ประเด็นสำคัญ
การเคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำส่งผลดีต่อสุขภาพมากมายต่อผู้ที่เป็นโรคมะเร็งและผู้ที่รอดจากโรคมะเร็ง เช่น คุณภาพชีวิตและการทำงานของร่างกายที่ดีขึ้น การออกกำลังกายอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งซ้ำและการเสียชีวิตจากมะเร็งได้ เนื่องจากผู้รอดชีวิตจากโรคมะเร็งส่วนใหญ่ไม่ได้ออกกำลังกายเป็นประจำ จึงมีความจำเป็นต้องทำความเข้าใจถึงการส่งเสริมที่ดีที่สุดและกระตุ้นการออกกำลังกายเป็นประจำในประชากรกลุ่มนี้
จุดมุ่งหมายของการทบทวนวรรณกรรม
เพื่อทำความเข้าใจว่าวิธีใดมีประสิทธิผลมากที่สุดในการปรับปรุงและรักษาพฤติกรรมการออกกำลังกายในผู้ที่เป็นมะเร็งและผู้รอดชีวิตจากมะเร็ง
ลักษณะของการศึกษา
เราได้รวมเฉพาะการศึกษาที่เปรียบเทียบกลุ่มที่มีการออกกำลังกายกับกลุ่มที่ได้รับการดูแลปกติหรือการควบคุม 'waiting list' เฉพาะการศึกษาที่รวมผู้ที่มีพฤติกรรมเนือยนิ่งอายุมากกว่า 18 ปี และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งชนิดเดียวกันเท่านั้นที่มีสิทธิ์เข้าร่วม ผู้เข้าร่วมจะต้องได้รับการจัดสรรให้เข้ากลุ่มที่รับการออกกำลังกายหรือกลุ่มที่ได้รับการดูแลตามปกติแบบสุ่ม เราค้นหาหลักฐานจากฐานข้อมูลการวิจัยตั้งแต่ปี ค.ศ. 1946 ถึงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2018
การค้นพบหลักคืออะไร
เรารวมการศึกษาทั้งหมด 23 ฉบับซึ่งมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 1372 ราย หลักฐานชี้ให้เห็นว่าการศึกษาการออกกำลังกายที่ผนวกองค์ประกอบของการควบคุมดูแลสามารถช่วยผู้รอดชีวิตจากโรคมะเร็งได้ อย่างไรก็ตาม เรายังคงมีความเข้าใจที่ไม่ดีนักในการส่งเสริมการออกกำลังกายในระยะยาว (มากกว่า 6 เดือน) มีข้อกังวลบางประการว่าการวิจัยไม่ได้รับการรายงานอย่างชัดเจนเท่าที่ควร เราพบว่าการกำหนดเป้าหมาย การจัดระดับกิจกรรมทางกาย และการให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการออกกำลังกายช่วยให้ผู้คนออกกำลังกายได้อย่างมีประโยชน์ นอกจากนี้ เรายังพบหลักฐานบางอย่างที่ระบุว่าผู้ที่ออกกำลังกายตามระดับที่แนะนำจะมีสุขภาพแข็งแรงขึ้นนานถึง 6 เดือน
คุณภาพของหลักฐานงานวิจัย
ปัญหาหลักที่เราพบเกี่ยวกับคุณภาพของการศึกษาวิจัยในการทบทวนครั้งนี้ ได้แก่ ไม่ทราบว่าผู้วิจัยดำเนินการสุ่มตัวอย่างการทดลองอย่างไร และไม่ทราบว่าผู้วิจัยที่ทำการประเมินการทดลองทราบหรือไม่ว่าบุคคลที่ตนประเมินได้รับการสุ่มเลือกเข้ากลุ่มใด พบว่าคุณภาพของหลักฐานจากการศึกษาดังกล่าวต่ำ เนื่องจากการทดลองส่วนใหญ่มักมีผู้เข้าร่วมน้อย
ข้อสรุปคืออะไร
ข้อสรุปหลักจากการทบทวนนี้คือการออกกำลังกายโดยทั่วไปถือว่าปลอดภัยสำหรับผู้รอดชีวิตจากโรคมะเร็ง เรามีความเข้าใจที่ดีขึ้นในการส่งเสริมให้ผู้รอดชีวิตจากโรคมะเร็งออกกำลังกายตามคำแนะนำ อย่างไรก็ตาม ยังขาดหลักฐานในการส่งเสริมการออกกำลังกายให้ผู้รอดชีวิตจากมะเร็งเกินกว่า 6 เดือน
นับตั้งแต่การทบทวนครั้งล่าสุดนี้ ไม่มีการศึกษาใหม่ที่เกี่ยวข้องใดให้ข้อมูลเพิ่มเติมที่ทำให้ข้อสรุปเปลี่ยนแปลง เราพบว่ามีความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับวิธีการสนับสนุนให้ผู้รอดชีวิตจากมะเร็งก่อนหน้านี้ที่ไม่ได้ทำกิจกรรมทางกายเลยให้บรรลุแนวปฏิบัติการออกกำลังกายตามสากลได้ การกำหนดเป้าหมาย การกำหนดงานแบบแบ่งเกรด และการให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติ นำเสนอในการแทรกแซงที่ตรงตามเป้าหมายคำแนะนำ และรายงานการปฏิบัติตาม 75% ขึ้นไป อย่างไรก็ตาม ข้อมูลการติดตามในระยะยาวยังคงมีจำกัด และการศึกษาส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้หญิงผิวขาวที่เป็นมะเร็งเต้านม ยังคงมีงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์จำนวนมากที่มีความเสี่ยงของอคติสูงและหลากหลายและมาตรฐานการรายงานที่ไม่ดี นอกจากนี้ การวิเคราะห์แบบเมตต้าประกอบด้วยหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำถึงต่ำมาก มีรายงานผลข้างเคียงร้ายแรงเพียงเล็กน้อยในระหว่างการศึกษา แต่สามารถมั่นใจได้ว่าการออกกำลังกายมีความปลอดภัยสำหรับประชากรกลุ่มนี้
นี่คือฉบับปรับปรุงของ Cochrane Review จากต้นฉบับที่ตีพิมพ์ใน Cochrane Library ปี 2013, ฉบับที่ 9 แม้ว่าจะมีหลักฐานที่ดีเกี่ยวกับประโยชน์ต่อสุขภาพของการออกกำลังกายสม่ำเสมอสำหรับผู้ที่เป็นมะเร็งหรือผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งอยู่แล้ว แต่ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการออกกำลังกายอย่างยั่งยืนสำหรับผู้รอดชีวิตจากมะเร็งที่ออกกำลังกายไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในระยะยาวนั้นยังไม่เป็นที่เข้าใจดีนัก คนส่วนใหญ่ที่เป็นหรือกำลังฟื้นตัวจากโรคมะเร็งไม่ได้ออกกำลังกายตามที่ได้รับการแนะนำ ดังนั้น การทบทวนหลักฐานเกี่ยวกับวิธีส่งเสริมและประคับประคองพฤติกรรมการออกกำลังกายให้ยั่งยืนจึงมีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจกลยุทธ์ที่มีประสิทธิผลสูงสุดเพื่อให้แน่ใจว่าเกิดประโยชน์ต่อกลุ่มผู้ป่วยและระบุช่องโหว่ในการวิจัย
เพื่อประเมินผลของวิธีการที่ออกแบบมาเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมการออกกำลังกายในผู้ป่วยมะเร็งหรือผู้ป่วยที่หายจากมะเร็งแล้วและมีพฤติกรรมเนือยนิ่งและเพื่อตอบคำถามรองต่อไปนี้: วิธีการใดที่มีประสิทธิผลสูงสุดในการเพิ่มสมรรถภาพการออกกำลังกายแบบแอโรบิก ความแข็งแรงและความทนทานของกล้ามเนื้อ วิธีการใดที่มีประสิทธิผลมากที่สุดในการเพิ่มพฤติกรรมการออกกำลังกายในหมู่ผู้ป่วยโรคมะเร็งชนิดต่างๆ วิธีการใดมีแนวโน้มสูงสุดที่จะส่งเสริมพฤติกรรมการออกกำลังกายในระยะยาว (12 เดือนหรือมากกว่านั้น) ความถี่เท่าใดของการติดต่อกับผู้เชี่ยวชาญด้านการออกกำลังกายและ/หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพที่ส่งผลให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมการออกกำลังกายเพิ่มขึ้น พื้นฐานทางทฤษฎีใดที่เชื่อมโยงกับผลลัพธ์ด้านพฤติกรรมที่ดีขึ้นมากที่สุด เทคนิคการเปลี่ยนพฤติกรรม (behaviour change techniques; BCT) ใดที่มักเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการออกกำลังกายที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด การออกกำลังกายตามวิธีต่างๆ มีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง
เราใช้ระเบียบวิธีการมาตรฐานที่ Cochrane กำหนดไว้ เราปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ Cochrane ปี 2013 โดยอัปเดตการค้นหาในฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ต่อไปนี้: Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL) ใน The Cochrane Library, MEDLINE, Embase, AMED, CINAHL, PsycLIT/PsycINFO, SportDiscus และ PEDro จนถึงพฤษภาคม 2018 นอกจากนี้ เรายังค้นหาเอกสารทางวิชาการ ทะเบียนการทดลอง เขียนจดหมายถึงผู้เชี่ยวชาญชั้นนำในสาขานี้ และค้นคว้าในรายการอ้างอิงของการศึกษาที่รวมอยู่ในนั้น และการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องล่าสุด
เรารวบรวมเฉพาะการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (randomised controlled trials; RCT) ที่เปรียบเทียบการออกกำลังกายกับการดูแลปกติหรือ "waiting list" ในผู้ที่อายุมากกว่า 18 ปีและมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง ที่ได้รับการวินิจฉัยมะเร็งขั้นต้นแบบเดียวกัน
ในการปรับปรุงนี้ ผู้เขียนได้คัดกรองชื่อเรื่องและบทคัดย่อทั้งหมดอย่างเป็นอิสระต่อกัน เพื่อระบุการศึกษาที่อาจตรงตามเกณฑ์การรวบรวม หรือไม่สามารถยกเว้นได้อย่างปลอดภัยหากไม่มีการประเมินข้อความเต็ม (เช่น เมื่อไม่มีบทคัดย่อ) เราได้ดึงข้อมูลจากเอกสารที่ผ่านเกณฑ์ทั้งหมดโดยมีสมาชิกในทีมผู้เขียนอย่างน้อย 2 คนทำงานอิสระต่อกัน (RT, LS และ RG) เราได้เข้ารหัส BCT ตามอนุกรมวิธาน CALO-RE ประเมินความเสี่ยงของการมีอคติโดยใช้เครื่องมือของ Cochrane เมื่อเป็นไปได้และหากเหมาะสม เราจะดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลด้วย fixed-effect meta-analysis หากสังเกตความแตกต่างทางสถิติ การวิเคราะห์เมตต้าจะดำเนินการโดยใช้ random-effects model สำหรับผลลัพธ์ที่เป็นข้อมูลต่อเนื่อง (เช่น สมรรถภาพของระบบหัวใจและหลอดเลือด) เราได้ดึงค่าข้อมูลสุดท้าย, ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) ของผลลัพธ์ที่สนใจ และจำนวนผู้เข้าร่วมที่ได้รับการประเมินในช่วงติดตามผลในแต่ละกลุ่มการรักษา เพื่อประมาณค่าความแตกต่างของค่าเฉลี่ยมาตรฐาน (SMD) ระหว่างกลุ่มการรักษา มีการใช้ SMD เนื่องจากนักวิจัยใช้วิธีการที่หลากหลายแตกต่างกันในการประเมินผลแต่ละรายการ หากไม่สามารถทำการวิเคราะห์แบบเมตต้าได้หรือไม่เหมาะสม เราจะทำการสังเคราะห์การศึกษาเชิงบรรยาย คุณภาพของหลักฐานได้รับการประเมินโดยใช้แนวทาง GRADE พร้อมด้วย GRADE profiler
เรารวบรวมการศึกษาทั้งหมด 23 ฉบับในการทบทวนวรรณกรรมนี้ โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 1372 ราย (เพิ่มการศึกษา 10 ฉบับ โดยมีผู้เข้าร่วม 724 รายจากการทบทวนวรรณกรรมฉบับเดิม) ในการปรับปรุงนี้ได้คัดกรองข้อความฉบับเต็มเป็นจำนวน 227 ฉบับ และคัดกรองบทความฉบับเต็มจำนวน 377 ฉบับในการทบทวนวรรณกรรมฉบับเดิม ทำให้เหลือบทความทั้งหมด 35 ฉบับ จากการศึกษาที่ไม่ซ้ำกันทั้งหมด 23 ฉบับ รวมอยู่ในการทบทวนวรรณกรรมนี้ เราวางแผนที่จะรวบรวมมะเร็งทั้งหมด แต่มีเพียงการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งปอดเท่านั้นที่ตรงตามเกณฑ์การรวบรวม การศึกษาทั้ง 13 ฉบับนี้ได้รวมระดับเป้าหมายของการออกกำลังกายที่สามารถบรรลุคำแนะนำปัจจุบันสำหรับการออกกำลังกายแบบแอโรบิกที่มีความเข้มข้นปานกลาง (เช่น 150 นาทีต่อสัปดาห์) หรือการออกกำลังกายแบบต้านแรงต้าน (เช่น การออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงอย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์)
การปฏิบัติตามการแนะนำการออกกำลังกาย ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญในการทำความเข้าใจขนาดการรักษา ยังคงมีรายงานไม่สอดคล้องกัน การศึกษาวิจัย 8 ฉบับ รายงานการปฏิบัติตามวิธีการที่ใช้ 75% หรือมากกว่าตามคำสั่งการออกกำลังกายที่ตรงตามแนวทางปัจจุบัน การศึกษาทั้งหมดเหล่านี้มีองค์ประกอบของการกำกับดูแล: ในการวิเคราะห์ BCT ของเรา เราได้กำหนดให้การศึกษาเหล่านี้คือ 'การทดลองระดับ 1' การศึกษาทั้ง 6 ฉบับได้รายงานการปฏิบัติตามวิธีการที่ใช้ 75% หรือมากกว่าต่อเป้าหมายการออกกำลังกายแบบแอโรบิกยังต่ำกว่าคำแนะนำแนวปฏิบัติปัจจุบัน :ในการวิเคราะห์ตาม BCT ของเรา เราได้กำหนดให้การศึกษาดังกล่าวเป็น 'การทดลองระดับ 2' ลำดับชั้นของ BCT ได้รับการพัฒนาสำหรับการทดลองระดับ 1 และระดับ 2 โดยที่การกำหนดเป้าหมายของโปรแกรม การกำหนดงานที่แบ่งระดับ และคำแนะนำในการปฏิบัติพฤติกรรม เป็นหนึ่งใน BCT ที่พบบ่อยที่สุด แม้จะมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการปฏิบัติตามในการศึกษาที่รวมอยู่บางส่วน การแทรกแซงก็ส่งผลให้ความทนทานต่อการออกกำลังกายแบบแอโรบิกดีขึ้นที่ 8 ถึง 12 สัปดาห์ (SMD 0.54, 95% CI 0.37 ถึง 0.70; ผู้เข้าร่วม 604 คน, การศึกษา 10 ฉบับ; หลักฐานคุณภาพต่ำ) เมื่อเทียบกับการดูแลตามปกติ หลังจากผ่านไป 6 เดือน ความทนทานต่อการออกกำลังกายแบบแอโรบิกก็ดีขึ้นเช่นกัน (SMD 0.56, 95% CI 0.39 ถึง 0.72; ผู้เข้าร่วม 591 ราย; การศึกษา 7 ฉบับ; หลักฐานคุณภาพต่ำ)
ผู้แปล แพทย์หญิงชุติมา ชุณหะวิจิตร วันที่ 6 สิงหาคม 2024