ความเป็นมาและคำถามของการทบทวนวรรณกรรม
หน่วยงานด้านสุขภาพและองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรมักใช้วิธีการทางด้านสื่อมวลชน (เช่น แผ่นพับ วิทยุ และทีวีโฆษณา โปสเตอร์ และสื่อสังคมออนไลน์) เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางกาย รูปแบบการบริโภคอาหาร การสูบบุหรี่หรือการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือกลุ่มอื่น ๆ ในการทบทวนวรรณกรรมเรื่องนี้ เราพิจารณาผลของวิธีการทางสื่อมวลชนที่มุ่งเป้าไปที่ชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ สิ่งแทรกแซงแบบเฉพาะเจาะจงกลุ่มเป้าหมายที่ออกแบบมาเพื่อพิจารณาลักษณะของกลุ่มเฉพาะ ตามหลักการได้แนะนำให้ชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ได้มีโอกาสและมีทรัพยากรในการเข้าถึงข้อมูลอย่างเท่าเทียม และมีโอกาสในการเลือกมีสุขภาพที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม เราไม่ทราบว่ากุลยุทธ์ทางสื่อมวลชนแบบเฉพาะเจาะจงกลุ่มเป้าหมายมีประสิทธิผลในการเข้าถึงและมีอิทธิพลต่อชนกลุ่มน้อยมากกว่ากุลยุทธ์ทางสื่อมวลชนที่พัฒนามาเพื่อกลุ่มประชากรทั่วไปหรือไม่
ลักษณะของการศึกษา
เราพบการศึกษา 6 เรื่อง การศึกษาทั้งหมดมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา การศึกษา 4 เรื่องได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกา (African Americans) และการศึกษา 2 เรื่องได้กำหนดเป้าหมายเป็นผู้อพยพชาวลาตินหรือผู้อพยพชาวจีน การศึกษา 4 เรื่องจากการศึกษาทั้งหมดเป็นการศึกษาเชิงทดลอง (1693 คน) และ 2 การศึกษารายงานผลลัพธ์ขนาดใหญ่ โดยกำหนดเป้าหมายการรณรงค์ทั้งในชุมชนและในเมือง ซึ่งหลักฐานเป็นปัจจุบันถึงเดือนสิงหาคม 2016
ผลการศึกษาที่สำคัญ
หลักฐานที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะสรุปว่า วิธีการทางสื่อมวลชนแบบเฉพาะเจาะจงกลุ่มเป้าหมายสำหรับชนกลุ่มน้อยมีประสิทธิผลมากกว่า น้อยกว่า หรือเท่าเทียมกันในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพด้วยวิธีการทางสื่อมวลชนแบบทั่วไป มีการศึกษาเพียงเรื่องเดียวที่เปรียบเทียบผู้เข้าร่วมการศึกษาที่มีพฤติกรรมการสูบบุหรี่และมีความตั้งใจที่จะเลิกบุหรี่ตามหนังสือแนะนำการเลิกบุหรี่ที่ปรับตามวัฒนธรรมของกลุ่มเป้าหมาย หรือหนังสือที่พัฒนาสำหรับประชากรทั่วไป โดยพวกเขาพบความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างของพฤติกรรมการสูบบุหรี่ระหว่างกลุ่ม
เมื่อเปรียบเทียบกับการไม่มีวิธีการทางสื่อมวลชน วิธีการทางสื่อมวลชนแบบเฉพาะเจาะจงกลุ่มเป้าหมายอาจจะเพื่มจำนวนของผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ แต่ผลของพฤติกรรมสุขภาพยังคงไม่ชัดเจน ซึ่งการสรุปนี้อิงจากผลที่พบจาก 3 การศึกษา การศึกษา 1 เรื่องให้ผู้เข้าร่วมโครงการเข้าชมรายการแสดงสด 12 ชุดบนเคเบิ้ลทีวีที่มีข้อมูลวิธีการรักษาน้ำหนักให้อยู่ในช่วงที่ทำให้สุขภาพดี ตลอดจนการควบคุมอาหารและกิจกรรมทางกาย เมื่อเปรียบเทียบสตรีที่ไม่ได้ชมรายการ ผู้เข้าร่วมโครงการรายงานว่า มีการเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยในกิจกรรมทางกาย และพวกเขามีการเปลี่ยนแปลงทางบวกเพียงเล็กน้อยในรูปแบบการรับประทานอาหาร อย่างไรก็ตาม น้ำหนักของพวกเขาก็ไม่แตกต่างจากเดิม อีกสองการศึกษาได้รณรงค์ในกลุ่มเป้าหมายขนาดใหญ่ในผู้สูบบุหรี่ที่ซึ่งถูกสนับสนุนให้เรียกใช้บริการให้คำแนะนำในการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์ จำนวนของการโทรศัพท์จากกลุ่มประชากรเป้าหมายเพิ่มขึ้นในระหว่างการรณรงค์เป็นอย่างมาก
การทบทวนวรรณกรรมเรื่องนี้เปรียบเทียบวิธีการทางสื่อมวลชนแบบเฉพาะเจาะจงกลุ่มเป้าหมายกับวิธีการสื่อมวลชนร่วมกับการเพิ่มปฏิสัมพันธ์ส่วนบุคคล สิ่งที่พบเหล่านี้ อ้างอิงตามการศึกษา 3 เรื่อง ซึ่งไม่สามารถสรุปผลได้
ไม่มีการศึกษาใดรายงานว่า วิธีการเหล่านี้มีผลที่ไม่พึงประสงค์หรือไม่ เช่น มีความเป็นไปได้ที่จะเสื่อมเสียชื่อเสียงหรือ มีการเพิ่มการต่อต้านต่อข้อความนั้น
การศึกษาในครั้งต่อไปน่าจะเป็นประโยชน์เมื่อเปรียบเทียบโดยตรงระหว่างวิธีการทางสื่อมวลชนแบบเฉพาะเจาะจงกลุ่มเป้าหมายกับวิธีการทางสื่อมวลชนแบบทั่วไป การศึกษาเพียงเล็กน้อยที่ศึกษาผลของวิธีการทางสื่อมวลชนแบบเฉพาะเจาะจงสำหรับชนกลุ่มน้อยซึ่งที่ไม่ได้พูดภาษาหลักของตนเอง
คุณภาพของหลักฐาน
ความเชื่อมั่นในหลักฐานของเราเกี่ยวกับผลลัพธ์หลักทั้งหมดอยู่ในระดับต่ำถึงต่ำมาก ซึ่งหมายความว่า ผลที่แท้จริงอาจจะมีความแตกต่างหรือแตกต่างเป็นอย่างมากจากผลการศึกษาที่นำเสนอในการทบทวนวรรณกรรมเรื่องนี้ เรามีความเชื่อมั่นระดับปานกลางในการประมาณค่าการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ต่อสายเข้ามารับบริการขอเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์
หลักฐานที่มีอยู่ไม่เพียงพอสำหรับการทำความเข้าใจว่าวิธีการทางสื่อมวลชนที่มุ่งเป้าไปยังกลุ่มชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์มีประสิทธิผลในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพมากกว่าวิธีการทางสื่อมวลชนสำหรับกลุ่มประชากรขนาดใหญ่หรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับการไม่ให้วิธีการใด ๆ วิธีการกทางสื่อมวลชนแบบเฉพาะเจาะจงกลุ่มเป้าหมายอาจจะเพิ่มจำนวนการโทรเข้ารับบริการสายด่วนเลิกบุหรี่ แต่ผลต่อพฤติกรรมสุขภาพยังไม่ชัดเจน การศึกษาเหล่านี้ไม่สามารถแยกผลขององค์ประกอบต่างๆ เช่นผลของการได้ยินข้อความเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม การประยุกต์เข้ากับวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ หรือการเพิ่มการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายผ่านทางสื่อมวลชนที่เหมาะสมมากขึ้น การศึกษาครั้งใหม่ควรศึกษาสิ่งแทรกแซงแบบเฉพาะเจาะจงสำหรับชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ด้วยภาษาแม่นอกเหนื่อจากภาษาที่ใช้ในประเทศที่เขาอาศัยอยู่ รวมทั้งเปรียบเทียบวิธีการทางสื่อมวลชนแบบเฉพาะเจาะจงกลุ่มเป้าหมายกับวิธีการทางสื่อสารมวลชนสำหรับกลุ่มประชากรทั่วไป
กิจกรรมทางกาย การควบคุมอาหาร การหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และการจำกัดปริมาณการบริโภคแอลกอฮอล์อาจจะลดการเจ็บป่วยและการตายจากโรคไม่ติดต่อ (NCDs) วิธีการทางสื่อมวลชนเคยถูกใช้ส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพในกลุ่มประชาชนบ่อยๆ ซึ่งไม่ชัดเจนว่าวิธีการทางสื่อมวลชนแบบเฉพาะเจาะจงสำหรับชนกลุ่มน้อยมีประสิทธิผลในเรื่องการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมากกว่าหรือน้อยกว่าวิธีการทางสื่อมวลชนที่พัฒนามาสำหรับกลุ่มประชากรทั่วไป
เพื่อประเมินผลของวิธีการทางสื่อมวลชนที่กำหนดเป้าหมายเป็นวัยผู้ใหญ่ของชนกลุ่มน้อยด้วยข้อความเกี่ยวกับกิจกรรมทางกาย รูปแบบการบริโภคอาหาร การสูบบุหรี่ หรือการบริโภคแอลกอฮอล์เพื่อลดความเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อ
เราสืบค้นฐานข้อมูล CENTRAL, MEDLINE, Embase, PsycINFO, CINAHL, ERIC, SweMed+ และ ISI Web of Science จนถึงสิงหาคม 2016 เรายังสืบคืนสำหรับ grey literature ใน OpenGrey, Grey Literature Report, Eldis และสองเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องจนถึงเดือนตุลาคม 2016 การสืบค้นไม่มีการจำกัดภาษา
เราสืบค้นการศึกษาที่เป็นระดับบุคคล (individual) และ cluster-randomised controlled trials, controlled before-and-after studies (CBA) และ interrupted time series studies (ITS) วิธีการส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางกาย รูปแบบการบริโภคอาหาร การสูบบุหรี่หรือการบริโภคแอลกอฮอล์ โดยเผยแพร่ตามช่องทางสือมวลชน และมีกลุ่มเป็นหมายเป็นชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ ประชากรที่สนใจประกอบด้วยผู้ใหญ่ (≥ 18 ปี) จากชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ในประเทศที่เป็นจุดศูนย์กลาง (focal countries) ผลลัพธ์หลักประกอบด้วย ตัวชี้วัดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม รายงานการเปลี่ยนพฤติกรรมตนเอง ความรู้ และทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไป ผลลัพธ์รองคือ การใช้บริการส่งเสริมสุขภาพและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับโครงการ
ผู้วิจัย 2 คนทำการทบทวนเอกสารอ้างอิงโดยอิสระต่อกันเพื่อระบุรายงานวิจัยสำหรับการนำเข้าศึกษา เราคัดลอกข้อมูลและประเมินความเสี่ยงของการเกิดอคติในทุกการศึกษาที่นำเข้า เราไม่ได้รวมผลการศึกษา (pool the results) เนื่องจากมีความแตกต่างของการศึกษา (heterogeneity) ในการเปรียบเทียบ ผลลัพธ์ และวิธีการวิจัย เราพรรณนาผลการศึกษา (narratively) และนำเสนอผลในตารางสรุปผลที่พบ ซึ่งเราตัดสินคุณภาพของหลักฐานโดยใช้วิธี GRADE (Grading of Recommendations Assessment, Development, and Evaluation)
การศึกษา 6 เรื่องเป็นไปตามเกณฑ์คัดเข้า รวมถึงการศึกษาแบบ RCTs 3 เรื่อง และ cluster-RCTs 2 เรื่อง และการวิจัยแบบ ITS 1 เรื่อง การศึกษาทั้งหมดดำเนินการในประเทศสหรัฐอเมริกา และประกอบด้วยวิธีการทางสื่อมวลชนที่เฉพาะเจาะจงสำหรับประชากรชาวแอฟริกา (4 การศึกษา) ผู้อพยพชาวลาตินที่พูดภาษาสเปน (1 การศึกษา) และผู้อพยพชาวจีน (1 การศึกษา) การศึกษา 2 เรื่องหลัง ได้เสนอให้ใช้วิธีการที่ใช้ภาษาแรกของผู้เข้าร่วมโครงการ (ภาษาสเปน ภาษาจีนกวางตุ้ง หรือ ภาษาแมนดาริน) วิธีการที่ใช้ 3 แบบที่กำหนดเป้าหมายเฉพาะสตรีเท่านั้น โดยเฉพาะสตรีที่มีครรภ์เดี่ยว เราตัดสินว่าการศึกษาทั้งหมดมีความเสี่ยงของอคติที่ไม่ชัดเจนอย่างน้อย 1 โดเมนและ 3 การศึกษาว่ามีความเสี่ยงของอคติสูงอย่างน้อย 1 โดเมน
เราแบ่งกลุ่มสิ่งที่พบเป็น 3 การเปรียบเทียบ การเปรียบเทียบลำดับแรกเป็นการประเมินวิธีการทางสื่อมวลชนที่มีเป้าหมายคือชนกลุ่มน้อยกับวิธีการทางสื่อมวลชนที่มีจุดมุ่งหมายสำหรับกลุ่มประชาชนทั่วไป มีการศึกษา 1 เรื่องในกลุ่มนี้ (ผู้เข้าร่วมโครงการชาวแอฟริกา 255 คน) พบว่า มีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในผลของการรายงานการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการสูบบุหรี่และมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในการเปลี่ยนแปลงทัศนคติระหว่างผู้เข้าร่วมโครงการที่ซึ่งได้รับหนังสือคำแนะนำการเลิกบุหรี่ที่เจาะจงตามวัฒนธรรมเปรียบเทียบกับหนังสือสำหรับประชาชนทั่วไป เราไม่มั่นใจเกี่ยวกับผลของการประมาณค่า จากการประเมินด้วยวิธี GRADE (หลักฐานมีคุณภาพต่ำมาก) ไม่มีการศึกษาใดให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวชี้วัดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือผลที่ไม่พึงประสงค์
การเปรียบเทียบลำดับที่สองคือการประเมินวิธีการทางสื่อมวลชนแบบเฉพาะเจาะจงกลุ่มเป้าหมายเทียบกับการไม่ให้วิธีการใดๆ การศึกษา 1 เรื่อง (ผู้เข้าร่วมโครงการชาวแอฟริกา 154 คน) รายงานผลสำหรับผลลัพธ์หลักของเรา ผู้เข้าร่วมโครงการในกลุ่มทดลองมีการเข้าถึงรายการถ่ายทอดสด 12 ชุด เป็นเวลาหนึ่งชั่วโมงบนเคเบิ้ลทีวี และรับเอกสารตลอด 3 เดือนเกี่ยวกับโภชนาการและกิจกรรมทางกายเพื่อปรับปรุงสุขภาพและควบคุมน้ำหนัก การเปลี่ยนแปลงดัชนีมวลกายเปรียบเทียบระหว่าง 12 เดือนหลังจากวัดค่าอ้างอิง (baseline) (หลักฐานคุณภาพต่ำ) คะแนนของลักษณะนิสัยการรับประทานอาหาร (พฤติกรรมการบริโภคไขมัน) และคะแนนกิจกรรมยามว่างทั้งหมดที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเหมาะสมสำหรับกลุ่มทดลอง (หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) การศึกษาอื่นๆ อีก 2 เรื่อง ให้ประชากรในพื้นที่ภูมิศาสตร์ฟังโฆษณาทางวิทยุโดยมุ่งเป้าหมายไปที่ชุมชนชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกา ผู้วิจัยนำเสนอผลของผลลัพธ์รอง 2 เรื่องคือ การใช้บริการส่งเสริมสุขภาพและค่าใช้จ่ายในโครงการ การรณรงค์ด้วยข้อความคือ การบริการโทรศัพท์สายด่วนเลิกบุหรี่ ผลลัพธ์คือ จำนวนครั้งที่รับโทรศัพท์ หลังจาก 1 ปีผ่านไป การศึกษา 1 เรื่องรายงานว่า มี 18 สายต่อจำนวนผู้สูบบุหรี่ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายประมาณ 10,000 คน จากชุมชนที่ได้รับวิธีการทางสื่อมวลชน (ประชากรเป้าหมายประมาณ 310,500 คน) เปรียบเทียบกับ 0.2 สายต่อจำนวนผู้สูบบุหรี่ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายประมาณ 10,000 คน จากชุมชนที่เป็นกลุ่มควบคุม (ประชากรเป้าหมายประมาณ 331,400 คน) (หลักฐานมีคุณภาพปานกลาง) การศึกษาแบบ ITS รายงานการเพิ่มขึ้นของจำนวนการโทรจากกลุ่มประชากรเป้าหมายในระหว่างการรณรงค์ (หลักฐานมีคุณภาพระดับต่ำ) สัดส่วนการโทรของชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกาเพิ่มขึ้นทั้ง 2 การศึกษา (หลักฐานมีคุณภาพต่ำถึงต่ำมาก) ไม่มีการศึกษาใดให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับความรู้และทัศนคติ และผลที่ไม่พึงประสงค์ ข้อมูลค่าใช้จ่ายมีเพียงเล็กน้อย
การเปรียบเทียบลำดับที่ 3 ประเมินวิธีการทางสื่อมวลชนแบบเฉพาะเจาะจงกลุ่มเป้าหมายเปรียบเทียบกับวิธีการทางสื่อมวลชนร่วมกับข้อมูลส่วนบุคคล ผลการวิจัยอ้างอิงจากการศึกษา 3 เรื่อง (ผู้เข้าร่วมโครงการ 1361 คน) ผู้เข้าร่วมโครงการในกลุ่มเปรียบเทียบเหล่านี้ได้รับผลสะท้อนส่วนบุคคล การศึกษา 2 เรื่องบันทึกการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักตลอดเวลา พบความแตกต่างอย่างไม่มีนัยสำคัญระหว่างกลุ่ม (หลักฐานคุณภาพต่ำ) หลักฐานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และความรู้และทัศนคติมักพบว่ามีผลที่เป็นประโยชน์ในการรับข้อมูลส่วนบุคคลหรือ ความแตกต่างระหว่างกลุ่มไม่มีนัยสำคัญ (หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) ไม่มีการศึกษาใดให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลที่ไม่พึงประสงค์ ข้อมูลค่าใช้จ่ายมีเพียงเล็กน้อย
แปลโดย นายอนุวัตน์ เพ็งพุฒ นักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์ และแพทย์หญิงจุฑามาศ สุจริต โรงพยาบาลพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม วันที่ 16 ตุลาคม 2017