ความเป็นมา
กระดูกสะโพกหักเป็นการบาดเจ็บหลักของผู้สูงอายุ ซึ่งมักเกิดจากการหกล้ม อาจส่งผลต่อการเดิน การทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันและการช่วยเหลือตัวเอง การแตกหักของกระดูกสะโพกเป็นเรื่องปกติในผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมและจะฟื้นตัวได้ยากขึ้น เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะสับสนมากขึ้นและเกิดภาวะแทรกซ้อนเพิ่มเติม เช่น แผลกดทับและการติดเชื้อที่ทรวงอกหลังการผ่าตัด อาจพบว่าการแสดงความเจ็บปวดและไม่สบายตัวทำได้ยากขึ้น
คำถามของการทบทวน
เราต้องการเรียนรู้วิธีต่าง ๆ ในการรักษาผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมหลังจากกระดูกสะโพกหัก ว่าอาจส่งผลต่อการฟื้นตัวได้ดีเพียงใดและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในการฟื้นตัวของพวกเขาอาจเป็นเท่าใด นี่คือการปรับปรุงของการทบทวนของ Cochrane ก่อนหน้านี้
ลักษณะของการศึกษา
เราค้นหา randomised controlled trials (การศึกษาที่ผู้เข้าร่วมได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมกลุ่มบำบัดหนึ่งในสองกลุ่มขึ้นไปโดยใช้วิธีการสุ่ม) ซึ่งเปรียบเทียบรูปแบบการดูแลและการฟื้นฟูสมรรถภาพที่ดีขึ้น สำหรับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมหลังกระดูกสะโพกหักเทียบกับการดูแลตามปกติ ค้นหาล่าสุดในวันที่ 16 ตุลาคม 2019
เรารวบรวมการทดลอง 7 เรื่อง ผู้เข้าร่วมมีภาวะสมองเสื่อมหลังกระดูกสะโพกหักทั้งหมด 555 คน การทดลอง 5 เรื่อง เปรียบเทียบโปรแกรมการฟื้นฟูและการดูแลแบบสหวิทยาการที่ได้รับการปรับปรุงโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพหลายคน มีการทำงานร่วมกันทั้งในโรงพยาบาลและชุมชน หรือในโรงพยาบาลกับการดูแลในโรงพยาบาลตามปกติ การทดลอง 2 เรื่อง เปรียบเทียบการดูแลในโรงพยาบาลที่นำโดยแพทย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุุเทียบกับการดูแลที่นำโดยศัลยแพทย์กระดูกและข้อ
ผลการทบทวนหลัก
ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมที่ได้รับการดูแลและการพักฟื้นที่ดีขึ้นในโรงพยาบาลหลังจากกระดูกสะโพกหัก อาจมีโอกาสน้อยที่จะเกิดอาการเพ้อ เมื่อดูแลโดยแพทยเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ระยะเวลาที่ต้องอยู่ในโรงพยาบาลอาจสั้นกว่าการดูแลโดยศัลยแพทย์กระดูกและข้อสามถึงสี่วัน ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบของรูปแบบการดูแลใด ๆ ที่มีต่อคุณภาพชีวิตและเราไม่สามารถมั่นใจเกี่ยวกับผลกระทบที่มีต่อผลลัพธ์ที่สำคัญอื่น ๆ เช่น ความสามารถในการจัดการกิจกรรมประจำวันของตน การฟื้นการเคลื่อนไหว การมีความรู้ความเข้าใจ ความเจ็บปวด อัตราการเสียชีวิตหรือความเป็นไปได้ทีจะกลับไปยังสถานที่เดิมทีเคยอาศัยอยู่ก่อนการแตกหัก
คุณภาพของหลักฐาน
ประเด็นหลัก หลักฐานการศึกษาส่วนใหญ่มีขนาดเล็กและผลลัพธ์อาจมีอคติ ผลการตรวจสอบส่วนใหญ่มีความไม่แน่นอนอย่างมาก ไม่มีรูปแบบการดูแลใดที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม ข้อมูลทั้งหมดที่รวมอยู่ในการตรวจสอบมาจากผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม ซึ่งรวมอยู่ในการทดลองขนาดใหญ่สำหรับผู้สูงอายุทุกคนที่มีอาการกระดูกสะโพกหัก แม้ว่าผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมอาจมีความต้องการเฉพาะ
บทสรุป
อาจมีประโยชน์บางประการจากรูปแบบการดูแลที่ศึกษา แต่การวิจัยที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่เพียงพอที่จะระบุวิธีที่ดีที่สุดในการดูแลผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมหลังจากการผ่าตัดกระดูกสะโพกหัก
เราพบหลักฐานจำกัดว่ารูปแบบการสริมการฟื้นฟูและการดูแลบางส่วนที่ใช้ในการทดลองที่รวมอยู่ อาจแสดงให้เห็นประโยชน์มากกว่าการดูแลตามปกติในการป้องกันอาการเพ้อและลดระยะเวลาอยู่โรงพยาบาลของผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมที่ได้รับการรักษากระดูกสะโพกหัก อย่างไรก็ตามความแน่นอนของผลลัพธ์เหล่านี้อยู่ในระดับต่ำ ข้อมูลจากการทดลองขนาดเล็กและความแน่นอนสำหรับผลลัพธ์อื่น ๆ ทั้งหมดนั้นต่ำมาก ควรให้ความสำคัญในการวิจัยเพื่อกำหนดกลยุทธ์ที่ดีที่สุดในการปรับปรุงผลลัพธ์สำหรับประชากรผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น
กระดูกสะโพกหักเป็นอาการบาดเจ็บที่สำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาสำคัญสำหรับบุคคลที่ได้รับผลกระทบครอบครัวและผู้ดูแล กว่า 40% ของผู้ที่มีอาการกระดูกสะโพกหักมีภาวะสมองเสื่อมหรือความบกพร่องทางสติปัญญา ผลลัพธ์หลังการผ่าตัดของบุคคลเหล่านี้แย่กว่าผู้ที่ไม่มีภาวะสมองเสื่อม ยังไม่มีความชัดเจนว่า การดูแลและการฟื้นฟูสมรรถภาพใดให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดสำหรับคนเหล่านี้ ครั้งนี้เป็นการปรับปรุงการทบทวนของ Cochrane ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2013
(a) เพื่อประเมินประสิทธิผลของรูปแบบการดูแลรวมถึงกลยุทธ์การฟื้นฟูสมรรถภาพที่ได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมหลังการผ่าตัดกระดูกสะโพกหักเมื่อเทียบกับการดูแลตามปกติ
(b) เพื่อประเมินประสิทธิผลของรูปแบบการดูแลสำหรับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม รวมถึงกลยุทธ์การฟื้นฟูสมรรถภาพที่ออกแบบมาสำหรับผู้สูงอายุทุกคน โดยไม่คำนึงถึงระดับกรรับรู้ การติดตามหลังการผ่าตัดกระดูกสะโพกหักเมื่อเทียบกับการดูแลตามปกติ
เราค้นหาจาก ALOIS ( www.medicine.ox.ac.uk/alois ), Cochrane Dementia และ Cognitive Improvement Group Specialized Register, MEDLINE (OvidSP), Embase (OvidSP), PsycINFO (OvidSP), CINAHL (EBSCOhost), Web of Science Core Collection (ISI Web of Science), LILACS (BIREME), ClinicalTrials.gov และ World Health Organization International Clinical Trials Registry Platform ในวันที่ 16 ตุลาคม 2019
เราได้รวมการทดลองแบบ randomised และ quasi-randomised controlled trials เพื่อประเมินประสิทธิผลของรูปแบบการดูแลและการฟื้นฟูสมรรถภาพที่ดีขึ้นสำหรับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมหลังการผ่าตัดกระดูกสะโพกหักเปรียบเทียบกับการดูแลตามปกติ
ผู้ทบทวนวรรณกรรม 2 คนได้ทำการประเมินงานวิจัยเพื่อการคัดเข้า และดึงข้อมูลอย่างเป็นอิสระต่อกัน เราประเมินความเสี่ยงของการมีอคติของการทดลองที่รวบรวมมา เราสังเคราะห์ข้อมูลก็ต่อเมื่อพิจารณาเห็นว่าการทดลองมีความคล้ายคลึงกันมากพอในแง่ของผู้เข้าร่วม วิธีการที่ใช้ (intervention) และผลลัพธ์ เราใช้วิธี GRADE เพื่อประเมินความแน่นอนโดยรวมของหลักฐานสำหรับแต่ละผลลัพธ์
เรารวบรวมการศึกษา 7 เรื่อง มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 555 คน การทดลอง 3 เรื่อง เปรียบเทียบรูปแบบการเสริมการดูแล (enhanced care) ในการดูแลผู้ป่วยเทียบกับการดูแลแบบเดิม การทดลอง 2 เรื่อง เปรียบเทียบรูปแบบการเสริมการดูแล (enhanced care) ที่จัดให้ที่บ้านหลังออกจากโรงพยาบาลเทียบกับการดูแลแบบเดิม การทดลอง 2 เรื่อง เปรียบเทียบการดูแลที่นำโดยแพทย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุุในโรงพยาบาลกับการดูแลแบบเดิมที่นำโดยศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ไม่มีวิธีการ (intervention) ใด ที่ออกแบบโดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม ดังนั้นข้อมูลในการทบทวนจึงมาจากกลุ่มย่อยของผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมหรือความบกพร่องทางการรับรู้ที่เข้าร่วมใน randomised controlled trials เพื่อตรวจสอบรูปแบบการดูแลสำหรับผู้สูงอายุทุกคนหลังจากกระดูกสะโพกหัก ระยะเวลาสิ้นสุดของการติดตามผล มีตั้งแต่ช่วงที่ออกจากโรงพยาบาลทันทีถึง 24 เดือนหลังจากออกจากโรงพยาบาล
เราพิจารณาว่าการทดลองทั้งหมดมีความเสี่ยงของการมีอคติสูงมากกว่าหนึ่งประเด็น ในกลุ่มย่อยของการทดลองขนาดใหญ่ การวิเคราะห์จึงขาดอำนาจในการตรวจสอบความแตกต่างระหว่างกลุ่ม นอกจากนี้ ยังมีความแตกต่างสำคัญบางประการในลักษณะพื้นฐานของผู้เข้าร่วมระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม ด้วยวิธีการ GRADE เราได้ลดระดับความแน่นอนของหลักฐานสำหรับผลลัพธ์ทั้งหมดให้ต่ำหรือต่ำมาก
การประมาณการผลกระทบสำหรับการเปรียบเทียบเกือบทั้งหมดไม่ชัดเจนอย่างมากและผลลัพธ์โดยรวมส่วนใหญ่มีความแน่นอนอยู่ในระดับต่ำมาก ไม่มีข้อมูลจากการศึกษาใด ๆ เกี่ยวกับผลลัพธ์หลักด้านคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ มีเพียงผลลัพธ์หลักอื่น ๆ ด้านกิจกรรมในชีวิตประจำวันและประสิทธิภาพการทำงานหลักฐานความแน่นอนต่ำมาก ดังนั้นเราจึงไม่สามารถสรุปได้อย่างมั่นใจ มีความเชื่อมั่นต่ำว่าการเสริมการดูแลและการพักฟื้นในโรงพยาบาลอาจลดอัตราการเพ้อหลังการผ่าตัด (odds ratio 0.04, ช่วงเชื่อมั่น 95% (CI) 0.01 ถึง 0.22, การทดลอง 2 เรื่อง, n = 141) และความเชื่อมั่นต่ำมากที่สัมพันธ์กับอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำเมื่อเทียบกับการจัดการที่นำโดยศัลยแพทย์กระดูกและข้อกับแพทย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ พบว่าการจัดการที่นำโดยแพทย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุอาจทำให้การอยู่โรงพยาบาลสั้นลง (mean difference 4.00 วัน, 95% CI 3.61 ถึง 4.39, การทดลอง 1 เรื่อง, n = 162)
แปลโดย เพียงจิตต์ ธารไพรสาณฑ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 11 สิงหาคม 2020