ประเด็นคืออะไร
ผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง (CKD) มีการทำงานของไตลดลงซึ่งคงอยู่เมื่อเวลาผ่านไป ผู้ที่เป็นโรคไตวายเรื้อรังมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเป็นโรคหัวใจและการทำงานของไตแย่ลง ซึ่งอาจนำไปสู่ความจำเป็นในการฟอกไตหรือการปลูกถ่ายไตเพื่อความอยู่รอด การบริโภคเกลือในปริมาณมากนั้นเชื่อมโยงกับปัจจัยเสี่ยงสำหรับทั้งโรคหัวใจและการทำงานของไตที่แย่ลง รวมถึงความดันโลหิตสูง โปรตีนส่วนเกินในปัสสาวะ และของเหลวที่มากเกินไป ดังนั้นการลดการบริโภคเกลืออาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและรักษาการทำงานของไต เรามีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินประโยชน์และโทษของการลดการบริโภคเกลือสำหรับผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง
เราทำอะไร
เราสืบค้นหลักฐานจนถึงเดือนตุลาคม 2020 เพื่อค้นหาการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม ซึ่งเปรียบเทียบปริมาณเกลือที่บริโภคตั้งแต่ 2 ระดับขึ้นไปในผู้ใหญ่ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง ซึ่งรวมถึงผู้ที่อยู่ใน CKD ระยะเริ่ม ผู้ที่รับการรักษาด้วยการฟอกไต และผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายไต
เราพบอะไร
เราพบการศึกษา 21 รายการ ที่รวมผู้ใหญ่ 1197 คนที่เป็นโรคไตเรื้อรัง (725 ในกลุ่มเกลือต่ำและ 725 คนในกลุ่มเกลือสูง) ผู้เข้าร่วมการศึกษารวมถึงผู้ใหญ่ที่อยู่ใน CKD ระยะเริ่มต้น (779 คนใน 12 การศึกษา) ผู้ใหญ่ที่อยู่ในการฟอกไต (363 คนใน 7 การศึกษา) และผู้รับการปลูกถ่ายไตในวัยผู้ใหญ่ (55 คนใน 2 การศึกษา) ระยะเวลาการศึกษาโดยเฉลี่ยคือ 7 สัปดาห์ ตั้งแต่ 1 ถึง 36 สัปดาห์ เราไม่พบการศึกษาใดๆ ที่วัดผลต่อ อุบัติการณ์การเสียชีวิต โรคหัวใจ หรือความจำเป็นในการฟอกไตหรือการปลูกถ่ายไต แต่เราพบการศึกษาที่วัดปัจจัยเสี่ยงสำหรับผลลัพธ์เหล่านี้
เราพบว่าการลดการบริโภคเกลือช่วยลดความดันโลหิตและโปรตีนในปัสสาวะในผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง การลดการบริโภคเกลืออาจลดปริมาตรของเหลวนอกเซลล์ในระยะเริ่มของ CKD หลักฐานมีความไม่เชื่อมั่นอย่างมากเกี่ยวกับผลต่อน้ำหนักตัวและการลดลงของยาลดความดันโลหิต ผลต่อมาตรวัดการทำงานของไตมีความต่างกัน การบริโภคเกลือที่น้อยลงอาจเพิ่มอาการวิงเวียนศีรษะเนื่องจากความดันโลหิตต่ำ
ข้อสรุป
เราพบว่าการลดการบริโภคเกลือลดปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจ และทำให้การทำงานของไตแย่ลงในผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังในระยะสั้น เราไม่พบหลักฐานของผลระยะยาวของการลดการบริโภคเกลือ ซึ่งหมายความว่าเราไม่สามารถบอกผลโดยตรงของการบริโภคเกลือต่อการเสียชีวิต โรคหัวใจ หรือความจำเป็นในการฟอกไตหรือการปลูกถ่ายไต เราต้องการการวิจัยคุณภาพสูงในด้านนี้มากขึ้น
เราพบหลักฐานความเชื่อมั่นสูงว่าการลดเกลือช่วยลดความดันโลหิตในผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง และภาวะ albuminuria ในผู้ที่เป็นโรคไตในระยะแรกเริ่มในระยะสั้น หากการลดลงดังกล่าวสามารถคงรักษาไว้ได้ในระยะยาว ผลกระทบนี้อาจแปลเป็นการลดลงที่มีนัยสำคัญทางคลินิกในการลุกลามของ CKD และเหตุการณ์หัวใจและหลอดเลือด การวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบระยะยาวของอาหารที่จำกัดโซเดียมสำหรับผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น
หลักฐานบ่งชี้ว่าการลดเกลือในอาหารอาจลดอุบัติการณ์ของโรคหัวใจและชะลอการทำงานของไตในผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง (CKD) นี่คือการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมที่เผยแพร่ครั้งแรก ในปี 2015
เพื่อประเมินประโยชน์และโทษของการเปลี่ยนเกลือในอาหารสำหรับผู้ใหญ่ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง
เราสืบค้น Cochrane Kidney and Transplant Register of Studies จนถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2020 ผ่านการติดต่อกับผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลโดยใช้ข้อความค้นหาที่เกี่ยวข้องกับการทบทวนวรรณกรรมนี้ โดยการศึกษาเหล่านี้อยู่ในฐานข้อมูลของ CENTRAL, MEDLINE และ EMBASE, conference proceedings, the International Clinical Trials Register (ICTRP) Search Portal และ ClinicalTrials.gov
การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม เปรียบเทียบการบริโภคเกลือตั้งแต่ 2 ระดับขึ้นไปในผู้ใหญ่ที่มีโรคไตเรื้อรังในทุกระยะ
ผู้ประพันธ์ 2 คนประเมินการศึกษาเพื่อการคัดเลือกเข้า, ดำเนินการประเมินความเสี่ยงของการมีอคติ และประเมินความเชื่อมั่นในหลักฐานโดยใช้ GRADE อย่างอิสระ ผู้วิจัยได้สรุปผลลัพธ์ชนิด dichotomous outcomes เป็น risk ratios (RR) ส่วนข้อมูลต่อเนื่องสรุปเป็น mean differences (MD) กับ 95% confidence intervals (CI)
เรารวมการศึกษา 21 รายการ (ผู้เข้าร่วมแบบสุ่ม 1197 คน), มีการศึกษา 12 รายการ ที่ศึกษาในผู้ป่วย CKD ระยะเริ่ม (ผู้เข้าร่วมแบบสุ่ม 779 คน), การศึกษา 7 รายการ ศึกษาในผู้ป่วยฟอกไต (ผู้เข้าร่วมแบบสุ่ม 363 คน) และ การศึกษา 2 รายการ ศึกษาในกลุ่มหลังปลูกถ่าย (ผู้เข้าร่วมแบบสุ่ม 55 คน) Selection bias ต่ำในการศึกษา 7 รายการ, สูงใน 1 รายการ และไม่ชัดเจนใน 13 รายการ Performance และ detection bias ต่ำในการศึกษา 4 รายการ สูงใน 2 รายการ และไม่ชัดเจนใน 15 รายการ Attrition และ reporting biases ต่ำในการศึกษา 10 รายการ สูงใน 3 รายการ และไม่ชัดเจนใน 8 รายการ
เนื่องจากระยะเวลาของการศึกษาที่รวบรวมมานั้นสั้นเกินไป (1 ถึง 36 สัปดาห์) ที่จะทดสอบผลของการจำกัดเกลือต่อจุดยุติ เช่น การเสียชีวิต เหตุการณ์หัวใจและหลอดเลือด หรือความก้าวหน้าของ CKD, การเปลี่ยนแปลงของปริมาณเกลือต่อความดันโลหิตและปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ
ลดเกลือโดยเฉลี่ย -73.51 มิลลิโมล/วัน (95% CI -92.76 ถึง -54.27) เทียบเท่ากับโซเดียม 4.2 ก. หรือ 1690 มก./วัน, ลดความดันโลหิตซิสโตลิก/ไดแอสโตลิก -6.91/-3.91 มม. ปรอท (95% CI -8.82 ถึง -4.99 / 4.80 ถึง -3.02; การศึกษา 19 รายการ, ผู้เข้าร่วม 1405 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นสูง) Albuminuria ลดลง 36% (95% CI 26 ถึง 44) ในการศึกษา 6 รายการ โดย 5 รายการดำเนินการในผู้ป่วยที่เป็นโรคไตในระยะเริ่ม (MD -0.44, 95% CI -0.58 ถึง -0.30; ผู้เข้าร่วม 501 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นสูง) หลักฐานมีความไม่เชื่อมั่นอย่างมากเกี่ยวกับผลของการบริโภคเกลือที่ลดลงต่อน้ำหนัก จากการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักที่สังเกตได้ (-1.32 กก., 95% CI -1.94 ถึง -0.70; การศึกษา 12 รายการ, ผู้เข้าร่วม 759 คน) อาจเกิดจากปริมาณของเหลว, lean tissue หรือไขมันในร่างกาย ปริมาณเกลือที่ลดลงอาจลดปริมาตรของเหลวนอกเซลล์ในผู้ป่วย CKD ระยะเริ่ม (-0.87 L, 95% CI -1.17 ถึง -0.58; การศึกษา 3 รายการ; ผู้เข้าร่วม 187 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) หลักฐานมีความไม่เชื่อมั่นอย่างมากเกี่ยวกับผลของการบริโภคเกลือที่ลดลง ต่อการลดขนาดยาลดความดันโลหิต (RR 2.45, 95% CI 0.98 ถึง 6.08; 8 การศึกษา; ผู้เข้าร่วม 754 คน) ปริมาณเกลือที่น้อยลงอาจนำไปสู่ความดันเลือดต่ำที่มีอาการ (RR 6.70, 95% CI 2.40 ถึง 18.69; 6 การศึกษา; ผู้เข้าร่วม 678 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) ข้อมูลมีน้อยสำหรับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ประเภทอื่น
แปลโดย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 27 มิถุนายน 2021