ยาต้านซึมเศร้าสำหรับการรักษาเด็กและวัยรุ่นที่มีภาวะปวดท้องโดยไม่มีโรคทางกาย

วัตถุประสงค์ของการทบทวนวรรณกรรมนี้คืออะไร

จุดมุ่งหมายของการทบทวนนี้คือ เพื่อค้นหาว่ายาต้านซึมเศร้าสามารถบรรเทาอาการปวดท้องโดยไม่มีโรคทางกาย (functional abdominal pain disorders; FAPDs) ในเด็กและวัยรุ่นได้หรือไม่ โดยได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากการศึกษา 3 ฉบับ ในเด็กและวัยรุ่นทั้งหมด 223 คนเพื่อตอบคำถามนี้

ใจความสำคัญ

คำถามที่ว่ายาต้านซึมเศร้าสามารถบรรเทาอาการของ FAPDs ในเด็กและวัยรุ่นได้หรือไม่นั้นยังไม่มีคำตอบ แต่ไม่มีรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรงเมื่อเทียบกับยาหลอก (การรักษาหลอก) จำนวนการศึกษามีอยู่น้อยและจำนวนประชากรในการศึกษาก็น้อยเช่นกัน ซึ่งหมายความว่าจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อตอบคำถามนี้

การทบทวนวรรณกรรมนี้ได้ศึกษาอะไร

FAPD เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในวัยเด็กและวัยรุ่น ในกรณีส่วนใหญ่จะตรวจไม่พบสาเหตุทางกายที่เป็นเหตุให้ปวดท้อง ปัจจุบันมีแนวทางการรักษาด้วยยาที่หลากหลายชนิดสำหรับ FAPDs ประเภทต่างๆ ซึ่งกลุ่มยาต้านซึมเศร้าแสดงให้เห็นว่ามีประสิทธิผลในการศึกษาบางฉบับที่ทำในผู้ใหญ่ที่มี FAPDs ดังนั้น บางครั้งเด็กและวัยรุ่นที่มีอาการปวดท้องคล้ายคลึงกันจึงได้รับการรักษาด้วยยาต้านซึมเศร้า

ผลลัพธ์หลักของการทบทวนวรรณกรรมนี้คืออะไร

ผู้วิจัยสืบค้นการทดลองแบบ randomised controlled trials (RCTs; การศึกษาทางคลินิกโดยสุ่มให้ผู้เข้าร่วมวิจัยอยู่ในหนึ่งในสองกลุ่มการรักษาหรือมากกว่า) ที่เปรียบเทียบระหว่างการให้ยาต้านซึมเศร้าและการให้ยาหลอก (การรักษาหลอก)

ผู้วิจัยพบการศึกษา 3 ฉบับที่เข้าเกณฑ์: 2 ฉบับใช้ยา amitriptyline (AMI) และอีกหนึ่งฉบับใช้ยา citalopram ซึ่งศึกษาในเยาวชนทั้งหมด 223 คน

1. ยังสรุปไม่ได้ว่ามีความแตกต่างกันในจำนวนผู้ที่รักษาจนประสบความสำเร็จเมื่อใช้ยาต้านซึมเศร้าเทียบกับยาหลอกหรือไม่

2. ยังสรุปไม่ได้ว่ามีความแตกต่างกันในจำนวนผู้ที่ขอถอนตัวจากการรักษาเนื่องจากมีเหตุข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์จากยาต้านซึมเศร้าเทียบกับยาหลอกหรือไม่

บทสรุป

ผู้วิจัยยังไม่แน่ใจว่ายาต้านซึมเศร้าจะสามารถบรรเทาอาการปวดท้องของภาวะ FAPDs ในเด็กและวัยรุ่นได้หรือไม่ เนื่องจากการศึกษาที่รวบรวมมามีผู้เข้าร่วมน้อยมากและไม่ได้ดำเนินการโดยใช้วิธีการที่น่าเชื่อถือ และด้วยข้อมูลจากการศึกษาเหล่านี้ ผู้วิจัยจึงยังไม่สามารถหาข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับประสิทธิผลของยาต้านซึมเศร้าสำหรับปัญหานี้ได้ ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาที่ออกแบบมาให้ดีขึ้นและมีผู้เข้าร่วมวิจัยมากขึ้น

ความเป็นปัจจุบันของการทบทวนวรรณกรรมนี้เป็นอย่างไร

การทบทวนวรรณกรรมนี้รวบรวมงานวิจัยถึงเดือน กุมภาพันธ์ 2020

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

อาจไม่มีความแตกต่างระหว่างยาต้านซึมเศร้าและยาหลอกสำหรับความสำเร็จในการรักษา FAPD ในเด็ก และอาจไม่มีความแตกต่างในการถอนตัวเนื่องจากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ แต่ก็มีความเชื่อมั่นต่ำเช่นกัน ในขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนการรักษาทางคลินิกเกี่ยวกับการใช้ยากลุ่มนี้ ซึ่งการศึกษาเพิ่มเติมจำเป็นต้องพิจารณาถึงขนาดของประชากร,การวัดผลลัพธ์ที่ไปในทางเดียวกัน และมีระยะติดตามผลที่นานขึ้น

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

ภาวะปวดท้องโดยไม่มีโรคทางกาย (Functional Abdominal Pain Disorders; FAPDs) สร้างภาระอย่างมากให้กับผู้ป่วยเด็ก และส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต, การเข้าเรียนที่โรงเรียน และเพิ่มความวิตกกังวลและอัตราการเป็นภาวะซึมเศร้า โดยยังไม่มีแนวทางการรักษาที่เป็นสากลสำหรับภาวะนี้ การทบทวน Cochrane ก่อนหน้านี้ในปี 2011 ยังไม่พบหลักฐานที่สนับสนุนการใช้ยาต้านซึมเศร้าในภาวะนี้

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินหลักฐานในปัจจุบันถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาต้านซึมเศร้าสำหรับภาวะ FAPD ในเด็กและวัยรุ่น

วิธีการสืบค้น: 

ในการทบทวนครั้งนี้ ผู้วิจัยได้สืบค้นใน Cochrane Library , PubMed, MEDLINE, Embase, PsycINFO และทะเบียนการทดลองทางคลินิก 2 รายการตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2020 นอกจากนี้เรายังอัปเดตการค้นหาในฐานข้อมูลของการวิจัยอย่างต่อเนื่อง, รายการอ้างอิงและ 'grey literature' (การศึกษาที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์) ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2020

เกณฑ์การคัดเลือก: 

ผู้วิจัยได้รวบรวมการทดลองแบบ randomised controlled trials (RCTs) ที่เปรียบเทียบยาต้านซึมเศร้ากับยาหลอก, กับการไม่มีการรักษาใดๆ หรือกับการรักษาชนิดอื่นๆ ในเด็กอายุ 4 ถึง 18 ปีที่มีการวินิจฉัย FAPD ตาม Rome criteria หรือเกณฑ์วินิจฉัยอื่น ๆ (ตามที่กำหนดโดยผู้ดำเนินการทดลอง) ผลลัพธ์หลักที่น่าสนใจ ได้แก่ ความสำเร็จในการรักษา (ตามที่กำหนดโดยผู้วิจัย), ความรุนแรงของอาการปวด, ความถี่ของอาการปวด, และการถอนตัวเนื่องจากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้วิจัยสองคนได้ตรวจสอบรายการอ้างอิงทั้งหมดโดยอิสระต่อกัน และมีบุคคลที่สามในการตัดสินกรณีมีข้อคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน และได้ตรวจสอบการศึกษาที่เป็นไปได้ทั้งหมดในรูปแบบ full text และทำการตัดสินใจอีกครั้งอย่างอิสระต่อกันโดยหาฉันทามติกรณีมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน และดำเนินการแยกข้อมูลและประเมิน 'ความเสี่ยงของอคติ' โดยอิสระตามวิธีการของ Cochrane ในกรณีที่มีข้อมูลสอดคล้องกัน ผู้วิจัยจะทำการวิเคราะห์เมตต้าโดยใช้ random-effects model นอกจากนี้ยังได้ทำการวิเคราะห์ GRADE

ผลการวิจัย: 

ผู้วิจัยพบการศึกษาใหม่หนึ่งฉบับในการค้นหาที่อัปเดตนี้ ทำให้มีการศึกษาทั้งหมด 3 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 223 คน) ที่เข้าเกณฑ์คัดเลือก: 2 ฉบับ ใช้ยา amitriptyline (AMI) และอีก 1 ฉบับ ใช้ยา citalopram

สำหรับผลลัพธ์หลักในแง่ของความสำเร็จในการรักษา การศึกษา 2 ฉบับรายงานความสำเร็จตาม symptom-based Likert scale โดยใช้คะแนนที่ลดลง 2 จุดหรือคะแนนต่ำสุด 2 ระดับที่ถือว่ารักษาได้สำเร็จ การศึกษาฉบับที่ 3 ระบุถึงความสำเร็จของการรักษาว่ามีการเพิ่มระดับคะแนนคุณภาพชีวิต (QOL) ขึ้น 15% ดังนั้น การวิเคราะห์เมตต้าจึงไม่ได้รวมการศึกษาฉบับสุดท้ายนี้เนื่องจากความแตกต่างกันของการวัดผล จากหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำพบว่า อาจไม่มีความแตกต่างเมื่อเปรียบเทียบระหว่างยาต้านซึมเศร้ากับยาหลอก (risk ratio (RR) 1.17, 95% confidence interval (CI) 0.87 ถึง 1.56; 2 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 205 คน; I2 = 0%) โดยผู้วิจัยได้ลดระดับความน่าเชื่อถือของหลักฐานจากความไม่แม่นยำอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากข้อมูลกระจัดกระจายมาก (ดูสรุปผลการวิจัยในตารางที่ 1)

การศึกษาที่สามรายงานว่าผู้เข้าร่วมที่ได้รับยาต้านซึมเศร้ามีแนวโน้มอย่างมีนัยสำคัญมากกว่าผู้ที่ได้รับยาหลอกที่จะมีคะแนน QOL โดยรวมที่ดีขึ้นอย่างน้อย 15% ที่ 10 และ 13 สัปดาห์ (P = 0.007 และ P = 0.002 ตามลำดับ (ไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน))

จากการวิเคราะห์ไม่พบความแตกต่างในการถอนตัวเนื่องจากอาการไม่พึงประสงค์ระหว่างยาซึมเศร้าและยาหลอก: RR 3.17 (95% CI 0.65 ถึง 15.33) โดยมีความเชื่อมั่นต่ำมากเนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอคติในการศึกษา และความไม่แม่นยำเนื่องจากเหตุการณ์และจำนวนผู้เข้าร่วมวิจัยน้อย การวิเคราะห์ความไว (Sensitivity analysis) โดยใช้แบบจำลอง fixed-effect model และวิเคราะห์เฉพาะการใช้ยา AMI ก็ไม่พบการเปลี่ยนแปลงในผลลัพธ์นี้ และเนื่องจากการรายงานผลที่แตกต่างกันและมีอยู่อย่างจำกัด จึงไม่สามารถวิเคราะห์เมตต้านอกเหนือจากนี้ได้อีก

บันทึกการแปล: 

ผู้แปล นพ.จักรพงศ์ รู้ปิติวิริยะ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2021

Tools
Information