การบำบัดด้วยกลิ่นหอมสำหรับภาวะสมองเสื่อม

ความเป็นมา
ยาที่ใช้รักษาภาวะสมองเสื่อมมักไม่ได้ผลในการบรรเทาอาการ เช่น ปัญหาเกี่ยวกับความคิด พฤติกรรม อารมณ์และการนอนหลับ การบำบัดแบบธรรมชาติรวมถึงการบำบัดด้วยกลิ่นหอม (การใช้น้ำมันหอมระเหยจากพืช) เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับการรักษาอาการที่น่าวิตกของภาวะสมองเสื่อม เนื่องจากคิดว่ามีผลข้างเคียงต่ำ

คำถามของการทบทวน
การบำบัดด้วยกลิ่นหอมปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการของโรคสมองเสื่อมหรือไม่

สิ่งที่เราทำ
เราค้นหาวรรณกรรมทางการแพทย์จนถึงวันที่ 5 พฤษภาคม 2020 เพื่อค้นหาการศึกษาที่เปรียบเทียบการบำบัดด้วยกลิ่นหอมสำหรับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมกับการรักษาแบบควบคุม ซึ่งอาจเป็นการดูแลตามปกติหรือการบำบัดรักษาด้วยน้ำมันที่ไม่มีกลิ่นหอม เพื่อให้การเปรียบเทียบมีความยุติธรรม จึงต้องสุ่มให้คนเข้ารับการบำบัดด้วยกลิ่นหอมหรือการบำบัดแบบควบคุม เราดูผลต่อปัญหาด้านพฤติกรรมและสุขภาพจิตและอาการสำคัญอื่น ๆ ของภาวะสมองเสื่อม เรายังค้นหารายงานผลข้างเคียง เนื่องจากการศึกษาแตกต่างกันมาก เราจึงไม่สามารถรวมผลลัพธ์ในเชิงสถิติได้ ดังนั้นเราจึงอธิบายผลการศึกษาแต่ละการศึกษาและประเมินว่าเราจะมั่นใจได้เพียงใด

ลักษณะของการศึกษา
เรารวมการศึกษา 13 เรื่องในการทบทวน มีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 708 คน ทั้งหมดมีภาวะสมองเสื่อมและอาศัยอยู่ในบ้านพักคนชรา กลิ่นหอมที่ใช้บ่อยที่สุดในการบำบัดด้วยคือกลิ่นลาเวนเดอร์ การศึกษายังใช้ขี้ผึ้งกลิ่นมะนาว, สารสกัดจากส้มและซีดาร์

ผลการศึกษาหลัก
การศึกษา 10 เรื่อง ประเมินความกระวนกระวายใจ แต่การศึกษา 5 เรื่องไม่ได้รายงานข้อมูลที่สามารถใช้ได้หรือมีความเชื่อมั่นต่ำมาก เรามีความเชื่อมั่นในระดับปานกลางหรือต่ำในผลลัพธ์ของการศึกษาอีก 5 เรื่อง: การศึกษา 4 เรื่อง รายงานว่าไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญของการบำบัดด้วยกลิ่นหอมและ 1 เรื่องรายงานว่ามีประโยชน์อย่างมีนัยสำคัญ การศึกษา 8 เรื่อง ประเมินปัญหาด้านพฤติกรรมและสุขภาพจิต แตการศึกษา 3 เรื่อง ไม่รายงานข้อมูลที่สามารถใช้ได้หรือมีความเชื่อมั่นต่ำมาก เรามีความเชื่อมั่นในระดับปานกลางหรือต่ำในผลของการศึกษาอีก 5 เรื่อง: การศึกษา 4 เรื่อง รายงานว่าการบำบัดด้วยกลิ่นหอมมีประโยชน์อย่างมีนัยสำคัญ และ 1 เรื่องรายงานว่าไม่มีผลอย่างนัยสำคัญ ผลข้างเคียงของการรักษามีรายงานไม่ดีหรือไม่มีรายงานเลย มีการศึกษาไม่เกิน 3 เรื่องที่รายงานผลลัพธ์รองได้แก่ คุณภาพชีวิต, ความรู้ความเข้าใจ (การคิด), อารมณ์, การนอนหลับ, กิจกรรมในชีวิตประจำวันและภาระของผู้ดูแล เราไม่พบหลักฐานว่าการบำบัดด้วยกลิ่นหอมมีประโยชน์ต่อผลลัพธ์เหล่านี้

คุณภาพของหลักฐาน
คุณภาพของหลักฐานในภาพรวมอยู่ในระดับต่ำ การศึกษาจำนวนมากรายงานไม่ดีและบางเรื่องไม่ได้รายงานข้อมูลใด ๆ ที่สามารถใช้ได้ การศึกษาส่วนใหญ่มีขนาดเล็กมากจนผลลัพธ์มีความไม่แน่นอนมาก ผลการศึกษาแต่ละเรื่องไม่เเป็นไปในทางเดียวกัน

บทสรุป
เราไม่พบหลักฐานที่น่าเชื่อว่าการบำบัดด้วยกลิ่นหอมมีประโยชน์ต่อผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม การศึกษาจะมีข้อจำกัดมาก จึงไม่สามารถสรุปได้อย่างมั่นใจ ในการพิจารณาว่าการบำบัดด้วยกลิ่นหอมมีความปลอดภัยและมีประสิทธิผลในการบรรเทาอาการภาวะสมองเสื่อมหรือไม่ จำเป็นต้องมีการศึกษาขนาดใหญ่และได้รับการออกแบบมาอย่างดีพร้อมรายงานที่ชัดเจน

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

ไม่พบหลักฐานที่น่าเชื่อว่การบำบัดด้วยกลิ่นหอม (หรือการสัมผัสกับน้ำมันจากพืชที่มีกลิ่นหอม) มีประโยชน์ต่อผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม แม้ว่าข้อมูลจะมีข้อจำกัดหลายประการ การดำเนินการหรือรายงานปัญหา ครึ่งหนึ่งของการศึกษาที่รวมไว้ไม่สามารถมีส่วนร่วมในข้อสรุปได้ ผลจากการศึกษาอื่น ๆ ไม่สอดคล้องกัน การศึกษาที่รวบรวมมามีการรายงานเกี่ยวกับอันตรายที่ไม่ดี เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน จำเป็นต้องมีการออกแบบและการรายงานที่ดีขึ้น และความสอดคล้องของการวัดผลในการทดลองในอนาคต

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

ยาที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในการรักษาภาวะสมองเสื่อมมีประสิทธิภาพจำกัด ในการรักษาความบกพร่องทางสติปัญญาหรือความทุกข์ (อาการทางพฤติกรรมและจิตใจหรือพฤติกรรมที่ท้าทาย) ซึ่งมักเป็นลักษณะที่น่าวิตกที่สุดสำหรับผู้ดูแล การบำบัดเสริมรวมถึงการบำบัดด้วยกลิ่นหอมเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับผู้ป่วย, ผู้ปฏิบัติงานและครอบครัว เพราะมองว่าไม่น่าจะก่อให้เกิดผลข้างเคียง ดังนั้น จึงมีความสนใจว่าการบำบัดด้วยกลิ่นหอม อาจเป็นวิธีที่ปลอดภัยในการบรรเทาทุกข์ในภาวะสมองเสื่อมหรือไม่

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการบำบัดด้วยกลิ่นหอมสำหรับอาการสมองเสื่อม

วิธีการสืบค้น: 

เราค้นหา ALOIS, Cochrane Dementia และ Cognitive Improvement Group Specialized Register เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2020 โดยใช้คำว่า: การบำบัดด้วยกลิ่นหอม, มะนาว, ลาเวนเดอร์, กุหลาบ, กลิ่นหอม, การบำบัดทางเลือก, การบำบัดเสริม, น้ำมันหอมระเหย นอกจากนี้เรายังค้นหา MEDLINE, Embase, PsycINFO (ทั้งหมดผ่าน Ovid SP), Web of Science Core Collection (ผ่าน Thompson Web of Science), LILACS (ผ่าน BIREME), CENTRAL (ผ่าน Cochrane Library), ClinicalTrials.gov และ World Health Organization (WHO) trials portal (ICTRP) ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2020

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เราได้รวม randomised controlled trials ซึ่งเปรียบเทียบการบำบัดด้วยกลิ่นหอมจากพืชสำหรับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมกับยาหลอกหรือการรักษาตามปกติ ได้รับการพิจารณาปริมาณ ความถี่และกลิ่นของน้ำมันหอมระเหยทั้งหมด ผู้เข้าร่วมในการศึกษานี้ ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองเสื่อมไม่ว่าจะเป็นชนิดย่อยและความรุนแรงใด ๆ

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

นักวิจัย 2 คน เลือกการศึกษาเพื่อนำเข้า ดึงข้อมูลและประเมินความเสี่ยงของการมีอคติในการศึกษาที่รวมไว้อย่างอิสระต่อกัน และมีนักวิจัยอีกคนในการตัดสินใจที่เป็นเอกฉันท์หากจำเป็น เราไม่ได้ทำการวิเคราะห์เมตต้าใด ๆ เนื่องจากความแตกต่างระหว่างการศึกษา แต่นำเสนอการสังเคราะห์เชิงบรรยายของผลลัพธ์จากการทดลองที่รวมไว้ เนื่องจากความแตกต่างของวิธีการวิเคราะห์และการรายงานข้อมูลที่ไม่เพียงพอหรือขาดหายไปจากการทดลองบางอย่าง เราจึงใช้นัยสำคัญทางสถิติ (P ≤ หรือ > 0.5) สรุปการสังเคราะห์ผลลัพธ์ระหว่างการศึกษา เท่าที่จะเป็นไปได้ เราใช้วิธีการ GRADE เพื่อประเมินความเชื่อมั่นของผลลัพธ์ การลดระดับความเชื่อมั่นเนื่องจากเสี่ยงของการมีอคติและความไม่แม่นยำ

ผลการวิจัย: 

เรารวบรวมการศึกษา 13 เรื่อง ผู้เข้าร่วม 708 คน ผู้เข้าร่วมทั้งหมดมีภาวะสมองเสื่อมและในการทดลอง 12 เรื่อง ซึ่งอธิบายถึงพื้นที่การศึกษา ทั้งหมดอาศัยอยู่ในสถานดูแล การศึกษา 9 เรื่อง คัดเลือกผู้เข้าร่วมที่มีความกระวนกระวายใจอย่างมีนัยสำคัญ หรือมีอาการทางพฤติกรรมและจิตใจอื่น ๆ ในภาวะสมองเสื่อม (BPSD) เมื่อเริ่มการศึกษา น้ำหอมที่ใช้คือลาเวนเดอร์ (แปดการศึกษา); ขี้ผึ้งกลิ่นมะนาว (การศึกษา 4 เรื่อง); ลาเวนเดอร์และ ขี้ผึ้งกลิ่นมะนาว, ลาเวนเดอร์และส้ม, สารสกัดจากซีดาร์ (การศึกษา 1 เรื่อง) การศึกษา 6 เรื่อง ประเมินความเสี่ยงของการมีอคติและการดึงข้อมูลผลลัพธ์มีอุปสรรคจากการรายงานที่ไม่ดี การศึกษา 4 ใน 7 เรื่อง มีความเสี่ยงของการมีอคติต่ำในทุกโดเมน แต่การศึกษาทั้งหมดมีขนาดเล็ก (ผู้เข้าร่วม 18 ถึง 186; มัธยฐาน 66) ทำให้ความมั่นใจในผลลัพธ์ลดลง ผลลัพธ์หลักคือ ความกระวนกระวายใจ อาการทางพฤติกรรมและจิตใจโดยรวมและผลข้างเคียง การศึกษา 10 เรื่อง ประเมินความกระวนกระวายใจโดยใช้สเกลต่างๆ การศึกษา 5 เรื่อง ความเชื่อมั่นระดับปานกลางหรือต่ำ การศึกษา 4 เรื่อง รายงานว่าไม่มีผลที่มีนัยสำคัญต่อความกระวนกระวายใจ และการศึกษา 1 เรื่องรายงานถึงประโยชน์อย่างมีนัยสำคัญของการบำบัดด้วยกลิ่นหอม การศึกษา 5 เรื่อง รายงานว่าไม่มีข้อมูลที่สามารถใช้ได้หรือความเชื่อมั่นต่ำมาก การศึกษา 8 เรื่อง ประเมิน BPSD โดยรวมโดยใช้ Neuropsychiatric Inventory และเรามีความมั่นใจในผลลัพธ์ระดับปานกลางหรือต่ำของการศึกษา 5 เรื่อง ในจำนวนนี้ มีการศึกษา 4 เรื่อง รายงานถึงประโยชน์อย่างมีนัยสำคัญของการบำบัดด้วยกลิ่นหอม และมีการศึกษา 1 เรื่องรายงานว่าไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ในการศึกษาส่วนใหญ่ เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์มีการรายงานไม่ดีหรือไม่มีรายงานเลย การศึกษาไม่เกิน 2 เรื่อง ประเมินผลลัพธ์รองแต่ละอย่าง ด้านคุณภาพชีวิต อารมณ์ การนอนหลับ กิจกรรมในชีวิตประจำวัน ภาระของผู้ดูแล เราไม่พบหลักฐานว่ามีประโยชน์ต่อผลลัพธ์เหล่านี้ กาศึกษา 3 เรื่อง มีการประเมินด้านความรู้ความเข้าใจ: การศึกษา 1 เรื่องไม่รายงานข้อมูลใด ๆ และการศึกษาอีก 2 เรื่อง รายงานว่าไม่มีผลอย่างมีนัยสำคัญของการบำบัดด้วยกลิ่นหอมต่อความรู้ความเข้าใจ ความเชื่อมั่นในผลลัพธ์การศึกษาอยู่ในระดับต่ำ

บันทึกการแปล: 

แปลโดย เพียงจิตต์ ธารไพรสาณฑ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2020

Tools
Information