คำถามของการทบทวนวรรณกรรม
การฟื้นฟูสมรรถภาพทางไกลทำให้ได้ผลการรักษาที่ดีขึ้นในผู้ที่มีโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการดูแลรักษาตัวต่อตัวแบบดั้งเดิมหรือไม่ วิธีการดูแลรักษาด้วยวิธีการฟื้นฟูสมรรถภาพทางไกล (Telerehabilitation) ประเภทใดที่มีประสิทธิผลตามที่กำหนดและมีอิทธิพลต่อผลลัพธ์เฉพาะเจาะจง
ที่มาและความสำคัญของปัญหา
โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งหรือโรคเอ็มเอส (Multiple sclerosis (MS)) เป็นโรคที่พบบ่อยของระบบประสาทในวัยผู้ใหญ่ตอนต้นหรือวัยหนุ่มสาว (Young adult) โดยยังไม่มีการรักษาให้หายขาด และทำให้เกิดความพิการในระยะยาว การฟื้นฟูสมรรถภาพช่วยให้การรักษาและการบำบัดลดผลกระทบของความพิการและปรับปรุงสมรรภภาพ แม้ล่าสุดจะมีความก้าวหน้าในการดูแลรักษาโรคเอ็มเอสรวมถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพ แต่ผู้ป่วยโรคเอ็มเอสไม่สามารถที่จะเข้าถึงความก้าวหน้าของการรักษาเหล่านี้ เนื่องจากมีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว ความเหนื่อยล้า และปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงค่าใช้จ่ายในการเดินทาง การฟื้นฟูสมรรถภาพทางไกลเป็นวิธีการใหม่ในการให้บริการโปรแกรมฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยที่บ้านหรือในชุมชน การใช้เทคโนโลยีการสื่อสารทางไกล เช่น โทรศัพท์บ้าน เทคโนโลยีวิดีโอ อินเตอร์เน็ตแอพพลิเคชั่นและอื่น ๆ วิธีการดูแลรักษาด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพทางไกลหลากหลายวิธีถูกนำไปทดลองในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง อย่างไรก็ตามหลักฐานที่แสดงถึงประสิทธิผลของนักวิจัยนั้นยังไม่ชัดเจน
ลักษณะของการศึกษา
การทบทวนวรรณกรรมครั้งนี้ศึกษาหลักฐานสำหรับวิธีการดูแลรักษาด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพทางไกลในผู้ใหญ่ที่เป็นโรคเอ็มเอส เราสืบค้นอย่างครอบคลุมสำหรับการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) ซึ่งเป็นการศึกษาเฉพาะเจาะจงที่ผู้เข้าร่วมโครงการวิจัยถูกจัดกลุ่มรับการรักษาโดยบังเอิญ (นั่นคือการสุ่ม) เพราะส่วนใหญ่การศึกษาลักษณะเหล่านี้มีหลักฐานที่มึคุณภาพสูงสุด เรามีความสนใจในการศึกษาที่เปรียบเทียบโปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพทางไกลกับการดูแลแบบมาตรฐานหรือแบบพื้นฐานหรือโปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพแบบต่างๆ
ผลการศึกษาที่สำคัญ
เราพบการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมที่เกี่ยวข้องจำนวน 9 เรื่อง ซึ่งครอบคลุมผู้เข้าร่วมโครงการวิจัยจำนวน 531 คน (469 คนถูกนำเข้าในการวิเคราะห์) และประเมินวิธีการดูแลรักษาด้วยวิธีการฟื้นฟูสมรรถภาพทางไกลที่หลากหลายในผู้ป่วยโรคเอ็มเอส การประเมินวิธีการดูแลรักษาด้วยวิธีการฟื้นฟูสมรรถภาพทางไกลมีความซับซ้อน โดยการฟื้นฟูสมรรถภาพมีมากกว่า 1 องค์ประกอบ รวมถึงโปรแกรมกิจกรรมทางกาย การศึกษา พฤติกรรมและการจัดการอาการ วิธีการดูแลรักษาเหล่านี้มีจุดประสงค์ที่แตกต่างกันและใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนเพียงข้อเดียว คุณภาพระเบียบวิธีวิจัยของการศึกษาที่นำเข้าอยู่ในระดับต่ำและมีความแตกต่างกันในการศึกษา
คุณภาพของหลักฐาน
หลักฐานจากการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมที่นำเข้าในการทบทวนวรรณกรรมที่สนับสนุนประโยชน์ของการฟื้นฟูสมรรถภาพทางไกลในการลดความพิการระยะสั้นและการจัดการอาการ เช่น ความเหนื่อยล้าในผู้ใหญ่ที่มีโรคเอ็มเอส นั้นมีคุณภาพต่ำ เราพบหลักฐานจำกัดที่สนับสนุนประโยชน์ของวิธีการดูแลรักษาด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพทางไกลในการปรับปรุงความพิการ ลดอาการ และปรับปรุงคุณภาพชีวิตในระยะยาว นอกจากนี้ วิธีการดูแลรักษาและผลลัพธ์ที่ถูกประเมินในการศึกษาที่นำเข้ามาในการทบทวนวรรณกรรมมีความแตกต่างกัน ไม่มีการศึกษารายงานอันตรายร้ายแรงใด ๆ จากการฟื้นฟูสมรรถภาพทางไกลและไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง
มีความจำเป็นสำหรับการทำวิจัยเพิ่มเติมเพื่อประเมินผลทางเทคนิคที่หลากหลายของการฟื้นฟูสมรรถภาพทางไกล และเพื่อสร้างประสิทธิผลทางคลินิกและต้นทุนของวิธีการฟื้นฟูสมรรถภาพทางไกลเหล่านี้ในผู้ที่เป็นโรคเอ็มเอส หลักฐานในการทบทวนวรรณกรรมนี้เป็นข้อมูลล่าสุดถึงเดือนกรกฎาคม 2014
หลักฐานในปัจจุบันยังมีจำกัดเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการฟื้นฟูสมรรถภาพทางไกลในการปรับปรุงกิจกรรมการเคลื่อนไหว ความเหนื่อยล้า และคุณภาพชีวิตในผู้ใหญ่ที่มีโรคเอ็มเอส การดูแลรักษาด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพทางไกลหลายรูปแบบอาจเป็นวิธีทางเลือกในการให้บริการในกลุ่มประชากรโรคเอ็มเอส มีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนว่าการดูแลรักษาด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพทางไกลประเภทใดที่มีประสิทธิผลตามที่กำหนด การทดลองที่มีประสิทธิภาพมีความจำเป็นในการสร้างหลักฐานสำหรับด้านคลินิกและความคุ้มทุนของการดูแลรักษาด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพทางไกล
การฟื้นฟูสมรรถภาพทางไกลเป็นวิธีการอุบัติใหม่ที่ขยายการดูแลฟื้นฟูนอกเหนือโรงพยาบาล อำนวยความสะดวกในหลายๆ แง่มุม และเป็นวิธีการทางจิตบำบัดในการจัดการที่ทันสมัยของผู้ป่วยที่ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารที่บ้านหรือในชุมชน ถึงแม้วิธีการดูแลรักษาด้วยวิธีการฟื้นฟูสมรรถภาพทางไกลหลากหลายวิธีถูกนำไปทดลองในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง อย่างไรก็ตามหลักฐานที่แสดงถึงประสิทธิผลของนักวิจัยนั้นยังไม่ชัดเจน
เพื่อประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยของการดูแลรักษาด้วยวิธีการฟื้นฟูสมรรถภาพทางไกลในผู้ที่เป็นโรคเอ็มเอสในการปรับปรุงผลลัพธ์ของผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทบทวนวรรณครั้งนี้กำหนดคำถาม ดังต่อไปนี้: การฟื้นฟูสมรรถภาพทางไกลทำให้บรรลุผลลัพธ์ได้ดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการดูแลรักษาแบบตัวต่อตัว วิธีการดูแลรักษาด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพทางไกลประเภทใดที่มีประสิทธิผลตามที่กำหนดและมีอิทธิพลต่อผลลัพธ์ที่เฉพาะเจาะจง (การสูญเสียสมรรถภาพ ข้อจำกัดในการดำเนินกิจกรรม และการมีส่วนร่วม)
เราดำเนินการสืบค้นวรรณกรรมโดยใช้ Cochrane Multiple Sclerosis and Rare Diseases of the Central Nervous System Review Group Specialised Register (9 กรกฎาคม 2014) เราสืบค้นด้วยมือในวารสารที่เกี่ยวข้องและคัดเลือกรายการอ้างอิงของการศึกษาที่พบ และติดต่อผู้วิจัยเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม
การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) และการทดลองทางคลินิกที่มีกลุ่มควบคุม (CCTs) ที่รายงานวิธีการดูแลรักษาด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพทางไกลในผู้ป่วยโรคเอ็มเอส และเปรียบเทียบการดูแลรักษาด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพทางไกลกับวิธีการดูแลรักษาบางรูปแบบในกลุ่มควบคุม (เช่น วิธีการดูแลรักษาในระดับที่ต่ำกว่าหรือแตกต่างกัน ให้การดูแลรักษาน้อยที่สุด หรือไม่ได้รับวิธีการดูแลรักษา (หรือการดูแลตามปกติ) วิธีการดูแลรักษาที่ได้รับในลักษณะที่แตกต่างกัน) ในผู้ใหญ่ที่เป็นโรคเอ็มเอส
นักวิจัยการวิจัยเชิงสังเคราะห์สองคนคัดเลือกและสกัดข้อมูลการศึกษาอย่างเป็นอิสระต่อกัน นักวิจัยการวิจัยเชิงสังเคราะห์สามคนประเมินคุณภาพระเบียบวิธีวิจัยของการศึกษาโดยใช้ซอฟต์แวร์ GRADEpro 2008 ( GRADEpro 2008 ) เพื่อการสังเคราะห์หลักฐานที่ดีที่สุด การวิเคราะห์อภิมานไม่สามารถทำได้เนื่องจากความแตกต่างของระเบียบวิธีวิจัย คลินิก และสถิติ ระหว่างการทดลองและเครื่องมือการวัดที่ใช้ในการศึกษาที่นำเข้ามาในการทบทวนวรรณกรรม ดังนั้น เราจึงทำการสังเคราะห์หลักฐานที่ดีที่สุดโดยใช้การวิเคราะห์เชิงคุณภาพ
การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมจำนวน 9 การศึกษา มีหนึ่งการทดลองที่มีสองรายงาน (N = 531 คน, 469 คนรวมอยู่ในการวิเคราะห์) ประเมินความหลากหลายของวิธีการดูแลรักษาด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพทางไกลในผู้ใหญ่ที่มีโรคเอ็มเอส อายุเฉลี่ยของผู้เข้าร่วมโครงการวิจัยมีตั้งแตอายุ 41 ถึง 52 ปี (เฉลี่ย 46.5 ปี) และปีเฉลี่ยตั้งแต่การวินิจฉัย 7.7 ถึง 19.0 ปี (เฉลี่ย 12.3 ปี) ผู้เข้าร่วมโครงการวิจัยส่วนใหญ่เป็นสตรี (สัดส่วนตั้งแต่ 56% ถึง 87%, ค่าเฉลี่ย 74%) และมีอาการของโรคเอ็มเอสชนิดเป็นๆ หายๆ (relapsing-remitting MS) วิธีการดูแลรักษาเหล่านี้มีความซับซ้อน ซึ่งการฟื้นฟูสมรรถภาพมีมากกว่า 1 องค์ประกอบ รวมไปถึงโปรแกรมกิจกรรมทางกาย การศึกษา พฤติกรรมและการจัดการอาการ
การศึกษาทั้งหมดมีคะแนนต่ำในการประเมินคุณภาพระเบียบวิธีวิจัย โดยภาพรวม การทบทวนวรรณกรรมพบหลักฐาน 'ระดับต่ำ' สำหรับวิธีการดูแลรักษาด้วยวิธีการฟื้นฟูสมรรถภาพทางไกลในการลดความพิการในระยะสั้นและอาการต่าง ๆ เช่น ความเหนื่อยล้า นอกจากนี้ ยังมีหลักฐาน 'ระดับต่ำ' ที่สนับสนุนการฟื้นฟูสมรรถภาพในระยะยาวกว่า สำหรับการปรับปรุงกิจกรรมการเคลื่อนไหว การสูญเสียสมรรถภาพ (เช่น ความเหนื่อยล้า ความเจ็บปวด นอนไม่หลับ); และการมีส่วนร่วม ถูกวัดจากคุณภาพชีวิตและผลลัพธ์ทางจิตวิทยา มีข้อมูลที่จำกัดเกี่ยวกับการประเมินกระบวนการ (ความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมโครงการ/นักบำบัด) และไม่มีข้อมูลสำหรับความคุ้มค่า ไม่มีรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์อันเป็นผลมาจากการดูแลรักษาด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพทางไกล
แปลโดย นายอนุวัตน์ เพ็งพุฒ นักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์ วันที่ 4 กรกฎาคม 2020