การรักษาด้วยวิธีเหนี่ยวนำให้เกิดอาการชักโดยใช้คลื่นแม่เหล็กเป็นการรักษาเสริมที่มีประสิทธิภาพสำหรับผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าที่ดื้อต่อการรักษาหรือไม่

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม

การชักโดยแม่เหล็ก (MST) มีประสิทธิผลและยอมรับได้ในการรักษาภาวะซึมเศร้าที่ดื้อต่อการรักษา (TRD) หรือไม่

ทำไมเรื่องนี้จึงมีความสำคัญ

มากกว่า 30% ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ตอบสนองต่อยาและจิตบำบัดได้ไม่ดี เรารู้จักคนเหล่านั้นว่าเป็นผู้ป่วยที่ดื้อต่อการรักษา พวกเขาต้องทนทุกข์ทรมานจากการทุพพลภาพและภาระทางเศรษฐกิจที่สูงกว่ามากเมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่ดื้อต่อการรักษา

การบำบัดด้วยไฟฟ้า (ECT) เป็นการรักษาที่สำคัญสำหรับผู้ที่ดื้อต่อการรักษา อย่างไรก็ตาม ECT มักมีผลกระทบด้านกระบวนการคิด เช่น การสูญเสียความจำ การชักโดยแม่เหล็ก (MST) เป็นทางเลือกที่เป็นไปได้สำหรับ ECT โดยมีผลเสียต่อกระบวนการคิดน้อยลง ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องรู้ว่า MST ทำงานได้ดีเพียงใดสำหรับการรักษาผู้ที่ดื้อต่อการรักษา

สิ่งที่เราทำ

ในเดือนมีนาคม 2020 เราสืบค้นการศึกษาวิจัยแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCT) สำหรับการศึกษา MST สำหรับภาวะซึมเศร้าที่ดื้อต่อการรักษา ผู้เข้าร่วมได้รับการรักษาที่แตกต่างกันโดยการสุ่ม การออกแบบการศึกษานี้ให้หลักฐานที่น่าเชื่อถือที่สุด

ผลลัพธ์รวมถึงวิธีการรักษาให้ได้ผลดีเพียงใด (ความรุนแรงของอาการดีขึ้น, คุณภาพชีวิต และการทำงานทางสังคม ตลอดจนจำนวนผู้เข้าร่วมที่ฆ่าตัวตาย, การพยายามฆ่าตัวตาย หรือการทำร้ายตนเอง) และผู้เข้าร่วมประสบผลข้างเคียงหรือไม่ (กระบวนการคิด, จำนวนการออกกลางคัน และจำนวนเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์)

สิ่งที่เราพบ

เรารวมการศึกษา 3 รายการที่เกี่ยวข้องกับผู้เข้าร่วม 65 คน การศึกษาเหล่านี้เปรียบเทียบ MST และ ECT ด้วยการรักษาถึง 12 ครั้งใน 6 สัปดาห์ หลักฐานที่มีอยู่ไม่พบความแตกต่างในด้านประสิทธิผลหรือการทนได้ระหว่าง MST และ ECT

ดังนั้นเราจึงไม่แน่ใจว่าผลลัพธ์มีความน่าเชื่อถือเพียงใด ผลการวิจัยทั้งหมดมาจากการศึกษาเพียงไม่กี่รายการที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนน้อย ผู้เข้าร่วมรู้ว่าพวกเขาได้รับการรักษาแบบใด การศึกษาดำเนินการในลักษณะที่แตกต่างจากโปรโตคอล ข้อมูลสำคัญบางอย่างไม่ได้รายงาน เช่น การจัดผู้เข้าร่วมสำหรับการรักษาที่แตกต่างกันอย่างไร และมีผู้เข้าร่วมออกกลางคันจากการศึกษาเหล่านี้หรือไม่ การศึกษาทั้งหมดดำเนินการโดยทีมวิจัยเดียวในเยอรมนี และได้รับทุนสนับสนุนบางส่วนจากผู้ผลิตอุปกรณ์ MST

สรุปผลการศึกษา

หลักฐานเกี่ยวกับผลกระทบของ MST ต่อผู้ป่วยที่ดื้อต่อการรักษา ในปัจจุบันไม่เพียงพอ การวิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่ของเราไม่พบผลที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่าง MST และ ECT ความเชื่อมั่นในหลักฐานของเราต่ำมาก จำเป็นต้องมีการทดลองขนาดใหญ่ ในระยะยาว ออกแบบอย่างดี และมีการรายงานอย่างดีเพื่อตรวจสอบผลกระทบของ MST เพิ่มเติม

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

หลักฐานเกี่ยวกับผลกระทบของ MST ต่อผู้ป่วยที่ดื้อต่อการรักษา ในปัจจุบันไม่เพียงพอ การวิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่ของเราไม่พบผลที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่าง MST และ ECT เราไม่เชื่อมั่นเกี่ยวกับการค้นพบนี้เนื่องจากความเสี่ยงของอคติและการประมาณการที่ไม่แม่นยำ จำเป็นต้องมีการทดลองขนาดใหญ่ ระยะยาว ออกแบบอย่างดีและมีการรายงานอย่างดีเพื่อตรวจสอบผลกระทบของ MST เพิ่มเติม

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

การรักษาด้วยวิธีเหนี่ยวนำให้เกิดอาการชักโดยใช้คลื่นแม่เหล็ก (magnetic seizure therapy, MST) เป็นทางเลือกที่เป็นไปได้สำหรับการบำบัดด้วยไฟฟ้า (ECT) รายงานที่มีถึงปัจุบัน เกี่ยวกับการใช้ MST สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าที่ดื้อต่อการรักษา (TRD) มีจำกัด

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินผลของ MST เปรียบเทียบกับ MST หลอก, ยาต้านซึมเศร้า และรูปแบบอื่น ๆ ของการรักษาด้วยไฟฟ้าหรือคลื่นแม่เหล็กสำหรับผู้ใหญ่ที่ดื้อต่อการรักษา (TRD)

วิธีการสืบค้น: 

ในเดือนมีนาคม 2020 เราสืบค้นแหล่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นานาชาติอย่างกว้างขวาง สำหรับการศึกษาที่ตีพิมพ์ ไม่ได้ตีพิมพ์ และกำลังดำเนินการ เราค้นหารายการอ้างอิงของการศึกษาที่รวมอยู่ทั้งหมดและการทบทวนอย่างเป็นระบบที่เกี่ยวข้องและรายงานของการประชุมประจำปีของ American College of Neuropsychopharmacology (ACNP), the Annual Scientific Convention and Meeting และ the Annual Meeting of the European College of Neuropsychopharmacology (ECNP) เพื่อค้นหาการศึกษาเพิ่มเติม

เกณฑ์การคัดเลือก: 

การทดลองทางคลินิกแบบสุ่ม (RCTs) ทั้งหมดมุ่งเน้นไปที่ MST สำหรับผู้ใหญ่ที่ดื้อต่อการรักษา

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ทบทวนวรรณกรรม 2 คน ดึงข้อมูลอย่างเป็นอิสระต่อกัน สำหรับผลลัพธ์แบบสองตัวเลือก (binary) เราคำนวณ risk ratio (RRs) และช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) สำหรับข้อมูลแบบต่อเนื่องจะรายงานด้วย mean difference (MD) ระหว่างกลุ่มและค่า 95% CIs เราใช้ random-effects model สำหรับการวิเคราะห์ทั้งหมด เราประเมินความเสี่ยงของการมีอคติของการศึกษาที่รวบรวมนำเข้าทั้งหมด และสร้างตาราง 'Summary of findings' โดยใช้วิธี GRADE ผลลัพธ์หลักที่เราสนใจ ได้แก่ ความรุนแรงของอาการ cognitive function, การฆ่าตัวตาย, คุณภาพชีวิต, การทำงานทางสังคม, การออกกลางคันไม่ว่าด้วยเหตุผลใด, เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรง และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่นำไปสู่การหยุดการรักษา

ผลการวิจัย: 

เรารวมการศึกษา 3 รายการ (ผู้เข้าร่วม 65 คน) เปรียบเทียบ MST กับ ECT การศึกษา 2 รายการ รายงานอาการซึมเศร้าด้วย Hamilton Rating Scale for Depression (HAMD) อย่างไรก็ตาม ในการศึกษา 1 รายการ ข้อมูลเบ้และมีลักษณะที่ไม่สมดุลในลักษณะพื้นฐาน การวิเคราะห์การศึกษาทั้ง 2 รายการไม่พบความแตกต่างที่ชัดเจนในอาการซึมเศร้าระหว่างกลุ่มที่ได้รับการรักษา (MD 0.71, 95% CI -2.23 ถึง 3.65; 2 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 40 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) การศึกษา 2 รายการตรวจสอบ cognitive function หลายโดเมน อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ส่วนใหญ่ไม่ได้วัดโดยการทดสอบทางประสาทวิทยาที่ได้รับการตรวจสอบแล้ว และข้อมูลจำนวนมากได้รับผลจากการตรวจวัดพื้นฐานที่ไม่สมดุลและการกระจายแบบเบ้ การวิเคราะห์ประสิทธิภาพของหน่วยความจำทันทีที่วัดโดย Wechsler Memory Scale พบว่าไม่มีความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างกลุ่มการรักษา (MD 0.40, 95% CI -4.16 ถึง 4.96; 1 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 20 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) การวิเคราะห์ประสิทธิภาพของหน่วยความจำที่ล่าช้าซึ่งวัดโดย Wechsler Memory Scale ยังไม่พบความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างกลุ่มที่ได้รับการรักษา (MD 2.57, 95% CI -2.39 ถึง 7.53; 1 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 20 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) มีเพียงการศึกษาเดียวที่รายงานคุณภาพชีวิต แต่ข้อมูลมีความเบ้และข้อมูลพื้นฐานไม่สมดุลระหว่างกลุ่ม การวิเคราะห์คุณภาพชีวิตไม่พบความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างกลุ่มการรักษา (MD 14.86, 95% CI -42.26 ถึง 71.98; 1 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 20 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) มีเพียงการศึกษาเดียวที่รายงานการออกกลางคันและเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่นำไปสู่การหยุดการรักษา การวิเคราะห์ข้อมูลที่รายงานพบว่าไม่มีความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างกลุ่มการรักษาสำหรับผลลัพธ์นี้ (RR 1.38, 95% CI 0.28 ถึง 6.91; 1 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 25 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นในผู้เข้าร่วมเพียง 2 คนที่ได้รับ ECT (อาการจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่มีอยู่ก่อนแย่ลงและผลกระทบต่อกระบวนการคิด) ไม่มีการศึกษาใดที่รายงานผลลัพธ์เกี่ยวกับการฆ่าตัวตายและการดำเนินชีวิตทางสังคม ไม่พบการศึกษาแบบ RCTs ที่เปรียบเทียบ MST กับการรักษาแบบอื่น

บันทึกการแปล: 

แปลโดย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 20 มิถุนายน 2021

Tools
Information