การฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจที่บ้านเทียบกับที่สถานพยาบาล

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม

เราเปรียบเทียบโปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจที่บ้าน (รวมถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น เว็บไซต์และแอป) กับการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจที่สถานพยาบาลภายใต้การดูแลของบุคลากรทางการแพทย์สำหรับผู้ใหญ่ที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย (การไหลเวียนของเลือดไปยังหัวใจถูกหยุด) เจ็บหน้าอก (angina) ภาวะหัวใจล้มเหลว (หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปทั่วร่างกายได้อย่างเหมาะสม) หรือผู้ที่ได้รับการการเปิดหลอดเลือดที่อุดตัน (การผ่าตัดเพื่อฟื้นฟูการไหลเวียนของเลือด)

ความเป็นมา

การฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจมีเป้าหมายที่จะฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหัวใจให้มีสุขภาพดี ผ่านการผสมผสานระหว่างการออกกำลังกาย การให้ความรู้ และการสนับสนุนด้านจิตใจ โดยปกติแล้วแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจที่สถานพยาบาล (เช่น โรงพยาบาล โรงยิม ศูนย์ชุมชน/กีฬา) จะถูกใช้ในผู้ป่วยหลังเกิด cardiac events ต่อมาได้มีการนำแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจที่บ้าน ซึ่งอาจรวมถึงผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อเพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วม และขยายการเข้าถึง

วันที่สืบค้น

เราทำการสืบค้นจนถึงเดือนกันยายน 2022

ลักษณะของการศึกษา

เราได้ค้นหา randomised controlled trials (RCTs) (การทดลองที่สุ่มจัดแบ่งผู้เข้าร่วมออกเป็นกลุ่มการรักษาตั้งแต่สองกลุ่มขึ้นไป) ที่ศึกษาประสิทธิผลของการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจที่บ้าน (ซึ่งอาจรวมถึงการใช้ digital/telehealth) และสถานพยาบาลภายใต้การดูแลของบุคลากรทางการแพทย์ในผู้ใหญ่ที่เป็นโรคหัวใจ

เรารวม 24 การทดลอง (ผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 3046 คน) นอกจากนี้เรายังพบการศึกษาอีก 9 ฉบับและการลงทะเบียนการทดลอง 14 รายการ แต่ยังคงอยู่ในขั้นดำเนินการหรือยังไม่ถูกรวบรวมไว้ในการวิเคราะห์ การทดลองส่วนใหญ่มีขนาดค่อนข้างเล็ก (มัธยฐานของผู้เข้าร่วมโครงการ 104 คน ในช่วง: 20 ถึง 525) อายุเฉลี่ยของผู้เข้าร่วมโครงการอยู่ระหว่าง 51.6 ถึง 69 ปี จำนวนผู้เข้าร่วมเพศหญิงคิดเป็นเพียง 19% ของผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด; มี 4 การทดลองที่ไม่มีผู้เข้าร่วมเพศหญิง การทดลองทั้งหมด ในแต่ละการทดลองประกอบไปด้วยการฟื้นฟูที่บ้าน และสถานพยาบาล ซึ่งต้องอยู่ภายใต้การดูแลของบุคลากรทางการแพทย์ (แบบพบหน้ากันหรือแบบทางไกล) มี 4 การทดลองที่ใช้ digital/telehealth เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูที่บ้าน

กลุ่มอาการของผู้เข้าร่วมโครงการแตกต่างกันไปในแต่ละการศึกษา: การศึกษา 9 ฉบับใช้ประชากรผสมที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ การศึกษา 6 ฉบับ ใช้ประชากรที่เคยมีอาการหัวใจวาย/กล้ามเนื้อหัวใจตาย การศึกษา 4 ฉบับใช้ประชากรที่ได้รับการการเปิดหลอดเลือดที่อุดตัน และการศึกษา 5 ฉบับ ใช้ประชากรที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว

ผลการศึกษาที่สำคัญ

เราพบว่าโปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจที่บ้านและที่สถานพยาบาลมีประโยชน์ใกล้เคียงกัน เมื่อเทียบจากจำนวนผู้เสียชีวิต ความสามารถในการออกกำลังกาย และคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพ จำเป็นต้องมีข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อยืนยันว่าผลลัพธ์ระยะสั้นข้างต้นของการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจที่บ้าน (อาจใช้ digital และ telehealth) และที่สถานพยาบาลสามารถรักษาไว้ให้ยั่งยืนต่อไปได้หรือไม่

คุณภาพของหลักฐาน

คุณภาพของหลักฐานอยู่ในช่วง ต่ำ (อัตราการตายทั้งหมด) ไปจนถึงปานกลาง (ความสามารถในการออกกำลังกายในช่วง 12 เดือนและคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพ) สาเหตุหลักสำหรับการประเมินคุณภาพของของหลักฐานที่ต่ำคือการรายงานผลการศึกษาอย่างไม่ดีนัก

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

การทบทวนฉบับปรับปรุงนี้สนับสนุนข้อสรุปในครั้งก่อนว่าการฟื้นฟูที่บ้าน (อาจใช้ digital/telehealth platforms) และที่สถานพยาบาลภายใต้การดูแลของบุคลากรทางการแพทย์มีประสิทธิผลพอ ๆ กันในการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพ และผลลัพธ์ทางคลินิกในผู้ป่วยหลังจากที่มีอาการกล้ามเนื้อหัวใจตาย หลังได้รับการการเปิดหลอดเลือดที่อุดตัน หรือมีภาวะหัวใจล้มเหลว ผลการศึกษานี้สนับสนุนการเติบโตอย่างต่อเนื่องของการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจที่บ้าน (อาจใช้ digital/telehealth platforms) ภายใต้การดูแลของบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของการแพร่ระบาดของโรค SARS-CoV-2 ทั่วโลกที่กำลังดำเนินอยู่ซึ่งจำกัดการเข้าใช้บริการที่โรงพยาบาลและศูนย์สุขภาพชุมชนของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก

ส่วนในกรณีที่สามารถให้การฟื้นฟูได้ทั้งที่บ้านและที่สถานพยาบาล การพิจารณตามาความชอบของผู้ป่วยแต่ละรายอาจเป็นแนวทางที่เหมาะสม แม้ว่าจะไม่รวมอยู่ในขอบเขตของการทบทวนวรรณกรรมนี้ แต่ก็มีหลักฐานจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่สนับสนุนการใช้แผนการฟื้นฟูแบบผสม ซึ่งเป็นการรวมรูปแบบการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจทั้งที่บ้านและที่สถานพยาบาลเข้าด้วยกัน

จำเป็นต้องมีข้อมูลเพิ่มเติมในการตัดสินว่า: (1) ผลกระทบระยะสั้นของการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจที่บ้านหรือผ่าน digital-telehealth และที่สถานพยาบาลสามารถยืนยันได้ในระยะยาวหรือไม่ (2) ประสิทธิผลและความปลอดภัยทางคลินิกของโปรแกรมการฟื้นฟูที่บ้านสำหรับผู้ป่วยหัวใจอื่น ๆ เช่น การผ่าตัดลิ้นหัวใจ และโรคหัวใจเต้นพริ้ว

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่พบบ่อยที่สุดทั่วโลก โดยปกติแล้วการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ (cardiac rehabilitation) ที่สถานพยาบาลจะถูกใช้ในผู้ป่วยหลังจากเกิด cardiac event เพื่อช่วยในกระบวนการฟื้นฟู และป้องกันการการเจ็บป่วยในอนาคต ฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจที่บ้านด้วยเทคโนโลยี ได้ถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วม และขยายการเข้าถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างการแพร่ระบาดของ SARS-CoV-2 การทบทวนวรรณกรรมนี้เป็นการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมที่ตีพิมพ์ในปี 2009, 2015 และ 2017

วัตถุประสงค์: 

เพื่อเปรียบเทียบผลของการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจที่บ้าน (ซึ่งอาจรวมถึงการใช้ digital/telehealth) และสถานพยาบาลภายใต้การดูแลของบุคลากรทางการแพทย์ ต่ออัตราการเกิดโรคและเสียชีวิต ความสามารถในการออกกำลังกาย คุณภาพชีวิตด้านสุขภาพ และปัจจัยเสี่ยงที่ปรับเปลี่ยนได้ต่าง ๆ (modifiable cardiac risk factors) ในผู้ป่วยโรคหัวใจ

วิธีการสืบค้น: 

เราได้ปรับปรุงการสืบค้นจาก Cochrane Review ฉบับก่อน โดยสืบค้นจาก Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL), MEDLINE (Ovid), Embase (Ovid), PsycINFO (Ovid) และ CINAHL (EBSCO) ในวันที่ 16 กันยายน 2022 นอกจากนี้เรายังสืบค้นในทะเบียนการทดลองทางคลินิก 2 แหล่ง รวมถึงการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบก่อนหน้านี้ และรายการอ้างอิงของการศึกษาที่นำเข้าในการทบทวน โดยไม่มีข้อจำกัดทางภาษาใด ๆ

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวบรวม randomised controlled trials (RCTs) ที่เปรียบเทียบการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจที่สถานพยาบาล (เช่น โรงพยาบาล ศูนย์กีฬา/ชุมชน) กับที่บ้าน (ซึ่งอาจมีการใช้/ไม่ใช้แพลตฟอร์มดิจิตอล/telehealth) ในผู้ใหญ่ที่มีอาการกล้ามเนื้อหัวใจตาย เจ็บหน้าอก (angina) หัวใจล้มเหลว หรือผู้ป่วยที่ได้รับการการเปิดหลอดเลือดที่อุดตัน

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้แต่งทั้งสองคนได้คัดกรองเอกสารอ้างอิงที่ระบุไว้ทั้งหมดอย่างเป็นอิสระต่อกัน เพื่อคัดเลือกการศึกษาโดยใช้เกณฑ์ที่ตกลงไว้ล่วงหน้า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจะถูกแก้ไขผ่านการอภิปราย หรือผ่านผู้แต่งคนที่ 3 ผู้วิจัย 2 คนได้ดึงข้อมูลผลลัพธ์ และศึกษาลักษณะและประเมินความเสี่ยงของการเกิดอคติอย่างอิสระต่อกัน ประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐานโดยใช้วิธีการ GRADE

ผลการวิจัย: 

เราได้นำเข้าการทดลองใหม่ 3 ฉบับ ไว้ในการปรับปรุงครั้งนี้ ทำให้มีการทดลองรวมทั้งสิ้น 24 ฉบับ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมที่ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจรวมทั้งสิ้น 3046 คน เราค้นพบการศึกษาอีก 9 ฉบับที่รอการจำแนกประเภท และยังพบงานวิจัยทางคลินิคที่ถูกลงทะเบียนไว้จำนวน 14 รายการที่กำลังดำเนินการอยู่ผ่านการค้นหาด้วยตนเอง (manual searching) จนถึงวันที่ 16 กันยายน 2022 ผู้เข้าร่วมเป็นผู้ที่มีประวัติของอาการกล้ามเนื้อหัวใจตาย ได้รับการการเปิดหลอดเลือดที่อุดตัน หรือภาวะหัวใจล้มเหลว แม้ว่าจะมีหลักฐานเพียงเล็กน้อยซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะพบอคติ ผลการศึกษาหลายฉบับไม่มีรายละเอียดที่เพียงพอสำหรับการประเมิณความเสี่ยงของการเกิดอคติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายละเอียดของการจัดสรร และปกปิดกลุ่มผู้เข้าร่วมการวิจัยแบบสุ่ม (random allocation sequencing) รวมไปถึงการปกปิดข้อมูลระหว่างการประเมินผลลัพธ์ซึ่งถูกรายงานอย่างไม่ดีนัก

ไม่พบหลักฐานของความแตกต่างระหว่างการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจที่บ้านเทียบกับที่สถานพยาบาลในผลลัพธ์หลักของเราในช่วง 12 เดือนของการติดตามผล: การเสียชีวิตทั้งหมด (อัตตราความเสี่ยง [RR] = 1.19, ช่วงความเชื่อมั่น [confidence interval, CI] 95% 0.65 ถึง 2.16, ผู้เข้าร่วม = 1647 คน; การศึกษา = 12 ฉบับ /การเปรียบเทียบ = 14 รายการ; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) หรือ ความสามารถในการออกกำลังกาย (standardised mean difference (SMD) = -0.10, 95% CI -0.24 ถึง 0.04; ผู้เข้าร่วม = 2343; การศึกษา = 24 ฉบับ/ comparisons = 28 รายการ; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) หลักฐานส่วนใหญ่ (การเปรียบเทียบด้วย N=71 / การเปรียบเทียบ 77 รายการของคะแนนรวม หรือคะแนนในแต่ล่ะส่วน) บ่งชี้ว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญสำหรับคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพในช่วงมากถึง 24 เดือนของการติดตามผลระหว่างการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจที่บ้านเทียบกับที่สถานพยาบาล การทดลองส่วนมากจะมีระยะเวลาสั้น โดยมีเพียงสามการทดลองซึ่งมีการรายงานผลลัพธ์เกินกว่าช่วง 12 เดือน (ความสามารถในการออกกำลังกาย: ผลต่างมาตรฐานของค่าเฉลี่ย [SMD] 0.11, ช่วงความเชื่อมั่น [CI] 95% คือ -0.01 ถึง 0.23; ผู้เข้าร่วม = 1074 คน; จำนวนการศึกษา = 3 ฉบับ; หลักฐานมีความเชื่อมั่นปานกลาง) ระดับความสำเร็จของแผนการฟื้นฟูมีความใกล้เคียงกัน (RR = 1.03, ช่วงความเชื่อมั่น [CI] 95% คือ 0.99 ถึง 1.08, ผู้เข้าร่วม = 2638 คน; การศึกษา = 22 ฉบับ/การเปรียบเทียบ = 26 รายการ; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) ระหว่างผู้เข้าร่วมที่รับการฟื้นฟูที่บ้านและที่สถานพยาบาล ค่าใช้จ่ายต่อคนไข้หนึ่งคนระหว่างการฟื้นฟูที่บ้านเทียบกับที่สถานพยาบาลมีความใกล้เคียงกัน

บันทึกการแปล: 

แปลโดย นายพัณณ์เดชน์ สร้อยสมุทร

Tools
Information