การฉีดเชื้อผสมเทียมสำหรับภาวะมีบุตรยากที่ไม่ทราบสาเหตุ

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม

การรักษาด้วยการฉีดเชื้อผสมเทียม (Intra-uterine insemination; IUI) โดยใช้หรือไม่ใช้ยาร่วมด้วย, เปรียบเทียบกับการมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลาหรือการเฝ้าติดตาม (expectant management) โดยใช้หรือไม่ใช้ยาร่วมด้วย, หรือ การรักษาด้วยการฉีดเชื้อผสมเทียม โดยใช้ยาร่วมด้วย เปรียบเทียบกับ การฉีดเชื้อผสมเทียมโดยไม่ใช้ยา จะเพิ่มอัตราการเกิดมีชีพ ในคู่สมรสที่มีภาวะมีบุตรยากที่ไม่ทราบสาเหตุ ได้หรือไม่ ?

ที่มาและความสำคัญของปัญหา

IUI เป็นวิธีการรักษาที่มักใช้กับคู่สมรสที่มีภาวะมีบุตรยากที่ไม่ทราบสาเหตุ ในขั้นตอนการทำ IUI อสุจิของฝ่ายชายจะถูกเตรียมและฉีดเข้าไปยังโพรงมดลูกโดยตรงในช่วงเวลาของการตกไข่ การทำ IUI สามารถใช้ร่วมกับยาเพื่อเพิ่มจำนวนไขในรอบนั้นๆได้ อย่างไรก็ตาม ยาเหล่านี้อาจมีผลข้างเคียงและยังเพิ่มความเสี่ยงของการตั้งครรภ์แฝด การเฝ้าติดตาม (expectant management) และการมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลา พบว่าสามารถเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ และการเกิดมีชีพได้เช่นกัน ในการทบทวนนี้ เราต้องการที่จะช่วยการตัดสินใจสำหรับคู่สมรสที่เริ่มการรักษาภาวะมีบุตรยากที่ไม่ทราบสาเหตุ

ลักษณะของการศึกษา

พบการศึกษาแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ 15 การศึกษา ในสตรี 2068 คน สตรีที่ได้รับการรักษาด้วย IUI โดยใช้หรือไม่ใช้ยาร่วมด้วย ได้รับการเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ให้มีเพศสัมพันธ์เองตามกำหนดเวลา หรือการเฝ้าติดตามโดยใช้หรือไม่ใช้ยาร่วมด้วย, หรือสตรีที่ได้รับการรักษาด้วย IUI โดยใช้ยาร่วมด้วยเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วย IUI โดยไม่ใช้ยา ผลลัพธ์หลักที่ต้องการศึกษาคืออัตราการเกิดมีชีพและอัตราการตั้งครรภ์แฝด ผลลัพธ์อื่นๆที่ศึกษา ได้แก่ อัตราการตั้งครรภ์, อัตราการแท้งบุตร และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์อื่นๆ หลักฐานงานวิจัยเป็นปัจจุบัน ถึงเดือนตุลาคม 2019

ผลการศึกษาที่สำคัญ

สำหรับกลุ่มการรักษาส่วนใหญ่, ผลการศึกษาไม่ชัดเจนว่าการรักษาด้วยวิธีการ IUI ประเภทใดก็ตาม ช่วยเพิ่มอัตราการเกิดมีชีพแบบสะสม (เช่นอัตราเมื่อสิ้นสุดรอบของการรักษา) โดยมีอัตราการตั้งครรภ์แฝดที่ยอมรับได้หรือไม่ เมื่อเทียบกับการรักษาแบบอื่น อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานที่มีคุณภาพปานกลางว่าในคู่สมรสที่มีโอกาสตั้งครรภ์เองตามธรรมชาติต่ำนั้น การรักษาด้วย IUI ร่วมกับการใช้ยารักษาภาวะเจริญพันธุ์อาจช่วยเพิ่มอัตราการเกิดมีชีพแบบสะสมเมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาด้วยการเฝ้าติดตาม และมีหลักฐานที่มีคุณภาพปานกลางว่าการรักษาด้วย IUI อาจช่วยเพิ่มอัตราการเกิดมีชีพแบบสะสมเมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาด้วยการเฝ้าติดตามร่วมกับการใช้ยารักษาภาวะเจริญพันธุ์

คุณภาพของหลักฐาน

หลักฐานดังกล่าวมีคุณภาพต่ำถึงปานกลางสำหรับผลลัพธ์การเกิดมีชีพแบบสะสมและคุณภาพต่ำสำหรับผลลัพธ์การตั้งครรภ์แฝด ข้อจำกัดหลักของหลักฐาน คือการขาดความแม่นยำในผลการศึกษา เนื่องจากจำนวนการศึกษาน้อยและมีกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็ก

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

เนื่องจากข้อมูลไม่เพียงพอ จึงยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการรักษาด้วย IUI ที่มีหรือไม่มี OH เมื่อเทียบกับการมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลาหรือการเฝ้าติดตามโดยมีหรือไม่มี OH จะช่วยเพิ่มอัตราการเกิดมีชีพสะสมโดยมีอัตราการตั้งครรภ์แฝดที่ยอมรับได้หรือไม่ในภาวะมีบุตรยากที่ไม่ทราบสาเหตุ, อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วย IUI ร่วมกับ OH อาจส่งผลให้อัตราการเกิดมีชีพสะสมสูงขึ้นเมื่อเทียบกับการเฝ้าติดตามโดยไม่มี OH ในคู่สมรสที่มีโอกาสตั้งครรภ์เองตามธรรมชาติต่ำ, ในทำนองเดียวกัน การรักษาด้วย IUI ในรอบประจำเดือนธรรมชาติอาจส่งผลให้อัตราการเกิดมีชีพสะสมเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับการรักษาด้วยการมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลาร่วมกับ OH, การรักษาด้วย IUI ในรอบกระตุ้นรังไข่ อาจส่งผลให้เกิดอัตราการเกิดมีชีพสะสมที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับการรักษาด้วย IUI ในรอบประจำเดือนธรรมชาติ

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

การฉีดเชื้อผสมเทียม (Intra-uterine insemination; IUI) เป็นการรักษาภาวะเจริญพันธุ์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายสำหรับคู่สมรสที่มีภาวะมีบุตรยากโดยไม่ทราบสาเหตุ ถึงแม้ว่า IUI นั้นมีการรุกรานน้อยกว่าและมีราคาถูกกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) แต่ความปลอดภัยของ IUI เมื่อใช้ร่วมกับการกระตุ้นรังไข่ (ovarian hyperstimulation; OH) ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ความกังวลหลักเกี่ยวกับการรักษาด้วย IUI ร่วมกับ OH คือการเพิ่มขึ้นของอัตราการตั้งครรภ์แฝด

วัตถุประสงค์: 

เพื่อศึกษาว่า, สำหรับคู่สมรสที่มีภาวะมีบุตรยากที่ไม่ทราบสาเหตุ, อัตราการเกิดมีชีพเพิ่มขึ้นหรือไม่ หลังการรักษาด้วย IUI โดยมีหรือไม่มีการกระตุ้นรังไข่ (OH) เปรียบเทียบกับการมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลา (timed intercourse; TI) หรือการเฝ้าติดตาม (expectant management) โดยมีหรือไม่มีการกระตุ้นรังไข่ (OH), หรือ การรักษาด้วยการฉีดเชื้อผสมเทียม โดยใช้การกระตุ้นรังไข่ร่วมด้วย เปรียบเทียบกับ การฉีดเชื้อผสมเทียมโดยไม่ใช้การกระตุ้นรังไข่ (รอบเดือนตามธรรมชาติ)

วิธีการสืบค้น: 

เราสืบค้นฐานข้อมูลดังนี้ the Cochrane Gynaecology and Fertility (CGF) Group trials register, CENTRAL, MEDLINE, Embase, PsycINFO, CINAHL และ สองฐานข้อมูลงานวิจัยที่ลงทะเบียน จนถึง 17 ตุลาคม 2019 รวมถึงเอกสารอ้างอิง และติดต่อกับผู้ทำวิจัยสำหรับข้อมูลที่ขาดไปหรือวิจัยที่ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์

เกณฑ์การคัดเลือก: 

การศึกษาแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ(RCTs) ซึ่งเปรียบเทียบ IUI กับ TI หรือการเฝ้าติดตาม ทั้งในรอบกระตุ้นรังไข่หรือรอบธรรมชาติ, หรือ IUI ในรอบกระตุ้นรังไข่ เปรียบเทียบกับ IUI ในรอบธรรมชาติ ในคู่สมรสที่มีภาวะมีบุตรยากที่ไม่ทราบสาเหต

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ทบทวน 2 คนเลือกการศึกษาที่จะนำมาทบทวน, ประเมินคุณภาพของหลักฐาน และคัดแยกข้อมูล อย่างเป็นอิสระต่อกัน ผลลัพธ์หลักที่ศึกษาคือ อัตราการเกิดมีชีพและ อัตราการตั้งครรภ์แฝด

ผลการวิจัย: 

เรารวม15 การศึกษา ในสตรี 2068 คน คุณภาพของหลักฐานอยู่ในระดับต่ำมากถึงปานกลาง ข้อจำกัด หลักคือความไม่แม่นยำอย่างมาก

IUI ในรอบประจำเดือนตามธรรมชาติเมื่อเทียบกับการมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลาหรือการเฝ้าติดตามในรอบธรรมชาติ

ผลการศึกษาไม่ชัดเจนว่าการรักษาด้วย IUI ในรอบประจำเดือนตามธรรมชาติจะช่วยเพิ่มอัตราการเกิดมีชีพเมื่อเทียบกับการรักษาด้วยการเฝ้าติดตาม (odds ratio (OR) 1.60, 95% confidence interval (CI) 0.92 ถึง 2.78; 1 การศึกษา, สตรี 334 คน; หลักฐานคุณภาพต่ำ) หากโอกาสของอัตราการเกิดมีชีพเมื่อเฝ้าติดตามในรอบประจำเดือนธรรมชาติเป็น 16% แล้วนั้น การรักษาด้วย IUI ในรอบธรรมชาติจะมีอัตราการเกิดมีชีพอยู่ระหว่าง 15% ถึง 34% ผลการศึกษาไม่ชัดเจนว่าการรักษาด้วย IUI ในรอบประจำเดือนตามธรรมชาติจะช่วยลดอัตราการตั้งครรภ์แฝดเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (OR 0.50, 95% CI 0.04 ถึง 5.53; 1 การศึกษา, สตรี 334 คน; หลักฐานคุณภาพต่ำ)

IUI ในรอบกระตุ้นรังไข่เมื่อเทียบกับการมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลา (TI) หรือการเฝ้าติดตามในรอบกระตุ้นรังไข่

ผลการศึกษาไม่ชัดเจนว่าการรักษาด้วย IUI ในรอบกระตุ้นรังไข่จะช่วยเพิ่มอัตราการเกิดมีชีพเมื่อเทียบกับการรักษาด้วย TI ในรอบกระตุ้นรังไข่ (OR 1.59, 95% CI 0.88 ถึง 2.88; 2 การศึกษา, สตรี 208 คน; I2 = 72%; หลักฐานคุณภาพต่ำ). หากโอกาสของอัตราการเกิดมีชีพเมื่อรักษาด้วย TI ในรอบกระตุ้นรังไข่เป็น 26% แล้วนั้น การรักษาด้วย IUI ในรอบกระตุ้นรังไข่ จะมีอัตราการเกิดมีชีพอยู่ระหว่าง 23% ถึง 50% ผลการศึกษาไม่ชัดเจนว่าการรักษาด้วย IUI ในรอบกระตุ้นรังไข่จะช่วยลดอัตราการตั้งครรภ์แฝดเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (OR 1.46, 95% CI 0.55 ถึง 3.87; 4 การศึกษา, สตรี 316 คน; I2 = 0%; หลักฐานคุณภาพต่ำ)

IUI ในรอบกระตุ้นรังไข่เมื่อเทียบกับการมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลา (TI) หรือการเฝ้าติดตามในรอบประจำเดือนธรรมชาติ

ในคู่สมรสที่มีโอกาสตั้งครรภ์เองตามธรรมชาติต่ำ, การรักษาด้วย IUI ร่วมกับ clomiphene citrate หรือ letrozole อาจส่งผลให้อัตราการเกิดมีชีพที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับการรักษาด้วยการเฝ้าติดตาม ในรอบประจำเดือนธรรมชาติ (OR 4.48, 95% CI 2.00 ถึง 10.01; 1 การศึกษา; สตรี 201 คน; หลักฐานคุณภาพปานกลาง) หากโอกาสของอัตราการเกิดมีชีพเมื่อเฝ้าติดตามในรอบประจำเดือนธรรมชาติเป็น 9% แล้วนั้น การรักษาด้วย IUI ในรอบกระตุ้นรังไข่จะมีอัตราการเกิดมีชีพอยู่ระหว่าง 17% ถึง 50% ผลการศึกษาไม่ชัดเจนว่าการรักษาด้วย IUI ในรอบกระตุ้นรังไข่จะช่วยลดอัตราการตั้งครรภ์แฝดเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (OR 3.01, 95% CI 0.47 ถึง 19.28; 2 การศึกษา, สตรี 454 คน; I2 = 0%; หลักฐานคุณภาพต่ำ)

IUI ในรอบประจำเดือนธรรมชาติเมื่อเทียบกับการมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลา (TI) หรือการเฝ้าติดตามในรอบกระตุ้นรังไข่

การรักษาด้วย IUI ในรอบประจำเดือนธรรมชาติ อาจส่งผลให้เกิดอัตราการเกิดมีชีพสะสมที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับการรักษาด้วยการเฝ้าติดตามในรอบกระตุ้นรังไข่ (OR 1.95, 95% CI 1.10 ถึง 3.44; 1 การศึกษา, สตรี 342 คน: หลักฐานคุณภาพปานกลาง) หากโอกาสของอัตราการเกิดมีชีพเมื่อเฝ้าติดตามในรอบกระตุ้นรังไข่ เป็น 13% แล้วนั้น การรักษาด้วย IUI ในรอบประจำเดือนธรรมชาติจะมีอัตราการเกิดมีชีพอยู่ระหว่าง 14% ถึง 34% ผลการศึกษาไม่ชัดเจนว่าการรักษาด้วย IUI ในรอบประจำเดือนตามธรรมชาติจะช่วยลดอัตราการตั้งครรภ์แฝดเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (OR 1.05, 95% CI 0.07 ถึง 16.90; 1 การศึกษา, สตรี 342 คน; หลักฐานคุณภาพต่ำ)

IUI ในรอบกระตุ้นรังไข่เทียบกับ IUI ในรอบประจำเดือนธรรมชาติ

การรักษาด้วย IUI ในรอบกระตุ้นรังไข่ อาจส่งผลให้เกิดอัตราการเกิดมีชีพสะสมที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับการรักษาด้วย IUI ในรอบประจำเดือนธรรมชาติ (OR 2.07, 95% CI 1.22 ถึง 3.50; 4 การศึกษา, สตรี 396 คน; I2 = 0%; หลักฐานคุณภาพต่ำ) หากโอกาสของอัตราการเกิดมีชีพเมื่อรักษาด้วย IUI ในรอบประจำเดือนธรรมชาติ เป็น 14% แล้วนั้น การรักษาด้วย IUI ในรอบกระตุ้นรังไข่จะมีอัตราการเกิดมีชีพอยู่ระหว่าง 17% ถึง 36% ผลการศึกษาไม่ชัดเจนว่าการรักษาด้วย IUI ในรอบกระตุ้นรังไข่จะช่วยลดอัตราการตั้งครรภ์แฝดเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (OR 3.00, 95% CI 0.11 ถึง 78.27; 2 การศึกษา, สตรี 65 คน; หลักฐานคุณภาพต่ำ)

บันทึกการแปล: 

แปลเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2020 โดย พญ.นันทสิริ เอี่ยมอุดมกาล ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Tools
Information