การฝังเข็มหรือการกดจุดเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดในระหว่างคลอด

เราตรวจสอบหลักฐานจากการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมเกี่ยวกับการใช้การฝังเข็มหรือการกดจุดในการช่วยสตรีในการจัดการความเจ็บปวดระหว่างคลอด นี่คือการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2011

ปัญหาคืออะไร

ความเจ็บปวดที่สตรีประสบในระหว่างคลอดอาจจะรุนแรง ร่วมกับความตึงเครียดของร่างกาย ความวิตกกังวล และความกลัว สิ่งเหล่านี้ทำให้ความเจ็บปวดยิ่งแย่ลง ความเจ็บปวดที่เกิดจากการหดตัวของมดลูก การเปิดของปากมดลูก และในช่วงปลายของระยะแรกและระยะที่สองของการคลอดจะมีการยืดของช่องคลอดและฐานเชิงกรานเมื่อเด็กเคลื่อนต่ำลงในทางคลอด การจัดการความเจ็บปวดที่มีประสิทธิผลและเป็นที่พอใจ จะต้องเป็นการเฉพาะสำหรับสตรีแต่ละคน สตรียังอาจใช้กลยุทธ์ในการพยายามที่จะทำลายวงจรความกลัว-ความตึงเครียด-ความเจ็บปวดและต่อสู้กับอาการปวด การต่อสู้กับความเจ็บปวดทำได้โดยการให้การช่วยเหลือ และการให้กำลังใจแก่สตรี การหาตำแหน่งที่สะดวกสบาย การแช่ในน้ำและเทคนิคการช่วยเหลือตนเอง

สตรีหลายคนต้องการที่จะผ่านการคลอดโดยไม่ต้องใช้ยา สตรีอาจหันไปใช้การฝังเข็มหรือการกดจุดเพื่อช่วยลดอาการปวดและจัดการความเจ็บปวดให้ดีขึ้น

ทำไมเรื่องนี้จึงมีความสำคัญ

การฝังเข็มเป็นการรักษาที่มีการใช้มาอย่างยาวนานในเอเชีย รวมถึงจีน เกาหลี และญี่ปุ่น ผู้ฝังเข็มจำเป็นต้องมีทักษะในการใช้เข็มสำหรับการฝังเข็มให้ถูกจุดที่ถูกต้อง การกดจุดก็มีต้นกำเนิดในประเทศจีนตอนต้น การทำการกดจุด นักบำบัดใช้มือและนิ้วมือของพวกเขาเพื่อกระตุ้นจุดเดียวกันที่ใช้ในการฝังเข็ม ในบางครั้ง จะทำเพียงไม่กี่จุดเพื่อบรรเทาอาการปวด หรือ ทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย บางครั้งการทำในหลายจุดร่วมกันอาจทำเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้น การกดจุดบางรูปแบบถูกนำไปใช้โดยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพที่ได้รับการฝึกฝนในขณะที่รูปแบบอื่น ๆ สามารถนำมาประยุกต์ใช้โดยแต่ละบุคคลในรูปแบบของการนวดตัวเอง

ผู้วิจัยพบหลักฐานอะไรบ้าง

การปรับปรุงการสืบค้นในเดือน กุมภาพันธ์ 2019 พบการทดลองใหม่ 17 เรื่อง

การทบทวนวรรณกรรมนี้มีการทดลอง 28 รายการในสตรี 3960 คนโดยมีการทดลอง 27 รายการที่ให้ผลลัพธ์ การทดลองเปรียบเทียบกับการฝังเข็มหรือการกดจุดกับวิธีการแบบหลอก การไม่ได้รับวิธีการรักษา หรือการดูแลตามปกติสำหรับการจัดการความเจ็บปวดในระหว่างการคลอด การทดลอง 13 รายการ รายงานการฝังเข็ม และการทดลอง 15 รายการ ที่รายงานเกี่ยวกับการกดจุด มีการทดลอง 18 จาก 27 รายการที่สตรีมีการเจ็บครรภ์ที่เกิดขึ้นเอง ในการศึกษาอื่นๆ อาจได้รับการชักนำการเจ็บครรภ์

การศึกษา 8 รายการ ใช้วิธีการของแพทย์แผนจีนแบบรายบุคคล ในขณะที่การฝังเข็มในหลายๆ จุดถูกใช้ในการศึกษาส่วนใหญ่ เราสังเกตเห็นความแตกต่างอย่างกว้างขวางในวิธีการกระตุ้น (ด้วยตนเองหรือด้วยการกระตุ้นด้วยไฟฟ้า) ระยะเวลาของการฝังเข็ม จำนวนจุดที่ใช้ และความลึกของการฝังเข็ม ยังไม่ชัดเจนว่าวิธีการรักษาในการทดลองเป็นตัวแทนของการฝังเข็มที่ใช้ในทางปฏิบัติอย่างไร

การเปรียบเทียบส่วนใหญ่ชี้ให้เห็นถึงผลประโยชน์เล็กน้อยจากการฝังเข็ม แม้ว่าหลักฐานสนับสนุนจะมีจำกัด เราไม่แน่ใจว่าการฝังเข็มช่วยลดความรุนแรงของความเจ็บปวดได้หรือไม่เมื่อเทียบกับการฝังเข็มแบบหลอก (2 การทดลอง, สตรี 325 คน) การดูแลตามปกติ (4 การทดลอง, สตรี 495 คน) และการไม่ได้รับวิธีการรักษา (1 การทดลอง, สตรี 163 คน) ความน่าเชื่อถือของหลักฐานอยู่ในระดับต่ำถึงต่ำมาก การฝังเข็มอาจเพิ่มความพึงพอใจกับการบรรเทาอาการปวดเมื่อเทียบกับการฝังเข็มแบบหลอก (การทดลอง 1 รายการ, หลักฐานความน่าเชื่อถือปานกลาง) มีการลดการใช้ยาระงับความเจ็บปวดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการฝังเข็มแบบหลอก (การทดลอง 2 รายการ, สตรี 261 คน, หลักฐานความน่าเชื่อถือปานกลาง) การใช้การกดจุดมีความสัมพันธ์กับการลดความรุนแรงของความเจ็บปวดในการคลอด เมื่อเปรียบเทียบกับการควบคุมแบบผสม (2 การทดลอง, สตรี 322 คน, หลักฐานความน่าเชื่อถือปานกลาง) การฝังเข็มไม่ได้มีผลใดๆ ต่อความจำเป็นในการช่วยคลอดทางช่องคลอดหรือความน่าเชื่อถือในการผ่าตัดคลอด แต่การกดจุดลดอัตราการผ่าตัดคลอดเมื่อเทียบกับการกดจุดแบบหลอก

หมายความว่าอย่างไร

การฝังเข็มอาจเพิ่มความพึงพอใจในการบรรเทาอาการปวดและลดการใช้ยาบรรเทาอาการปวด การกดจุดอาจช่วยบรรเทาอาการปวดระหว่างคลอด แม้ว่าการลดความเจ็บปวดอาจไม่มาก อย่างไรก็ตามสำหรับการเปรียบเทียบอื่น ๆ ของการฝังเข็มและการกดจุด เราไม่แน่ใจเกี่ยวกับผลต่อความรุนแรงของอาการปวดและความพึงพอใจในการบรรเทาอาการปวด เนื่องจากหลักฐานมีความน่าเชื่อถือต่ำมาก การฝังเข็มหรือการกดจุดอาจจะมีผลน้อยหรือไม่มีผลต่อการช่วยคลอดทางช่องคลอด แต่สตรีที่ได้รับการกดจุดอาจจะมีโอกาสน้อยกว่าที่จะต้องการการผ่าตัดคลอด การศึกษาได้ดำเนินการในประเทศที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบที่แตกต่างกันของการใช้การฝังเข็ม ข้อจำกัดของการทดลองหลายรายการยังคงอยู่ที่มีการวัดผลลัพธ์น้อยมาก และไม่มีรายงานผลลัพธ์ด้านความปลอดภัย ต้องการการวิจัยที่มีคุณภาพสูงเพิ่มเติม

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

การฝังเข็มเปรียบเทียบกับการฝังเข็มแบบหลอก อาจเพิ่มความพึงพอใจในการจัดการความเจ็บปวดและลดการใช้ยาระงับปวด การกดจุดเมื่อเปรียบเทียบกับการควบคุมแบบผสมและการดูแลตามปกติอาจลดความรุนแรงของอาการปวดได้ อย่างไรก็ตามสำหรับการเปรียบเทียบอื่น ๆ ของการฝังเข็มและการกดจุด เราไม่แน่ใจเกี่ยวกับผลต่อความรุนแรงของอาการปวดและความพึงพอใจในการบรรเทาอาการปวด เนื่องจากหลักฐานมีความน่าเชื่อถือต่ำมาก การฝังเข็มอาจจะมีผลเพียงเล็กน้อยถึงไม่มีผลต่ออัตราการผ่าตัดคลอดหรือการช่วยคลอดทางช่องคลอด การกดจุดอาจจะช่วยลดความต้องการการผ่าตัดคลอดในการเปรียบเทียบกับการควบคุมโดยใช้การกดจุดแบบหลอก มีความจำเป็นสำหรับการวิจัยที่มีคุณภาพสูงต่อไป ที่รวมถึงการควบคุมแบบหลอก และการเปรียบเทียบกับการดูแลตามปกติ และรายงานผลของความรู้สึกของการควบคุมการคลอด ความพึงพอใจกับประสบการณ์การคลอด หรือความพึงพอใจกับการบรรเทาอาการปวด

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

สตรีหลายคนต้องการหลีกเลี่ยงวิธีการใช้ยาหรือวิธีการรักษาที่มีความเสี่ยง (invasive) สำหรับจัดการความเจ็บปวดในระหว่างคลอด และนี่อาจเป็นสาเหตุทำให้วิธีการลดความเจ็บปวดแบบทางเลือกเป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้น การทบทวนวรรณกรรมนี้ ตรวจสอบหลักฐานเกี่ยวกับการใช้การฝังเข็มและการกดจุดสำหรับการจัดการความเจ็บปวดระหว่างคลอด นี่คือการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2011

วัตถุประสงค์: 

การทบทวนวรรณกรรมนี้ตรวจสอบหลักฐานเกี่ยวกับการใช้การฝังเข็มและการกดจุดสำหรับการจัดการความเจ็บปวดระหว่างคลอด

วิธีการสืบค้น: 

สำหรับการปรับปรุงนี้ ผู้วิจัยสืบค้น Cochrane Pregnancy and Childbirth’s Trials Register, (25 กุมภาพันธ์ 2019), the Cochrane Central Register of Controlled Trials (the Cochrane Library 2019, Issue 1), MEDLINE (1966 ถึง กุมภาพันธ์ 2019), CINAHL (1980 to กุมภาพันธ์ 2019), ClinicalTrials.gov (กุมภาพันธ์ 2019), the WHO International Clinical Trials Registry Platfory (ICTRP) (กุมภาพันธ์ 2019) และรายการอ้างอิงของการศึกษาที่รวบรวมนำเข้า

เกณฑ์การคัดเลือก: 

Randomised controlled trials (RCTs) ที่ตีพิมพ์และไม่ได้ตีพิมพ์ ที่เปรียบเทียบการฝังเข็มหรือการกดจุดกับยาหลอก การไม่ได้รับวิธีการรักษา หรือการจัดการความเจ็บปวดรูปแบบอื่นในระหว่างคลอดโดยไม่ใช้ยา ผู้วิจัยรวบรวมสตรีทุกคนไม่ว่าจะเป็นการตั้งครรภ์ครรภ์แรก (nulliparous) หรือ ครรภ์หลัง (multiparous) และในการที่เป็นการเจ็บครรภ์ที่เกิดขึ้นเองหรือเกิดโดยการชักนำ

ผู้วิจัยรวมการศึกษาที่รายงานในลักษณะบทคัดย่อ ถ้ามีข้อมูลเพียงพอที่จะให้มีการประเมินความเสี่ยงของอคติได้ การทดลองแบบ cluster-RCT มีสิทธิ์ถูกพิจารณาเข้า แต่ quasi-RCTs หรือการศึกษาแบบ cross-over ไม่มีสิทธิ์

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้วิจัย 2 คน ประเมินการศึกษาเพื่อนำเข้า ตรวจสอบอคติ สกัดข้อมูลและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่รวบรวมได้อย่างอิสระต่อกัน ผู้วิจัยประเมินความน่าเชื่อถือของหลักฐานที่ได้โดยวิธี GRADE

ผลการวิจัย: 

เราได้รวมการทดลอง 28 รายการ พร้อมการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับสตรี 3960 คน การทดลอง 13 รายการ รายงานการฝังเข็ม และการทดลอง 15 รายการ ที่รายงานเกี่ยวกับการกดจุด ไม่มีการศึกษาใดที่มีความเสี่ยงต่ำที่จะเกิดอคติกับทุกโดเมน ความรุนแรงของอาการปวดโดยทั่วไปจะวัดโดยใช้ visual analog scale (VAS) มีค่าตั้งแต่ 0 ถึง 10 หรือ 0 ถึง 100 โดยคะแนนต่ำบ่งบอกถึงอาการปวดที่น้อย

การฝังเข็มเมื่อเทียบกับการฝังเข็มแบบหลอก

การฝังเข็มอาจมีความแตกต่างน้อยหรือไม่มีแตกต่างต่อความรุนแรงของความเจ็บปวดที่รู้สึกโดยสตรีเมื่อเทียบกับการฝังเข็มแบบหลอก (ค่าเฉลี่ยความแตกต่าง (MD) -4.42, 95% ช่วงความเชื่อมั่น (CI) -12.94 ถึง 4.09, การทดลอง 2 รายการ, สตรี 325 คน, หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำ) การฝังเข็มอาจเพิ่มความพึงพอใจกับการบรรเทาอาการปวดเมื่อเทียบกับการฝังเข็มแบบหลอก (อัตราส่วนความเสี่ยง (RR) 2.38, 95% CI 1.78 ถึง 3.19, การทดลอง 1 รายการ, สตรี 150 คน, หลักฐานความน่าเชื่อปานกลาง) และอาจลดการใช้ยาระงับปวด (RR 0.75, 95% CI 063 ถึง 0.89, การทดลอง 2 รายการ, สตรี 261 คน, หลักฐานความน่าเชื่อถือปานกลาง) การฝังเข็มอาจจะไม่มีผลต่อการช่วยคลอดทางช่องคลอด (หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำมาก) และอาจจะมีผลน้อยหรือไม่มีผลต่อการผ่าตัดคลอด (หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำ)

การฝังเข็มเมื่อเทียบกับการดูแลตามปกติ

เราไม่แน่ใจว่าการฝังเข็มช่วยลดความรุนแรงของอาการปวดเมื่อเทียบกับการดูแลตามปกติหรือไม่ เนื่องจากพบว่าหลักฐานมีความน่าเชื่อถือต่ำมาก (ค่าเฉลี่ยความแตกต่างมาตรฐาน (SMD) -1.31, 95% CI -2.14 ถึง -0.49, 4 การทดลอง, สตรี 495 คน, I 2 = 93%) การฝังเข็มอาจจะมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีผลต่อความพึงพอใจกับการบรรเทาอาการปวด (หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำ) เราไม่แน่ใจว่าการฝังเข็มช่วยลดการใช้ยาระงับปวดได้หรือไม่เนื่องจากพบว่าหลักฐานมีความน่าเชื่อถือต่ำมาก (ค่าเฉลี่ย RR 0.72, 95% CI 0.60 ถึง 0.85, การทดลอง 6 ครั้ง, ผู้หญิง 1059 คน, I 2 = 70%) การฝังเข็มอาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีผลต่อการช่วยคลอดทางช่องคลอด (หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) หรือการผ่าคลอด (หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำ)

การฝังเข็มเมื่อเทียบกับการไม่ได้รับวิธีการรักษา

การทดลอง 1 รายการเปรียบเทียบการฝังเข็มกับการไม่ได้รับวิธีการรักษา เราไม่แน่ใจว่าการฝังเข็มช่วยลดความรุนแรงของอาการปวดได้หรือไม่ (MD -1.16, 95% CI -1.51 ถึง -0.81, สตรี 163 คน, หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำมาก) การช่วยคลอดทางช่องคลอดหรือการผ่าคลอดเนื่องจากพบว่าหลักฐานมีความน่าเชื่อถือต่ำมาก

การฝังเข็มเปรียบเทียบกับการฉีดน้ำปราศจากเชื้อ (sterile water)

เราไม่แน่ใจว่าการฝังเข็มมีผลต่อการใช้ยาระงับปวด การช่วยคลอดทางช่องคลอด หรือการผ่าคลอดหรือไม่ เนื่องจากพบว่าหลักฐานมีความน่าเชื่อถือต่ำมาก

การกดจุดเมื่อเทียบกับการกดจุดแบบหลอก

เราไม่แน่ใจว่าการกดจุดช่วยลดความรุนแรงของอาการปวดในการคลอด (MD -1.93, 95% CI -3.31 ถึง -0.55, 6 การทดลอง, สตรี 472 คน) หรือการช่วยคลอดทางช่องคลอดเนื่องจากพบว่าหลักฐานมีความน่าเชื่อถือต่ำมาก การกดจุดอาจจะมีผลเล็กน้อยหรือไม่มีผลต่อการใช้ยาระงับความเจ็บปวด (หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำ) การกดจุดอาจจะลดอัตราการผ่าตัดคลอด (RR 0.44, 95% CI 0.27 ถึง 0.71, 4 การทดลอง, สตรี 313 คน หลักฐานความน่าเชื่อถือปานกลาง)

การกดจุดเปรียบเทียบกับการดูแลตามปกติ

เราไม่แน่ใจว่าการกดจุดช่วยลดความรุนแรงของความเจ็บปวดในการคลอด (SMD -1.07, 95% CI -1.45 ถึง -0.69, 8 การทดลอง, สตรี 620 คน) หรือเพิ่มความพึงพอใจในการบรรเทาอาการปวด (MD 1.05, 95% CI 0.75 ถึง 1.35, 1 การทดลอง, สตรี 105 คน) เนื่องจากพบว่าหลักฐานมีความน่าเชื่อถือต่ำมาก การกดจุดอาจจะมีผลเล็กน้อยหรือไม่มีผลต่อการผ่าตัดคลอด (หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำ)

การกดจุดเมื่อเทียบกับการควบคุมแบบผสม

การกดจุดอาจลดความรุนแรงของความเจ็บปวดในการคลอดเมื่อเทียบกับการควบคุมแบบผสม (วัดบนมาตราส่วน 0 ถึง 10 ด้วยคะแนนต่ำบ่งชี้ความเจ็บปวดน้อย) (SMD -0.42, 95% CI -0.65 ถึง -0.18, การทดลอง 2 รายการ, สตรี 322 คน, หลักฐานความน่าเชื่อถือปานกลาง) เราไม่แน่ใจว่าการกดจุดมีผลต่อการใช้ยาระงับปวดหรือไม่ (RR 0.94, 95% CI 0.71 ถึง 1.25, การทดลอง 1 รายการ, สตรี 212 คน), รวมถึงความพึงพอใจในการคลอดบุตร การช่วยคลอดทางช่องคลอด หรือการผ่าตัดคลอด เนื่องจากความน่าเชื่อถือของหลักฐานทั้งหมดต่ำมาก

ไม่มีการศึกษาที่รายงานเกี่ยวกับความรู้สึกของการควบคุมการคลอดและมีเพียงหนึ่งการศึกษารายงานเกี่ยวกับความพึงพอใจกับประสบการณ์การคลอด

บันทึกการแปล: 

โแปลโดย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 23 กุมภาพันธ์ 2021

Tools
Information