ใจความสำคัญ
– เนื่องจากขาดหลักฐานที่ชัดเจน ประโยชน์และความเสี่ยงของ doxapram (ยาที่ใช้ในกรณีที่จำเป็นต้องกระตุ้นการหายใจ) ในการป้องกันหรือรักษาอาการหยุดหายใจในทารกคลอดก่อนกำหนดยังไม่ชัดเจน เราไม่พบข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบระยะยาวของการรักษา
– Doxapram อาจดีกว่าไม่มีการรักษาเลยเล็กน้อยในการลดอาการกลั้นหายใจ โดยมีผลที่ไม่พึงประสงค์เพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย Doxapram อาจช่วยได้เพียงเล็กน้อยหรือแทบไม่ช่วยเลยในการให้ทารกหายใจได้เองโดยไม่ต้องใช้เครื่องช่วย
– การศึกษาที่เราพบเขียนขึ้นเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม มีการศึกษา 2 ฉบับที่อยู่ระหว่างดำเนินการในหัวข้อนี้ ซึ่งสามารถเพิ่มข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ doxapram ได้
ภาวะหยุดหายใจในทารกคลอดก่อนกำหนดคืออะไร
การหยุดหายใจในทารกคลอดก่อนกำหนดเป็นปัญหาที่พบบ่อยในทารกคลอดก่อนกำหนด ทารกที่ตัวเล็กมากบางครั้ง 'ลืม' หายใจ และเมื่อพวกเขากลั้นหายใจเป็นเวลา 20 วินาทีขึ้นไป หรือเมื่ออาการเหล่านี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของอัตราการเต้นของหัวใจและค่าออกซิเจน จะเรียกว่าภาวะหยุดหายใจ ภาวะหยุดหายใจอาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการของทารกในช่วงชีวิตของพวกเขา
โดยปกติแล้วจะรักษาอย่างไรในทารกที่คลอดก่อนกำหนด
แพทย์มักจะรักษาอาการกลั้นหายใจด้วยยาที่กระตุ้นสมองของทารกให้ส่งผลให้หายใจได้ ยาเหล่านี้เรียกว่า methylxanthines และที่รู้จักกันดีที่สุดคือ caffeine
เราต้องการค้นหาอะไร
เราต้องการทราบว่า doxapram ซึ่งเป็นยากระตุ้นที่แตกต่างจาก methylxanthine สามารถช่วยรักษาหรือป้องกันอาการกลั้นหายใจได้หรือไม่ เรายังต้องการทราบว่า doxapram เกี่ยวข้องกับผลที่ไม่พึงประสงค์หรือไม่
เราทำอะไร
เราค้นหาการศึกษาที่เปรียบเทียบ doxapram เพียงอย่างเดียวหรือร่วมกับ methylxanthine กับการไม่มีการรักษาหรือการรักษาทางเลือกในการรักษาหรือป้องกันภาวะกลั้นหายใจ หรือในการช่วยให้ทารกหายใจได้เองโดยไม่ต้องใช้เครื่องช่วย
เราเปรียบเทียบและสรุปผล และให้คะแนนความเชื่อมั่นของเราในหลักฐาน โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น วิธีการศึกษาและขนาด
เราพบอะไร
เราพบการศึกษา 8 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับทารกคลอดก่อนกำหนด 248 ราย อายุครรภ์ตั้งแต่ 25 ถึง 32 สัปดาห์ (ตั้งแต่วันแรกที่สตรีมีประจำเดือนครั้งสุดท้ายจนถึงวันเกิด) การศึกษาที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในทารก 56 คน และการศึกษาที่เล็กที่สุดอยู่ในทารก 10 คน Doxapram และยาอื่นๆ ได้รับการฉีดเข้าเส้นเลือดดำ ไม่มีการศึกษาใดเกี่ยวกับการป้องกันภาวะกลั้นหายใจ การศึกษา 3 ฉบับมุ่งเน้นไปที่ยาที่ใช้ช่วยให้ทารกหายใจได้เองโดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วย ในขณะที่การศึกษา 5 ฉบับเป็นเรื่องเกี่ยวกับการรักษาภาวะกลั้นหายใจ
Doxapram อาจทำงานได้ดีกว่าไม่มีการรักษาเลยเล็กน้อยในการลดเหตุการที่ทารกหยุดหายใจเป็นเวลาไม่กี่วินาที โดยมีผลที่ไม่พึงประสงค์เพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยเมื่อเปรียบเทียบกับการไม่ได้รับการรักษาหรือยาอื่นที่ใช้เพื่อจุดประสงค์เดียวกัน เราไม่ทราบว่า doxapram มีผลต่อการเกิดภาวะกลั้นหายใจหรือไม่เมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาอื่น ๆ หรือต่อความจำเป็นในการช่วยหายใจด้วยเครื่อง
เมื่อพยายามเปลี่ยนให้ทารกที่ใช้เครื่องช่วยหายใจไปหายใจด้วยตัวเอง doxapram อาจช่วยยาอื่นๆ ที่ใช้กันทั่วไปเพื่อลดภาวะกลั้นหายใจ และอาจลดระยะเวลาในการให้ออกซิเจน แม้ว่าอาจช่วยได้น้อยหรือแทบไม่ช่วยเลยในการหยุดเครื่องช่วยหายใจ ผลของ doxapram ต่อเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในสถานการณ์นี้ไม่ชัดเจน
ข้อจำกัดของหลักฐานคืออะไร
เรามีความเชื่อมั่นเพียงเล็กน้อยในหลักฐานเนื่องจากการศึกษาบางเรื่องไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับทุกสิ่งที่น่าสนใจ ข้อมูลที่มีอยู่เป็นของทารกจำนวนน้อยที่มีเหตุการณ์ที่สนใจน้อยมาก
หลักฐานนี้เป็นปัจจุบันแค่ไหน
หลักฐานเป็นข้อมูลล่าสุดถึงเดือนมีนาคม 2023
ในการรักษาภาวะหยุดหายใจของการคลอดก่อนกำหนด doxapram อาจลดความล้มเหลวในการลดภาวะหยุดหายใจได้เล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับการไม่ได้รับการรักษา และอาจมีผลข้างเคียงเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยเมื่อเทียบกับการไม่รักษาและการรักษาทางเลือกอื่น หลักฐานไม่เชื่อมั่นอย่างมากเกี่ยวกับความจำเป็นในการช่วยหายใจด้วยแรงดันบวก เมื่อเปรียบเทียบกับการไม่รักษาหรือการรักษาทางเลือก และเกี่ยวกับความล้มเหลวในการลดภาวะหยุดหายใจเมื่อใช้เป็นทางเลือกหรือการบำบัดเสริมของ methylxanthine เพื่อใช้ป้องกันการใส่ท่อช่วยหายใจซ้ำ doxapram อาจลดอาการหยุดหายใจเมื่อให้ร่วมกับ methylxanthine แต่จะมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในความล้มเหลวในการเอาท่อช่วยหายใจออก หลักฐานไม่เชื่อมั่นอย่างมากเกี่ยวกับผลของ doxapram ต่อการเสียชีวิตเมื่อใช้เป็นการบำบัดเสริมกับ methylxanthine และเกี่ยวกับความล้มเหลวในการเอาท่อช่วยหายใจออก เมื่อใช้เป็นทางเลือกหรือการบำบัดเสริมกับ methylxanthine
ยังมีช่องว่างของความรู้เกี่ยวกับการใช้ doxapram ในการรักษาเพื่อป้องกันภาวะหยุดหายใจ จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อชี้บทบาทของ doxapram ในการรักษาภาวะหยุดหายใจของการคลอดก่อนกำหนด โดยจัดการกับความกังวลเกี่ยวกับผลลัพธ์ระยะยาว การศึกษาที่กำลังดำเนินอยู่อาจให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์
ภาวะหยุดหายใจของทารกคลอดก่อนกำหนดเป็นปัญหาที่พบบ่อยในทารกคลอดก่อนกำหนดซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อพัฒนาการของพวกเขา methylxanthines (aminophylline, theophylline และ caffeine) มีประสิทธิภาพในการรักษาภาวะหยุดหายใจของทารกคลอดก่อนกำหนด doxapram ใช้เป็นยากระตุ้นการหายใจในกรณีที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วย methylxanthine
เพื่อประเมินประโยชน์และผลเสียของการให้ doxapram ต่ออุบัติการณ์ของการหยุดหายใจและผลลัพธ์ทางคลินิกระยะสั้นและระยะยาวในทารกคลอดก่อนกำหนด
เราใช้วิธีการค้นหาแบบมาตรฐานและครอบคลุมตามวิธีการของ Cochrane วันที่ค้นหาล่าสุดคือเดือนมีนาคม 2023
เรารวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) ที่ประเมินบทบาทของ doxapram ในการป้องกันและรักษาภาวะหยุดหายใจในทารกคลอดก่อนกำหนดและการป้องกันการใส่ท่อช่วยหายใจซ้ำในทารกคลอดก่อนกำหนด (อายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์) เรารวมการศึกษาที่เปรียบเทียบ doxapram กับยาหลอกหรือ methylxanthines เป็นกลุ่มควบคุม หรือเมื่อ doxapram ถูกใช้เป็นส่วนเสริมของ methylxanthines และเปรียบเทียบกับ methylxanthines เพียงอย่างเดียวเป็นกลุ่มควบคุม เรารวมการศึกษาของ doxapram ในขนาดยาและเส้นทางใดก็ได้
เราใช้วิธีตามมาตรฐานของ Cochrane ผลลัพธ์หลักของเราคือการหยุดหายใจทางคลินิก ความจำเป็นในการช่วยหายใจด้วยแรงดันบวกหลังเริ่มการรักษา การลดภาวะหยุดหายใจล้มเหลวหลังจาก 2 ถึง 7 วัน และการล้มเหลวในการเอาท่อช่วยหายใจออก (หมายถึงไม่สามารถหยุดการช่วยหายใจด้วยแรงดันบวกเป็นระยะ ๆ ที่รุกราน [IPPV] และการเอาท่อช่วยหายใจออกหรือการใส่ท่อช่วยหายใจซ้ำสำหรับ IPPV ภายใน 1 สัปดาห์) เราใช้ GRADE เพื่อประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐานสำหรับผลลัพธ์แต่ละผลลัพพ์
เรารวบรวม RCTs 8 ฉบับ มีทารก 248 คนเข้าร่วม การศึกษา 7 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 214 คน) ให้ข้อมูลสำหรับ meta-analysis RCTs 5 ฉบับ ศึกษา doxapram เพื่อรักษาภาวะหยุดหายใจในทารกที่คลอดก่อนกำหนด RCTs 3 ฉบับ ศึกษา doxapram เพื่อป้องกันการใส่ท่อช่วยหายใจซ้ำในทารกที่คลอดก่อนกำหนด ไม่มี RCT ที่ศึกษา doxapram ในการป้องกันภาวะหยุดหายใจในทารกที่คลอดก่อนกำหนด การศึกษาทั้งหมดให้ doxapram ทางหลอดเลือดดำเป็นการให้ยาอย่างต่อเนื่อง การศึกษา 2 ฉบับ ใช้ doxapram เป็นส่วนเสริมของ aminophylline เปรียบเทียบกับ aminophylline เพียงอย่างเดียว และการศึกษา 1 ฉบับใช้เป็นส่วนเสริมของ caffeine เมื่อเทียบกับ caffeine เพียงอย่างเดียว
เมื่อใช้ในการรักษาภาวะหยุดหายใจ เมื่อเปรียบเทียบกับการไม่รักษา doxapram อาจส่งผลให้การลดภาวะหยุดหายใจล้มเหลวลดลงเล็กน้อย (risk ratio (RR) 0.45, 95% ช่วงความเชื่อมั่น (CI) 0.20 ถึง 1.05; การศึกษา 1 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 21 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) หลักฐานมีความไม่เชื่อมั่นอย่างมากเกี่ยวกับผลของ doxapram ต่อความจำเป็นในการช่วยหายใจด้วยแรงดันบวกหลังเริ่มการรักษา (RR 0.31, 95% CI 0.01 ถึง 6.74; การศึกษา 1 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 21 คน; หลักฐานความน่าเชื่อมั่นต่ำมาก) doxapram อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงซึ่งทำให้หยุดการรักษาเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย (เหตุการณ์ 0 รายการในทั้งสองกลุ่ม; risk difference [RD] 0.00, 95% CI −0.17 ถึง 0.17; การศึกษา 1 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 21 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) เมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาทางเลือก หลักฐานมีความไม่เชื่อมั่นอย่างมากเกี่ยวกับผลของ doxapram ต่อการลดภาวะหยุดหายใจ (RR 1.35, 95% CI 0.53 ถึง 3.45; การศึกษา 4 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 84 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) หลักฐานไม่เชื่อมั่นอย่างมากเกี่ยวกับผลของ doxapram ต่อความจำเป็นในการช่วยหายใจด้วยแรงดันบวกหลังเริ่มการรักษา (RR 2.40, 95% CI 0.11 ถึง 51.32; การศึกษา 2 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 37 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก; หมายเหตุ การศึกษา 1 ฉบับ บันทึกเหตุการณ์ 0 รายการใน ทั้งสองกลุ่ม ดังนั้น RR และ CI จึงคำนวณจาก การศึกษา 1 ฉบับ แทนที่จะคำนวณจาก 2 ฉบับ ) doxapram อาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงซึ่งทำให้หยุดการรักษาเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย (เหตุการณ์ 0 รายการในทุกกลุ่ม; RD 0.00, 95% CI −0.15 ถึง 0.15; ผู้เข้าร่วม 37 คน; การศึกษา 2 ฉบับ; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) เพื่อเป็นการบำบัดเสริมกับ methylxanthine หลักฐานมีความไม่เชื่อมั่นอย่างมากเกี่ยวกับผลของ doxapram ต่อความล้มเหลวของการลดภาวะหยุดหายใจหลังจาก 2 ถึง 7 วัน (RR 0.08, 95% CI 0.01 ถึง 1.17; การศึกษา 1 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 10 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) ไม่มีการศึกษาที่รายงานเกี่ยวกับภาวะหยุดหายใจทางคลินิก โรคปอดเรื้อรังที่อายุ 36 สัปดาห์ postmenstrual age (PMA) การเสียชีวิตเมื่อใดก็ได้ระหว่างการรักษาในโรงพยาบาลครั้งแรก ผลลัพธ์ด้านพัฒนาการทางระบบประสาทในระยะยาวในการเปรียบเทียบทั้งสาม และความจำเป็นในการช่วยหายใจด้วยแรงดันบวกและผลข้างเคียงเมื่อใช้เป็น การบำบัดเสริมกับ methylxanthine
ในการศึกษาเพื่อป้องกันการใส่กลับท่อช่วยหายใจ เมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาทางเลือก หลักฐานมีความไม่เชื่อมั่นนอย่างมากเกี่ยวกับผลของ doxapram ต่อการล้มเหลวของการเอาท่อช่วยหายใจออก (RR 0.43, 95% CI 0.10 ถึง 1.83; การศึกษา 1 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 25 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) สำหรับการบำบัดเสริมกับ methylxanthine doxapram อาจส่งผลให้ 'การหยุดหายใจทางคลินิก' ลดลงเล็กน้อยหลังจากเริ่มการรักษา (RR 0.36, 95% CI 0.13 ถึง 0.98; การศึกษา 1 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 56 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) doxapram อาจให้ผลลัพธ์เพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างเลยต่อการล้มเหลวของการเอาท่อช่วยหายใจออก (RR 0.92, 95% CI 0.52 ถึง 1.62; การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 56 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) หลักฐานมีความไม่เชื่อมั่นอย่างมากเกี่ยวกับผลของ doxapram ต่อผลข้างเคียงที่ทำให้หยุดการรักษา (RR 6.42, 95% CI 0.80 ถึง 51.26; การศึกษา 2 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 85 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) ไม่มีการศึกษาที่รายงานความจำเป็นในการช่วยหายใจด้วยแรงดันบวก โรคปอดเรื้อรังที่ PMA สัปดาห์ที่ 36 และผลลัพธ์ด้านพัฒนาการทางระบบประสาทในระยะยาวในการเปรียบเทียบทั้ง 3; การล้มเหลวของการเอาท่อช่วยหายใจออก เมื่อเปรียบเทียบกับการไม่รักษา และภาวะหยุดหายใจทางคลินิก การเสียชีวิตเมื่อใดก็ได้ระหว่างการรักษาในโรงพยาบาลครั้งแรก และผลข้างเคียงเมื่อเปรียบเทียบกับการไม่รักษาหรือการรักษาทางเลือกอื่น
เราพบการศึกษา 2 ฉบับ ที่กำลังดำเนินอยู่ การศึกษา 1 ฉบับ ดำเนินการในประเทศเยอรมนี และอีกการศึกษา 1 ฉบับที่ศึกษาในศูนย์หลายแห่งในเนเธอร์แลนด์และเบลเยียม
แปลโดย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 10 ธันวาคม 2023