ประโยชน์และผลเสียของแมกนีเซียมซัลเฟตแบบหนึ่งเทียบกับอีกแบบหนึ่งสำหรับผู้หญิงที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษและภาวะครรภ์เป็นพิษรุนแรงและมีภาวะชักคืออะไร

ใจความสำคัญ

ก่อนหน้านี้แมกนีเซียมซัลเฟตแสดงให้เห็นว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาและป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษรุนแรงและมีภาวะชัก (ลมชักหรืออาการชักที่เกิดขึ้นระหว่างหรือหลังทารกคลอด เมื่อผู้หญิงมีความดันโลหิตสูงและมีโปรตีนออกมากับปัสสาวะ)

แมกนีเซียมซัลเฟตอาจทำให้เกิดผลที่ไม่พึงประสงค์ในผู้หญิงหรือทารก (เช่น ปัญหาการหายใจ)

ยังไม่ชัดเจนว่าขนาดยาที่ดีที่สุดคืออะไร และควรให้อย่างไรจึงจะดีที่สุด

ภาวะครรภ์เป็นพิษและภาวะครรภ์เป็นพิษรุนแรงและมีภาวะชักคืออะไร

ภาวะครรภ์เป็นพิษ (หรือภาวะ Toxaemia) เป็นภาวะที่มักเกี่ยวข้องกับความดันโลหิตที่สูง และโปรตีนรั่วในปัสสาวะ ภาวะนี้อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในช่วงครึ่งหลังของการตั้งครรภ์หรือในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกหลังคลอด ผลที่ตามมาของภาวะครรภ์เป็นพิษ ได้แก่ การฃักของมารดา (eclampsia) ปัญหาเกี่ยวกับตับและไตของมารดา การเสียชีวิตของทารก และการลอกของรก (การแยกของรกจากผนังมดลูกก่อนการคลอดบุตร)

เหตุใดจึงสำคัญสำหรับผู้หญิงที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษและภาวะครรภ์เป็นพิษรุนแรงและมีภาวะชัก

แมกนีเซียมซัลเฟตมีประสิทธิภาพในการป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษรุนแรงและมีภาวะชักในสตรีที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษ และในการรักษาสตรีที่มีอาการชักจากครรภ์เป็นพิษเพื่อหลีกเลี่ยงการเจ็บป่วยที่รุนแรงของมารดา/ทารกและการเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม แมกนีเซียมซัลเฟตอาจทำให้เกิดผลที่ไม่พึงประสงค์ (หายใจลำบาก ปริมาณปัสสาวะลดลง ซึ่งอาจทำลายไต) ถ้าได้รับในปริมาณมาก และอาจต้องได้รับการดูแลโดยบุคลากรที่มีประสบการณ์

เราต้องการค้นหาอะไร

เราต้องการทราบว่าวิธีใดในการบริหารแมกนีเซียมซัลเฟต (ปริมาณยา วิธีและบริเวณที่ให้ยา เช่น ในสะโพก ต้นขา ในหลอดเลือดดำ และระยะเวลาในการให้ยา) ดีกว่าวิธีอื่นหรือไม่

เราทำอะไร

เราค้นหาการศึกษาที่พิจารณาวิธีการต่างๆ ในการให้แมกนีเซียมซัลเฟต (ปริมาณยา วิธีการที่ใช้ในการให้ยา และระยะเวลาในการให้ยา) เราเปรียบเทียบและสรุปผลการศึกษา และประเมินความเชื่อถือของเราต่อหลักฐาน โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น วิธีการศึกษาและขนาดของการศึกษา

เราพบอะไร

เราค้นหาการศึกษาจนถึงเดือนเมษายน 2022 เรารวมการทดลอง 16 ฉบับ (ผู้หญิง 3020 คน): การทดลอง 4 ฉบับ (ผู้หญิง 409 คน) คัดเลือกสตรีที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษรุนแรงและมีภาวะชัก และการทดลองอีก 12 ฉบับ (ผู้หญิง 2611 คน) คัดเลือกสตรีที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษ การศึกษาส่วนใหญ่ดำเนินการในประเทศที่มีรายได้น้อยหรือปานกลาง

ในผู้หญิงที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษรุนแรงและมีภาวะชัก: เราไม่มั่นใจในหลักฐานที่เปรียบเทียบการให้แมกนีเซียมซัลเฟตในขนาดต่ำหรือการรักษาระยะสั้นกว่ากับแผนการรักษามาตรฐาน เนื่องจากการศึกษามีขนาดเล็กเกินไปที่จะแสดงความแตกต่าง และอาจเป็นไปได้ที่ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบว่าพวกเขาได้รับการรักษาแบบใด ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดอคติได้ การให้แมกนีเซียมซัลเฟตในเวลาสั้นกว่าปกติ คือ 24 ชั่วโมงอาจลดความเสี่ยงของการหน้าแดง (หน้าแดง) อย่างไรก็ตาม เรามีความมั่นใจต่ำในผลลัพธ์นี้เนื่องจากการศึกษามีขนาดเล็กเกินไป

ในผู้หญิงที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษ: เราไม่แน่ใจว่าการให้แมกนีเซียมซัลเฟตในระยะเวลาที่สั้นกว่าปกติหรือในขนาดที่ต่ำกว่าจะสร้างความแตกต่างใดๆ ต่อความเสี่ยงของผู้หญิงที่จะมีภาวะชัก การเจ็บป่วยที่รุนแรง หรือผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ เนื่องจากการศึกษามีขนาดเล็กเกินไป นอกจากนี้ เราไม่มั่นใจว่าวิธีการให้ยาส่งผลให้เกิดประโยชน์หรืออันตรายใดๆ เนื่องจากการศึกษามีขนาดเล็กเกินไปที่จะแสดงความแตกต่าง และอาจเป็นไปได้ที่ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบว่าตนได้รับการรักษาแบบใด

ข้อจำกัดของหลักฐานคืออะไร

ปัจจัยหลัก 3 ประการลดความเชื่อมั่นในหลักฐานของเรา ประการแรก ผู้คนในการศึกษาจำนวนมากทราบว่าตนได้รับการรักษาแบบใด ซึ่งอาจนำไปสู่อคติ อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้อาจเป็นเรื่องยากมากที่จะป้องกันในการศึกษาในอนาคต เนื่องจากลักษณะของวิธีการที่ใช้ (intervention) ประการที่สอง การศึกษาบางส่วนให้ข้อมูลเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับวิธีการดำเนินการ ประการสุดท้าย บางการศึกษามีขนาดเล็กมาก ผลการวิจัยเพิ่มเติมอาจแตกต่างจากผลการทบทวนวรรณกรรมนี้

หลักฐานนี้เป็นปัจจุบันแค่ไหน

หลักฐานเป็นปัจจุบันถึงวันที่ 29 เมษายน 2022

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

แม้จะมีการทดลองจำนวนมากเพื่อประเมินสูตรแมกนีเซียมซัลเฟตหลายชนิดสำหรับการป้องกันโรคและการรักษาภาวะครรภ์เป็นพิษรุนแรงและมีภาวะชัก แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานที่น่าสนใจว่าสูตรการรักษาแบบใดแบบหนึ่งมีประสิทธิผลมากกว่าแบบอื่น การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมที่ออกแบบมาอย่างดีจำเป็นต่อการตอบคำถามนี้

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

แมกนีเซียมซัลเฟตเป็นยาตัวหนึ่งสำหรับการป้องกันและรักษาผู้หญิงที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษรุนแรงและมีภาวะชัก สูตรการบริหารยานี้มีการพัฒนามาตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่ไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับประโยชน์หรือผลเสียของยาสูตรอื่นๆ นี่คือการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบที่เผยแพร่ครั้งแรกในปี 2010

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินว่าแมกนีเซียมซัลเฟตสูตรหนึ่งดีกว่าอีกสูตรหนึ่งเมื่อใช้ในการดูแลผู้หญิงที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษหรือครรภ์เป็นพิษรุนแรงและมีภาวะชัก หรือทั้งสองอย่าง เพื่อลดความเสี่ยงของการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตของผู้หญิงและทารก

วิธีการสืบค้น: 

เราสืบค้นใน Cochrane Pregnancy and Childbirth's Trials Register, ClinicalTrials.gov, WHO International Clinical Trials Registry Platform (29 เมษายน 2022) และรายการอ้างอิงของการศึกษาที่สืบค้นได้

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวบรวมการทดลองแบบ randomised trials และการทดลองแบบ cluster-randomised trialsโดยเปรียบเทียบสูตรที่แตกต่างกันสำหรับการบริหารแมกนีเซียมซัลเฟตที่ใช้ในผู้หญิงที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษหรือภาวะครรภ์เป็นพิษรุนแรงและมีภาวะชัก หรือทั้งสองอย่าง การเปรียบเทียบรวมถึงขนาดยาที่แตกต่างกัน วิธีการฉีดเข้ากล้ามเนื้อกับฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำสำหรับการรักษาแบบต่อเนื่อง และระยะเวลาการรักษาที่แตกต่างกัน เราไม่รวมการศึกษาที่มีการออกแบบแบบ quasi-random หรือแบบ cross-over designs เราได้รวมบทคัดย่อของการดำเนินการประชุมหากสอดคล้องกับการประเมินความน่าเชื่อถือ

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

สำหรับการปรับปรุงวรรณกรรมนี้ ผู้ทบทวนสองคนประเมินการทดลองเพื่อนำเข้า ดำเนินการประเมินความเสี่ยงของการมีอคติ และดึงข้อมูล มีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล เราประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐานโดยใช้วิธี GRADE

ผลการวิจัย: 

สำหรับการปรับปรุงนี้ การทดลองทั้งหมด 16 ฉบับ (ผู้หญิง 3020 คน) ตรงตามเกณฑ์การคัดเลือกของเรา: การทดลอง 4 ฉบับ (ผู้หญิง 409 คน) เปรียบเทียบสูตรสำหรับผู้หญิงที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษรุนแรงและมีภาวะชัก และการทดลอง 12 ฉบับ (ผู้หญิง 2611 คน) เปรียบเทียบสูตรสำหรับผู้หญิงที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษ การทดลองที่รวบรวมไว้ส่วนใหญ่มีขนาดตัวอย่างขนาดเล็กและดำเนินการในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง การทดลอง 11 ฉบับรายงานการสุ่มและการปกปิดการจัดกลุ่มที่เพียงพอ การปกปิดผู้เข้าร่วมและแพทย์เป็นไปไม่ได้ในการศึกษาส่วนใหญ่ การศึกษาที่นำเข้ามาส่วนใหญ่มีความเสี่ยงต่ำต่อการออกจากการศึกษาก่อนกำหนดและในการรายงาน

การรักษาผู้หญิงที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษรุนแรงและมีภาวะชัก (การเปรียบเทียบ 4 รายการ)

การทดลอง 1 ฉบับ เปรียบเทียบการรักษาที่ให้ขนาดยาเริ่มแรกอย่างเดียวเทียบกับให้ขนาดยาเริ่มแรกร่วมกับการให้ยาต่อเนื่อง (ผู้หญิง 80 คน) ไม่ชัดเจนว่าสูตรการรักษาอย่างใดอย่างหนึ่งมีผลต่อความเสี่ยงของการเกิดอาการชักซ้ำหรือการเสียชีวิตของมารดาหรือไม่ (หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก)

การทดลอง 1 ฉบับ เปรียบเทียบการรักษาในขนาดต่ำกับขนาดมาตรฐานในระยะเวลา 24 ชั่วโมง (ผู้หญิง 72 คน) ไม่ชัดเจนว่าสูตรการรักษาอย่างใดอย่างหนึ่งมีผลต่อความเสี่ยงของการเกิดซ้ำของการชัก การเจ็บป่วยรุนแรง การเสียชีวิตปริกำเนิด หรือการเสียชีวิตของมารดา (หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก)

การทดลอง 1 ฉบับ (ผู้หญิง 137 คน) เปรียบเทียบการให้ยาทางหลอดเลือดดำ (IV) เทียบกับการให้ยาแบบบมาตรฐานทางกล้ามเนื้อ (IM) แบบให้ต่อเนื่อง ไม่ชัดเจนว่าเส้นทางใดเส้นทางหนึ่งมีผลกระทบต่อการกลับเป็นซ้ำของการชัก การเสียชีวิตของทารกก่อนจำหน่าย (การเสียชีวิตปริกำเนิดและการเสียชีวิตของทารกแรกเกิด) หรือการเสียชีวิตของมารดา (หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก)

การทดลอง 1 ฉบับ (ผู้หญิง 120 คน) เปรียบเทียบแผนการรักษาต่อเนื่องระยะสั้นกับแผนการรักษาแบบให้ต่อเนื่อง (24 ชั่วโมงหลังคลอด) ไม่แน่ใจว่าระยะเวลาของแผนการรักษาต่อเนื่องจะส่งผลต่อการชักซ้ำ การเจ็บป่วยที่รุนแรง หรือผลข้างเคียง เช่น อาการคลื่นไส้และการหายใจล้มเหลว สูตรการรักษาต่อเนื่องระยะสั้นอาจลดความเสี่ยงของอาการออกร้อน เมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาต่อเนื่องมาตรฐาน 24 ชั่วโมง (อัตราส่วนความเสี่ยง (RR) 0.27, 95% ช่วงความเชื่อมั่น (CI) 0.08 ถึง 0.93; การทดลอง 1 ฉบับ ผู้หญิง 120 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ)

ผลลัพธ์ที่สำคัญที่กำหนดไว้ล่วงหน้าจำนวนมากของเราไม่ได้รับการรายงานในการทดลองที่รวบรวมไว้

การป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษรุนแรงและมีภาวะชักในผู้หญิงที่เป็น pre-eclampsia (การเปรียบเทียบ 5 รายการ)

การทดลอง 2 ฉบับ (ผู้หญิง 462 คน) เปรียบเทียบขนาดยาเริ่มแรกเพียงอย่างเดียวกับขนาดยาเริ่มแรก ร่วมกับ การรักษาต่อเนื่อง หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่ไม่แน่นอนกับการรักษาแบบใดแบบหนึ่งต่อความเสี่ยงของภาวะครรภ์เป็นพิษรุนแรงและมีภาวะชัก (RR 2.00, 95% CI 0.61 ถึง 6.54; การศึกษา 2 ฉบับ, ผู้หญิง 462 คน) หรือการเสียชีวิตปริกำเนิด (RR 0.50, 95% CI 0.19 ถึง 1.36; การศึกษา 2 ฉบับ ผู้หญิง 462 คน)

การทดลองขนาดเล็ก 1 ฉบับ (ผู้หญิง 17 คน) เปรียบเทียบการให้ยาต่อเนื่องทางหลอดเลือดดำ(IV) เทียบกับการให้ยาต่อเนื่องฉีดเข้ากล้ามเนื้อ(IM) เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ไม่ชัดเจนว่าแผนการยาต่อเนื่องทาง IV หรือ IM มีผลต่อภาวะครรภ์เป็นพิษรุนแรงและมีภาวะชักหรือการคลอดบุตรเสียชีวิต (หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก)

การทดลอง 4 ฉบับ (ผู้หญิง 1713 คน) เปรียบเทียบแผนการให้ยาต่อเนื่องหลังคลอดระยะสั้นกับการให้ยาต่อเนื่อง เป็นเวลา 24 ชั่วโมงหลังคลอด หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำบ่งชี้ว่าอาจมีประโยชน์หรืออันตรายที่หลากหลายระหว่างกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับภาวะครรภ์เป็นพิษรุนแรงและมีภาวะชัก (RR 1.99, 95% CI 0.18 ถึง 21.87; การทดลอง 4 ฉบับ ผู้หญิง 1713 คน) หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำชี้ให้เห็นว่าอาจมีผลกระทบเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อการเจ็บป่วยที่รุนแรง (RR 0.96, 95% CI 0.71 ถึง 1.29; การทดลอง 2 ฉบับ ผู้หญิง 1233 คน) หรือผลข้างเคียง เช่น การกดการหายใจ (RR 0.80, 95% CI 0.25 ถึง 2.61; การทดลอง 2 ฉบับ ผู้หญิง 1424 คน)

การทดลอง 3 ฉบับ (ผู้หญิง 185 คน) เปรียบเทียบการรักษาต่อเนื่องในขนาดยาที่สูงเทียบกับการใช้ยาขนาดต่ำ ไม่ชัดเจนว่าสูตรการรักษาอย่างใดอย่างหนึ่งมีผลต่อภาวะครรภ์เป็นพิษรุนแรงและมีภาวะชักหรือไม่ (หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำแสดงให้เห็นว่าการรักษาต่อเนื่องในขนาดยาที่สูงขึ้น (higher-dose maintenance regimen) มีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อผลข้างเคียงเมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาในขนาดยาต่ำ (RR 0.79, 95% CI 0.61 ถึง 1.01; การทดลอง 1 ฉบับ ผู้หญิง 62 คน)

การทดลอง 1 ฉบับ (ผู้หญิง 200 คน) เปรียบเทียบการรักษาแบบต่อเนื่องโดยการให้ยาทางหลอดเลือดดำอย่างต่อเนื่องเทียบกับการให้ยาขนาดสูงเป็นรอบๆ ไม่ชัดเจนว่าระยะเวลาของการรักษาต่อเนื่องจะส่งผลต่อภาวะครรภ์เป็นพิษรุนแรงและมีภาวะชัก ผลข้างเคียง การเสียชีวิตปริกำเนิด การเสียชีวิตของมารดา หรือการเจ็บป่วยของทารกแรกเกิดอื่น ๆ (หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก)

ผลลัพธ์ที่สำคัญที่กำหนดไว้ล่วงหน้าจำนวนมากของเราไม่ได้รับการรายงานในการทดลองที่รวบรวมไว้

บันทึกการแปล: 

แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี Edit โดย พ.ญ. ผกากรอง ลุมพิกานนท์ 27 กันยายน 2024

Tools
Information