ใจความสำคัญ
Videolaryngoscopy อาจเพิ่มความสำเร็จในการใส่ท่อช่วยหายใจในความพยายามครั้งแรก และอาจส่งผลให้ผู้ให้บริการดูแลใข้จำนวนครั้งลงเล็กน้อยในการใส่ท่อช่วยหายใจในทารกแรกเกิดที่ป่วย แต่ไม่ได้ลดระยะเวลาที่ใช้ในการใส่ท่อช่วยหายใจ
Videolaryngoscopy อาจส่งผลให้ทางเดินหายใจของทารกแรกเกิดบาดเจ็บน้อยลงเล็กน้อยขณะใส่ท่อหายใจ
เราต้องการการศึกษาที่ดีขึ้นเพื่อทำความเข้าใจบทบาทของ videolaryngoscopy ในพื้นที่ปฏิบัติงานที่แตกต่างกันและกับผู้ให้บริการดูแลที่แตกต่างกันที่ทำการใส่
ปัญหาคืออะไร
ทารกแรกเกิด 1 ใน 100 คนอาจต้องใส่ท่อช่วยหายใจไว้ในปากหรือจมูกเพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้เมื่อหายใจลำบาก การใส่ท่อช่วยหายใจโดยใช้ direct laryngoscopy (โดยไม่ต้องใช้วิดีโอช่วย) อาจเป็นเรื่องท้าทายในทารกแรกเกิด เนื่องจากปากและทางเดินหายใจมีขนาดเล็ก และไม่ใช่ผู้ให้บริการดูแลทุกคนจะมีประสบการณ์
Videolaryngoscopy คืออะไร
การดูทางเดินหายใจด้วยวิดีโอขณะใส่ท่อหายใจเรียกว่า videolaryngoscopy นี่อาจทำให้การวางท่อหายใจทำได้ง่ายและปลอดภัยยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังอาจช่วยผู้เข้ารับการฝึกอบรมเมื่อพวกเขาเรียนรู้ทักษะการช่วยชีวิตนี้
เราต้องการค้นหาอะไร
เราต้องการทราบว่าการใช้ videolaryngoscopy เพิ่มความสำเร็จและความปลอดภัยของการวางท่อหายใจเมื่อเทียบกับเทคนิค direct laryngoscopy ในทารกที่มีอายุ 0 ถึง 28 วันหรือไม่
เราทำอะไร
เราค้นหาการศึกษาที่พยายามค้นหาว่าอุปกรณ์วิดีโอดีกว่าวิธีมาตรฐานที่ไม่ต้องใช้วิดีโอช่วย (การส่องกล้องโดยตรง) ในการใส่ท่อช่วยหายใจในทารกหรือไม่ การศึกษาสามารถวัดเวลา จำนวนครั้งของการใส่ อัตราความสำเร็จของความพยายามครั้งแรกในการใส่ท่อช่วยหายใจ หรือผลข้างเคียง
เราเปรียบเทียบและสรุปผลการศึกษาและให้คะแนนความเชื่อมั่นในหลักฐาน โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น วิธีการศึกษาและขนาด
เราพบอะไร
เราพบการศึกษา 8 ฉบับ ที่เข้าเกณฑ์ ซึ่งรวมการพยายามใส่ท่อช่วยหายใจ 759 ครั้งในทารกแรกเกิด การศึกษาสามารถวัดเวลา จำนวนครั้งของความพยายามใส่ อัตราความสำเร็จของความพยายามครั้งแรกในการใส่ท่อช่วยหายใจ และผลข้างเคียง สรุป:
Videolaryngoscopy อาจเพิ่มความสำเร็จในการใส่ท่อช่วยหายใจในความพยายามครั้งแรก และอาจส่งผลให้ผู้ให้บริการดูแลใข้จำนวนครั้งลงเล็กน้อยในการใส่ท่อช่วยหายใจในทารกแรกเกิดที่ป่วย แต่ไม่ได้ลดระยะเวลาที่ใช้ในการใส่ท่อช่วยหายใจ
Videolaryngoscopy อาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อจำนวนทารกที่มีภาวะออกซิเจนต่ำหรืออัตราการเต้นของหัวใจต่ำ (หรือทั้งสองอย่าง) ในขณะที่ใส่ท่อช่วยหายใจ แต่หลักฐานไม่เชื่อมั่นมากนัก Videolaryngoscopy อาจส่งผลให้ระดับออกซิเจนต่ำสุดแตกต่างกันเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในขณะที่ใส่ท่อหายใจ
Videolaryngoscopy อาจส่งผลให้ทางเดินหายใจของทารกแรกเกิดบาดเจ็บน้อยลงเล็กน้อยขณะใส่ท่อหายใจ
ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับผลเสียอื่นๆ ในขณะที่ใส่ท่อช่วยหายใจ
ข้อจำกัดของหลักฐานคืออะไร
เราพบว่าการศึกษาที่รวบรวมมีขนาดเล็ก เราไม่สามารถประเมินความเสี่ยงของอคติในบางการศึกษา และผลการศึกษาก็แตกต่างกันไป ผู้ดูแลที่ใส่ท่อช่วยหายใจรู้ว่ากำลังใช้อุปกรณ์ใดอยู่ สิ่งนี้จะลดความเชื่อมั่นของเราที่มีต่อผลการทบทวนวรรณกรรม และผลการวิจัยเพิ่มเติมอาจแตกต่างไปจากผลของการทบทวนวรรณกรรมนี้
มีการสนับสนุนด้านเงินทุนและอุปกรณ์ในการศึกษาบางส่วนที่รวบรวมไว้ ในบางกรณี แหล่งเงินทุนและ declarations of interest ไม่ได้ระบุไว้
หลักฐานนี้เป็นปัจจุบันแค่ไหน
หลักฐานเป็นปัจจุบันถึงเดือนพฤศจิกายน 2022
Videolaryngoscopy อาจเพิ่มความสำเร็จของการใส่ท่อช่วยหายใจในการพยายามครั้งแรก และอาจทำให้จำนวนครั้งในการใส่ท่อช่วยหายใจน้อยลง แต่อาจไม่ลดเวลาที่ใช้ในการช่วยหายใจได้สำเร็จ (หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) videolaryngoscopy มีแนวโน้มที่จะลดอุบัติการณ์ของผลข้างเคียงที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ (หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง)
ผลลัพธ์เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า videolaryngoscop อาจมีประสิทธิผลมากกว่าและอาจลดอันตรายเมื่อเปรียบเทียบกับ direct laryngoscopy สำหรับการใส่ท่อช่วยหายใจในทารกแรกเกิด
RCTS ที่ออกแบบอย่างดีและมีขนาดตัวอย่างเพียงพอเป็นสิ่งจำเป็นในการยืนยันประสิทธิภาพและความปลอดภัยของ videolaryngoscopy ในการใส่ท่อช่วยหายใจในทารกแรกเกิด
การเปิดทางเดินหายใจที่ปลอดภัยเป็นส่วนสำคัญของการช่วยชีวิตทารกแรกเกิดในห้องคลอดและหออภิบาลทารกแรกเกิด videolaryngoscopy มีศักยภาพในการอำนวยความสะดวกในการใส่ท่อช่วยหายใจได้สำเร็จ และลดผลที่ตามมาของความล่าช้าในการทำให้ระบบทางเดินหายใจคงที่ videolaryngoscopy อาจช่วยเพิ่มการมองเห็นของสายเสียงและการใส่ท่อช่วยหายใจในทารกแรกเกิด นี่คือการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมที่เผยแพร่ครั้งแรกในปี 2015 และปรับปรุงในปี 2018
เพื่อประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยของ videolaryngoscopy เทียบกับ direct laryngoscopy ในการลดเวลาและจำนวนครั้งที่จำเป็นสำหรับการใส่ท่อช่วยหายใจ และเพิ่มอัตราความสำเร็จในการพยายามใส่ท่อช่วยหายใจครั้งแรกในทารกแรกเกิด (อายุ 0 ถึง 28 วัน)
ในเดือนพฤศจิกายน 2022 เราได้ปรับปรุงการค้นหาการทดลองที่ประเมินการส่องกล้องวิดีโอสำหรับการใส่ท่อช่วยหายใจในทารกแรกเกิดใน CENTRAL, MEDLINE, Embase, CINAHL และ BIOSIS นอกจากนี้ เรายังค้นหาบทคัดย่อของ Pediatric Academic Societies สำนักทะเบียนการทดลองทางคลินิก ( www.clinicaltrials.gov ; www.controlled-trials.com ) และรายการอ้างอิงของการศึกษาที่เกี่ยวข้อง
การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) quasi-RCTs, cluster-RCTs หรือ cross-over trials ในทารกแรกเกิด (อายุ 0 ถึง 28 วัน) ประเมิน videolaryngoscopy ด้วยอุปกรณ์ใดๆ ที่ใช้สำหรับการใส่ท่อช่วยหายใจ เปรียบเทียบกับ direct laryngoscopy
ผู้ประพันธ์การทบทวน 3 คนดำเนินการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลตามคำแนะนำของ Cochrane Neonatal ผู้ประพันธ์การทบทวนวรรณกรรม 2 คนประเมินการศึกษาทั้งหมดที่พบโดยการค้นหาเพื่อรวมในการทบทวนวรรณกรรมอย่างอิสระต่อกัน
เราใช้วิธี GRADE เพื่อประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐาน
การค้นหาที่ปรับปรุงแล้วได้เอกสารอ้างอิง 7786 รายการ ซึ่งเราพบ RCTs เพิ่มเติม 5 ฉบับ มีการทดลอง 7 ฉบับ ที่กำลังดำเนินการ และการศึกษา 5 ฉบับที่กำลังรอการจัดประเภท มีการศึกษา 3 ฉบับ รวมอยู่ในการทบทวนวรรณกรรมฉบับก่อนหน้า สำหรับการปรับปรุงนี้ เราได้รวมการศึกษา 8 ฉบับ ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับการพยายามใส่ท่อช่วยหายใจ 759 ครั้งในทารกแรกเกิด เรารวมทารกแรกเกิดทั้งสองเพศซึ่งอยู่ระหว่างการใส่ท่อช่วยหายใจในโรงพยาบาลนานาชาติ มีการใช้อุปกรณ์ videolaryngoscopy ที่แตกต่างกัน (ประกอบด้วย C-MAC, Airtraq และ Glidescope) ในการศึกษา
สำหรับผลลัพธ์หลัก videolaryngoscopy อาจไม่ลดเวลาที่จำเป็นสำหรับการใส่ท่อช่วยหายใจสำเร็จเมื่อเปรียบเทียบกับ direct laryngoscopy (ความแตกต่างเฉลี่ย [MD] 0.74, ช่วงความเชื่อมั่น 95% [CI] -0.19 ถึง 1.67; การศึกษา 5 ฉบับ; การใส่ท่อช่วยหายใจ 505 ครั้ง; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) videolaryngoscopy อาจทำให้จำนวนครั้งในการใส่ท่อช่วยหายใจน้อยลง (MD -0.08, 95% CI -0.15 ถึง 0.00; การศึกษา 6 ฉบับ; การใส่ท่อช่วยหายใจ 659 ครั้ง; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) Videolaryngoscopy อาจเพิ่มความสำเร็จของการใส่ท่อช่วยหายใจในการพยายามครั้งแรก (risk ratio [RR] 1.24, 95% CI 1.13 ถึง 1.37; risk difference [RD] 0.14, 95% CI 0.08 ถึง 0.20; จำนวนครั้งที่จำเป็นในการรักษาเพื่อผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์เพิ่มเติม [ NNTB] 7, 95% CI 5 ถึง 13; การศึกษา 8 ฉบับ; การพยายามใส่ท่อช่วยหายใจ 759 ครั้ง; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ)
สำหรับผลลัพธ์รอง หลักฐานมีความไม่เชื่อมั่นอย่างมากเกี่ยวกับผลของ videolaryngoscopy ต่อภาวะ desaturation หรือ bradycardia episode หรือทั้งสองอย่าง ระหว่างการใส่ท่อช่วยหายใจ (RR 0.94, 95% CI 0.38 ถึง 2.30; การศึกษา 3 ฉบับ; การใส่ท่อช่วยหายใจ 343 ครั้ง; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) videolaryngoscopy อาจส่งผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างในความอิ่มตัวของออกซิเจนต่ำสุดระหว่างการใส่ท่อช่วยหายใจ เมื่อเทียบกับ direct laryngoscopy (MD -0.76, 95% CI -5.74 ถึง 4.23; การศึกษา 2 ฉบับ; การใส่ท่อช่วยหายใจ 359 ครั้ง; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) videolaryngoscopy อาจส่งผลให้อุบัติการณ์ของการบาดเจ็บทางเดินหายใจลดลงเล็กน้อยระหว่างการพยายามใส่ท่อช่วยหายใจ เมื่อเทียบกับ direct laryngoscopy (RR 0.21, 95% CI 0.05 ถึง 0.79; RD -0.04, 95% CI -0.07 ถึง -0.01; NNTB 25, 95% CI 14 ถึง 100; การศึกษา 5 ฉบับ การใส่ท่อช่วยหายใจ 467 ครั้ง หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง)
ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับผลข้างเคียงอื่นๆ ของ videolaryngoscopy เราพบว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะมีอคติในด้านของ allocation concealment และ performance bias ในการศึกษาที่รวบรวมไว้
แปลโดย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อ วันที่ 28 พฤษภาคม 2023