ทำไมการทบทวนวรรณกรรมนี้จึงสำคัญ
โรคซึมเศร้าเป็นความผิดปกติทางจิตที่พบได้บ่อย แสดงออกโดยมีความเศร้า การสูญเสียความรู้สึกที่เคยมีความสุขในการทำกิจกรรมต่างๆ มีความรู้สึกไร้ค่า หรือความรู้สึกผิด มีความคิดเรื่องอยากตายหรือการฆ่าตัวตาย การบำบัดแบบชีวิตคู่ได้รับการแนะนำให้ใช้ในการบำบัดคู่รักที่มีคู่รักมีอาการซึมเศร้าบนพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างอาการซึมเศร้ากับความทุกข์ใจจากความสัมพันธ์ในชีวิตคู่ บทบาทของปัจจัยด้านลบที่ทำให้เกิดอาการซึมเศร้า และทำให้อาการซึมเศร้าคงอยู่ และผลของปัจจัยที่ช่วยทำให้เกิดการสนับสนุนความใกล้ชิดและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล การบำบัดชีวิตคู่ทำงานโดยการปรับเปลี่ยนรูปแบบปฏิสัมพันธ์เชิงลบและเพิ่มการสนับสนุนความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกัน การมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าการบำบัดชีวิตคู่สามารถช่วยผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าได้หรือไม่จึงเป็นสิ่งสำคัญ
ใครที่จะมีความสนใจในการทบทวนวรรณกรรมนี้
การทบทวนนี้จะเป็นที่สนใจของผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า คู่ของพวกเขาและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลคู่ชีวิตที่มีอาการซึมเศร้า
การทบทวนวรรณกรรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตอบคำถามอะไร
การทบทวนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินหลักฐานเกี่ยวกับผลของการบำบัดชีวิตคู่สำหรับคู่รักที่มีคู่รักมีอาการซึมเศร้า
การศึกษาใดที่นำเข้าในการทบทวนวรรณกรรม
เราได้พิจารณาการศึกษาเกี่ยวกับการบำบัดชีวิตคู่ที่ให้บริการที่แผนกผู้ป่วยนอกให้กับคู่รักที่คู่รักได้รับการวินิจฉัยทางคลินิกว่าเป็นโรคซึมเศร้า เรารวมการศึกษา 14 รายการ ในผู้เข้าร่วมวิจัย 651 คน เป็นการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมจำนวน 13 รายการ โดยผู้เข้าร่วมวิจัยได้รับการสุ่มแบบโดยบังเอิญให้เข้ากลุ่มบำบัดชีวิตคู่หรือกลุ่มการดูแลตามปกติ อย่างไรก็ตาม มีการศึกษา 1 รายการ ที่ไม่ได้สุ่มอย่างสมบูรณ์ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของนักบำบัด
หลักฐานจากการทบทวนวรรณกรรมนี้บอกอะไรเราบ้าง
มีหลักฐานคุณภาพต่ำที่ชี้ให้เห็นว่าการบำบัดแบบชีวิตคู่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับจิตบำบัดรายบุคคลในการลดภาวะซึมเศร้า ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าอาจมีอาการดีขึ้นเมื่อได้รับการบำบัดแบบชีวิตคู่เมื่อเทียบกับไม่ได้รับการรักษา แต่เราไม่แน่ใจเกี่ยวกับประสิทธิผลการบำบัด เนื่องจากคุณภาพของการศึกษาอยู่ในระดับต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาด้วยยาต้านอาการซึมเศร้า มีข้อมูลที่จำกัด ไม่สามารถสรุปผลได้ แม้ว่ามีข้อมูลว่ามีจำนวนผู้ป่วยเพียงเล็กน้อยที่หยุดเข้าร่วมการทดลองการบำบัดชีวิตคู่กลางคัน แต่คุณภาพของข้อมูลที่ต่ำมาก ทำให้ความเชื่อถือได้ของผลการศึกษาอยู่ในระดับต่ำ การเปรียบเทียบระหว่างการบำบัดด้วยชีวิตคู่กับยาต้านอาการซึมเศร้าและยาต้านอาการซึมเศร้าเพียงอย่างเดียว ไม่พบความแตกต่างในการลดระดับอาการซึมเศร้า แต่ผลการศึกษามาจากการศึกษาขนาดเล็ก 2 การศึกษา การบำบัดแบบชีวิตคู่มีประสิทธิภาพในการลดความทุกข์ใจในความสัมพันธ ์มากกว่าการทำจิตบำบัดแบบรายบุคคลและประสิทธิผลนี้เพิ่มมากขึ้นเมื่อให้การบำบัดคู่สมรสที่มีความทุกข์ใจไม่พร้อมกัน (แยกการเข้ารับการบำบัด) อย่างไรก็ตามผลลัพธ์นี้ต้องได้รับการพิจารณาอย่างระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากคุณภาพของการศึกษาต่ำมาก การศึกษาส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากขนาดตัวอย่างที่เล็ก จึงไม่สามารถเป็นตัวแทนของประชากรได้ การสูญเสียจำนวนผู้เข้าร่วมวิจัยในระยะการติดตามผล และอคติที่ผู้วิจัยมีความเชื่อว่าการบำบัดแบบชีวิตคู่ดีกว่า นอกจากนี้ยังมีการศึกษาจำนวนเล็กน้อยที่มีการติดตามผลหลังการศึกษาเกิน 6 เดือน มีเพียง 1 การศึกษา ที่ทดสอบว่าการปรับปรุงความสัมพันธ์แบบคู่รักนำไปสู่การลดอาการซึมเศร้าหรือไม่ มีหลักฐานเชิงประจักษ์สนับสนุนข้อค้นพบนี้ อย่างไรก็ตามเนื่องจากการศึกษานี้มีขนาดกลุ่มตัวอย่างเล็กและไม่มีการศึกษาอื่น ๆ ที่ตรวจสอบสมมติฐานเดียวกัน ทำให้ไม่สามารถทดสอบเพื่อสนับสนุนข้อสรุปของความสัมพันธ์ข้อนี้ได้ แม้ว่าจะเป็นเรื่องยากที่จะหาข้อสรุปอย่างมีความเชื่อมั่นทางสถิติในความแตกต่างระหว่างการบำบัดแบบชีวิตคู่และการรักษาอื่น ๆ ในการรักษาภาวะซึมเศร้า แต่มีความเป็นไปได้ว่าการปรับปรุงความสัมพันธ์แบบชีวิตคู่อาจเป็นทางเลือกที่ดีเมื่อความทุกข์ใจมีสาเหตุหลักจากความสัมพันธ์
อะไรที่ควรจะเกิดขึ้นต่อไป
เราต้องการงานวิจัยเชิงทดลองที่มีคุณภาพดีในการทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างจำนวนมาก โดยมีการติดตามผลของการบำบัดแบบชีวิตคู่เป็นเวลานาน เมื่อเปรียบเทียบกับการบำบัดรูปแบบอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคู่รักที่มีความเครียดมาก
แม้ว่าจะมีข้อเสนอแนะว่าการบำบัดชีวิตคู่จะมีประสิทธิผลเทียบเท่ากับจิตบำบัดรายบุคคลในการลดอาการซึมเศร้าและมีประสิทธิผลมากขึ้นในการพัฒนาความสัมพันธ์ในคู่รักที่มีความทุกข์ใจ แต่คุณภาพของหลักฐานที่ต่ำหรือต่ำมากทำให้มีข้อจำกัดความเป็นไปได้ที่จะได้ข้อสรุปอย่างชัดเจน มีข้อมูลน้อยมากสำหรับการเปรียบเทียบกับการรักษาที่ไม่มี / หรือได้รับการรักษาน้อย และ การรักษาด้วยยา การศึกษาต่อไปควรทำการศึกษาแบบทดลองที่มีคุณภาพสูงในกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่และมีการติดตามผลของการบำบัดด้วยชีวิตคู่เป็นเวลานานเมื่อเปรียบเทียบกับการบำบัดด้วยรูปแบบอื่น ๆ ในคู่รักที่มีปัญหาในความสัมพันธ์ของชีวิตคู่ที่คู่รักมีอาการซึมเศร้า โดยพิจารณาจากปัจจัยด้านคุณภาพของความสัมพันธ์ในฐานะเป็นตัวแปรส่งผ่านที่มีอิทธิพลต่อการลดอาการซึมเศร้า
การบำบัดแบบชีวิตคู่สำหรับภาวะซึมเศร้า มีจุดมุ่งหมายสองข้อ คือ การปรับเปลี่ยนรูปแบบการโต้ตอบเชิงลบและเพิ่มแง่มุมที่สนับสนุนซึ่งกันและกันของความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด, การเปลี่ยนแปลงบริบทระหว่างความสัมพันธ์ของสองคนที่เกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้า การบำบัดแบบชีวิตคู่ได้ถูกบรรจุเป็นข้อเสนอแนะในแนวปฏิบัติในการรักษาภาวะซึมเศร้าหลายๆ อัน
1. วัตถุประสงค์หลักคือเพื่อตรวจสอบผลของการบำบัดชีวิตคู่เมื่อเปรียบเทียบกับจิตบำบัดรายบุคคลสำหรับผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า
2. วัตถุประสงค์รองคือเพื่อตรวจสอบผลของการบำบัดชีวิตคู่เปรียบเทียบกับการรักษาด้วยยาและไม่มี / มีการรักษาภาวะซึมเศร้าน้อยที่สุด
การศึกษาที่นำมาทบทวนสืบค้นจากฐานข้อมูลต่อไปนี้ Cochrane Common Mental Disorders Group Controlled Trials Register (CCMDCTR), Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL), MEDLINE (Ovid), Embase (Ovid) และ PsycINFO (Ovid) และสืบค้นจนถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2018 มีการตรวจสอบวารสารที่เกี่ยวข้องและรายการอ้างอิง
การวิจัยรูปแบบการทดลองแบบสุ่ม และแบบ quasi-randomised controlled trials ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบผลของการบำบัดแบบชีวิตคู่เปรียบเทียบกับจิตบำบัดรายบุคคล การบำบัดด้วยยา หรือไม่มีการรักษา / การรักษาน้อยที่สุด สำหรับผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า ถูกนำมาทบทวน
เราพิจารณาว่าผลลัพธ์หลักในการศึกษานี้ประกอบด้วย ระดับอาการซึมเศร้า ความคงอยู่ของภาวะซึมเศร้า และการออกจากการศึกษากลางคัน ผลลัพธ์รอง คือ ระดับความทุกข์ใจจากความสัมพันธ์ เราดึงข้อมูลโดยใช้ spreadsheet ที่เป็นมาตรฐาน ในกรณีที่ไม่มีข้อมูลในเอกสาร เราพยายามติดต่อผู้นิพนธ์เพื่อขอข้อมูล เราสังเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ Review Manager software version 5.3 เรารวบรวมข้อมูลที่มีสองกลุ่ม (dichotomous) โดยใช้ความเสี่ยงสัมพัทธ์ (RR) สำหรับข้อมูลต่อเนื่องใช้ความแตกต่างของค่าเฉลี่ยมาตรฐาน (SMD) ร่วมกับช่วงความเชื่อมั่น 95% (CIs) เราใช้ random-effects model สำหรับการเปรียบเทียบทุกชนิดและทดสอบความแตกต่างของกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นการทดสอบที่ใช้ Chi2 test
เรารวมการศึกษา 14 เรื่อง จากยุโรป อเมริกาเหนือ และอิสราเอลโดยมีผู้เข้าร่วมการศึกษาจำนวนทั้งหมด 651 คน ผู้เข้าร่วมการวิจัย 80 เปอร์เซ็น เป็นคนผิวขาว ดังนั้นข้อค้นพบนี้จึงไม่สามารถนำไปใช้ได้กับประเทศที่ไม่ใช่ประเทศตะวันตกหรือกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ในประเทศตะวันตก โดยเฉลี่ยแล้วผู้เข้าร่วมวิจัยมีภาวะซึมเศร้าในระดับปานกลาง จึงไม่สามารถนำผลการศึกษานี้ไปขยายผลใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการซึมเศร้าระดับรุนแรง โดยรวมแล้วผู้เข้าร่วมวิจัยมีอายุระหว่าง 36 ถึง 47 ปี
เมื่อสิ้นสุดการทดลองพบว่าไม่มีความแตกต่างในผลการรักษาระหว่างการบำบัดชีวิตคู่และจิตบำบัดแบบรายบุคคล ไม่ว่าจะเป็นผลอาการซึมเศร้าซึ่งเป็นตัวแปรต่อเนื่อง ข้อมูลนี้มาจากการศึกษา 9 เรื่องมีผู้เข้าร่วมวิจัย 304 คน (SMD −0.17, 95% CI −0.44 ถึง 0.10, หลักฐานคุณภาพต่ำ) หรือสัดส่วนของผู้เข้าร่วมวิจัยที่ยังคงมีอาการซึมเศร้า ข้อมูลนี้มาจากการศึกษา 6 เรื่อง มีผู้เข้าร่วมวิจัย 237 คน (RR 0.94, 95% CI 0.72 ถึง 1.22, หลักฐานคุณภาพต่ำ) การค้นพบจากการศึกษาที่มีการติดตามผล 6 เดือนหรือนานกว่านั้น ยืนยันว่าไม่มีความแตกต่างระหว่างเงื่อนไขทั้ง 2 รูปแบบ
ไม่มีการศึกษาใดที่รายงานผลข้างเคียงที่อันตรายจากการทดลอง อย่างไรก็ตาม เราถือว่าอัตราการหยุดการรักษาก่อนกำหนดไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม เป็นตัวบ่งชี้ของผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ ไม่มีหลักฐานแสดงความแตกต่างของอัตราการออกกลางคันระหว่างการบำบัดด้วยชีวิตคู่และจิตบำบัดรายบุคคล ข้อมูลจากการศึกษา 8 เรื่อง ในผู้เข้าร่วมวิจัย 316 คน (RR 0.85, 95% CI 0.51 ถึง 1.41, หลักฐานมีคุณภาพต่ำ)
มีข้อมูลเพียงเล็กน้อยสำหรับการเปรียบเทียบกับการรักษาด้วยยา ข้อมูลจากการศึกษาขนาดเล็กที่มีผู้เข้าร่วมวิจัย 12 คน เมื่อสิ้นสุดการทดลองไม่พบความแตกต่างในเรื่องอาการซึมเศร้าที่เป็นตัวแปรต่อเนื่อง (SMD −0.51, 95% CI −1.69 ถึง 0.66, หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) และในการติดตามผล 6 เดือน (SMD −1.07, 95% CI -2.45 ถึง 0.31, หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) ข้อมูลเกี่ยวกับการออกจากการศึกษาก่อนสิ้นสุดการทดลองจาก 2 การศึกษา ในผู้เข้าร่วมวิจัย 95 คน พบว่าการบำบัดชีวิตคู่ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่ามาก (RR 0.31, 95% CI 0.15 ถึง 0.61, หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) อย่างไรก็ตามการค้นพบนี้จากการศึกษาเรื่องเดียว ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากอคติในการเลือกกลุ่มตัวอย่างที่ชอบการบำบัดแบบชีวิตคู่
การเปรียบเทียบระหว่างการบำบัดแบบชีวิตคู่กับการรักษาด้วยยาและการรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียว ไม่พบความแตกต่างในระดับอาการซึมเศร้าจากการศึกษา 2 เรื่องกับผู้เข้าร่วมวิจัย 34 คน (SMD −1.04, 95% CI -3.97 ถึง 1.89, หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) และในการออกจากการศึกษาก่อนสิ้นสุดการทดลอง จากการศึกษา 2 เรื่อง ในผู้เข้าร่วมวิจัย 45 คน (RR 1.03, 95% CI 0.07 ถึง 15.52, หลักฐานคุณภาพต่ำมาก)
การเปรียบเทียบการบำบัดชีวิตคู่กับการไม่ได้รับการรักษาหรือการได้รับการรักษาน้อยมาก พบว่า การบำบัดชีวิตคู่มีประสิทธิผลมากกว่าการไม่ได้รับการรักษาหรือการรับการรักษาน้อยมากในผลลัพธ์ระดับอาการซึมเศร้า จากการศึกษา 3 เรื่อง ในผู้เข้าร่วมวิจัย 90 คน: (SMD −0.95, 95% CI −1.59 ถึง −0.32, หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) และการคงอยู่ของภาวะซึมเศร้าจากการศึกษา 2 เรื่อง ในผู้เข้าร่วม 65 คน (RR 0.48, 95% CI 0.32 ถึง 0.70, หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) ไม่มีข้อมูลสำหรับการออกกลางคันก่อนสิ้นสุดการทดลองสำหรับการเปรียบเทียบนี้
เกี่ยวกับความทุกข์ใจจากความสัมพันธ์ เมื่อเปรียบเทียบกับ จิตบำบัดรายบุคคล พบว่าเมื่อสิ้นสุดการทดลองการบำบัดแบบชีวิตคู่มีประสิทธิผลในการลดระดับความทุกข์ใจมากว่าการทำจิตบำบัดรายบุคคล จากการศึกษา 6 เรื่อง ในผู้เข้าร่วมวิจัย 187 คน (SMD −0.50, CI −0.97 ถึง −0.02, หลักฐานมีคุณภาพต่ำมาก) รวมถึงลดการคงอยู่ของความทุกข์ใจได้มากกว่า จากการศึกษา 2 เรื่อง ในผู้เข้าร่วมวิจัย 81 คน (RR 0.71, 95% CI 0.51 ถึง 0.98, หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) คุณภาพของหลักฐานได้รับผลกระทบอย่างมากจากการมีความแตกต่างของกลุ่มตัวอย่างมาก (I2 = 59%) ในการวิเคราะห์ข้อมูลจากงานวิจัยที่มีความเข้มงวดมากที่คัดเลือกเฉพาะการศึกษาที่กลุ่มตัวอย่างเป็นคู่รักที่มีความทุกข์ใจเท่านั้นทำให้ไม่มีความแตกต่างกันของกลุ่มตัวอย่าง ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า เมื่อสิ้นสุดการทดลอง ประสิทธิผลของการบำบัดแบบคู่ชีวิตในการลดระดับความทุกข์ใจเมื่อสิ้นสุดการรักษามีขนาดใหญ่กว่า (SMD −1.10, 95% CI −1.59 ถึง −0.61) มีข้อมูลน้อยมากเกี่ยวกับผลลัพธ์นี้สำหรับการเปรียบเทียบกับการรักษาในรูปแบบอื่น ๆ
เราประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐานโดยวิธีแนวทางของ GRADE system ผลการวิจัยมีความเชื่อถือได้น้อยเนื่องจากคุณภาพของหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับผลต่ออาการซึมเศร้าอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับจิตบำบัดรายบุคคล นอกจากนี้งานวิจัยที่เปรียบเทียบการบำบัดคู่ชีวิตกับรูปแบบอื่นๆ ทั้งหมด รวมถึงการศึกษาที่ใช้ความทุกข์ใจเป็นการประเมินผลลัพธ์ก็เป็นงานวิจัยที่มีคุณภาพในระดับต่ำมาก การศึกษาส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหลายอย่าง เช่นขนาดของกลุ่มตัวอย่างเล็ก มีอคติจากการที่ไม่มีการปกปิดผู้ประเมินผลลัพธ์ รายงานการประเมินผลลัพธ์ไม่สมบูรณ์ รวมถึงอคติของผู้วิจัยที่เชื่อว่าการบำบัดแบบชีวิตคู่ดีกว่า นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมีความหลากหลายไม่เหมือนกันเป็นปัญหาสำคัญของงานวิจัยที่ใช้การลดความทุกข์ใจจากความสัมพันธ์เป็นผลลัพธ์ในการศึกษา
แปลโดย สมพร รุ่งเรืองกลกิจ