการสรุปแบบจำลองการพยากรณ์โรค เพื่อประเมินความแม่นยำในการพยากรณ์ (การคัดแยกและการสอบเทียบ) ตามที่รายงานในการศึกษาการพัฒนาและการตรวจสอบความถูกต้อง และเพื่อหาความหมายของการใช้แบบจำลองการพยากรณ์โรคสมองเสื่อมสำหรับการจัดการผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะสมองเสื่อมในอนาคต
เราสืบค้นใน MEDLINE, Embase, PsycINFO, CINAHL และ ISI Web of Science Core Collection ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงวันที่ 6 มิถุนายน 2022 เราทำการติดตามการอ้างอิงไปข้างหน้าและข้างหลังของการศึกษาที่รวบรวมไว้โดยใช้ Web of Science platform
เรารวมการศึกษาการพัฒนาและการตรวจสอบความถูกต้องของแบบจำลองการพยากรณ์โรคแบบหลายโดเมน การติดตามขั้นต่ำที่เข้าเกณฑ์คือ 5 ปี ผลลัพธ์หลักของเราคือการวินิจฉัยทางคลินิกของเหตุการณ์ภาวะสมองเสื่อมตามเกณฑ์การวินิจฉัยที่ตรวจสอบได้ และผลลัพธ์รองของเราคือภาวะสมองเสื่อมหรือความบกพร่องทางสติปัญญาซึ่งกำหนดโดยวิธีอื่นใด
ผู้ประพันธ์การทบทวนวรรณกรรม 2 คน คัดกรองเอกสารอ้างอิง คัดลอกข้อมูลโดยใช้แม่แบบจาก CHecklist สำหรับการประเมินที่สำคัญ และการคัดลอกข้อมูลเพื่อการทบทวนการศึกษาแบบจำลองการทำนายอย่างเป็นระบบ (CHARMS)); และประเมินความเสี่ยงของอคติและการนำผลมาใช้งานได้ ของการศึกษาที่รวมไว้ โดยใช้แบบจำลองการทำนาย Risk Of Bias ASsessment Tool (PROBAST)) โดยอิสระต่อกัน เราสังเคราะห์ C-statistics ของแบบจำลองที่ได้รับการตรวจสอบจากภายนอกในการศึกษาเปรียบเทียบอย่างน้อย 3 รายการ
เราพบการศึกษาที่เข้าเกณฑ์ 20 ฉบับ; 8 ฉบับเป็นการศึกษาการพัฒนาและ 12 ฉบับเป็นการศึกษาการตรวจสอบความถูกต้อง มีแบบจำลองการพยากรณ์โรคที่ไม่ซ้ำกัน 14 แบบ: แบบจำลอง 7 แบบที่มีการศึกษาเพื่อการตรวจสอบ และ 7 แบบที่มีการศึกษาเพื่อการพัฒนาเท่านั้น แบบจำลองมีค่ามัธยฐานของตัวทำนาย 9 ตัว (ช่วง 6 ถึง 34); จำนวนค่ามัธยฐานของตัวทำนายที่ปรับแก้ได้คือ 5 ตัว (ช่วง 2 ถึง 11) ตัวทำนายที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ที่พบได้บ่อยที่สุดในแบบจำลองที่ได้รับการตรวจสอบจากภายนอก ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่ การออกกำลังกาย และโรคอ้วน ในแบบจำลองที่ทำเฉพาะการพัฒนาเท่านั้น ตัวทำนายที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ที่พบมากที่สุด ได้แก่ โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และการสูบบุหรี่ ไม่มีแบบจำลองที่รวมการสูญเสียการได้ยินหรือมลพิษทางอากาศเป็นตัวทำนาย การศึกษา 19 ฉบับ มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอคติตามการประเมินของ PROBAST สาเหตุหลักมาจากวิธีการวิเคราะห์ที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดการรายงานการวัดผลการสอบเทียบ ความกังวลเกี่ยวกับการนำไปใช้อยู่ในระดับต่ำสำหรับการศึกษา 12 ฉบับ เนื่องจากประชากร ตัวทำนาย และผลลัพธ์สอดคล้องกับความสนใจสำหรับการทบทวนวรรณกรรมนี้ ความกังวลในการนำไปใช้มีสูงสำหรับการศึกษา 9 ฉบับ เนื่องจากขาดการคัดกรองความรู้ความเข้าใจพื้นฐานหรือไม่รวมกลุ่มอายุที่อยู่ในช่วง 45 ถึง 65 ปี
มีเพียงแบบจำลองเดียวคือ ปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด อายุมาก และภาวะสมองเสื่อม (CAIDE) เท่านั้นที่ได้รับการตรวจสอบจากภายนอกในการศึกษาหลายชิ้น ทำให้สามารถทำ meta-analysis ได้ แบบจำลอง CAIDE ประกอบด้วย 8 ตัวทำนาย (4 ตัวทำนายที่ปรับเปลี่ยนได้): อายุ การศึกษา เพศ ความดันโลหิตซิสโตลิก ดัชนีมวลกาย (BMI) คอเลสเตอรอลรวม กิจกรรมทางกาย และสถานะ APOEƐ4 โดยรวมแล้ว ความเชื่อมั่นในความแม่นยำในการทำนายของ CAIDE อยู่ในระดับต่ำมาก เหตุผลหลักในการลดระดับความเชื่อมั่นของหลักฐานคือมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอคติในการศึกษาทั้งหมด ความกังวลสูงในการนำไปใช้ ช่วงความเชื่อมั่นที่ไม่ทับซ้อนกัน (CIs) และความแตกต่างในระดับสูง
C-statistic สรุปคือ 0.71 (95% CI 0.66 ถึง 0.76; การศึกษา 3 ฉบับ; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) สำหรับการวินิจฉัยทางคลินิกของภาวะสมองเสื่อมที่เกิดขึ้น และ 0.67 (95% CI 0.61 ถึง 0.73; การศึกษา 3 ฉบับ; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก ) สำหรับภาวะสมองเสื่อมหรือความบกพร่องทางสติปัญญาโดยพิจารณาจากคะแนนความรู้ความเข้าใจ Meta-analysis ของการวัดการสอบเทียบไม่สามารถทำได้ เนื่องจากมีการศึกษาเพียงไม่กี่ชิ้นที่ให้ข้อมูลเหล่านี้
แปลโดย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 17 มิถุนายน 2023 Edit โดย ผกากรอง 28 กันยายน 2023