วิธีการทางจิตวิทยาหรือทางการให้ความรู้ (หรือการผสมผสานทั้งสองอย่าง) ช่วยลดการหกล้มในผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ที่บ้านได้หรือไม่

ใจความสำคัญ

วิธีการทางจิตวิทยา (ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสัมภาษณ์เชิงสร้างแรงจูงใจ (วิธีการที่มุ่งเปลี่ยนพฤติกรรมโดยการจัดการกับความไม่เชื่อมั่นและสนับสนุนความมุ่งมั่นส่วนตัว) และการฝึกสอน) ร่วมกับการให้ความรู้เฉพาะบุคคล (เช่น คำแนะนำเกี่ยวกับการออกกำลังกายหรือยา) ทำให้เกิดความแตกต่างใเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลบ ในจำนวนคนที่ล้ม (ผู้ล้ม) แต่มีแนวโน้มที่จะลดจำนวนครั้งที่ล้มลง (แม้ว่าจะไม่ชัดเจนว่าล้มมากน้อยเพียงใด)

- ไม่มีหลักฐานคุณภาพดีเพียงพอที่จะเชื่อมั่นในผลของวิธีการทางจิตวิทยาหรือทางการให้ความรู้

เราต้องการค้นหาอะไร

เมื่อเราอายุมากขึ้น เรามีแนวโน้มที่จะล้มมากขึ้นและอาจได้รับบาดเจ็บได้ คาดว่าในหนึ่งปีมีผู้สูงอายุ 1 ใน 3 หกล้ม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเป็นอิสระและจำนวนปีที่สามารถใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดี การหกล้มอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ การออกกำลังกายและวิธีการที่ปรับให้เหมาะสมกับปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ (เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง สายตา สภาพแวดล้อม หรือยา) สามารถลดการหกล้มได้ หากเราเป็นกังวลเรื่องการล้ม เราอาจจำกัดกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการล้มได้ วิธีการทางจิตวิทยามีจุดมุ่งหมายเพื่อลดความกังวลเกี่ยวกับการล้ม ปรับปรุงการตระหนักรู้ หรือการจูงใจในการดำเนินการเพื่อป้องกันการล้ม การให้ความรู้มุ่งเน้นเพื่อแจ้งให้ผู้คนทราบถึงวิธีลดความเสี่ยงในการล้ม เราต้องการดูว่าวิธีการทางจิตวิทยาหรือทางการให้ความรู้ (หรือการผสมผสานทั้งสองอย่างนี้) สามารถช่วยลดการหกล้มในผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในบ้านของตัวเองได้หรือไม่

เราทำอะไรไปแล้วบ้าง

เราค้นหาการศึกษาที่เปรียบเทียบวิธีการต่อไปนี้กับการดูแลปกติสำหรับผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ที่บ้าน

– การบำบัดพฤติกรรมทางปัญญา (การบำบัดด้วยการพูดคุยที่สามารถช่วยให้ผู้คนจัดการกับปัญหาโดยการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและพฤติกรรม)

– การสัมภาษณ์เชิงสร้างแรงจูงใจ (วิธีการที่มุ่งเพิ่มแรงจูงใจของบุคคลในการปรับปรุงพฤติกรรมโดยการดูข้อสงสัยของพวกเขาและส่งเสริมความมุ่งมั่นส่วนตัว)

– วิธีการทางจิตวิทยาอื่น ๆ เช่น การสร้างภาพจินตนาการ (เทคนิคที่สอนผู้คนให้ใช้จินตนาการเพื่อช่วยลดความรู้สึกเชิงลบ) หรือการฝึกสอน

– การให้ความรู้ (ปรับให้เหมาะกับปัจจัยเสี่ยงของบุคคล ครอบคลุมหัวข้อต่างๆ มากมาย เช่น การออกกำลังกาย รองเท้า และยา หรือหัวข้อเดียว เช่น สภาพแวดล้อมที่บ้าน)

– วิธีการทางจิตวิทยาควบคู่ไปกับการให้ความรู้

เราได้เปรียบเทียบและสรุปผล และให้คะแนนความเชื่อมั่นของเราต่อหลักฐาน เราได้สำรวจผลลัพธ์ของจำนวนการล้ม จำนวนคนที่ล้ม จำนวนคนที่ล้มและประสบภาวะกระดูกหัก จำนวนคนที่ล้มและต้องการการดูแลทางการแพทย์ การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ความกังวลเกี่ยวกับการล้ม และผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์

เราค้นพบอะไร

เราพบการศึกษา 37 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวน 17,478 คนที่อาศัยอยู่ที่บ้านและมีอายุอยู่ในช่วงปลาย 60 ถึง 80 ปี (71% เป็นผู้หญิง) การศึกษาที่ใหญ่ที่สุดมีผู้เข้าร่วม 4667 คน และการศึกษาวิจัยที่เล็กที่สุดมีผู้เข้าร่วม 40 คน การศึกษาได้ดำเนินการทั่วโลก แต่ส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกา (การศึกษา 6 ฉบับ) อิหร่าน (การศึกษา 6 ฉบับ) และออสเตรเลีย (การศึกษา 5 ฉบับ) การศึกษา 15 ฉบับมีการติดตามเป็นเวลาน้อยกว่า 6 เดือน และการศึกษา 17 ฉบับที่ติดตามเป็นเวลา 12 เดือนขึ้นไป การศึกษาที่ทดสอบการให้ความรู้ (การศึกษา 24 ฉบับ) วิธีการพฤติกรรมทางปัญญา (การศึกษา 6 ฉบับ), การสัมภาษณ์เชิงสร้างแรงจูงใจ (การศึกษา 3 ฉบับ) วิธีการทางจิตวิทยาอื่น ๆ (การศึกษา 3 ฉบับ) หรือวิธีการทางจิตวิทยาร่วมกับการให้ความรู้ (การศึกษา 1 ฉบับ) การศึกษา 28 ฉบับ ได้รับทุนจากภาครัฐ (เช่น จากมหาวิทยาลัย ทุนสนับสนุน และองค์กรการกุศล)

ผลลัพธ์หลัก

เราพบว่าวิธีการทางจิตวิทยา (การสัมภาษณ์/การให้คำแนะนำเชิงแรงจูงใจ) ร่วมกับการให้ความรู้เฉพาะบุคคลนั้นทำให้เกิดความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่แตกต่างเลยต่อจำนวนผู้ล้ม (การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 430 คน) และอาจทำให้เกิดความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่แตกต่างเลย ต่อความกังวลเกี่ยวกับการล้ม (การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 353 คน) แต่มีแนวโน้มที่จะลดจำนวนการล้มลงได้ (แม้ว่าอาจจะลดลงเพียงเล็กน้อยหรือมากก็ได้; การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 430 คน) การศึกษา 1 ฉบับ รายงานว่าไม่มีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ (430 คน)

เราพบว่าการให้ความรู้ที่เหมาะสมกับปัจจัยเสี่ยงของแต่ละบุคคลนั้นทำให้เกิดความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่แตกต่างเลยต่อจำนวนครั้งที่หกล้มเลย (การศึกษา 2 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 777 คน) และหลักฐานเกี่ยวกับกระดูกหักอันเกี่ยวข้องกับการหกล้มนั้นก็ยังไม่เชื่อมั่น (การศึกษา 2 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 510 คน) การให้ความรู้ที่ครอบคลุมหัวข้อต่าง ๆ อาจช่วยบรรเทาความกังวลเกี่ยวกับการล้มได้ (การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 459 คน) หลักฐานสำหรับการให้ความรู้ด้านผลลัพธ์อื่น ๆ ยังไม่เชื่อมั่นมากหรือไม่ได้รับการประเมิน

วิธีการพฤติกรรมทางปัญญาอาจส่งผลให้เกิดความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในจำนวนผู้ล้ม (การศึกษา 4 ฉบับ, จำนวน 1286 คน) และความกังวลเกี่ยวกับผู้ล้มลดลงเล็กน้อย (การศึกษา 3 ฉบับ, จำนวน 1132 คน)

หลักฐานสำหรับวิธีการทางจิตวิทยานั้นไม่เชื่อมั่นมากหรือไม่ได้รับการประเมินสำหรับผลลัพธ์อื่น ๆ

ข้อจำกัดของหลักฐานคืออะไร

เรามีความเชื่อมั่นปานกลางถึงสูงในผลลัพธ์ของเราสำหรับวิธีการทางจิตวิทยาร่วมกับการให้ความรู้แบบผสมผสาน เนื่องจากการศึกษาเรื่องนี้มีขนาดใหญ่และดำเนินการได้ดี

สำหรับวิธีการอื่น ๆ ทั้งหมด เรามีความเชื่อมั่นในผลลัพธ์น้อยลงมาก และผลการวิจัยในอนาคตอาจแตกต่างไปจากการทบทวนวรรณกรรมนี้ มีปัญหาในการออกแบบการศึกษาและผลการศึกษายังไม่ชัดเจน การศึกษาในปัจจุบันไม่ได้วัดผลลัพธ์ทั้งหมดที่เราสนใจ

การศึกษาส่วนใหญ่ดำเนินการในประเทศที่มีรายได้สูง

หลักฐานนี้เป็นปัจจุบันแค่ไหน

หลักฐานเป็นข้อมูลล่าสุดจนถึงวันที่ 6 มิถุนายน 2023

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

หลักฐานชี้ให้เห็นว่าวิธีการทางจิตวิทยาและการให้ความรู้ร่วมกันน่าจะช่วยลดอัตราการหกล้มได้ (แต่ไม่ใช่จำนวนผู้ที่หกล้ม) โดยไม่ส่งผลต่อเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ โดยรวมแล้ว หลักฐานสำหรับวิธีการทางจิตวิทยารายบุคคลหรือการให้การให้ความรู้เพียงอย่างเดียวมีความเชื่อมั่นต่ำหรือต่ำมาก การวิจัยในอนาคตอาจเปลี่ยนความเชื่อมั่นและความเข้าใจของเราเกี่ยวกับผลดังกล่าว วิธีการพฤติกรรมทางปัญญาอาจช่วยบรรเทาความกังวลเกี่ยวกับการล้มได้เล็กน้อย แต่ก็อาจไม่ช่วยลดจำนวนคนที่ล้มได้ การให้ความรู้บางประเภท (เช่น การให้ความรู้หลายองค์ประกอบ) อาจช่วยลดความกังวลเกี่ยวกับการล้มได้ แต่ไม่ได้ช่วยลดจำนวนการล้มเสมอไป

การวิจัยในอนาคตควรยึดมั่นตามมาตรฐานการรายงานในการอธิบายวิธีการที่ใช้และสำรวจว่าวิธีการเหล่านี้อาจได้ผลอย่างไร เพื่อให้เข้าใจดีขึ้นว่าอะไรจะได้ผลดีที่สุดสำหรับใครในสถานการณ์ใด มีหลักฐานไม่เพียงพอโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

ผู้สูงอายุเสี่ยงต่อการล้มและบาดเจ็บจากการล้มมากขึ้น การล้มมีสาเหตุหลายประการและมีวิธีการป้องกันหลายวิธี เช่น การป้องกันทางให้ความรู้และทางจิตวิทยา วิธีการทางการให้ความรู้มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความเข้าใจของผู้สูงอายุเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาสามารถทำได้เพื่อป้องกันการหกล้ม และวิธีการทางจิตวิทยาสามารถมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงความมั่นใจ/แรงจูงใจในการมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่อาจป้องกันการหกล้มได้ การทบทวนวรรณกรรมนี้เป็นการปรับปรุงหลักฐานก่อนหน้าเพื่อมุ่งเน้นไปที่วิธีการทางการให้ความรู้และจิตวิทยาเพื่อป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในชุมชน

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินประโยชน์และอันตรายของวิธีการทางจิตวิทยา (เช่น การบำบัดพฤติกรรมทางปัญญา มีหรือไม่มีองค์ประกอบด้านการให้ความรู้) และวิธีการให้ความรู้เพื่อป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในชุมชน

วิธีการสืบค้น: 

เราค้นหา CENTRAL, MEDLINE, Embase, ฐานข้อมูลอื่น 4 แหล่ง และทะเบียนการทดลอง 2 แหล่งจนถึงเดือนมิถุนายน 2023 นอกจากนี้ เรายังคัดกรองรายการอ้างอิงและค้นหาข้อมูลอ้างอิงล่วงหน้าด้วย

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เราได้รวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมของคนในชุมชนที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปเพื่อสำรวจประสิทธิผลของวิธีการทางจิตวิทยา (เช่น การบำบัดพฤติกรรมทางปัญญา) หรือวิธีการทางการให้ความรู้ (หรือทั้งสองอย่าง) ที่มุ่งเน้นไปที่การป้องกันการหกล้ม

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราใช้ขั้นตอนวิธีการมาตรฐานที่ Cochrane กำหนด ผลลัพธ์หลักของเราคือ อัตราการหกล้ม นอกจากนี้ เรายังได้สำรวจ: จำนวนคนที่ล้ม; คนที่มีกระดูกหักจากการล้ม; คนที่เคยล้มจนต้องได้รับการรักษาพยาบาล; คนที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากการล้ม; ผลลัพธ์ทางจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการล้ม (เช่น ความกังวลเกี่ยวกับการล้ม); คุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์

ผลการวิจัย: 

เราได้รวบรวมการศึกษา 37 ฉบับ (6 ฉบับ เกี่ยวกับวิธีการพฤติกรรมทางปัญญา; 3 ฉบับเกี่ยวกับการสัมภาษณ์สร้างแรงจูงใจ; 3 ฉบับเกี่ยวกับวิธีการทางจิตวิทยาอื่นๆ; 9 รายการเกี่ยวกับการให้ความรู้หลายปัจจัย (เฉพาะบุคคล); 12 รายการเกี่ยวกับการให้ความรู้หัวข้อต่างๆ; 2 รายการเกี่ยวกับการให้ความรู้หัวข้อเดียว; 1 รายการเกี่ยวกับประเภทการให้ความรู้ที่ไม่ชัดเจน; และ 1 รายการเกี่ยวกับวิธีการทางจิตวิทยาและการให้ความรู้) การศึกษาสุ่มผู้เข้าร่วม 17,478 ราย (ผู้หญิง 71% อายุเฉลี่ย 73 ปี) การศึกษาส่วนใหญ่มีความเสี่ยงสูงหรือไม่ชัดเจนต่ออคติในโดเมนหนึ่งโดเมนหรือมากกว่า

วิธีการพฤติกรรมทางปัญญา

วิธีการพฤติกรรมทางปัญญาทำให้เกิดความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อจำนวนผู้ล้ม (risk ratio (RR) 0.92, ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) 0.82 ถึง 1.02; การศึกษา 4 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 1,286 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) และมีข้อกังวลเกี่ยวกับการล้มลดลงเล็กน้อย (standardised mean difference (SMD) −0.30, ช่วงความเชื่อมั่น 95% −0.42 ถึง −0.19; การศึกษา 3 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 1132 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) หลักฐานยังไม่เชื่อมั่นหรือขาดหายไปมากเกี่ยวกับผลของวิธีการพฤติกรรมทางปัญญาต่อผลลัพธ์อื่น ๆ

การสัมภาษณ์เชิงสร้างแรงบันดาลใจ

หลักฐานยังคงไม่เชื่อมั่นมากเกี่ยวกับผลของการสัมภาษณ์สร้างแรงจูงใจต่ออัตราการล้ม จำนวนผู้ที่ล้ม และผลลัพธ์ทางจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการล้ม ไม่มีหลักฐานใด ๆ เกี่ยวกับผลของการสัมภาษณ์เชิงสร้างแรงจูงใจต่อผู้ที่ประสบภาวะกระดูกหักอันเนื่องมาจากการล้ม การล้มที่ต้องได้รับการรักษาพยาบาล การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอันเนื่องมาจากการล้ม หรือเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์

วิธีการทางจิตวิทยาอื่น ๆ

หลักฐานยังคงไม่เชื่อมั่นมากเกี่ยวกับผลของการให้คำปรึกษาเรื่องสุขภาพต่ออัตราการหกล้ม จำนวนผู้หกล้ม ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการหกล้ม หรือการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากการหกล้ม ผลของวิธีการทางจิตวิทยาอื่น ๆ ต่อผลลัพธ์เหล่านี้ยังไม่ได้รับการวัด หลักฐานยังคงไม่เชื่อมั่นมากเกี่ยวกับผลของการให้คำปรึกษาเรื่องสุขภาพ การสร้างภาพในใจ และการฝึกจิตต่อผลลัพธ์ทางจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการล้ม ผลของวิธีการทางจิตวิทยาอื่น ๆ ต่อการล้มที่ต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์หรือเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ไม่ได้รับการวัด

การให้ความรู้แบบหลายปัจจัย

การให้ความรู้แบบหลายปัจจัย (เฉพาะบุคคล) ทำให้เกิดความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่ออัตราการหกล้ม (rate ratio 0.95, 95% CI 0.77 ถึง 1.17; การศึกษา 2 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 777 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) ผลของการให้ความรู้แบบหลายปัจจัยต่อผู้ที่ประสบภาวะกระดูกหักจากการหกล้มนั้นไม่แม่นยำมาก (RR 0.66, 95% CI 0.29 ถึง 1.48; การศึกษา 2 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 510 ราย; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) และหลักฐานก็ยังไม่เชื่อมั่นอน่างมากเกี่ยวกับจำนวนผู้หกล้ม ไม่มีหลักฐานสำหรับผลลัพธ์อื่น ๆ

การให้ความรู้แบบหลายองค์ประกอบ

การให้ความรู้แบบหลายองค์ประกอบอาจช่วยปรับปรุงผลลัพธ์ทางจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการหกล้มได้ (MD -2.94, 95% CI -4.41 ถึง -1.48; การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 459 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) อย่างไรก็ตาม หลักฐานยังคงไม่เชื่อมั่นอย่างมากเกี่ยวกับผลต่อผลลัพธ์อื่น ๆ ทั้งหมด

การให้ความรู้แบบหัวข้อเดียว

หลักฐานยังคงไม่เชื่อมั่นมากเกี่ยวกับผลของการให้ความรู้แบบหัวข้อเดียวต่ออัตราการหกล้ม จำนวนผู้หกล้ม และผู้ที่ประสบภาวะกระดูกหักจากการหกล้ม ไม่มีหลักฐานสำหรับผลลัพธ์อื่น ๆ

วิธีการทางจิตวิทยาร่วมกับการให้ความรู้

การสัมภาษณ์แบบสร้างแรงจูงใจ ควบคู่ไปกับการให้ความรู้เชิงปัจจัยหลายประการ (แบบเฉพาะบุคคล) น่าจะช่วยลดอัตราการล้มได้ (แม้ว่าขนาดของผลนี้จะไม่ชัดเจนก็ตาม มี rate ratio 0.65, 95% CI 0.43 ถึง 0.99; การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 430 ราย; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) แต่ทำให้เกิดความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างเลต่อจำนวนผู้ล้ม (RR 0.93, 95% CI 0.76 ถึง 1.13; การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 430 ราย; หลักฐานความเชื่อมั่นสูง) อาจสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อผลลัพธ์ทางจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการหกล้ม (MD −0.70, 95% CI −1.81 ถึง 0.41; การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 353 ราย; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) ไม่มีการพบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ (การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 430 ราย; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) ไม่มีหลักฐานของวิธีการทางจิตวิทยาและการให้ความรู้ต่อผลลัพธ์อื่น ๆ

บันทึกการแปล: 

แปลโดย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 17 ตุลาคม 2024 Edit โดย ศ.พ.ญ. ผกากรอง ลุมพิกานนท์ 16 มกราคม 2025

Tools
Information