การให้ยาต้านอาการอาเจียน (antiemetics) เพื่อป้องกันสำหรับผู้ใหญ่ที่ได้รับ opioids ทางหลอดเลือดดำในสถานพยาบาลแบบเฉียบพลัน

ใจความสำคัญ

Metoclopramide ไม่ได้ลดความเสี่ยงของการอาเจียน คลื่นไส้ หรือความจำเป็นในการใช้ยาแก้อาเจียน เมื่อให้ยาก่อนการให้ opioids ทางหลอดเลือดดำในแผนกฉุกเฉิน

ในแง่ของความรุนแรงของอาการคลื่นไส้ metoclopramide ไม่ได้ช่วยผู้ป่วยมากไปกว่ายาหลอก (การรักษาหลอก)

อาการอาเจียนที่เกิดจาก opioid คืออะไร

แพทย์มักจะให้ opioid แก่ผู้ป่วยเพื่อรักษาอาการเจ็บปวดในแผนกฉุกเฉิน แต่กว่าหนึ่งในสามจะมีผลข้างเคียงจากอาการคลื่นไส้และอาเจียน (อาการอาเจียน) ผู้เชี่ยวชาญบางคนแนะนำว่าการให้ยาแก้อาเจียนก่อนได้รับ opioid (นั่นคือเป็นการให้เพื่อป้องกัน) สามารถป้องกันไม่ให้อาการเหล่านี้เกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ยาเหล่านี้ก็มีผลข้างเคียงของตัวเอง ดังนั้น สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจว่ายาเหล่านี้มีประสิทธิผลและปลอดภัยหรือไม่ก่อนที่จะใช้กันเป็นประจำ

เราต้องการทราบอะไร

การทบทวนนี้จะพิจารณาว่าการใช้ยาแก้อาเจียน (ยารักษาหรือป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียน) ก่อนได้รับ opioid ทางเส้นเลือดจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการคลื่นไส้และอาเจียนซึ่งเป็นผลข้างเคียงได้หรือไม่

เราทำอะไร

เรามองหาการศึกษาเกี่ยวกับผู้ใหญ่ (อายุ 16 ปีขึ้นไป) ที่ได้รับยาต้านการอาเจียนเพื่อป้องกันเมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอกหรือการดูแลแบบมาตรฐานก่อนได้รับ opioid ทางหลอดเลือดดำ

เราพบอะไร

เรารวบรวมการศึกษาได้ 3 ฉบับ มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 527 คน การศึกษาทั้งหมดใช้ metoclopramide ในการป้องกันอาการคลื่นใส้อาเจียน เมื่อเทียบกับยาหลอก metoclopramide ไม่ได้ลดความเสี่ยงของการอาเจียน คลื่นไส้ หรือความจำเป็นในการให้ยาแก้อาเจียนในภายหลัง นอกจากนี้ยังไม่มีความแตกต่างในผลข้างเคียงระหว่างผู้ที่ได้รับ antiemetics และผู้ที่ไม่ได้รับ

ข้อจำกัดของหลักฐานคืออะไร

การศึกษาได้ตรวจสอบยาตัวเดียว (metoclopramide) และไม่ได้รายงานข้อมูลทั้งหมดที่เราสนใจ การให้ยานี้นี้อาจทำให้มีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในแง่ของอาการคลื่นไส้หรืออาเจียน

หลักฐานนี้เป็นปัจจุบันแค่ไหน

หลักฐานนี้เป็นข้อมูลล่าสุดถึงวันที่ 17 มกราคม 2022

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

ไม่มีหลักฐานว่าการให้ metoclopramide เพื่อป้องกันมีผลต่อความเสี่ยงของการอาเจียน คลื่นไส้ หรือความจำเป็นในการให้ยาเพื่อแก้อาเจียน เมื่อให้ยาก่อนการให้ opioids ทางหลอดเลือดดำในการดูแลแบบเฉียบพลัน มีความแตกต่างที่ไม่มีนัยสำคัญทางคลินิกในความรุนแรงของอาการคลื่นไส้เมื่อเปรียบเทียบการให้ metoclopramide เพื่อป้องกันกับยาหลอก โดยรวมแล้ว หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ การวิจัยในอนาคตสามารถอธิบายผลกระทบของยาต้านการอาเจียนเพื่อป้องกันในกลุ่มประชากรเฉพาะได้ดีขึ้น และจำเป็นต้องมีการศึกษาใหม่เพื่อประเมินการใช้ยาต้านอาการอาเจียนเพื่อป้องกันชนิดอื่นๆ ซึ่งยังไม่มีข้อมูล

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

แพทย์มักจะสั่งยา opioids สำหรับความเจ็บปวดในการดูแลแบบเฉียบพลัน อาการคลื่นไส้และอาเจียนเป็นเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยมากกว่าหนึ่งในสาม ยาต้านอาเจียนอาจเป็นทางเลือกหนึ่งในการลดอาการคลื่นไส้และอาเจียนที่เกี่ยวข้องกับ opioid อย่างไรก็ตาม ยาเหล่านี้ก็มีผลข้างเคียงเช่นกัน ดังนั้นจึงต้องเข้าใจประสิทธิภาพและความปลอดภัยก่อนใช้เป็นประจำ นี่คือการทบทวนการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบที่เปรียบเทียบยาต้านการอาเจียนกับยาหลอกหรือการดูแลมาตรฐานในการป้องกันอาการคลื่นไส้และอาเจียนที่เกี่ยวข้องกับ opioid

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินผลของการให้ยาต้านอาเจียนเพื่อป้องกันอาการคลื่นไส้และอาเจียนในผู้ใหญ่ (อายุ 16 ปีขึ้นไป) ที่ได้รับ opioids ทางหลอดเลือดดำในการดูแลแบบเฉียบพลัน

วิธีการสืบค้น: 

เราค้นหา CENTRAL (the Cochrane Library), MEDLINE (OVID), Embase (OVID) ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงมกราคม 2022 และ Google Scholar (17 มกราคม 2022) นอกจากนี้เรายังค้นหาแพลตฟอร์มการลงทะเบียนการทดลองทางคลินิกระหว่างประเทศขององค์การอนามัยโลก (WHO) (ICTRP) และคัดกรองรายการอ้างอิง

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบของการให้ยาต้านอาการอาเจียนเพื่อป้องกันเทียบกับยาหลอกหรือการดูแลแบบมาตรฐานในผู้ใหญ่ก่อนที่จะได้รับยาโอปิออยด์ทางหลอดเลือดดำ

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ทบทวน 2 คน (MG, JNC) ได้ตรวจสอบคุณสมบัติของการศึกษาแต่ละรายการอย่างอิสระต่อกันตามเกณฑ์การคัดเลือก ผู้ทบทวน 2 คน (MG, GDP) แยกข้อมูล ประเมินความเสี่ยงของการมีอคติอย่างอิสระ และกำหนดความแน่นอนของหลักฐานโดยใช้ GRADE ผลลัพธ์หลักของเราคืออาการคลื่นไส้ อาเจียน และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ ผลลัพธ์รอง ได้แก่ ความรุนแรงของอาการคลื่นไส้ จำนวนครั้งของการอาเจียน และจำนวนผู้เข้าร่วมที่ต้องให้ยาต้านอาการอาเจียน เรานำเสนอผลลัพธ์เป็นอัตราส่วนความเสี่ยง (RR) สำหรับข้อมูล dichotomous (เช่น การอาเจียน อาการคลื่นไส้ จำนวนผู้เข้าร่วมที่ต้องให้ยาแก้อาเจียน เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์) และความแตกต่างของค่าเฉลี่ย (MD) หรือความแตกต่างของค่าเฉลี่ยมาตรฐานสำหรับข้อมูลต่อเนื่อง (เช่น จำนวนการอาเจียน) จำนวนครั้งที่เกิดขึ้น, ความรุนแรงของอาการคลื่นไส้) โดยมีช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI)

ผลการวิจัย: 

เรารวมการศึกษาสามเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้เข้าร่วม 527 คน (สตรี 187 คนและชาย 340 คน) ที่มีอายุเฉลี่ย 42 ปี การศึกษาทั้งหมดใช้ metoclopramide ให้ทางหลอดเลือดดำ (10 มก.) เป็นวิธีการที่ศึกษาและให้ยาหลอกเป็นการเปรียบเทียบ ไม่มีการศึกษาใดที่ประเมิน antiemetic อื่น ๆ หรือเปรียบเทียบยาที่ศึกษากับการดูแลมาตรฐาน

เมื่อเทียบกับยาหลอก metoclopramide ไม่ลดอาการอาเจียน (RR 1.18, 95% CI 0.26 ถึง 5.32; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) หรือคลื่นไส้ (RR 0.55; 95% CI 0.15 ถึง 2.03; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) และไม่มีความแตกต่างในผลข้างเคียงต่างๆ (RR 2.34, 95% CI 0.47 ถึง 11.61; หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำ) ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนครั้งที่เกิดอาการอาเจียน metoclopramide ลดความรุนแรงของอาการคลื่นไส้เมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก (MD −0.49, 95% CI −0.75 ถึง −0.23; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) แต่ไม่ได้ลดความจำเป็นในการให้ยาเพื่อแก้อาเจียน (RR 1.86, 95% CI 0.17 ถึง 20.16; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ)

การศึกษา 2 ฉบับ มีความเสี่ยงที่ไม่ชัดเจนของการมีอคติสำหรับการสร้างลำดับแบบสุ่ม มีการศึกษา 1 ฉบับ มีความเสี่ยงของการมีอคติไม่ชัดเจนในเรื่องการปกปิดกลุ่มของผู้ประเมินผลลัพธ์ การศึกษา 1 ฉบับ มีความเสี่ยงของการมีอคติไม่ชัดเจนเรื่องข้อมูลผลลัพธ์ที่ไม่สมบูรณ์ และการศึกษา 2 ฉบับ มีความเสี่ยงการมีอคติไม่ชัดเจนเรื่องการเลือกรายงาน การศึกษามีความเสี่ยงของการมีอคติต่ำสำหรับประเด็นอื่นๆที่เหลือทั้งหมด

บันทึกการแปล: 

แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว Edit โดย ผกากรอง 6 พฤศจืกายน 2022

Tools
Information