เราวิเคราะห์หลักฐานจากการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (การศึกษาทางคลินิกโดยสุ่มให้ผู้คนเข้ากลุ่มบำบัดหนึ่งในสองกลุ่มขึ้นไป) เพื่อตรวจสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโปรไบโอติกเพียงอย่างเดียวหรือร่วมกับวิธีการอื่น เช่น ยาหรือไม่ใช้ยา เพื่อป้องกันเบาหวานขณะตั้งครรภ์
เรื่องนี้มีประเด็นอย่างไร
GDM เป็นภาวะที่แม่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง โดยปกติมักเกิดหลังจากการตั้งครรภ์ 13 สัปดาห์ GDM แตกต่างจากโรคเบาหวานประเภท 2 ตรงที่ระดับน้ำตาลในเลือดเป็นปกติก่อนตั้งครรภ์และระดับมักจะกลับมาเป็นปกติหลังการตั้งครรภ์สิ้นสุดลง GDM เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการเป็นโรคเบาหวานประเภท 2 สตรีที่มี GDM มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นของความดันโลหิตสูง โดยมีโปรตีนในปัสสาวะ (ภาวะครรภ์เป็นพิษ) และการคลอดโดยใช้เครื่องมือหรือการผ่าตัดคลอด ทารกที่เกิดจากมารดาที่เป็น GDM มีแนวโน้มที่จะเกิดมาพร้อมกับน้ำหนักที่มากเกินเมื่อเทียบกับอายุครรภ์ โปรไบโอติกเป็น 'แบคทีเรียที่ดี' ซึ่งมักจะอยู่ในรูปของแคปซูลหรือเครื่องดื่มเพื่อเพิ่มแบคทีเรียในลำไส้ เราต้องพึ่งแบคทีเรียในกระเพาะอาหารของเราเพื่อช่วยย่อยอาหาร สร้างวิตามินบางชนิด ควบคุมระบบภูมิคุ้มกัน และทำให้เรามีสุขภาพดีโดยการปกป้องเราจากแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรค โปรไบโอติกสามารถเปลี่ยนการเผาผลาญของคนและมีบทบาทในการป้องกัน GDM
ทำไมเรื่องนี้จึงมีความสำคัญ
สตรีที่มีน้ำหนักเกิน หรือเป็นโรคอ้วน มี GDM ในการตั้งครรภ์ครั้งก่อน หรือมีสมาชิกในครอบครัวที่เป็นโรคเบาหวาน มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการเป็นโรค GDM การรักษา GDM ในปัจจุบัน รวมถึงการรับประทานอาหาร อาจจะมีการกินยาหรือไม่ได้กินยา แต่ไม่ได้สามารถป้องกันปัญหาที่เกี่ยวข้องกับ GDM ได้เสมอไป โปรไบโอติกอาจเป็นวิธีง่ายๆ ในการป้องกัน GDM การทบทวนวรรณกรรมครั้งนี้เพื่อพิจารณาว่ามีหลักฐานที่แสดงว่าสมมุติฐานนี้เป็นจริงหรือไม่
เราพบหลักฐานอะไร
เราค้นหาหลักฐานจากการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมในเดือนมีนาคม 2020 และพบการศึกษา 7 รายการที่เกี่ยวกับสตรีตั้งครรภ์ 1647 คน เปรียบเทียบโปรไบโอติกกับยาหลอก (การรักษาหลอก) การศึกษา 2 รายการ ศึกษาทั้งในสตรีที่มีน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วน, การศึกษา 2 รายการ ศึกษาในสตรีที่เป็นโรคอ้วน และการศึกษาอีก 3 รายการไม่ได้คัดสตรีออกตามเกณฑ์น้ำหนักของพวกเขา ความเสี่ยงโดยรวมของการมีอคติอยู่ในระดับต่ำ ยกเว้นการศึกษาหนึ่งที่ความเสี่ยงของการมีอคติไม่ชัดเจน
ยังไม่ชัดเจนว่าโปรไบโอติกมีผลต่อความเสี่ยงในการ เกิด GDM อย่างไรเนื่องจากผลการศึกษา 6 รายการ มีความหลากหลาย (สตรี 1440 คน, หลักฐานคุณภาพต่ำ) โปรไบโอติกเพิ่มความเสี่ยงในการเกิด ภาวะครรภ์เป็นพิษ (การศึกษา 4 รายการ, สตรี 955 คน; หลักฐานคุณภาพสูง) โปรไบโอติกสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยต่อความเสี่ยงที่จะต้อง ผ่าตัดคลอด (การศึกษา 6 รายการ, สตรี 1520 คน; หลักฐานคุณภาพสูง) และอาจทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์เพียงเล็กน้อยหรือไม่แตกต่างกัน (การศึกษา 4 รายการ, สตรี 853 คน; หลักฐานคุณภาพปานกลาง) หรือเสี่ยงต่อการคลอดทารกตัวใหญ่ (การศึกษา 4 รายการ, สตรี 919 คน; หลักฐานคุณภาพปานกลาง) ไม่มีการศึกษาใดที่รายงานข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงของการบาดเจ็บของฝีเย็บ (การบากเจ็บของฝีเย็บระหว่าง การคลอดทางช่องคลอดหรือแผลผ่าตัด (episiotomy)) ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด หรือการเกิดโรคเบาหวานตามมา
เราไม่ทราบว่าโปรไบโอติกมีผลต่อทารกที่มี ปัญหาทางการแพทย์หลังคลอดหรือไม่ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของผลลัพธ์ระหว่างการศึกษา (การศึกษา 2 รายการ, ทารก 623 คน; หลักฐานคุณภาพต่ำ) นอกจากนี้ยังไม่แน่ใจว่าโปรไบโอติกมีผลต่อการ เสียชีวิตของทารก (ก่อนคลอดหรือเป็นทารกแรกเกิด) อย่างไร (การศึกษา 3 รายการ, ทารก 709 คน; หลักฐานคุณภาพต่ำ), น้ำตาลในเลือดต่ำ (การศึกษา 2 รายการ, ทารก 586 คน; หลักฐานคุณภาพต่ำ) หรือ ไขมันในร่างกาย (การศึกษา 2 รายการ, ทารก 320 คน; หลักฐานคุณภาพต่ำ) ไม่มีการศึกษาใดรายงานข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงของทารกที่จะเป็นโรคเบาหวานหรือภาวะระยะยาวที่ส่งผลต่อพัฒนาการของสมอง
สิ่งนี้หมายความว่าอะไร
หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นในระดับต่ำจากการศึกษา 6 รายการ ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนถึงผลของโปรไบโอติกต่อความเสี่ยงของ GDM อย่างไรก็ตามหลักฐานคุณภาพสูงชี้ให้เห็นว่าโปรไบโอติกอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีหลักฐานของอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้โดยมีประโยชน์เพียงเล็กน้อยที่สังเกตได้จากการใช้โปรไบโอติกในการตั้งครรภ์อย่างแพร่หลาย
มีการศึกษา 8 รายการที่กำลังดำเนินการอยู่ซึ่งอาจช่วยให้ชัดเจนยิ่งขึ้นเกี่ยวกับผลของโปรไบโอติก นอกจากนี้ยังเป็นสิ่งสำคัญในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างโปรไบโอติกและภาวะครรภ์เป็นพิษเพิ่มเติม
หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นในระดับต่ำจากการทดลอง 6 รายการ ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนถึงผลของโปรไบโอติกต่อความเสี่ยงของ GDM อย่างไรก็ตามหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นในระดับสูงแสดงให้เห็นว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นของภาวะครรภ์เป็นพิษจากการให้โปรไบโอติก ไม่มีความแตกต่างที่ชัดเจนอื่นๆ ระหว่างโปรไบโอติกและยาหลอกในผลลัพธ์หลักอื่น ๆ ความเชื่อมั่นของหลักฐานสำหรับผลลัพธ์หลักของการทบทวนวรรณกรรมนี้อยู่ในระดับต่ำถึงสูง โดยมีการปรับลดระดับลงเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความแตกต่างอย่างมากระหว่างการศึกษา ค่า CI ที่กว้าง และอัตราการเกิดเหตุการณ์ที่ต่ำ
เนื่องจากความเสี่ยงต่ออันตรายและผลประโยชน์ที่สังเกตได้เพียงเล็กน้อย เราจึงขอให้ใช้ความระมัดระวังในการใช้โปรไบโอติกในระหว่างตั้งครรภ์
ผลที่ชัดเจนของโปรไบโอติกต่อภาวะครรภ์เป็นพิษควรได้รับการพิจารณาโดยเฉพาะ การศึกษา 8 รายการ กำลังดำเนินอยู่ และเราขอแนะนำให้การศึกษาเหล่านี้ใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษในการติดตามและตรวจสอบผลในเรื่องภาวะครรภ์เป็นพิษและความผิดปกติของความดันโลหิตสูงในการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ควรพิจารณาสรีรวิทยาที่เป็นไปได้ของความสัมพันธ์ระหว่างโปรไบโอติกและความเสี่ยงของการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ
โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (GDM) มีความสัมพันธ์กับผลลัพธ์ของการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์หลายประการสำหรับแม่และทารก การป้องกัน GDM โดยใช้การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตทำได้ยาก จุลชีพในลำไส้ (gut microbiome) (ส่วนประกอบของแบคทีเรียที่มีอยู่ในลำไส้) มีอิทธิพลต่อการอักเสบ การเผาผลาญกลูโคสและไขมันและในสภาพแวดล้อมอื่น ๆ ของแต่ละคน การเปลี่ยนแปลงของจุลชีพในกระเพาะอาหารแสดงให้เห็นว่ามีผลต่อการตอบสนองของคนเหล่านี้ โปรไบโอติกเป็นวิธีหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงจุลชีพในกระเพาะอาหาร แต่ไม่ค่อยมีใครรู้เกี่ยวกับการนำไปใช้ในการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมการเผาผลาญของการตั้งครรภ์ นี่คือการปรับปรุงของการทบทวนวรรณกรรมฉบับก่อนหน้าที่เผยแพร่ในปี 2014
เพื่อประเมินผลอย่างเป็นระบบของอาหารเสริมโปรไบโอติกที่ใช้เพียงอย่างเดียวหรือใช้ร่วมกับการแทรกแซงทางเภสัชวิทยาและไม่ใช่เภสัชวิทยาในการป้องกัน GDM
ผู้วิจัยได้สืบค้นหลักฐานจากฐานข้อมูล Pregnancy and Childbirth'sTrials Register, ClinicalTrials.gov, the WHO International Clinical Trials Registry Platform (ICTRP) (จนถึงวันที่ 20 มีนาคม 2020) และสืบค้นเอกสารอ้างอิงของรายงานการศึกษาที่สืบค้นได้
การทดลองแบบสุ่ม และแบบ cluster-randomised trials เปรียบเทียบการใช้โปรไบโอติกเสริมกับยาหลอกหรืออาหารเพื่อป้องกันการเกิด GDM การทดลองแบบ Cluster-randomised trials เข้าเกณฑ์การคัดเข้า แต่ในการสืบค้นไม่พบการทดลองดังกล่าว การศึกษาแบบ Quasi-randomised และ cross-over design ไม่ได้นำเข้ามาพิจารณาในการทบทวนนี้ การศึกษาที่นำเสนอเป็นบทคัดย่อโดยไม่มีรายงานผลการศึกษาฉบับเต็มถูกนำเข้ามาพิจารณาหากผู้เขียนการศึกษานั้นยืนยันว่าข้อมูลในบทคัดย่อมาจากการวิเคราะห์สุดท้าย มิฉะนั้นบทคัดย่อจะถูกจัดไวเพื่อรอการจัดหมวดหมู่
ผู้วิจัย 2 คน ประเมินการศึกษาตามเกณฑ์การคัดเข้า ดึงข้อมูล และประเมินความเสี่ยงของการมีอคติของการศึกษาที่คัดเข้ามาอย่างเป็นอิสระต่อกัน ข้อมูลที่ได้มาจะถูกตรวจสอบความถูกต้องด้วย
ในการทบทวนวรรณกรรมครั้งนี้เราได้รวมการทดลอง 7 รายการ โดยมีผู้เข้าร่วม 1647 คน การศึกษา 2 รายการ ศึกษาทั้งในสตรีที่มีน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วน, การศึกษา 2 รายการ ศึกษาในสตรีที่เป็นโรคอ้วน และการศึกษาอีก 3 รายการไม่ได้คัดสตรีออกตามเกณฑ์น้ำหนักของพวกเขา การศึกษาทั้งหมดเปรียบเทียบโปรไบโอติกกับยาหลอก การศึกษาที่นำเข้ามามีความเสี่ยงของการมีอคติโดยรวมต่ำ ยกเว้นการศึกษา 1 รายการ ที่มีความเสี่ยงของการมีอคติที่ไม่ชัดเจน เราคัดการศึกษา 2 รายการออก มีการศึกษา 8 รายการที่กำลังดำเนินการอยู่ และมีการศึกษา 3 รายการ ที่รอการจัดหมวดหมู่
การศึกษา 6 รายการ มีผู้เข้าร่วม 1440 คน ที่ประเมินความเสี่ยงของ GDM ไม่แน่ใจว่าโปรไบโอติกมีผลต่อความเสี่ยงของ GDM เมื่อเทียบกับยาหลอกหรือไม่ (อัตราส่วนความเสี่ยงเฉลี่ย (RR) 0.80, 95% confidence interval (CI) 0.54 ถึง 1.20; การศึกษา 6 รายการ, สตรี 1440 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ) หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำเนื่องจากมีความแตกต่างกันอย่างมาก และ มีค่า CI ที่กว้าง ซึ่งครอบคลุมทั้งประโยชน์ที่เห็นได้ชัดและอันตรายที่เห็นได้ชัด
โปรไบโอติกเพิ่มความเสี่ยงของ ภาวะครรภ์เป็นพิษ เมื่อเทียบกับยาหลอก (RR 1.85, 95% CI 1.04 ถึง 3.29; การศึกษา 4 รายการ, สตรี 955 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับสูง) และอาจเพิ่มความเสี่ยงของ ความดันโลหิตสูงในการตั้งครรภ์ (RR 1.39, 95% CI 0.96 ถึง 2.01, การศึกษา 4 รายการ, สตรี 955 คน) แม้ว่าค่า CIs สำหรับความผิดปกติของความดันโลหิตสูงในการตั้งครรภ์ยังบ่งบอกว่าโปรไบโอติกอาจไม่มีผล
มีความแตกต่างเล็กน้อยระหว่างกลุ่มสำหรับผลลัพธ์หลักอื่น ๆ โปรไบโอติกมีความเสี่ยงในการ ผ่าตัดคลอด เพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างกัน (RR 1.00, 95% CI 0.86 ถึง 1.17; การศึกษา 6 รายการ, สตรี 1520 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับสูง) และอาจสร้างความแตกต่างเล็กน้อยใน มารดา น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ (MD 0.30 กก., 95% CI –0.67 ถึง 1.26; การศึกษา 4 รายการ, สตรี 853 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับปานกลาง) โปรไบโอติกอาจสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างในอุบัติการณ์ของ ทารกที่ตัวโตเมื่อเทียบกับอายุครรภ์ (RR 0.99, 95% CI 0.72 ถึง 1.36; การศึกษา 4 รายการ, ทารก 919 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับปานกลาง) และอาจทำให้ ความอ้วนของทารกแรกเกิดแตกต่างกันเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างเลย (การศึกษา 2 รายการ, ทารก 320 คน, ไม่มีการรวมข้อมูล; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ) การศึกษา 1 รายการ รายงานความอ้วนเป็นมวลไขมัน (MD –0.04 กก., 95% CI –0.12 ถึง 0.04) และการศึกษา 1 รายการ รายงานความอ้วนเป็นเปอร์เซ็นต์ไขมัน (MD –0.10%, 95% CI –1.19 ถึง 0.99) เราไม่ทราบผลของโปรไบโอติกต่อ การเสียชีวิตของทารก ในครรภ์ (RR 0.33, 95% CI 0.01 ถึง 8.02; การศึกษา 3 รายการ, ทารก 709 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ), การวัดความเจ็บป่วยของทารกแรกเกิด แบบผสม (RR 0.69, 95% CI 0.36 ถึง 1.35; การศึกษา 2 รายการ, ทารก 623 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ) หรือ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในทารกแรกเกิด (mean RR 1.15, 95% CI 0.69 ถึง 1.92; การศึกษา 2 รายการ, ทารก 586 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ) ไม่มีการศึกษาที่รายงานเกี่ยวกับการบาดเจ็บของฝีเย็บ ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด การเกิดโรคเบาหวานของมารดาและทารก หรือความพิการทางระบบประสาท
แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว