วัตถุประสงค์ของการทบทวน
วัตถุประสงค์ของ Cochrane review นี้ ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในปี1999 เพื่อสรุปงานวิจัยที่ศึกษาผลของการสร้างภูมิคุ้มกันในผู้ใหญ่สุขภาพแข็งแรงที่ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ในช่วงฤดูกาลของไข้หวัดใหญ่ เราใช้ข้อมูลจากการทดลองแบบสุ่มที่เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่กับกลุ่มที่ได้รับวัคซีนหลอกหรือไม่ให้อะไรเลย เรามุ่งความสนใจที่ผลการศึกษาเกี่ยวกับวัคซีนไวรัสไข้หวัดใหญ่แบบเชื้อตาย (inactivated influenza viruses) ซึ่งได้รับการพัฒนาโดยการฆ่าไวรัสไข้หวัดใหญ่ด้วยสารเคมี และให้โดยการฉีดผ่านผิวหนัง เราประเมินผลของวัคซีนต่อการลดลงของจำนวนของผู้ใหญ่ที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นโรคไข้หวัดใหญ่และจำนวนผู้ใหญ่ที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น ปวดศีรษะ อุณหภูมิสูง ไอ ปวดกล้ามเนื้อมัดใหญ่ (influenza-like illness, หรือ ILI) นอกจากนี้เรายังประเมินการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและอันตรายที่เกิดจากวัคซีน ข้อมูลเชิงสังเกตที่อยู่ในการทบทวนฉบับก่อนหน้านี้ยังคงถูกเก็บไว้ด้วยเหตุผลทางประวัติ แต่ไม่ได้รับการปรับปรุงใหม่เนื่องจากไม่มีผลต่อบทสรุปของการทบทวนนี้
การทบทวนวรรณกรรมนี้ศึกษาอะไร
ไวรัสมากกว่า 200 ชนิดทำให้เกิด ILI ซึ่งมีอาการเหมือนกับโรคไข้หวัดใหญ่ (ไข้ ปวดศีรษะ เจ็บปวด ไอ และน้ำมูก) หากไม่ได้ตรวจทางห้องปฏิบัติการ แพทย์จะไม่สามารถแยกระหว่าง ILI กับไข้หวัดใหญ่ได้เลย เนื่องจากทั้งสองอย่างจะมีอาการอยู่นานหลายวัน และไม่ค่อยทำให้เกิดการเจ็บป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิต ชนิดของไวรัสที่มีอยู่ในวัคซีนไข้หวัดใหญ่มักจะต้องเป็นเชื้อที่คาดว่าจะพบตามฤดูกาลของไข้หวัดใหญ่ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (วัคซีนตามฤดูกาล) ส่วนวัคซีนสำหรับการระบาดใหญ่ (pandemic vaccine) ประกอบด้วยไวรัสเฉพาะสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดการระบาด (เช่นชนิด A H1N1 สำหรับการระบาดในปี 2009 ถึง2010)
ผลการศึกษาหลัก
เราพบการศึกษาทางคลินิก 52 เรื่องในผู้ใหญ่มากกว่า 80,000 คน จากการศึกษาที่รวบรวมมา 70% เราไม่สามารถประเมินผลกระทบจากอคติได้ เนื่องจากการรายงานมีรายละเอียดที่ไม่เพียงพอ ประมาณ 15% ของการศึกษาที่รวบรวมมา ได้รับการออกแบบและดำเนินการเป็นอย่างดี เราเน้นศึกษาการรายงานผลลัพธ์จากการศึกษา 25 เรื่องที่ศึกษาเกี่ยวกับวัคซีนเชื้อตาย (inactivated vaccines) การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่อาจมีผลในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และ ILI ได้เล็กน้อย (หลักฐานมีความเชื่อมั่นปานกลาง) มีจำนวน 71 คนที่จะต้องได้รับวัคซีนเพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นโรคไข้หวัดใหญ่หนึ่งคน และ 29 คน ที่จะต้องได้รับวัคซีนเพื่อหลีกเลี่ยงการเป็น ILI หนึ่งคน การฉีดวัคซีนอาจช่วยลดเล็กน้อยหรืออาจจะไม่ช่วยลดระยะเวลาการอยู่โรงพยาบาล (หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) หรือลดจำนวนวันทำงานที่สูญเสียไปได้เล็กน้อย
เราไม่แน่ใจเกี่ยวกับการป้องกันของสตรีตั้งครรภ์ต่อ ILI และโรคไข้หวัดใหญ่ด้วยวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่แบบเชื้อตาย หรืออย่างน้อยก็มีข้อจำกัดมาก
การบริหารจัดการเกี่ยวกับการให้วัคซีนตามฤดูกาลในระหว่างตั้งครรภ์ไม่มีผลต่อการแท้งหรือการเสียชีวิตของทารก แต่เป็นหลักฐานเชิงสังเกต
ใจความสำคัญ
วัคซีนเชื้อตายสามารถลดการป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่และ ILI ของผู้ใหญ่สุขภาพแข็งแรง (รวมทั้งสตรีตั้งครรภ์) แต่ก็ช่วยลดได้แค่พอประมาณเท่านั้น ผลของวัคซีนเชื้อตายต่อการสูญเสียวันทำงาน หรือผลต่อภาวะแทรกซ้อนรุนแรงของโรคไข้หวัดใหญ่ในช่วงฤดูกาลของโรคไข้หวัดใหญ่ ยังไม่ค่อยแน่ชัดนัก
การปรับปรุงของการทบทวนนี้
หลักฐานเป็นปัจจุบันถึง 31 ธันวาคม 2016
ผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรงที่ได้รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แบบเชื้อตาย อาจมีโรคไข้หวัดใหญ่ลดลงจากเพียง 2% เหลือเพียง 1% (หลักฐานมีเชื่อมั่นระดับปานกลาง) เทียบกับการไม่ได้รับวัคซีน นอกจากนี้พวกเขายังอาจพบ ILI น้อยลงหลังจากการได้รับวัคซีน แต่ระดับของผลประโยชน์เมื่อแสดงออกชัดเจนในลักษณะสัมบูรณ์ (absolute terms) แตกต่างกันตามความต่างของสถานที่ ความผันแปรในการป้องกันจาก ILI อาจเนื่องมาจากส่วนของการจำแนกอาการที่ไม่สอดคล้องกัน ความเชื่อมั่นของหลักฐานที่ว่าช่วยลดระยะเวลาอยู่รักษาในโรงพยาบาลและเวลาที่หยุดงานลงเพียงเล็กน้อย อยู่ในระดับต่ำ การป้องกันจากโรคไข้หวัดใหญ่และ ILI ในมารดาและเด็กแรกเกิดน้อยกว่าผลที่พบในประชากรกลุ่มอื่นที่พิจารณาในการทบทวนนี้
วัคซีนเพิ่มความเสี่ยงของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จำนวนมาก รวมถึงการเพิ่มขึ้นเล็กน้อยของการเป็นไข้ แต่อัตราการเกิดการคลื่นไส้และอาเจียนไม่แน่นนอน ผลการป้องกันของการให้วัคซีนแก่สตรีตั้งครรภ์และเด็กแรกเกิด มีผลค่อนข้างน้อยมากๆ เราไม่พบหลักฐานใดๆ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการให้วัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงในการศึกษาเชิงเปรียบเทียบที่พิจารณาในการทบทวนนี้ การศึกษาแบบ RCTs ที่นำเข้า 15 เรื่องได้รับทุนสนับสนุนจากภาคอุตสาหกรรม (29%)
ผลที่ตามมาของการเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ในผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการหยุดงาน การให้วัคซีนแก่สตรีตั้งครรภ์เป็นที่แนะนำในระดับสากล การทบทวนนี้เป็นการปรับให้ทันสมัยจากการการทบทวนที่เผยแพร่ในปี 2014 การปรับให้ทันสมัยในอนาคตของการทบทวนนี้จะทำเฉพาะเมื่อมีการศึกษาใหม่หรือมีวัคซีนชนิดใหม่ ข้อมูลเชิงสังเกตที่อยู่ในการทบทวนฉบับก่อนหน้านี้ยังคงถูกเก็บไว้ด้วยเหตุผลทางประวัติ แต่ไม่ได้รับการปรับปรุงใหม่เนื่องจากไม่มีผลต่อบทสรุปของการทบทวนนี้
การประเมินผล (ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และอันตราย) ของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในผู้ใหญ่สุขภาพแข็งแรง รวมทั้งสตรีตั้งครรภ์
เราสืบค้นจาก the Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL; 2016, Issue 12), MEDLINE (มกราคม 1966 ถึง 31 ธันวาคม 2016), Embase (1990 ถึง 31 ธันวาคม 2016), the WHO International Clinical Trials Registry Platform (ICTRP; 1 กรกฎาคม 2017), และ ClinicalTrials.gov (1 กรกฎาคม 2017) รวมทั้งตรวจสอบบรรณานุกรมของบทความที่ได้มา
Randomised controlled trials (RCTs) หรือ quasi-RCTs เปรียบเทียบวัคซีนไข้หวัดใหญ่กับยาหลอกหรือไม่ได้ให้ยาอะไรเลย ต่อการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่ตามธรรมชาติในบุคคลที่มีสุขภาพแข็งแรงอายุ 16 ถึง 65 ปี การทบทวนฉบับก่อนหน้าของการทบทวนนี้ได้รวมการศึกษาโดยการสังเกตเชิงเปรียบเทียบที่ประเมินผลกระทบที่รุนแรงและอันตรายที่ไม่ค่อยพบ ที่เป็นการศึกษาแบบ cohort และการศึกษาแบบ case-control เนื่องจากการศึกษาเชิงสังเกตมีคุณภาพไม่แน่นอน (เช่น ไม่ได้มีการสุ่ม) และไม่มีผลต่อบทสรุปของการทบทวน เราจึงตัดสินใจปรับปรุงเฉพาะหลักฐานจากการศึกษาที่มีการสุ่มเท่านั้น การสืบค้นสำหรับการศึกษาโดยการสังเกตเชิงเปรียบเทียบจะไม่ได้รับการปรับให้ทันสมัยต่อไป
ผู้ทบทวนสองคน ประเมินคุณภาพของการศึกษาและดึงข้อมูลอย่างอิสระต่อกัน เราได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือของหลักฐานสำหรับผลลัพธ์สำคัญ (โรคไข้หวัดใหญ่ มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ (ILI) ระยะเวลาอยู่โรงพยาบาล และเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์) โดยใช้ GRADE
เรารวบรวมการทดลองทางคลินิก 52 เรื่อง ผู้เข้าร่วมกว่า 80,000 คน เพื่อประเมินความปลอดภัยและประสิทธิผลของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เราได้นำเสนอผลการวิจัยจาก 25 เรื่อง เปรียบเทียบการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แบบเชื้อตาย (inactivated parenteral influenza vaccine) เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ได้รับยาหลอกหรือกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับอะไรเลย ซึ่งมีผลกับการตัดสินใจมากที่สุด การศึกษาได้ดำเนินการตลอดทุกฤดูกาลของโรคไข้หวัดใหญ่ในอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ และยุโรประหว่างปี 1969 ถึง 2009 เราไม่ได้พิจารณาการศึกษาที่มีความเสี่ยงของการเกิดอคติสูงที่จะมีอิทธิพลต่อผลลัพธ์การศึกษาของเรา ยกเว้นผลลัพธ์ที่เป็นระยะเวลาอยู่โรงพยาบาล
วัคซีนไข้หวัดใหญ่แบบเชื้อตายอาจลดการเป็นไข้หวัดใหญ่ในผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรงได้จาก 2.3% เป็น 0.9% (risk ratio (RR) 0.41, 95% CI 0.36 ถึง 0.47; ผู้เข้าร่วม 71,221 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับปานกลาง) และอาจลด ILI จาก 21.5% เป็น 18.1% (RR 0.84, 95% CI 0.75 ถึง 0.95; ผู้เข้าร่วม 25,795 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับปานกลาง; ผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรง 71 คนจำเป็นต้องได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันหนึ่งในพวกเขาจากการเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ และผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรง 29 คน จำเป็นต้องได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันหนึ่งในพวกเขาจากการเป็น ILI) ความแตกต่างระหว่างสองจำนวนที่จำเป็นต้องได้รับวัคซีน (NNV) ขึ้นอยู่กับอุบัติการณ์ที่แตกต่างกันของ ILI และไข้หวัดใหญ่ที่ได้รับการยืนยันในประชากรที่ศึกษา การให้วัคซีนอาจลดความเสี่ยงในการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลในผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรงได้เล็กน้อยจาก 14.7% เป็น 14.1% แต่ช่วงเชื่อมั่นกว้างและไม่เป็นประโยชน์มากนัก (RR 0.96, 95% CI 0.85 ถึง 1.08; ผู้เข้าร่วม 11,924 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) วัคซีนอาจช่วยลดจำนวนการสูญเสียวันทำงานได้เล็กน้อยหรือไม่ได้เลย (-0.04 วัน, 95% CI -0.14 วัน ถึง 0.06 วัน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) วัคซีนเชื้อตายทำให้การเป็นไข้เพิ่มขึ้นจาก 1.5% เป็น 2.3%
เราพบการศึกษาที่เป็น RCT หนึ่งเรื่อง และ controlled clinical trial หนึ่งเรื่อง ที่ประเมินผลของการให้วัคซีนในสตรีตั้งครรภ์ ประสิทธิภาพของวัคซีนเชื้อตายที่ประกอบด้วย pH1N1 ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ 50% (95% CI 14% ถึง 71%) ในมารดา (NNV 55) และ 49% (95% CI 12% ถึง 70%) ในทารกจนถึง 24 สัปดาห์ (NNV 56) ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลในระหว่างตั้งครรภ์ หลักฐานจากการศึกษาเชิงสังเกตพบว่าประสิทธิผลของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ป้องกัน ILI ในสตรีตั้งครรภ์ได้ 24% (95% CI 11% ถึง 36%, NNV 94) และป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในเด็กแรกเกิดจากการที่มารดาได้รับวัคซีนเป็น 41% (95% CI 6% ถึง 63%, NNV 27)
วัคซีนเชื้อเป็นแบบฉีดพ่น (Live aerosol vaccines) มีประสิทธิผลโดยรวมสอดคล้องกับจำนวนที่ต้องได้รับวัคซีน (NNV) 46 คน ประสิทธิภาพของการให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด whole-virion ด้วยปริมาณยาหนึ่งหรือสอง whole-virion ในฤดูการระบาดปี 1968 ถึง 1969 มีประสิทธิภาพสูงกว่า (NNV 16) ในการป้องกัน ILI และ (NNV 35) ในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ มีผลกระทบที่จำกัดต่อระยะเวลาอยู่โรงพยาบาลในปี 1968 ถึง 1969 เนื่องจากมีการระบาดใหญ่ (NNV 94) การบริหารจัดการเกี่ยวกับการให้วัคซีนทั้งตามฤดูกาล และให้ในฤดูการระบาดปี 2009 ในระหว่างการตั้งครรภ์ไม่มีผลต่อการแท้งหรือการเสียชีวิตของทารก แต่ข้อมูลนี้อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลเชิงสังเกต
แปลโดย