คำถามของการทบทวนวรรณกรรม
เราตรวจสอบหลักฐานเกี่ยวกับผลของการมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลา (โดยใช้การทำนายการตกไข่) กับการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ทำนายการตกไข่ในคู่รักที่พยายามตั้งครรภ์
ความเป็นมา
คู่รักหลายคู่พบว่าการตั้งครรภ์เป็นเรื่องยากและมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเจริญพันธุ์ ในแต่ละรอบ ผู้หญิงจะมีภาวะเจริญพันธุ์ตั้งแต่ประมาณห้าวันก่อนการตกไข่ (ไข่ถูกปล่อยออกมา) จนถึงหลายชั่วโมงหลังการตกไข่ เนื่องจากอสุจิและไข่มีเวลาในการรอดชีวิตที่จำกัด การระบุช่วงเวลาของรอบประจำเดือนของผู้หญิงเพื่อเป็นแนวทางในการมีเพศสัมพันธ์จึงอาจช่วยเพิ่มอัตราการปฏิสนธิ (การตั้งครรภ์) ได้ ซึ่งอาจช่วยลดการรักษาทางการแพทย์ที่ไม่จำเป็นและต้นทุนของการรักษาภาวะมีบุตรยากขั้นสูง แต่ก็อาจทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ เช่น ความเครียด ได้เช่นกัน ช่วงเวลาเจริญพันธุ์สามารถระบุได้โดยใช้วิธีการต่างๆ รวมถึงการทดสอบการตกไข่จากปัสสาวะ (อุปกรณ์วัดระดับฮอร์โมนที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ปล่อยออกสู่ปัสสาวะ ซึ่งบ่งบอกว่าเมื่อใดจะมีการตกไข่) วิธีการรับรู้ภาวะเจริญพันธุ์ (FABM) (รวมถึงการติดตามปฏิทิน การติดตามการเปลี่ยนแปลงของของเหลวในปากมดลูกและอุณหภูมิของร่างกาย) หรือระบุว่าไข่ตกเมื่อใดด้วยอัลตราซาวนด์ การทบทวนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินประโยชน์และความเสี่ยงของการมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลาต่อการตั้งครรภ์ การคลอดบุตรมีชีพ ผลกระทบด้านลบ และคุณภาพชีวิตในคู่รักที่พยายามตั้งครรภ์
ลักษณะของการศึกษา
เราพบการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม 7 ฉบับ (ประเภทของการศึกษาที่ผู้เข้าร่วมได้รับการสุ่มให้เป็นหนึ่งในสองกลุ่มหรือมากกว่า) เปรียบเทียบการมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลากับการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการทำนายการตกไข่ในสตรีหรือคู่รักจำนวน 2464 คนที่พยายามตั้งครรภ์ หลักฐานเป็นปัจจุบันจนถึงมกราคม 2023
ผลการศึกษาที่สำคัญ
เราได้เพิ่มการศึกษาใหม่สามรายการในการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมครั้งนี้ การศึกษาที่รวบรวมไว้ใหม่ได้เสริมสร้างความมั่นใจของเราในผลของการทดสอบการตกไข่ต่อคู่รักที่พยายามตั้งครรภ์
เราสรุปได้ว่าการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงเวลาเจริญพันธุ์ที่ระบุโดยใช้การทดสอบการตกไข่ของปัสสาวะอาจเพิ่มโอกาสของการตั้งครรภ์และการคลอดบุตรมีฃีพในสตรีอายุต่ำกว่า 40 ปี ที่พยายามตั้งครรภ์เป็นเวลาต่ำกว่า 12 เดือน เมื่อเทียบกับการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่คาดการณ์การตกไข่ ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า หากโอกาสของการตั้งครรภ์หลังมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้การทดสอบการตกไข่คือ 18% โอกาสหลังมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลาพร้อมการตรวจการตกไข่จากปัสสาวะจะเป็น 20% ถึง 28% สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าหากโอกาสในการเกิดมีชีพโดยไม่มีการทำนายการตกไข่คือ 16% โอกาสในการเกิดมีชีพโดยมีการทำนายการตกไข่จากปัสสาวะ คือ 16% ถึง 28% อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการศึกษาจำนวนมากได้รับทุนจากผู้ผลิตชุดทดสอบการตกไข่ในปัสสาวะ จึงควรแปลความผลลัพธ์ด้วยความระมัดระวัง มีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะสรุปผลของการมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลาต่อการตั้งครรภ์ทางคลินิก (การตั้งครรภ์ที่ยืนยันด้วยอัลตราซาวนด์) เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ เช่น ความเครียด และคุณภาพชีวิต เนื่องจากข้อมูลที่จำกัด เราไม่แน่ใจถึงผลกระทบของ FABM ในการมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลาต่อผลลัพธ์การตั้งครรภ์ ผลข้างเคียง และคุณภาพชีวิตเมื่อเปรียบเทียบกับการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการทำนายการตกไข่
คุณภาพของหลักฐาน
คุณภาพโดยรวมของหลักฐานอยู่ในระดับปานกลางถึงต่ำมาก จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในด้านนี้ ข้อจำกัดหลักของหลักฐานคือ การศึกษาที่รวบรวมไว้มีจำนวนน้อย ขนาดการศึกษามีขนาดเล็ก และโอกาสที่จะเกิดอคติ เนื่องจากการศึกษาจำนวนมากได้รับทุนจากผู้ผลิตอุปกรณ์ตรวจทำนายการตกไข่ ด้วยเหตุนี้ การค้นพบนี้ควรได้รับการตีความอย่างระมัดระวัง และการศึกษาในอนาคตอาจเปลี่ยนแปลงข้อสรุปของเรา
หลักฐานใหม่ที่นำเสนอในการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมนี้แสดงให้เห็นว่าการมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลาโดยใช้การทดสอบการตกไข่ในปัสสาวะอาจช่วยเพิ่มอัตราการเกิดมีชีพและการตั้งครรภ์ (การตั้งครรภ์ทางคลินิกหรือการตรวจปัสสาวะให้ผลบวก แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันด้วยอัลตราซาวนด์) ในสตรีอายุต่ำกว่า 40 ปี ที่พยายามตั้งครรภ์มาน้อยกว่า 12 เดือน เมื่อเทียบกับการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการทำนายการตกไข่ อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะระบุผลของการทดสอบการตกไข่ในปัสสาวะต่อเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ การตั้งครรภ์ทางคลินิก ระยะเวลาในการตั้งครรภ์ และคุณภาพชีวิต ในทำนองเดียวกัน เนื่องจากข้อมูลที่จำกัด เราจึงไม่แน่ใจถึงผลกระทบของ FABM ต่อผลลัพธ์การตั้งครรภ์ ผลข้างเคียง และคุณภาพชีวิต
ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจความปลอดภัยและประสิทธิผลของการมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลาสำหรับคู่รักที่พยายามตั้งครรภ์ การวิจัยนี้ควรรวมการศึกษาที่รายงานผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องทางคลินิก เช่น การเกิดมีชีพและผลข้างเคียงในคู่สมรสที่มีบุตรได้และมีบุตรยาก และใช้วิธีการต่างๆ เพื่อตรวจหาการตกไข่ มีเพียงความเข้าใจที่ครอบคลุมถึงความเสี่ยงและประโยชน์ของการมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลาเท่านั้นจึงจะสามารถให้คำแนะนำแก่คู่รักทุกคู่ที่พยายามตั้งครรภ์ได้
ปัจจัยหลายประการมีอิทธิพลต่อภาวะเจริญพันธุ์ ปัจจัยหนึ่งคือช่วงเวลาของการมีเพศสัมพันธ์ "ช่วงเจริญพันธุ์" อธิบายถึงระยะของวงจรที่การปฏิสนธิสามารถเกิดขึ้นได้ และเกิดขึ้นประมาณ 5 วันก่อนถึงหลายชั่วโมงหลังการตกไข่ 'การมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลา' คือแนวทางปฏิบัติเพื่อระบุการตกไข่ในอนาคต และช่วงเจริญพันธ์ เพื่อเพิ่มโอกาสที่จะตั้งครรภ์ วิธีการทำนายการตกไข่ ได้แก่ การวัดฮอร์โมนในปัสสาวะ (luteinising hormone (LH) และฮอร์โมนเอสโตรเจน) วิธีการคำนึงถึงภาวะเจริญพันธุ์ (fertility awareness-based methods; FABM) (รวมถึงการติดตามอุณหภูมิร่างกายเบื้องต้น การตรวจติดตามมูกปากมดลูก แผนภูมิปฏิทิน/แอปติดตาม) และอัลตราซาวนด์ อย่างไรก็ตาม มีแง่ลบที่อาจเกี่ยวข้องกับการทำนายการตกไข่ ได้แก่ ความเครียด การใช้เวลา และผลกระทบด้านต้นทุนในการซื้อชุดอุปกรณ์ตกไข่และการสมัครสมาชิกแอป การทบทวนนี้พิจารณาหลักฐานจากการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (randomised controlled trials; RCTs) ที่ประเมินการใช้การมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลา (โดยใช้การทำนายการตกไข่) กับผลลัพธ์การตั้งครรภ์
เพื่อประเมินประโยชน์และความเสี่ยงของวิธีการทำนายการตกไข่เพื่อกำหนดเวลาการมีเพศสัมพันธ์ในคู่สมรสที่พยายามตั้งครรภ์
เราสืบค้นใน Cochrane Gynaecology and Fertility (CGF) Group Specialized Register, CENTRAL, MEDLINE และ Embase ในเดือนมกราคม 2023 นอกจากนี้เรายังตรวจสอบรายการอ้างอิงของการศึกษาที่เกี่ยวข้องและค้นหาทะเบียนการทดลองสำหรับการทดลองเพิ่มเติม
เรารวบรวม RCTs ที่เปรียบเทียบวิธีการมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลาโดยใช้การทำนายการตกไข่กับการทำนายการตกไข่ในรูปแบบอื่น หรือการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ทำนายการตกไข่ในคู่รักที่พยายามตั้งครรภ์
เราใช้ขั้นตอนระเบียบวิธีมาตรฐานที่แนะนำโดย Cochrane ในการเลือกและวิเคราะห์การศึกษาในการทบทวนนี้ ผลลัพธ์การทบทวนหลักคือการเกิดมีชีพและเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ (เช่น ภาวะซึมเศร้าและความเครียด) ผลลัพธ์รอง ได้แก่ การตั้งครรภ์ทางคลินิก การตั้งครรภ์ (อาการทางคลินิกหรือการทดสอบการตั้งครรภ์ในปัสสาวะให้ผลบวกบวกที่ยังไม่ได้รับการยืนยันโดยอัลตราซาวนด์) ระยะเวลาจนถึงการตั้งครรภ์ และคุณภาพชีวิต เราประเมินคุณภาพโดยรวมของหลักฐานสำหรับการเปรียบเทียบที่สำคัญโดยวิธี GRADE
การปรับปรุงการทบทวนนี้รวบรวม RCTs 7 ฉบับที่ศึกษาในผู้หญิงหรือคู่รัก 2464 คน การศึกษา 4 ใน 5 ฉบับจากการทบทวนครั้งก่อนถูกรวมไว้ในการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมนี้ และมีการศึกษาใหม่ 3 ฉบับ เพิ่มเข้ามา เราประเมินคุณภาพของหลักฐานในระดับปานกลางถึงต่ำมาก ข้อจำกัดหลักคือความไม่แม่นยำ, indirectness และความเสี่ยงของการมีอคติ
การทดสอบการตกไข่ในปัสสาวะเทียบกับการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการทำนายการตกไข่
เมื่อเปรียบเทียบกับการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ทำนายการตกไข่ การตรวจการตกไข่ในปัสสาวะอาจเพิ่มโอกาสในการเกิดมีชีวิตในคู่รักที่พยายามตั้งครรภ์ (อัตราส่วนความเสี่ยง (RR) 1.36, 95% ช่วงความเชื่อมั่น (CI) 1.02 ถึง 1.81, RCT 1 ฉบับ, n = 844, หลักฐานคุณภาพปานกลาง) สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าหากโอกาสในการเกิดมีชีพโดยไม่มีการทำนายการตกไข่ด้วยการตรวจปัสสาวะคือ 16% โอกาสในการเกิดมีชีพโดยมีการทำนายการตกไข่คือ 16% ถึง 28% อย่างไรก็ตาม เราไม่แน่ใจว่าการมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลาโดยใช้การตรวจจับการตกไข่ในปัสสาวะส่งผลให้เกิดความแตกต่างในความเครียดหรือไม่ (mean Difference (MD) 1.98, 95% CI −0.87 ถึง 4.83, I² = 0%, P = 0.17, RCT 1 ฉบับ, n = 77, หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) หรือการตั้งครรภ์ทางคลินิก (RR 1.09, 95% CI 0.51 ถึง 2.31, I² = 0%, RCT 1 ฉบับ, n = 148, หลักฐานคุณภาพต่ำ) เช่นเดียวกับผลการเกิดมีชีพ การมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลาโดยใช้การตรวจการตกไข่ด้วยปัสสาวะอาจเพิ่มโอกาสของการตั้งครรภ์ทางคลินิกหรือการทดสอบการตั้งครรภ์ในปัสสาวะแล้วให้ผลบวก (RR 1.28, 95% CI 1.09 ถึง 1.50, I² = 0, RCTs 4 ฉบับ, n = 2202, หลักฐานคุณภาพปานกลาง) สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าหากสมมติว่าโอกาสของการตั้งครรภ์ทางคลินิกหรือการทดสอบการตั้งครรภ์ในปัสสาวะเป็นบวกโดยไม่มีการทำนายการตกไข่คือ 18% โอกาสภายหลังการมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลาพร้อมการตรวจการตกไข่จะเป็น 20% ถึง 28% หลักฐานไม่เพียงพอที่จะระบุผลของการทดสอบการตกไข่ของปัสสาวะต่อเวลาการตั้งครรภ์หรือคุณภาพชีวิต
วิธีการตระหนักถึงภาวะเจริญพันธุ์ (fertility awareness-based methods; FABM) เทียบกับการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ทำนายการตกไข่
เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ เราไม่แน่ใจว่าการมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลาโดยใช้ FABM ส่งผลให้เกิดความแตกต่างในอัตราการเกิดมีชีพเมื่อเปรียบเทียบกับการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการคาดการณ์การตกไข่ (RR 0.95, 95% CI 0.76 ถึง 1.20, I² = 0%, RCTs 2 ฉบับ, n = 157, หลักฐานคุณภาพต่ำ) นอกจากนี้เรายังไม่แน่ใจว่า FABM ส่งผลต่อความเครียดหรือไม่ (MD −1.10, 95% CI −3.88 ถึง 1.68, 1 RCT, n = 183, หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) ในทำนองเดียวกัน เราไม่แน่ใจถึงผลของการมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลาโดยใช้ FABM ต่อความวิตกกังวล (MD 0.5, 95% CI −0.52 ถึง 1.52, P = 0.33, 1 RCT, n = 183, หลักฐานคุณภาพต่ำมาก); ภาวะซึมเศร้า (MD 0.4, 95% CI −0.28 ถึง 1.08, P = 0.25, RCT 1 ฉบับ, n = 183, หลักฐานคุณภาพต่ำมาก); หรือการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (MD 1.2, 95% CI −0.38 ถึง 2.78, P = 0.14, RCT 1 ฉบับ, n = 183, หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) หลักฐานไม่เพียงพอที่จะตรวจสอบประโยชน์ของการมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลาโดยใช้ FABM ในการตั้งครรภ์ทางคลินิก (RR 1.13, 95% CI 0.31 ถึง 4.07, RCT 1 ฉบับ, n = 17, หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) การตั้งครรภ์ทางคลินิกหรืออัตราการทดสอบการตั้งครรภ์ทางคลินิกได้ผลบวก (RR 1.08, 95% CI 0.89 ถึง 1.30, RCTs 3 ฉบับ, n = 262, หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) สุดท้ายนี้ เราไม่แน่ใจว่าการมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลาโดยใช้ FABM ส่งผลต่อระยะเวลาในการตั้งครรภ์หรือไม่ (อัตราส่วนอันตราย 0.86, 95% CI 0.53 ถึง 1.38, RCT 1 ฉบับ, n = 140, หลักฐานคุณภาพต่ำ) หรือคุณภาพชีวิต
ไม่มีการศึกษาใดที่ประเมินการใช้การมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลาด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ในอุ้งเชิงกราน
แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี Edit โดย พ.ญ. ผกากรอง ลุมพิกานนท์ 25 ตุลาคม 2024