ที่มาและความสำคัญ
วิตามินดีเป็นสารอาหารที่จำเป็นและสำคัญต่อสุขภาพของมวลกระดูก นอกจากนี้การขาดวิตามินดียังเชื่อมโยงกับผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ไม่เกี่ยวกับกระดูก เช่น การเจริญเติบโตอีกด้วย ภาวะเตี้ย (stunting) และเติบโตช้าในเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบยังคงเป็นความท้าทายระดับโลกที่สำคัญ การศึกษาก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่าระดับวิตามินดีในเลือดสัมพันธ์กับภาวะเตี้ยและการเติบโตช้า ผู้วิจัยจึงได้ตรวจสอบหลักฐานเกี่ยวกับอาหารเสริมวิตามินดีและผลที่อาจเกิดขึ้นต่อการเจริญเติบโตเชิงเส้น นอกจากนี้ ยังได้สำรวจผลลัพธ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถานะของวิตามินดีรวมถึงผลข้างเคียง
ลักษณะของการศึกษา
ผู้วิจัยรวบรวมรายงาน 187 ฉบับที่แสดงถึงการศึกษา 75 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 12,122 คน) ซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินการในประเทศอินเดีย, สหรัฐอเมริกา และแคนาดาในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี นอกจากนี้ ยังมีการศึกษา 33 ฉบับ ที่ถูกจัดประเภทว่ากำลังดำเนินการอยู่ และ 21 ฉบับ เป็น 'กำลังรอการจัดประเภท' เนื่องจากไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะจัดหมวดหมู่ว่าเป็น เข้าร่วม, กำลังดำเนินการ หรือถูกคัดออก การเปรียบเทียบรวมถึงการเสริมวิตามินดีทางการกินเทียบกับยาหลอกหรือไม่ได้รับยาใดๆ; วิตามินดีในปริมาณสูงเมื่อเทียบกับวิตามินดีในขนาดต่ำ; วิตามินดีบวกสารอาหารรอง (วิตามินหรือแร่ธาตุหรือทั้งสองอย่าง) เทียบกับสารอาหารรองชนิดเดียวกันเพียงอย่างเดียว; และวิตามินดีในปริมาณสูงบวกสารอาหารรอง (วิตามินหรือแร่ธาตุหรือทั้งสองอย่าง) เมื่อเทียบกับวิตามินดีในขนาดต่ำบวกสารอาหารรองชนิดเดียวกัน มีการศึกษา 2 ฉบับที่รายงานการให้ทุนสนับสนุนวิจัยเพื่อแสวงหาผลกำไร, 2 ฉบับได้รับทุนแบบผสม (ทั้งไม่แสวงหาผลกำไรและเพื่อผลกำไร), 5 ฉบับที่รายงานว่าไม่ได้รับเงินทุนสนับสนุน, 26 ฉบับไม่เปิดเผยแหล่งเงินทุนสนับสนุน และการศึกษาที่เหลือได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยโดยองค์กรไม่แสวงหากำไร
ผลการศึกษาที่สำคัญ
การเสริมวิตามินดีเมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอกหรือไม่ได้ให้ยาใดๆ แทบไม่มีผลต่อการเกิดภาวะแคลเซียมสูงในปัสสาวะ (hypercalciuria), อาจช่วยเพิ่มความยาวหรือความสูงตามเกณฑ์อายุของเด็ก, อาจแทบไม่มีผลต่อภาวะเตี้ย, และอาจแทบไม่มีผลต่อความยาวหรือความสูงของเด็ก และยังไม่แน่ชัดว่า วิตามินดีเมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอกหรือการไม่ให้ยาใดๆ จะส่งผลต่อการเกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูง (hypercalcaemia)
การเสริมวิตามินดีในปริมาณสูงเมื่อเทียบกับวิตามินดีในปริมาณต่ำ แทบไม่แตกต่างกันในแง่ความยาวหรือความสูงตามเกณฑ์อายุของเด็ก และการเกิดภาวะแคลเซียมสูงในปัสสาวะหรือภาวะแคลเซียมในเลือดสูง แต่ยังไม่แน่ใจเกี่ยวกับผลของวิตามินดีในปริมาณที่สูงต่อการเจริญเติบโตเชิงเส้น
การเสริมวิตามินดีในปริมาณสูงพร้อมกับสารอาหารรอง (วิตามินหรือแร่ธาตุหรือทั้งสองอย่าง) เมื่อเทียบกับวิตามินดีในปริมาณต่ำและสารอาหารรองชนิดเดียวกัน อาจแทบไม่มีผลต่อการเจริญเติบโตเชิงเส้นในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี, การเกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูงและภาวะแคลเซียมสูงในปัสสาวะ
บทสรุป
หลักฐานปัจจุบันชี้ให้เห็นว่าวิตามินดีอาจช่วยเพิ่มค่า z-score ของความยาว/ความสูงตามเกณฑ์อายุได้เล็กน้อยเมื่อเทียบกับยาหลอก อย่างไรก็ตามเนื่องจากคุณภาพของหลักฐาน ผู้วิจัยจึงยังไม่แน่ใจเกี่ยวกับผลที่แท้จริงของวิตามินดีต่อการเจริญเติบโตเชิงเส้นหรือผลข้างเคียงในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีเมื่อเทียบกับยาหลอก, การไม่ได้รับยาใดๆ, หรือการให้วิตามินดีในปริมาณต่ำโดยมีหรือไม่มีสารอาหารรอง
จากหลักฐานแสดงให้เห็นว่าการเสริมวิตามินดีทางการกินอาจแทบไม่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตเชิงเส้น, ภาวะเตี้ย, ภาวะแคลเซียมสูงในปัสสาวะ หรือภาวะแคลเซียมในเลือดสูง เมื่อเทียบกับยาหลอกหรือไม่ได้ให้ยาใดๆ แต่อาจเพิ่มค่า z-score ของความยาว/ความสูงตามเกณฑ์อายุ (length/height-for-age z-score; L/HAZ) ได้เล็กน้อย นอกจากนี้ จากหลักฐานแสดงให้เห็นว่า เมื่อเทียบกับการได้รับวิตามินดีในปริมาณที่ต่ำโดยมีหรือไม่มีสารอาหารรอง การเสริมวิตามินดีอาจแทบไม่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตเชิงเส้น, L/HAZ, ภาวะเตี้ย, ภาวะแคลเซียมสูงในปัสสาวะ หรือภาวะแคลเซียมในเลือดสูง จากขนาดตัวอย่างที่เล็ก ความแตกต่าง (heterogeneity) อย่างมากในแง่ของประชากร และตัวแปรของการรักษาที่ได้รับ และการมีความเสี่ยงสูงที่จะมีอคติจากการศึกษาหลายฉบับที่รวบรวมมา ทำให้จำกัดความมั่นใจของผู้วิจัยในการยืนยันผลของวิตามินดีที่มีต่อผลลัพธ์ด้านต่างๆ อย่างไรก็ดี การศึกษาขนาดใหญ่ที่ออกแบบการวิจัยมาอย่างดีและมีระยะเวลานาน (หลายเดือนถึงหลายปี) จำเป็นสำหรับการยืนยันว่าการเสริมวิตามินดีทางการกินสามารถส่งผลต่อการเจริญเติบโตเชิงเส้นในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีหรือไม่ ทั้งในผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงและผู้ที่ติดเชื้อหรือเป็นโรคไม่ติดต่อก็ตาม
วิตามินดีเป็นฮอร์โมน secosteroid ที่มีความสำคัญต่อบทบาทในการสร้างสมดุลของแคลเซียมเพื่อรักษาสุขภาพของมวลกระดูก การเจริญเติบโตเชิงเส้นที่สะดุดและภาวะเตี้ย (stunting) ยังคงเป็นตัวบ่งชี้ภาวะโภชนาการที่ไม่ดีของทารกและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีทั่วโลก และภาวะวิตามินดีต่ำนั้นเชื่อมโยงกับการเจริญเติบโตช้า อย่างไรก็ตาม หลักฐานที่มีอยู่เกี่ยวกับผลของการเสริมวิตามินดีต่อการเจริญเติบโตเชิงเส้นและผลลัพธ์ด้านสุขภาพอื่นๆ ในทารกและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปียังไม่ได้รับการตรวจสอบอย่างเป็นระบบ
เพื่อประเมินผลของการเสริมวิตามินดีต่อการเจริญเติบโตเชิงเส้นและผลลัพธ์ด้านสุขภาพอื่นๆ ในทารกและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี
ในเดือนธันวาคม 2019 ผู้วิจัยได้สืบค้นใน CENTRAL, PubMed, Embase, ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ 14 แหล่ง และคลังลงทะเบียนการวิจัยอีก 2 แหล่ง นอกจากนี้ ยังค้นหาในรายการอ้างอิงของวารสารที่เกี่ยวข้องเพื่อค้นหาการทดลองที่เกี่ยวข้อง และได้ติดต่อองค์กรสำคัญและผู้ทำการวิจัยเพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับการทดลองที่กำลังดำเนินอยู่และที่ยังไม่ได้เผยแพร่
ผู้วิจัยรวบรวมการศึกษาแบบ randomised controlled trials (RCTs) และ quasi-RCTs ที่ประเมินผลของการเสริมวิตามินดีทางการกินโดยมีหรือไม่มีสารอาหารรองอื่นๆ เทียบกับการไม่ได้ให้ยาใดๆ, ยาหลอก, การได้รับวิตามินดีในปริมาณที่ต่ำกว่า, หรือสารอาหารรองชนิดเดียวกันเพียงอย่างเดียว (ที่ไม่ใช่วิตามิน D) ในทารกและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีที่อาศัยอยู่ในประเทศใดก็ได้
ผู้วิจัยใช้ระเบียบวิธีการวิจัยตามมาตรฐานของ Cochrane
จากการศึกษา 75 ฉบับ (187 รายงาน; ผู้เข้าร่วม 12,122 คน) ที่นำมาวิเคราะห์เชิงคุณภาพ มี 64 การศึกษา (169 รายงาน; ผู้เข้าร่วม 10,854 คน) ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลลัพธ์ที่ผู้วิจัยสนใจสำหรับการวิเคราะห์ meta-analysis การศึกษาส่วนใหญ่ดำเนินการในอินเดีย, สหรัฐอเมริกา และแคนาดา มีการศึกษา 2 ฉบับที่รายงานการให้ทุนสนับสนุนวิจัยเพื่อแสวงหาผลกำไร, 2 ฉบับที่ได้รับทุนแบบผสม (ทั้งไม่แสวงหาผลกำไรและเพื่อผลกำไร), 5 ฉบับที่รายงานว่าไม่ได้รับเงินทุนสนับสนุน, 26 ฉบับไม่เปิดเผยแหล่งเงินทุนสนับสนุน และการศึกษาที่เหลือได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยโดยองค์กรไม่แสวงหากำไร ความเชื่อมั่นของหลักฐานแตกต่างกันตั้งแต่สูงจนถึงต่ำมากในผลลัพธ์ (ทั้งหมดวัดที่จุดสิ้นสุด) สำหรับการเปรียบเทียบแต่ละอย่าง
การให้วิตามิน D เสริมเพียงอย่างเดียวเทียบกับยาหลอก/ไม่ได้ให้ยาใดๆ (31 การศึกษา)
เมื่อเทียบกับยาหลอกหรือไม่ได้ให้ยาใดๆ การเสริมวิตามินดี (ขนาด 200 ถึง 2000 IU ต่อวัน; หรือจนถึงขนาด 300,000 IU bolus เมื่อเริ่มการศึกษา) อาจแทบไม่แตกต่างกันในการเจริญเติบโตเชิงเส้น (ความยาว/ความสูงที่วัดเป็นซม.) ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี (mean difference (MD) 0.66, 95% confidence interval (CI) -0.37 ถึง 1.68; 3 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 240 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ); อาจช่วยเพิ่มค่า z-score ของความยาว/ความสูงตามเกณฑ์อายุ (length/height-for-age z-score; L/HAZ) (MD 0.11, 95% CI 0.001 ถึง 0.22; 1 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 1258 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นปานกลาง); และอาจแทบไม่แตกต่างกันในภาวะเตี้ย (risk ratio (RR) 0.90, 95% CI 0.80 ถึง 1.01; 1 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 1247 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นปานกลาง)
ในแง่ของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ การเสริมวิตามินดีแทบไม่ส่งผลต่อการเกิดภาวะแคลเซียมสูงในปัสสาวะ (hypercalciuria) เมื่อเทียบกับยาหลอก (RR 2.03, 95% CI 0.28 ถึง 14.67; 2 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 68 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นสูง) แต่ยังไม่แน่ใจว่าการเสริมวิตามินดีจะส่งผลต่อการเกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูง (hypercalcaemia) หรือไม่ เนื่องจากความเชื่อมั่นของหลักฐานต่ำมาก (RR 0.82, 95% CI 0.35 ถึง 1.90; 2 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 367 คน)
การเสริมวิตามินดี (ปริมาณสูง) เทียบกับวิตามินดี (ปริมาณต่ำ) (34 การศึกษา)
เมื่อเทียบกับวิตามินดีปริมาณต่ำ (100 ถึง 1,000 IU ต่อวัน; หรือจนถึงขนาด 300,000 IU bolus เมื่อเริ่มการศึกษา) การเสริมวิตามินดีในปริมาณที่สูง (200 ถึง 6000 IU ต่อวัน; หรือสูงถึง 600,000 IU bolus เมื่อเริ่มการศึกษา) อาจแทบไม่มีผลต่อการเติบโตเชิงเส้น แต่ผู้วิจัยยังไม่แน่ใจเกี่ยวกับผลลัพธ์นี้ (MD 1.00, 95% CI -2.22 ถึง 0.21; 5 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 283 คน) และอาจแทบไม่มีผลต่อค่า L/HAZ (MD 0.40, 95 % CI -0.06 ถึง 0.86; 2 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 105 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) ไม่มีการศึกษาใดประเมินภาวะเตี้ย
ในแง่ของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ การเสริมวิตามินดีในปริมาณสูงอาจแทบไม่มีผลต่อการเกิดภาวะแคลเซียมสูงในปัสสาวะ (RR 1.16, 95% CI 1.00 ถึง 1.35; 6 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 554 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) หรือภาวะแคลเซียมในเลือดสูง (RR 1.39, 95 % CI 0.89 ถึง 2.18; 5 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 986 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) เทียบกับการเสริมวิตามินดีในปริมาณต่ำ
การเสริมวิตามินดี (ปริมาณสูง) + สารอาหารรอง เทียบกับวิตามินดี (ปริมาณต่ำ) + สารอาหารรอง (9 การศึกษา)
การเสริมวิตามินดีในปริมาณสูง (400 ถึง 2000 IU ต่อวัน; หรือจนถึงขนาด 300,000 IU bolus เมื่อเริ่มการศึกษา) บวกกับสารอาหารรอง เมื่อเทียบกับวิตามินดีปริมาณต่ำ (200 ถึง 2000 IU ต่อวัน; หรือจนถึงขนาด 90,000 IU bolus เมื่อเริ่มการศึกษา) บวกกับสารอาหารรองที่เหมือนกัน อาจแทบไม่มีผลต่อการเจริญเติบโตเชิงเส้น (MD 0.60, 95% CI −3.33 ถึง 4.53; 1 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 25 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นปานกลาง) ไม่มีการศึกษาใดประเมินค่า L/HAZ หรือภาวะเตี้ย
ในแง่ของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ การเสริมวิตามินดีในปริมาณสูงร่วมกับสารอาหารรองเทียบกับวิตามินดีปริมาณต่ำบวกกับสารอาหารรองที่เหมือนกัน อาจแทบไม่มีผลต่อการเกิดภาวะแคลเซียมสูงในปัสสาวะ (RR 1.00, 95% CI 0.06 ถึง 15.48; 1 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 86 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) หรือภาวะแคลเซียมในเลือดสูง (RR 1.00, 95 % CI 0.90 ถึง 1.11; 2 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 126 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นปานกลาง)
มี 4 การศึกษาที่วัดการเกิดภาวะฟอสเฟตในเลือดสูง (hyperphosphataemia) และ 3 การศึกษาที่วัดการเกิดนิ่วที่ไต แต่รายงานว่าไม่มีอุบัติการณ์ใดๆ ดังนั้น ผลเหล่านี้จึงไม่รวมอยู่ในการเปรียบเทียบ
ผู้แปล นพ.จักรพงศ์ รู้ปิติวิริยะ วันที่ 23 ธันวาคม 2020