คำถามของการทบทวน
ในการทบทวนนี้ เราประเมินหลักฐานเกี่ยวกับผลของวิธีการที่ออกแบบมาเพื่อลดการหกล้มในผู้ที่เป็นโรคพาร์กินสัน (PD) วิธีการต่างๆได้แก่การออกกำลังกาย การใช้ยา การให้ความรู้เพื่อป้องกันการหกล้ม และการออกกำลังกายร่วมกับให้ความรู้ เราไม่รวมวิธีการที่มีเป้าหมายเพื่อลดการหกล้มจากการเป็นลมหมดสติ ทบทวนหลักฐานตั้งแต่ปัจจุบันถึง 16 กรกฎาคม 2020
ความเป็นมา
ในผู้ที่เป็น PD การหกล้มบ่อยครั้งเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่ร้ายแรงที่สุด ข้อมูลเกี่ยวกับกลยุทธ์การป้องกันการหกล้มที่มีประสิทธิผล จะช่วยให้มีการนำไปใช้ในการป้องกันการหกล้ม
ลักษณะของการศึกษา
เรารวบรวม randomised controlled trials 32 เรื่อง ซึ่งมีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 3370 คน ในจำนวนนี้มีการศึกษา 25 ฉบับ มีผู้เข้าร่วม 2700 คน ใช้วิธีการออกกำลังกาย การศึกษา 3 ฉบับ มีผู้เข้าร่วม 242 คนเ ใช้วิธีการให้ยา การศึกษา 1 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 53 คนเป็นการให้ความรู้ การศึกษา 3 ฉบับ มีผู้เข้าร่วม 375 คนเ ใช้วิธีการออกกำลังกายร่วมกับการให้ความรู้ โดยรวมแล้ว การออกกำลังกายและการออกกำลังกายร่วมกับการให้ความรู้ มีผู้เข้าร่วมที่มีระดับความรุนแรงของ PD น้อยถึงปานกลาง
ผลลัพธ์ที่สำคัญ
การศึกษา 12 ฉบับ เปรียบเทียบการออกกำลังกายกับกลุ่มควบคุมที่ใช้วิธีการที่ไม่น่าจะลดการหกล้มได้ การออกกำลังกายอาจช่วยลดจำนวนการหกล้มได้ประมาณ 26% การออกกำลังกายอาจช่วยลดจำนวนผู้ที่หกล้มอย่างน้อยหนึ่งครั้งได้ประมาณ 10% การออกกำลังกายอาจทำให้คุณภาพชีวิตด้านสุขภาพดีขึ้นเล็กน้อยทันทีหลังออกกำลังกาย อย่างไรก็ตาม เราไม่แน่ใจว่าจะลดจำนวนการมีกระดูกหักจากการหกล้มได้หรือไม่ จำนวนเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ หรือเป็นวิธีการที่คุ้มค่าใช้จ่ายในการป้องกันการหกล้มหรือไม่
การศึกษา 3 ฉบับ เปรียบเทียบ Cholinesterase inhibitor (ทั้ง rivastigmine หรือ donepezil) กับยาหลอก และพบว่ายานี้อาจลดอัตราการหกล้มได้ประมาณ 50% อย่างไรก็ตาม ผลของยานี้ต่อจำนวนผู้ที่หกล้มอย่างน้อยหนึ่งครั้ง และคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพยังไม่แน่นอน Cholinesterase inhibitor อาจเพิ่มจำนวนเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการหกล้มได้ประมาณ 60% ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับความคุ้มค่าของยาในการป้องกันการหกล้ม
การศึกษา 1 ฉบับ เปรียบเทียบการให้ความรู้เพียงอย่างเดียวและ การศึกษา 3 ฉบับ เปรียบเทียบการออกกำลังกายร่วมกับการให้ความรู้กับกลุ่มควบคุม การออกกำลังกายร่วมกับให้ความรู้ อาจทำให้มีผลเพียงเล็กน้อยหรือแทบไม่มีเลยต่อจำนวนผู้ที่หกล้มหนึ่งครั้งหรือมากกว่า อย่างไรก็ตาม เราไม่แน่ใจถึงผลของวิธีการเหล่านี้ต่อผลลัพธ์อื่นที่เกี่ยวกับการหกล้มและการไม่หกล้มอื่นๆ
ความเชื่อมั่นของหลักฐาน
การศึกษาทั้งหมดมีความเสี่ยงสูงที่หรือมีความไม่ชัดเจนที่จะมีอคติในหนึ่งรายการหรือมากกว่านั้น สิ่งนี้อาจมีอิทธิพลต่อวิธีดำเนินการศึกษาและการประเมินผลการศึกษา
สำหรับการออกกำลังกาย ความเชื่อมั่นของหลักฐานสำหรับอัตราการหกล้มและจำนวนผู้ที่หกล้มอย่างน้อยหนึ่งครั้งอยู่ในระดับปานกลาง ความเชื่อมั่นของหลักฐานอยู่ในระดับต่ำ หรือต่ำมากสำหรับผลลัพธ์อื่นๆทั้งหมด
สำหรับการใช้ยา การให้ความรู้และการออกกำลังกายร่วมกับการให้ความรู้ ผลการศึกษาทั้งหมดมีความเชื่อมั่นต่ำถึงต่ำมาก
การออกกำลังกายอาจลดอัตราการหกล้ม และอาจลดจำนวนผู้ที่หกล้มลงในผู้ที่มีระดับความรุนแรงของ PD น้อยถึงปานกลางได้เล็กน้อย
Cholinesterase inhibitor อาจลดอัตราการหกล้ม แต่เราไม่แน่ใจว่ายาเหล่านี้มีผลกระทบต่อจำนวนคนที่หกล้มหรือไม่ การตัดสินใจใช้ยาเหล่านี้ ต้องมีความสมดุลกับความเสี่ยงของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ไม่เกี่ยวกับการหกล้ม แม้ว่าเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เหล่านี้ส่วนใหญ่มักไม่รุนแรงหรือเกิดขึ้นชั่วคราวก็ตาม
จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมในรูปแบบของ RCT ขนาดใหญ่และมีคุณภาพสูง เพื่อยืนยันผลของการออกกำลังกายประเภทต่างๆ และระดับการดูแลที่แตกต่างกันเกี่ยวกับการหกล้ม และความรุนแรงของโรคอาจส่งผลต่อผลลัพธ์ที่ได้อย่างไร จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มความมั่นใจต่อผลของยา และศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการให้ความรู้เพื่อการป้องกันการหกล้มทั้งให้ความรู้อย่างเดียวและการให้ความรู้ร่วมกับการออกกำลังกาย
ผู้ที่เป็นโรคพาร์กินสัน (PD) ส่วนใหญ่มีประสบการณ์การหกล้ม มีการศึกษาในการใช้วิธีการหลายอย่างที่ออกแบบมาเพื่อลดการหกล้ม การสังเคราะห์หาหลักฐานวืธีการเพื่อลดการหกล้มในผู้ที่เป็นโรค PD ที่เป็นปัจจุบัน จะช่วยในการตัดสินใจเกี่ยวกับวิธีการป้องกันการหกล้มสำหรับผู้ที่เป็นโรค PD
เพื่อประเมินผลของวิธีการต่างๆ เพื่อลดการหกล้มในผู้ที่เป็น PD
เราสืบค้นจาก CENTRAL, MEDLINE, Embase, ฐานข้อมูลอื่นๆ 4 แห่ง และฐานข้อมูลทะเบียนการทดลอง 2 แหล่ง ถึงวันที่ 16 กรกฏาคม 2020 ร่วมกับการตรวจสอบการอ้างอิง การค้นหาการอ้างอิง และการติดต่อกับผู้นิพนธ์การศึกษาเพื่อหาการศึกษาเพิ่มเติม เรายังได้ทำการค้นหาเพิ่มเติมวันที่ 13 ตุลาคม 2021
เรารวมการศึกษาวิจัยแบบ randomised controlled trials (RCT) ที่ศึกษาวิธีการต่างๆ ที่มีเป้าหมายเพื่อลดการหกล้มในผู้ที่เป็น PD และรายงานผลที่มีต่อการหกล้ม เราไม่รวมวิธีการที่มีเป้าหมายเพื่อลดการหกล้มจากการเป็นลมหมดสติ
เราใช้ขั้นตอนมาตรฐานของ Cochrane ในการทบทวนวรรณกรรมนี้ ผลการศึกษาหลักคือ อัตราการหกล้มและจำนวนคนที่ล้มอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ผลการศึกษารองคือ จำนวนผู้มีที่กระดูกหักจากการหกล้มอย่างน้อยหนึ่งครั้ง คุณภาพชีวิต เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ และผลทางเศรษฐกิจ ประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐานโดยใช้ GRADE
การทบทวนวรรณกรรมนี้ประกอบด้วยการศึกษา 32 ฉบับ ซึ่มีผู้เข้าร่วม 3370 คน เรารวมการศึกษาเกี่ยวกับการออกกำลังกาย 25 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 2700 คน) การศึกษาเกี่ยวกับการใช้ยา 3 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 242 คน) การศึกษาเกี่ยวกับการให้ความรู้เพื่อป้องกันการหกล้ม 1 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 53 คน) และการศึกษาเกี่ยวกับการออกกำลังกายร่วมกับการให้ความรู้ 3 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 375 คน) โดยรวมแล้ว ผู้เข้าร่วมในการออกกำลังกายและการออกกำลังกายร่วมกับการให้ความรู้ มีระดับความรุนแรงของ PD น้อยถึงปานกลาง ในขณะที่ผู้เข้าร่วมในการใช้ยาเป็นผู้ที่มีระดับความรุนแรงของโรคสูง การศึกษาทั้งหมดมีความเสี่ยงสูงหรือมีความเสี่ยงไม่ชัดเจนที่จะมีอคติในหนึ่งรายการหรือมากกว่านั้น ความเสี่ยงที่แสดงให้เห็นผลกระทบของแต่ละวิธีการจะนำเสนอในตารางสรุปผลการวิจัย
การศึกษา 12 ฉบับ เปรียบเทียบการออกกำลังกาย (ทุกประเภท) กับกลุ่มควบคุม (ใช้วิธีการที่ไม่น่าจะสามารถลดการหกล้มได้ เช่น การดูแลตามปกติหรือการออกกำลังกายลวง) ในผู้ที่มีระดับความรุนแรงของโรค PD น้อยถึงปานกลาง การออกกำลังกายอาจลดอัตราการหกล้มได้ประมาณ 26% (rate ratio (RaR) 0.74, 95% confidence interval (CI) 0.63 ถึง 0.87; ผู้เข้าร่วม 1456 คน, การศึกษา 12 ฉบับ หลักฐานมีความเชื่อมั่นปานกลาง) การออกกำลังกายยังอาจช่วยลดจำนวนผู้ที่หกล้มอย่างน้อยหนึ่งครั้งหรือมากกว่าได้เล็กน้อย ประมาณ 10% (risk ratio (RR) 0.90, 95% CI 0.80 ถึง 1.00; ผู้เข้าร่วม 932 คน, การศึกษา 9 ฉบับ; หลักฐานมีความเชื่อมั่นปานกลาง)
เราไม่แน่ใจว่าการออกกำลังกาย ทำให้มีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่แตกต่างเลยกับจำนวนผู้ที่ประสบภาวะกระดูกหัก 1 ครั้งหรือมากกว่าจากการหกล้ม (RR 0.57, 95% CI 0.28 ถึง 1.17; ผู้เข้าร่วม 989 คน, การศึกษา 5 ฉบับ; หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมาก) การออกกำลังกายอาจทำให้คุณภาพชีวิตด้านสุขภาพดีขึ้นเล็กน้อยทันทีหลังออกกำลังกาย (standardised mean difference (SMD) -0.17, 95% CI -0.36 ถึง 0.01; ผู้เข้าร่วม 951 คน, การศึกษา 5 ฉบับ; หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำ) เราไม่แน่ใจว่าการออกกำลังกายมีผลกระทบต่อเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หรือไม่ หรือการออกกำลังกายเป็นวิธีการที่คุ้มค่าใช้จ่ายสำหรับการป้องกันการหกล้มหรือไม่
การศึกษา 3 ฉบับ ทดลองใช้ Cholinesterase inhibitor (rivastigmine หรือ donepezil) Cholinesterase inhibitor อาจลดอัตราการหกล้มลง 50% (RaR 0.50, 95% CI 0.44 ถึง 0.58; ผู้เข้าร่วม 229 คน, การศึกษา 3 ฉบับ; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) อย่างไรก็ตาม เราไม่แน่ใจว่ายานี้ ทำให่มีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยกับจำนวนผู้ที่หกล้มอย่างน้อยหนึ่งครั้ง (RR 1.01, 95% CI 0.90 ถึง 1.14 ผู้เข้าร่วม 230 คน การศึกษา 3 ฉบับ) และคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวกับสุขภาพ (mean difference (MD) ของ EQ5D Thermometer 3.00, 95% CI -3.06 ถึง 9.06; หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมาก) Cholinesterase inhibitor อาจเพิ่มอัตราของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ไม่เกี่ยวกับการหกล้มได้ 60% (RaR 1.60, 95% CI 1.28 ถึง 2.01; ผู้เข้าร่วม 175 คน, การศึกษา 2 ฉบับ; หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำ) อาการไม่พึงประสงค์ส่วนใหญ่ไม่รุนแรงและเกิดขึ้นชั่วคราว ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับความคุ้มค่าของยาสำหรับการป้องกันการหกล้ม
เราไม่แน่ใจเกี่ยวกับผลของการให้ความรู้เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมในคนที่หกล้มอย่างน้อยหนึ่งครั้ง (RR 10.89, 95% CI 1.26 ถึง 94.03 ผู้เข้าร่วม 53 คน การศึกษา 1 ฉบับ หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมาก) และไม่มีข้อมูลในผลการศึกษาอื่นๆ ที่สนใจกับการเปรียบเทียบนี้ เรายังไม่แน่ใจ (หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมาก) ว่าการออกกำลังกายร่วมกับการให้ความรู้ทำให้จำนวนการหกล้มต่างกันเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย (RaR 0.46, 95% CI 0.12 ถึง 1.85; ผู้เข้าร่วม 320 คน การศึกษา 2 ฉบับ) จำนวนผู้ที่มีการกระดูกหักจากการหกล้ม (RR 1.45, 95% CI 0.40 ถึง 5.32,320 ผู้เข้าร่วม การศึกษา 2 ฉบับ) หรือคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพ (PDQ39 MD 0.05, 95% CI -3.12 ถึง 3.23 , ผู้เข้าร่วม 305 คน, การศึกษา 2 ฉบับ) การออกกำลังกายร่วมกับการให้ความรู้ อาจทำให้จำนวนผู้ที่หกล้มอย่างน้อยหนึ่งครั้งแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่แตกต่างเลย (RR 0.89, 95% CI 0.75 ถึง 1.07; ผู้เข้าร่วม 352 คน, การศึกษา 3 ฉบับ; หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำ) เราไม่แน่ใจว่าการออกกำลังกายร่วมกับการให้ความรู้มีผลต่อเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หรือไม่ หรือเป็นวิธีการที่คุ้มค่าใช้จ่ายสำหรับการป้องกันการหกล้มหรือไม่
แปลโดย เพียงจิตต์ ธารไพรสาณฑ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที 17 มิถุนายน 2022 Edit โดย ผกากรอง 24 พฤศจิกายน 2022