คำถามของการทบทวนวรรณกรรม
เราตรวจสอบหลักฐานเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการศึกษาด้านสุขภาพช่องปากสำหรับเจ้าหน้าที่พยาบาลหรือผู้อยู่อาศัยในบ้านพักคนชรา เปรียบเทียบกับการดูแลตามปกติเพื่อปรับปรุงสุขภาพช่องปากของผู้อยู่อาศัย
ความเป็นมา
ผู้พักอาศัยในบ้านพักคนชรามักไม่สามารถดูแลช่องปากได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดูแลรักษาสุขภาพปาก ฟัน และเหงือก เจ้าหน้าที่บ้านพักคนชราอาจไม่พร้อมที่จะให้การดูแลที่เหมาะสม ดังนั้นการให้การศึกษาเรื่องการดูแลสุขภาพช่องปากแก่ผู้พักอาศัยและ/หรือเจ้าหน้าที่พยาบาลอาจเป็นกลยุทธ์เดียวที่จะปรับปรุงสถานการณ์นี้ได้
ลักษณะของการศึกษา
เราสืบค้นการศึกษาที่เกี่ยวข้องซึ่งดำเนินการจนถึงเดือนมกราคม 2016 และที่ยืนยันการทดลอง 9 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับผู้อยู่อาศัยในบ้านพักคนชราทั้งหมด 3253 คน อายุเฉลี่ยของผู้อยู่อาศัยในการศึกษานี้อยู่ระหว่าง 78 ถึง 86 ปี ในการศึกษาทั้งหมด ผู้คนส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมมีฟันปลอม (ระหว่าง 62% ถึง 87%)
การทดลองประเมินแนวทางต่างๆ รวมถึงโปรแกรมการศึกษา การฝึกอบรมทักษะ และสื่อการเรียนรู้ โดยหัวข้อต่างๆ ที่รวบรวมปัญหาทางทันตกรรมโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ เช่น การดูแลฟันปลอมและสิทธิ์การรักษาฟันและโรคทางทันตกรรมและช่องปาก การป้องกันโรคในช่องปาก เครื่องมือสุขอนามัยทางทันตกรรม และแนวทางการดูแลสุขภาพช่องปาก ระยะเวลาของการทดลองอยู่ระหว่าง 3 เดือนถึง 5 ปี
ผลการศึกษาที่สำคัญ
เราไม่สามารถระบุประโยชน์ที่ชัดเจนของการฝึกอบรมพยาบาลและ/หรือผู้อยู่อาศัยเกี่ยวกับสุขภาพฟันของผู้อยู่อาศัย จากการประเมินคราบจุลินทรีย์ที่ฟันและฟันปลอม ไม่มีการศึกษาที่ประเมินสุขภาพช่องปาก คุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพช่องปาก หรือเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ เนื่องจากโปรแกรมการให้การศึกษาไม่ได้อธิบายไว้อย่างครบถ้วน ผลลัพธ์จึงไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับประสิทธิภาพหรืออันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากวิธีการให้การศึกษาด้านสุขภาพช่องปากโดยเฉพาะในบ้านพักคนชรา
คุณภาพของหลักฐาน
โดยรวมแล้ว ข้อมูลจากการศึกษาเกี่ยวกับผลลัพธ์ทั้งหมดนั้นมีคุณภาพต่ำ เราสรุปได้ว่าจำเป็นต้องมีการทดลองทางคลินิกเพื่อตรวจสอบข้อดีและอันตรายของโปรแกรมการให้การศึกษาด้านสุขภาพช่องปากในบ้านพักคนชรา
เราพบว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสรุปผลที่ชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบของวิธีการให้ความรู้ด้านสุขภาพช่องปากสำหรับเจ้าหน้าที่และผู้พักอาศัยในบ้านพักคนชรา เราไม่พบหลักฐานของผลกระทบที่มีนัยสำคัญต่อวิธีการให้ความรู้ต่อสุขภาพช่องปากของผู้อยู่อาศัยในทุกด้านที่วัด อย่างไรก็ตาม คุณภาพของหลักฐานที่มีอยู่ยังต่ำ การศึกษาที่มีขนาดใหญ่เพียงพอและมีคุณภาพสูงโดยใช้เครื่องมือประเมินผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องเป็นสิ่งจำเป็น
มีการรายงานความสัมพันธ์ระหว่างสถานะสุขภาพช่องปากของผู้พักอาศัยในบ้านพักคนชรากับคุณภาพชีวิต การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และภาวะโภชนาการ วิธีการให้การศึกษาสำหรับพยาบาลหรือผู้อยู่อาศัย หรือทั้งสองอย่าง โดยมุ่งเน้นที่ความรู้และทักษะที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสุขภาพช่องปากอาจมีศักยภาพในการปรับปรุงสุขภาพช่องปากของผู้อยู่อาศัย
เพื่อประเมินประสิทธิภาพของการให้การศึกษาด้านสุขภาพช่องปากสำหรับเจ้าหน้าที่หรือผู้อยู่อาศัยในบ้านพักคนชรา หรือทั้งสองอย่าง เพื่อบำรุงรักษาหรือปรับปรุงสุขภาพช่องปากของผู้พักอาศัยในบ้านพักคนชรา
เราสืบค้นที่ Cochrane Oral Health's Trials Register (ถึงวันที่ 18 มกราคม 2016), Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL) (the Cochrane Library, 2015, ฉบับที่ 12), MEDLINE Ovid (1946 ถึง 18 มกราคม 2016) Embase Ovid (1980 to 18 มกราคม 2016) และ Web of Science Conference Proceedings (1990 ถึง 18 มกราคม 2016) และได้สืบค้นจาก ClinicalTrials.gov และ the World Health Organization International Clinical Trials Registry Platform สำหรับการทดลองที่กำลังดำเนินการจนถึงวันที่ 18 มกราคม 2016 อีกด้วย นอกจากนี้เรายังสืบค้นรายการอ้างอิงของบทความที่ถูกยืนยันและติดต่อผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้น โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องภาษาหรือวันที่ตีพิมพ์เมื่อสืบค้นฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) และ Cluster-RCTs เปรียบเทียบโปรแกรมการให้การศึกษาด้านสุขภาพช่องปากสำหรับเจ้าหน้าที่พยาบาลหรือผู้อยู่อาศัย หรือทั้งสองอย่างกับการดูแลตามปกติหรือวิธีการให้การศึกษาการดูแลสุขภาพช่องปากอื่น ๆ
ผู้ทบทวนวรรณกรรม 2 คนคัดกรองบทความที่ดึงมาจากการค้นหาที่เกี่ยวข้อง ดึงเอาข้อมูลจากการศึกษาที่รวบรวมมา ประเมินความเสี่ยงของการมีอคติแต่ละการศึกษาที่รวบรวมมาอย่างเป็นอิสระต่อกัน และประเมินคุณภาพโดยรวมของหลักฐาน เราดึงข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการพัฒนาและการประเมินผลของวิธีการที่ซับซ้อนบนพื้นฐานของเกณฑ์การรายงานการพัฒนาและการประเมินผลของวิธีการที่ซับซ้อนในการดูแลสุขภาพ: แนวทางที่ปรับปรุงแก้ไขใหม่ (CReDECI 2) เราติดต่อผู้เขียนการศึกษาที่เกี่ยวข้องเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม
เรารวบรวมการศึกษาแบบ RCTs 9 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับผู้อยู่อาศัยในบ้านพักคนชราจำนวน 3253 คนในการทบทวนวรรณกรรมนี้ การศึกษาทดลอง 7 ฉบับเป็นการสุ่มแบบคลัสเตอร์ อายุเฉลี่ยของผู้อยู่อาศัยอยู่ระหว่าง 78 ถึง 86 ปีในการศึกษา และผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง (มากกว่า 66% ในการศึกษาทั้งหมด) สัดส่วนของผู้อยู่อาศัยที่ใส่ฟันปลอมอยู่ระหว่าง 62% ถึง 87% และสัดส่วนของผู้อยู่อาศัยที่ไม่มีฟันอยู่ระหว่าง 32% ถึง 90% ในการศึกษาทั้งหมด
การศึกษาทดลอง 8 ฉบับเปรียบเทียบวิธีการให้การศึกษาด้วยข้อมูลและองค์ประกอบที่สำคัญเทียบกับการดูแลตามปกติ (ปรับให้เหมาะสม) ในขณะที่การศึกษาทดลองที่ 9 เปรียบเทียบวิธีการให้การศึกษาด้วยข้อมูลเพียงอย่างเดียวเทียบกับการดูแลตามปกติ วิธีการให้การศึกษาทั้งหมดประกอบด้วยหัวข้อสุขภาพช่องปากสำหรับบุคลากรทางการพยาบาล (การศึกษาทดลอง 5 ฉบับ) หรือสำหรับทั้งเจ้าหน้าที่และผู้พักอาศัย (การศึกษาทดลอง 4 ฉบับ) และใช้องค์ประกอบที่ใช้งานอยู่มากกว่า 1 องค์ประกอบ การติดตามผลในการศึกษาที่รวบรวมไว้มีระยะเวลาตั้งแต่ 3 เดือนถึง 5 ปี
ไม่มีการศึกษาใดที่แสดงให้เห็นความเสี่ยงของการมีอคติโดยรวมต่ำ การศึกษา 4 ฉบับมีความเสี่ยงของการมีอคติสูง และการศึกษาอีก 5 ฉบับมีความเสี่ยงของการมีอคติไม่ชัดเจน
ไม่มีการศึกษาทดลองใดที่ประเมินผลลัพธ์หลักที่เรากำหนดไว้ล่วงหน้า 'สุขภาพช่องปาก' และ 'คุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพช่องปาก' การศึกษาทดลองทั้งหมดประเมินผลลัพธ์หลักลำดับที่ 3 ของเราคือ 'คราบจุลินทรีย์หรือฟันปลอม' การวิเคราะห์เมตต้าไม่พบหลักฐานของความแตกต่างระหว่างวิธีการให้การศึกษาและการดูแลตามปกติสำหรับคราบจุลินทรีย์ที่ฟัน (ความแตกต่างของค่าเฉลี่ย -0.04, ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) -0.26 ถึง 0.17; การทดลอง 6 ฉบับ; ผู้เข้าร่วม 437 คน; หลักฐานคุณภาพต่ำ) หรือคราบจุลินทรีย์ (ค่าเฉลี่ยความแตกต่างมาตรฐาน -0.60, 95% CI -1.25 ถึง 0.05; ผู้เข้าร่วม 816 คน; คุณภาพของหลักฐานต่ำ ไม่มีการศึกษาใดที่ประเมินเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ของวิธีการ
แปลโดย นายฎลกร จำปาหวาย วันที่ 1 พฤษภาคม 2024