การบำบัดด้วยดนตรีช่วยผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมได้หรือไม่

ใจความสำคัญ

· เมื่อเปรียบเทียบกับการดูแลตามปกติ (คือการดูแลที่ไม่ได้มีกิจกรรมเฉพาะ) การให้ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมได้รับการบำบัดด้วยดนตรี น่าจะช่วยลดอาการซึมเศร้า และ อาจช่วยลดปัญหาพฤติกรรมโดยรวมได้

· เมื่อเปรียบเทียบกับกิจกรรมอื่น ๆ การบำบัดด้วยดนตรี อาจช่วยให้พฤติกรรมทางสังคมดีขึ้น แต่เราไม่แน่ใจว่าจะช่วยลดความวิตกกังวลได้หรือไม่

· ผลเหล่านี้อาจไม่คงอยู่หลังจากสิ้นสุดการรักษาไปแล้ว

· ไม่มีหลักฐาน ว่าการบำบัดด้วยดนตรีส่งผลต่อสุขภาวะทางอารมณ์, อาการกระสับกระส่าย, หรือการรู้คิด (เช่น ความสามารถในการคิดและการจำ) ของผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม แม้ว่าจะยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องนี้ก็ตาม

หลักฐานเกี่ยวกับผลในระยะยาวยังมีความไม่แน่นอน แต่ในการศึกษาต่าง ๆ ไม่พบผลในระยะยาว

อาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียงที่ไม่ต้องการ) อาจพบได้น้อย แต่การรายงานในการศึกษาต่าง ๆ ไม่สอดคล้องกัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีหลักฐานเพิ่มเติม ก่อนที่จะสามารถสรุปผลได้อย่างน่าเชื่อถือ

เหตุใดจึงต้องมีบริการบำบัดด้วยดนตรีให้กับผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม

ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมจะค่อย ๆ มีปัญหาในการคิดและทำกิจวัตรประจำวันเพิ่มมากขึ้น ภาวะสมองเสื่อมมักเกี่ยวข้องกับปัญหาด้านอารมณ์และพฤติกรรม และอาจลดทอนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ในระยะท้ายๆ ของภาวะสมองเสื่อม ผู้ป่วยอาจสื่อสารด้วยคำพูดได้ลำบาก แต่แม้ว่าจะไม่สามารถพูดได้แล้ว พวกเขาก็อาจยังสามารถฮัมเพลงหรือเล่นดนตรีตามได้ ดังนั้น ดนตรีบำบัดจึงอาจเหมาะสมเป็นพิเศษสำหรับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมในการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเขา

ใครเป็นผู้ให้บริการการบำบัดด้วยดนตรี

นักดนตรีบำบัดเป็นผู้ที่ได้รับการรับรองให้ทำงานกับบุคคลหรือกลุ่มคน โดยใช้ดนตรีเพื่อพยายามช่วยตอบสนองความต้องการด้านร่างกาย จิตใจ และสังคมของพวกเขา ผู้เชี่ยวชาญอื่น ๆ อาจได้รับการฝึกอบรมให้ให้การบำบัดที่คล้ายคลึงกัน

เราต้องการค้นหาอะไร

เราต้องการทราบว่าการบำบัดด้วยดนตรีสำหรับผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมได้ผลดีกว่าการดูแลปกติหรือกิจกรรมอื่น ๆ เช่น การวาดภาพหรือไม่ เราสนใจว่าการบำบัดเปลี่ยนผลลัพธ์เหล่านี้เมื่อสิ้นสุดการรักษาหรือไม่:

· สุขภาวะทางอารมณ์ รวมถึงคุณภาพชีวิต

· ภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล

· ความหงุดหงิดหรือก้าวร้าวและปัญหาพฤติกรรมโดยรวม

· พฤติกรรมทางสังคม และ

· การรู้คิด (เช่น การคิดและการจำ)

นอกจากนี้ เราอยากทราบว่ามีผลข้างเคียงในระยะยาวหรือผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ใด ๆ หลังการบำบัดสิ้นสุดลงหรือไม่

เราดำเนินการอย่างไร

เราสืบค้นการศึกษาที่มีการสุ่มแบ่งกลุ่มผู้มีภาวะสมองเสื่อมให้เข้ารับดนตรีบำบัด (อย่างน้อย 5 ครั้ง) หรือจัดอยู่ในกลุ่มเปรียบเทียบซึ่งไม่ได้ทำกิจกรรมใด ๆ หรือทำกิจกรรมอื่นแทน เราได้นำผลการศึกษามารวมกันเพื่อประเมินผลของการบำบัดด้วยดนตรีให้แม่นยำที่สุด เรายังประเมินระดับความเชื่อมั่นของเราต่อผลลัพธ์ด้วย

เราพบอะไร

เราพบการศึกษา 30 ฉบับ ที่ดำเนินการใน 15 ประเทศ การศึกษานี้ครอบคลุมผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมที่มีระดับความรุนแรงแตกต่างกันจำนวน 1720 คน ในการศึกษาส่วนใหญ่ ผู้เข้าร่วมอาศัยอยู่ในบ้านพักคนชรา การศึกษา 7 ฉบับ ให้ดนตรีบำบัดแก่ผู้เข้าร่วมเป็นรายบุคคล ส่วนการศึกษาที่เหลือให้การบำบัดแบบกลุ่ม เราสามารถนำผลจากการศึกษา 28 ฉบับ (ซึ่งมีผู้มีภาวะสมองเสื่อม 1366 คน) มาใช้วิเคราะห์ผลลัพธ์อย่างน้อย 1 อย่างเมื่อสิ้นสุดการรักษา การศึกษา 10 ฉบับให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลลัพธ์ในระยะยาว

ผลลัพธ์หลัก

เมื่อสิ้นสุดการรักษา

ดนตรีบำบัดน่าจะช่วยลดอาการซึมเศร้า และอาจช่วยปรับปรุงปัญหาพฤติกรรมโดยรวมให้ดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับการดูแลตามปกติ

ดนตรีบำบัดอาจช่วยปรับปรุงพฤติกรรมทางสังคมให้ดีขึ้น เมื่อเทียบกับกิจกรรมอื่น ๆ เรามีความมั่นใจน้อยลงเกี่ยวกับผลของดนตรีบำบัดต่ออาการวิตกกังวล เมื่อเปรียบเทียบกับกิจกรรมอื่น ๆ

หลักฐานที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่บ่งชี้ถึงประโยชน์ของดนตรีบำบัดต่อสุขภาวะทางอารมณ์ (รวมถึงคุณภาพชีวิต), อาการกระสับกระส่ายและก้าวร้าว หรือด้านการรับรู้ แต่เนื่องจากหลักฐานยังมีจำกัด จึงยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับผลลัพธ์เหล่านี้

ในระยะยาว

การศึกษาบางกรณีวัดผลลัพธ์ 4 สัปดาห์หรือมากกว่าหลังสิ้นสุดการรักษา เราไม่พบผลที่คงอยู่ต่อเนื่อง แต่จำนวนผลลัพธ์ที่วัดได้ในระยะยาวมีน้อย และเราจึงยังมีความไม่เชื่อมั่นเกี่ยวกับหลักฐานนี้ การศึกษาเพิ่มเติมในอนาคตน่าจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความรู้ของเราเกี่ยวกับผลของดนตรีบำบัดสำหรับผู้มีภาวะสมองเสื่อม ดังนั้น การทำการศึกษาต่อไปจึงมีความสำคัญ

ข้อจำกัดของหลักฐานคืออะไร

มีความแตกต่างในคุณภาพของการศึกษาและการรายงาน ในการศึกษาทั้งหมด ผู้เข้าร่วมและเจ้าหน้าที่อาจทราบว่าผู้เข้าร่วมจะได้รับการบำบัดแบบใด และในบางกรณี ผู้ประเมินอาจทราบเรื่องนี้เช่นกัน สิ่งนี้อาจส่งผลต่อผลลัพธ์ เมื่อพิจารณาถึงผลในตอนท้ายของการบำบัดด้วยดนตรี เรามีความเชื่อมั่นปานกลางในหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงผลดีต่ออาการซึมเศร้าเมื่อเทียบกับการดูแลตามปกติ เรามีความเชื่อมั่นน้อยมากในผลหรือการขาดผลต่อผลลัพธ์อื่น ๆ มีการรายงานผลข้างเคียงในวงจำกัด

หลักฐานนี้เป็นปัจจุบันแค่ไหน

การทบทวนนี้เป็นการปรับปรุงข้อมูลจากการทบทวนครั้งก่อนของเรา เราได้เพิ่มการศึกษาใหม่ 8 ฉบับ และได้ข้อสรุปใหม่ หลักฐานเป็นปัจจุบันจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2023

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

เมื่อเปรียบเทียบกับการดูแลตามปกติ พบว่าการจัดให้ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมได้รับการบำบัดโดยใช้ดนตรีอย่างน้อย 5 ครั้ง น่าจะช่วยลดอาการซึมเศร้า และ อาจช่วยลดปัญหาพฤติกรรมโดยรวม เมื่อสิ้นสุดการรักษา

เมื่อเปรียบเทียบกับกิจกรรมอื่นๆ การบำบัดโดยใช้ดนตรี อาจช่วยให้พฤติกรรมทางสังคมดีขึ้น เมื่อสิ้นสุดการรักษา ยังไม่สามารถสรุปผล เกี่ยวกับผลลัพธ์ด้าน ความวิตกกังวลได้ เนื่องจากหลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก

อาจไม่มีผลต่อผลลัพธ์อื่น ๆ เมื่อสิ้นสุดการรักษา ไม่มีหลักฐานของผลในระยะยาวจากการบำบัดด้วยดนตรี

อาการไม่พึงประสงค์อาจพบได้น้อย แต่การศึกษาต่าง ๆ ขาดความสอดคล้องกันในการรายงานอาการไม่พึงประสงค์

การศึกษาในอนาคตควรตรวจสอบระยะเวลาของผลการรักษา โดยพิจารณาความสัมพันธ์กับระยะเวลาโดยรวมของการรักษาและจำนวนครั้งของการบำบัด

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

ภาวะสมองเสื่อมเป็นกลุ่มอาการทางคลินิกซึ่งมีสาเหตุแตกต่างกันหลายประการ มีลักษณะคือการเสื่อมถอยของการทำงานด้านความคิด พฤติกรรม สังคม และอารมณ์ มีการรักษาด้วยยาอยู่ แต่มีประสิทธิผลจำกัดต่อลักษณะอาการหลายอย่างของกลุ่มอาการนี้ อย่างไรก็ตาม การเปิดรับต่อดนตรีอาจยังคงอยู่จนถึงระยะท้ายๆ ของภาวะสมองเสื่อม และการบำบัดโดยใช้ดนตรี (ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงดนตรีบำบัด) ก็เหมาะสำหรับผู้มีภาวะสมองเสื่อมในระยะรุนแรง เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับประสิทธิผลของการบำบัดโดยใช้ดนตรี จึงมีการดำเนินการทดลองเพื่อประเมินเรื่องนี้ การทบทวนวรรณกรรมฉบับนี้เป็นการปรับปรุงข้อมูลจากการทบทวนครั้งล่าสุดที่เผยแพร่ในปี 2018 และตรวจสอบหลักฐานปัจจุบันเกี่ยวกับผลของการบำบัดโดยใช้ดนตรีสำหรับผู้มีภาวะสมองเสื่อม

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินผลของการบำบัดด้วยดนตรีสำหรับผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมต่อความเป็นอยู่ทางอารมณ์ (รวมถึงคุณภาพชีวิต) ความผิดปกติทางอารมณ์หรืออารมณ์เชิงลบ (เช่น อาการซึมเศร้าและความวิตกกังวล) ปัญหาด้านพฤติกรรม (เช่น ปัญหาด้านพฤติกรรมโดยรวมหรืออาการทางจิตและประสาท และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความหงุดหงิดหรือก้าวร้าว) พฤติกรรมทางสังคมและการรับรู้ ในช่วงสิ้นสุดการบำบัด และ 4 สัปดาห์หรือมากกว่านั้นหลังจากสิ้นสุดการรักษา และเพื่อประเมินผลข้างเคียงใดๆ

วิธีการสืบค้น: 

เราได้ค้นหาฐานข้อมูลเฉพาะทางของกลุ่ม Cochrane Dementia and Cognitive Improvement Group, MEDLINE (Ovid SP), Embase (Ovid SP), PsycINFO (Ovid SP), CINAHL (EBSCOhost), Web of Science Core Collection (ISI Web of Science), LILACS (BIREME), ClinicalTrials.gov และฐานข้อมูลเมตารีจิสเตอร์ขององค์การอนามัยโลก - the International Clinical Trials Registry Platform เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2023

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เราได้รวมการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (randomised controlled trials) ของการบำบัดโดยใช้ดนตรี (อย่างน้อย 5 ครั้ง) สำหรับผู้มีภาวะสมองเสื่อม ที่ได้วัดผลลัพธ์ใดๆ ที่เราสนใจ กลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามปกติ หรือเข้าร่วมกิจกรรมอื่น ๆ โดยอาจมีหรือไม่มีดนตรีก็ได้

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ทบทวนวรรณกรรม 2 คนทำงานอย่างอิสระเพื่อคัดกรองการศึกษาที่สืบค้นได้เทียบกับเกณฑ์การคัดเข้า จากนั้นจึงดึงข้อมูลจากการศึกษาที่คัดเลือก และประเมินความเสี่ยงของการมีอคติ หากจำเป็น เราได้ติดต่อผู้ทำการทดลองเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม เช่น มาตราส่วนย่อยที่เกี่ยวข้อง เรารวมข้อมูลโดยใช้ random-effects model เราประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐานสำหรับการเปรียบเทียบทั้งสองแบบและผลลัพธ์หลักที่เราสนใจโดยใช้ GRADE

ผลการวิจัย: 

เราได้รวมการศึกษา 30 ฉบับ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมที่ได้รับการสุ่มจำนวน 1720 คน และดำเนินการใน 15 ประเทศ มีการศึกษา 28 ฉบับ ซึ่งมีผู้เข้าร่วม 1366 คน ที่ให้ข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์อภิมาน (meta-analyses) การศึกษา 10 ฉบับ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลลัพธ์ระยะยาว ผู้เข้าร่วมมีภาวะสมองเสื่อมในระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน และพักอาศัยในสถานดูแลในการศึกษาส่วนใหญ่ มีการศึกษา 7 ฉบับ ที่ให้การบำบัดรายบุคคล ส่วนการศึกษาที่เหลือให้การบำบัดแบบกลุ่ม การบำบัดส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบทั้งเชิงรุกและเชิงรับ ของประสบการณ์ทางดนตรี การศึกษาเหล่านี้มีความเสี่ยงของการมีอคติสูงในการปฏิบัติต่อผู้เข้าร่วมโครงการ (performance bias) และบางส่วนมีความเสี่ยงของการมีอคติสูงในการประเมินผล (detection bias) หรืออคติอื่น ๆ (other bias)

สำหรับการบำบัดโดยใช้ดนตรีเมื่อเปรียบเทียบกับการดูแลตามปกติ เราพบหลักฐานความเชื่อมั่นระดับปานกลางว่า เมื่อสิ้นสุดการบำบัด การบำบัดโดยใช้ดนตรีน่าจะช่วยให้อาการซึมเศร้าดีขึ้นเล็กน้อย (ค่าเฉลี่ยความแตกต่างมาตรฐาน (SMD) −0.23, ช่วงความเชื่อมั่น 95% (95% CI) −0.42 ถึง −0.04; การศึกษา 9 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 441 คน) และเราพบหลักฐานความเชื่อมั่นระดับต่ำว่า การบำบัดดังกล่าวอาจช่วยให้ปัญหาพฤติกรรมโดยรวมดีขึ้น (SMD −0.31, 95% CI −0.60 ถึง −0.02; การศึกษา 10 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 385 คน) เราพบหลักฐานความเชื่อมั่นระดับปานกลางว่า การบำบัดโดยใช้ดนตรีไม่น่าจะช่วยให้อาการกระสับกระส่ายหรือความก้าวร้าวดีขึ้น (SMD −0.05, 95% CI −0.27 ถึง 0.17; การศึกษา 11 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 503 คน) หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นระดับต่ำถึงต่ำมาก ชี้ให้เห็นว่า ณ ตอนสิ้นสุดการบำบัด การบำบัดดังกล่าว ไม่ได้ช่วยให้ สุขภาวะทางอารมณ์ (SMD 0.14, 95% CI -0.29 ถึง 0.56; การศึกษา 4 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 154 คน), ความวิตกกังวล (SMD −0.15, 95% CI −0.39 ถึง 0.09; การศึกษา 7 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 282 คน), พฤติกรรมทางสังคม (SMD 0.22, 95% CI −0.14 ถึง 0.57; การศึกษา 2 ฉบับ; ผู้เข้าร่วม 121 คน) หรือ การรู้คิด (SMD 0.19, 95% CI −0.02 ถึง 0.41; การศึกษา 7 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 353 คน) ดีขึ้น หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำหรือต่ำมากแสดงให้เห็นว่าวิธีการบำบัดด้วยดนตรีอาจไม่ได้มีประสิทธิผลมากกว่าการดูแลปกติในระยะยาว ( 4 สัปดาห์ขึ้นไปหลังจากสิ้นสุดการรักษา) สำหรับผลลัพธ์ใด ๆ ก็ตาม

สำหรับการเปรียบเทียบการบำบัดโดยใช้ดนตรี กับกิจกรรมรูปแบบอื่น ๆ เราพบ หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นระดับต่ำ ว่า ณ ตอนสิ้นสุดการรักษา การบำบัดโดยใช้ดนตรี อาจมีประสิทธิผลมากกว่า กิจกรรมรูปแบบอื่นในด้าน พฤติกรรมทางสังคม (SMD 0.52, 95% CI 0.08 ถึง 0.96; การศึกษา 4 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 84 คน) เราพบ หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นระดับต่ำมาก ว่ามี ผลในเชิงบวกต่อความวิตกกังวล (SMD −0.75, 95% CI −1.27 ถึง −0.24; การศึกษา 10 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 291 คน) สำหรับผลลัพธ์อื่นๆ ทั้งหมด หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นระดับต่ำ แสดงให้เห็นว่า ไม่พบว่ามีผลต่อ: สุขภาวะทางอารมณ์ (SMD 0.20, 95% CI −0.09 ถึง 0.49; การศึกษา 9 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 298 คน); อาการซึมเศร้า (SMD −0.14, 95% CI -0.36 ถึง 0.08; การศึกษา 10 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 359 คน); อาการกระสับกระส่ายหรือพฤติกรรมก้าวร้าว (SMD 0.01, 95% CI −0.31 ถึง 0.32; การศึกษา 6 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 168 คน); ปัญหาพฤติกรรมโดยรวม (SMD −0.08, 95% CI −0.33 ถึง 0.17; การศึกษา 8 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 292 คน) และการรู้คิด (SMD 0.12, 95% CI −0.21 ถึง 0.45; การศึกษา 5 ฉบับ; ผู้เข้าร่วม 147 คน) เราพบหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นระดับต่ำหรือต่ำมาก ว่า การบำบัดโดยใช้ดนตรี อาจไม่มีประสิทธิผลมากกว่า การบำบัดรูปแบบอื่น ในระยะยาว (4 สัปดาห์หรือมากกว่าหลังสิ้นสุดการรักษา) สำหรับผลลัพธ์ใด ๆ

มีการวัดและบันทึกผลข้างเคียงที่ไม่สม่ำเสมอ แต่ไม่มีการรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรง

บันทึกการแปล: 

แปลโดย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ สาขาวิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 31 มีนาคม 2025

Tools
Information