โรคจิตที่เพิ่งเริ่มมีอาการได้รับการรักษาอย่างดีที่สุดโดยทีมสุขภาพจิตผู้เชี่ยวชาญหรือไม่

โรคจิตคืออะไร

โรคจิต หมายถึงสภาวะเงื่อนไขที่ส่งผลต่อจิตใจ เป็นบุคคลที่มีปัญหาในการแยกแยะสิ่งที่เป็นจริงจากสิ่งที่ไม่จริง ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการมองเห็นหรือได้ยินสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็นหรือได้ยิน (ภาพหลอน) หรือเชื่อในสิ่งที่ไม่เป็นความจริง (ภาพลวงตา) การมีภาพหลอนและความคิดหลงผิดร่วมกันอาจทำให้เกิดความทุกขใจ์อย่างรุนแรงและส่งผลต่อพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป การเป็นโรคจิตในครั้งแรก หมายถึงบุคคลที่มีประสบการณ์การเป็นโรคจิตครั้งแรก การเริ่มเป็นโรคจิตในระยะเริ่มต้น หมายถึง การมีอาการโรคจิตในช่วงสองสามปีแรกของการเจ็บป่วยหลังจากที่มีอาการโรคจิตในครั้งแรก

โรคจิตสามารถรักษาให้หายได้

หลายคนฟื้นหายจากการเจ็บป่วยครั้งแรกและไม่เคยมีอาการโรคจิตกลับเป็นซ้ำอีก

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตจะประเมินบุคคลก่อนที่จะแนะนำการรักษาที่เฉพาะเจาะจง ขึ้นอยู่กับบริการที่มีอยู่ในขณะนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตอาจส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษาต่อที่่:

- ทีมสุขภาพจิตชุมชน: ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตที่สามารถดูแลผู้ที่มีภาวะสุขภาพจิตที่ซับซ้อน

- ทีมแก้ไขปัญหาในภาวะวิกฤต: ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตที่ให้การรักษาบุคคลที่อาจมีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หรือ

- ทีมบำบัดระยะแรก: ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตที่ให้การบำบัดกับผู้ที่กำลังเป็นหรือเพิ่งเคยมีประสบการณ์การเป็นโรคจิตครั้งแรก

การบำบัดรักษาตั้งแต่เริ่มมีอาการโรคจิตในระยะแรกๆโดยทีมที่มีความเชี่ยวชาญ มีเป้าหมายในการรักษาโรคจิตโดยเร็วและเข้มข้นที่สุดเท่าที่จะทำได้

ทำไมเราถึงทำการทบทวนวรรณกรรมนี้

เราต้องการทราบว่าทีมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ทำการบำบัดในระยะแรกประสบความสำเร็จในการรักษาโรคจิตที่เพิ่งเริ่มมีอาการ มากกว่าทีมสุขภาพจิตที่ไม่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านจิตเวชที่รักษาในผู้ป่วยนอกหรือในชุมชนหรือไม่

เราได้ทำอะไร

เราค้นหาการศึกษาที่ศึกษาผลของการใช้ทีมบำบัดรักษาระยะแรกเพื่อรักษาโรคจิตที่เพิ่งเริ่มมีอาการเปรียบเทียบกับการดูแลสุขภาพจิตชุมชนตามมาตรฐาน

เราสืบค้นการศึกษาแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม ซึ่งกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการรักษาได้รับการคัดเลือกเข้ากลุ่มแบบสุ่ม การศึกษาประเภทนี้มักให้หลักฐานที่น่าเชื่อถือที่สุดเกี่ยวกับประสิทธิผลของการรักษา

เราต้องการทราบในตอนท้ายเมื่อสิ้นสุดการทดลอง:

- จำนวนผู้ที่ฟื้นหาย

- มีกี่คนที่หยุดการรักษาเร็วเกินไป

- จำนวนผู้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจิตเวชและเป็นระยะเวลานานเท่าใด

- สภาวะสุขภาพจิตโดยทั่วไปและสมรรถนะการทำหน้าที่ทั่วไปของผู้ป่วย (พวกเขารับมือกับชีวิตประจำวันได้ดีเพียงใด) และ

- จำนวนผู้เสียชีวิต

วันที่สืบค้นข้อมูล: เรารวบรวมหลักฐานที่เผยแพร่ถึงวันที่ 22 ตุลาคม 2019

สิ่งที่เราพบ

เราพบการศึกษา 4 เรื่องจากกลุ่มตัวอย่าง 1145 คน (ผู้ชาย 65% อายุเฉลี่ย 23 ถึง 26 ปี) ที่มีอาการโรคจิตในระยะเริ่มต้น การศึกษาเปรียบเทียบการรักษาโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในระยะเริ่มต้นกับ 'การรักษาตามปกติ' (การรักษาโดยทีมสุขภาพชุมชนหรือทีมสุขภาพจิตผู้ป่วยนอก)

การศึกษาเกิดขึ้นในสถานบริการสุขภาพจิตชุมชนในประเทศที่มีรายได้สูง: เดนมาร์ก สวีเดน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา การศึกษาใช้เวลาตั้งแต่ 18 ถึง 24 เดือน

ผลลัพธ์ของการทบทวนวรรณกรรม

เมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาตามปกติ กับการรักษาโดยทีมบำบัดในระยะแรก:

- อาจช่วยให้ผู้ป่วยหายจากโรคจิตได้มากขึ้น (2 การศึกษา; 194 คน);

- อาจช่วยลดจำนวนคนที่หยุดการรักษาเร็วเกินไป (3 การศึกษา; 630 คน);

- อาจลดจำนวนผู้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจิตเวช (4 การศึกษา; 1145 คน)

- อาจลดเวลาที่นอนรับการรักษาในโรงพยาบาลจิตเวชน้อยลง (1 การศึกษา; 547 คน); และ

- อาจพัฒนาสมรรถนะในการทำหน้าที่ทั่วไปของผู้ป่วยได้ในระดับปานกลาง (2 การศึกษา; 467 คน)

เราไม่แน่ใจว่าการรักษาโดยทีมบำบัดระยะแรกมีผลต่ออาการทางจิตทั่วไปหรือไม่ (2 การศึกษา; 304 คน) หรือมีผลต่อจำนวนผู้เสียชีวิต (3 การศึกษา; 741 คน)

ความน่าเชื่อถือของผลการวิจัย

เรามั่นใจในระดับปานกลางว่าการรักษาโดยทีมบำบัดระยะแรกอาจช่วยลดจำนวนผู้ที่หยุดการรักษาเร็วเกินไป แม้ว่าผลลัพธ์นี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปเมื่อมีหลักฐานมากขึ้น

เราไม่ค่อยมั่นใจเกี่ยวกับจำนวนคนที่หายจากโรคจิตหรือเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจิตเวช ระยะเวลาที่พวกเขารักษาอยู่ในโรงพยาบาล และการเพิ่มสมรรถนะในการทำหน้าที่ทั่วไปของผู้ป่วย ผลลัพธ์เหล่านี้น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหากมีหลักฐานเพิ่มเติม

ใจความสำคัญ

การใช้ทีมผู้เชี่ยวชาญในการบำบัดในระยะเริ่มต้นเพื่อรักษาโรคจิตที่เพิ่งเริ่มมีอาการ มีแนวโน้มที่จะมีประโยชน์ เช่นมีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นที่รับการรักษาที่ได้รับอย่างต่อเนื่อง และการเพิ่มจำนวนผู้ที่ฟื้นหาย

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

มีหลักฐานว่า SEI อาจให้ประโยชน์แก่ผู้ใช้บริการในระหว่างการรักษาเมื่อเทียบกับ TAU ผลประโยชน์เหล่านี้อาจรวมถึง มีจำนวนผู้ร่วมวิจัยหยุดการรับบริการสุขภาพจิตก่อนกำหนดน้อยลง (หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับปานกลาง) และอาจรวมถึงการลดลงเล็กน้อยในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจิตเวช (หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ) และความสามารถในการทำหน้าที่ทั่วไปเพิ่มขึ้นเล็กน้อย (หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ) และความพึงพอใจในการบริการที่เพิ่มขึ้น (หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับปานกลาง) หลักฐานเกี่ยวกับผลของ SEI ต่อ TAU หลังจากการทดลองสิ้นสุดลงนั้นไม่ชัดเจน จำเป็นต้องมีหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบผลลัพธ์ในระยะยาวของ SEI นอกจากนี้การทดลองที่เป็นไปตามเกณฑ์การคัดเลือกทั้งหมดที่รวมอยู่ในการทบทวนนี้ได้ดำเนินการในประเทศที่มีรายได้สูง และยังไม่มีความชัดเจนว่าการค้นพบนี้จะสามารถขยายผลไปยังประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางหรือไม่ ซึ่งทั้งการรักษาและเงื่อนไขการเปรียบเทียบอาจแตกต่างกัน

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

โรคจิตเป็นความเจ็บป่วยที่มีลักษณะของภาพหลอนและอาการหลงผิดที่อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดความทุกข์ใจหรือมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด (เช่นการแยกตัวจากสังคม อารมณ์เรียบเฉยหรือการไม่แสดงอารมณ์) การมีอาการโรคจิตครั้งแรก (FEP) เป็นประสบการณ์ครั้งแรกของบุคคลที่มีอาการเหล่านี้ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้กับบุคคลทุกวัย แต่อาการนี้มักเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่นตอนปลายและวัยผู้ใหญ่ตอนต้น บทวิจารณ์นี้เกี่ยวข้องกับการเกิดอาการโรคจิตครั้งแรก (FEP) และเป็นระยะเริ่มต้นของโรคจิต คำที่ใช้ในการทบทวนวรรณกรรมฉบับนี้หมายถึง 'โรคจิตที่เพิ่งเริ่มมีอาการครั้งแรก'

ทีมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้การบำบัดในช่วงต้นของการมีอาการ (SEI) เป็นทีมสุขภาพจิตในชุมชนที่มีความเชี่ยวชาญในการรักษาผู้ที่กำลังมีอาการโรคจิตหรือมีประสบการณ์เป็นโรคจิตในระยะเริ่มแรก จุดประสงค์ของทีม SEI คือการรักษาผู้ที่เป็นโรคจิตอย่างเข้มข้นในช่วงเริ่มต้นของการเจ็บป่วยโดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มโอกาสในการฟื้นหายและลดความจำเป็นในการรักษาสุขภาพจิตในระยะยาว ทีม SEI ให้การรักษาที่หลากหลายรวมถึงการใช้ยาจิตเวช การทำจิตบำบัด การให้สุขภาพจิตศึกษา การสนับสนุนด้านการศึกษาและการจ้างงาน เพิ่มเติมด้วยการติดต่อกับผู้ใช้บริการเชิงรุกที่มีสัดส่วนระหว่างผู้ให้บริการต่อผู้ใช้บริการขนาดเล็ก การรักษามีเวลาจำกัด โดยปกติจะให้บริการเป็นเวลาสองถึงสามปีหลังจากนั้นผู้ใช้บริการจะถูกส่งต่อไปยังสถานพยาบาลปฐมภูมิหรือย้ายไปรับการรักษาต่อจากทีมสุขภาพจิตชุมชนที่มีมาตรฐานในการดูแลผู้ใหญ่ Cochrane Review of SEI ก่อนหน้านี้พบหลักฐานเบื้องต้นว่า SEI อาจได้ผลดีกว่าการดูแลสุขภาพจิตชุมชนตามมาตรฐาน (ในเอกสารการทบทวนฉบับนี้ หมายถึง 'การรักษาตามปกติ (TAU)' แต่คำแนะนำเหล่านี้มาจากข้อมูลจากการทดลองเพียงการศึกษาเดียว การทบทวนวรรณกรรมฉบับนี้จะเพิ่มหลักฐานที่เป็นปัจจุบันของการใช้บริการ SEI

วัตถุประสงค์: 

เพื่อเปรียบเทียบทีม SEI แบบขยายเวลากับการรักษาตามปกติ (TAU) สำหรับผู้ที่เป็นโรคจิตที่เพิ่งเริ่มมีอาการในระยะแรก

วิธีการสืบค้น: 

ในระหว่างวันที่ 3 ตุลาคม 2018 และ 22 ตุลาคม 2019 เราสืบค้นใน Cochrane Schizophrenia's study-based register of trials รวมถึงทะเบียนการทดลองทางคลินิก

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เราเลือกการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCT) ทั้งหมดโดยเปรียบเทียบ SEI กับ การรักษาตามปกติ (TAU) สำหรับผู้ที่เป็นโรคจิตที่เพิ่งเริ่มมีอาการ เราเลือกการวิจัยเชิงทดลองที่ตรงตามเกณฑ์เหล่านี้และรายงานข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาจากรายงานการศึกษาทั้งหมดที่นำมาวิเคราะห์

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราทำการสืบค้นงานวิจัย การเลือกงานวิจัย การสกัดข้อมูล และการประเมินคุณภาพงานวิจัย อย่างเป็นอิสระต่อกัน สำหรับผลลัพธ์แบบสองตัวเลือก (binary) เราคำนวณ odds ratio (ORs) และช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) สำหรับผลลัพธ์ที่ต่อเนื่องเราคำนวณความแตกต่างค่าเฉลี่ย (MD) และ 95% CI หรือหากเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินมีโครงสร้างเดียวกัน เราคำนวณค่าความแตกต่างของค่าเฉลี่ยมาตรฐาน (SMD) ด้วย 95% CI เราประเมินความเสี่ยงของการเกิดอคติของการศึกษาทั้งหมด และสร้างตาราง 'สรุปผลการวิจัย' โดยใช้วิธี GRADE

ผลการวิจัย: 

ผู้วิจัยรวบรวมการศึกษาแบบ RCT ได้ 3 ฉบับ อีก 1ฉบับเป็น การศึกษาแบบ cluster-RCT โดยมีผู้เข้าร่วมวิจัยทั้งหมด 1108 คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่ อายุเฉลี่ยในการทดลองอยู่ระหว่าง 23.1 ปี (RAISE) ถึง 26.6 ปี (OPUS) ผู้เข้าร่วมทั้งหมดเป็นเพศหญิง 405 คน (35.4%) และเพศชาย 740 คน (64.6%) การทดลองทั้งหมดเกิดขึ้นในสถานบริการการดูแลสุขภาพจิตในชุมชน

มีการทดลอง 2 ฉบับที่รายงานเกี่ยวกับการฟื้นหายจากโรคจิตเมื่อสิ้นสุดการทดลองโดยมีหลักฐานว่าเมื่อสิ้นสุดการทดลอง การดูแลของทีม SEI อาจส่งผลให้มีผู้เข้าร่วมการรักษาฟื้นหายมากกว่ากลุ่มที่ได้รับการรักษาตามปกติ (TAU) (73% เทียบกับ 52%; RR 1.41, 95% CI 1.01 ถึง 1.97; 2 การศึกษา, มีผู้เข้าร่วม 194 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นระดับต่ำ)

การทดลอง 3 ฉบับให้ข้อมูลเกี่ยวกับการหยุดมารับบริการเมื่อสิ้นสุดการรักษาพบว่า ผู้ร่วมวิจัยในกลุ่ม SEI มีการหยุดการรักษาก่อนกำหนดน้อยกว่ากลุ่มเปรียบเทียบที่ได้รับการรักษาตามปกติ กลุ่ม SEI (8%) เมื่อเทียบกับกลุ่ม TAU (15%) (RR 0.50, 95% CI 0.31 ถึง 0.79; 3 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 630 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับปานกลาง)

มีหลักฐานที่มีความเชื่อถือได้ในระดับต่ำว่า เมื่อสิ้นสุดการทดลอง กลุ่มทดลอง (SEI) อาจส่งผลให้มีการกลับเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจิตเวชน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับการรักษาตามปกติ (TAU) (52% เทียบกับ 57%; RR 0.91, 95% CI 0.82 ถึง 1.00; 4 การศึกษา, ผู้เข้าร่วมวิจัย 1145 คน) และหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นในระดับต่ำนี้ แสดงให้เห็นว่า SEI อาจส่งผลให้จำนวนวันเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจิตเวชน้อยลง (MD -27.00 วัน, 95% CI -53.68 ถึง -0.32; 1 การศึกษา, ผู้เข้าร่วมวิจัย 547 คน)

มีการทดลอง 2 ฉบับที่รายงานเกี่ยวกับอาการทางจิตทั่วไป พบว่าเมื่อสิ้นสุดการทดลองไม่มีความแตกต่างของอาการทางจิตทั่วไประหว่างผู้ป่วยในกลุ่ม SEI และ ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาตามปกติ (TAU) อย่างไรก็ตามหลักฐานนี้มีความเชื่อมั่นน้อยมาก (SMD -0.41, 95% CI -4.58 ถึง 3.75; 2 การศึกษา, ผู้เข้าร่วมวิจัย 304 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำมาก) พบรูปแบบที่แตกต่างกันในการประเมินการทำหน้าที่ทั่วไป โดยเมื่อสิ้นสุดการทดลอง พบว่าผู้ร่วมวิจัยในกลุ่ม SEI อาจมีการทำหน้าที่ทั่วไปดีกว่ากลุ่มที่ได้รับการรักษาตามปกติ (SMD 0.37, 95% CI 0.07 ถึง 0.66; 2 การศึกษา, ผู้เข้าร่วมวิจย 467 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ)

ไม่แน่ใจว่าเมื่อสิ้นสุดการทดลอง การใช้ SEI ทำให้มีผู้เสียชีวิตน้อยลงหรือไม่ เนื่องจากข้อมูลการเสียชีวิตมาจากทุกสาเหตุ (RR 0.21, 95% CI 0.04 ถึง 1.20; 3 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 741 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ)

มีความเสี่ยงของการมีอคติต่ำในเรื่องการสร้างลำดับของผู้เข้าร่วมโครงการ (random sequence generation) และ การจัดผู้เข้าร่วมโครงการเข้ากลุ่มโดยสุ่มอย่างปกปิด (allocation concealment) ใน 3 การศึกษาจาก 4 การศึกษา การศึกษาที่เหลือมีความเสี่ยงของการมีอคติไม่ชัดเจน การทดลองทั้งหมดมีความเสี่ยงของการมีอคติสูงในการไม่ได้ปกปิดผู้เข้าร่วมวิจัย และผู้ทำการทดลอง เนื่องจากลักษณะของการทดลองจะปกปิดได้ยาก การทดลอง 2 เรื่อง มีความเสี่ยงของการมีอคติต่ำ และการทดลองอีก 2 เรื่องมีความเสี่ยงของการมีอคติสูงในการไม่ปกปิดการประเมินผลลัพธ์ การทดลอง 3 เรื่อง มีความเสี่ยงของการมีอคติต่ำในเรื่องข้อมูลผลลัพธ์ที่ไม่สมบูรณ์ ในขณะที่การทดลองอีก 1 เรื่องมีความเสี่ยงของการมีอคติสูง การทดลอง 2 เรื่องมีความเสี่ยงของการมีอคติต่ำ การทดลอง 1 เรื่องมีความเสี่ยงของการมีอคติสูง และอีก 1 การทดลองมีความเสี่ยงของการมีอคติที่ไม่ชัดเจนในเรื่องการเลือกรายงานผลการศึกษา

บันทึกการแปล: 

ผู้แปล สมพร รุ่งเรืองกลกิจ

Tools
Information