คำถามของการทบทวน
อะไรคือหลักฐานการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมสำหรับการให้ความรู้ด้านสุขภาพผ่านทาง mHealth ต่อความรู้เกี่ยวกับหัวใจล้มเหลว (HF) การดูแลตนเองและการรับรู้ความสรรถนะของตนเองสำหรับผู้ที่มี HF เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการให้ความรู้แบบเดิม
ความเป็นมา
การให้ความรู้มีความสำคัญต่อการดูแลตนเอง (กิจกรรมที่บุคคลกระทำอย่างจงใจที่จะปรับปรุงภาวะสุขภาพ ป้องกันโรค จำกัดการเจ็บป่วย และฟื้นฟูสุขภาพ) ใน HF การให้ความรู้แบบดั้งเดิมสำหรับผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวเป็นการให้ความรู้แบบเผชิญหน้าโดยใช้สื่อแบบกระดาษหรือ video/DVD ในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนาอย่างรวดเร็วและมีการใช้ smart phone และ tablet แพร่หลาย mHealth เทคโนโลยีเป็นวิธีใหม่ในการให้ความรู้ด้านสุขภาพ ซึ่งมีประโยชน์ต่อผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงหรือไม่ต้องการใช้โปรแกรมการให้ความรู้หรือบริการเกี่ยวกับ HFแบบดั้งเดิม
ช่วงเวลาที่สืบค้น
เราพบการศึกษาที่ทำการสืบค้นในเดือนตุลาคม 2019
ลักษณะของการศึกษา
ในการทบทวนครั้งนี้เรารวบรวมการศึกษาแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมเกี่ยวกับการให้ความรู้ด้านสุขภาพแบบ mHealth สำหรับผู้ป่วย HF ไว้ 5 เรื่อง (ผู้เข้าร่วมการศึกษา 971 คน) อายุเฉลี่ยของผู้เข้าร่วมการศึกษาอยู่ระหว่าง 60 ถึง 75 ปีและ 63% ของผู้เข้าร่วมการศึกษาเป็นผู้ชาย เป็นการศึกษาจากประเทศออสเตรเลีย จีน อิหร่าน สวีเดน และเนเธอร์แลนด์
ผลลัพธ์ที่สำคัญ
การศึกษาทั้ง 5 เรื่อง กล่าวถึงความรู้เกี่ยวกับ HF; เราพบว่าไม่มีหลักฐานที่แสดงถึงความแตกต่างของความรู้เกี่ยวกับ HF ระหว่างการให้ความรู้ด้านสุขภาพแบบ mHealth เมื่อเทียบกับการให้ความรู้แบบปกติ การศึกษา 1 เรื่องที่ประเมินการรับรู้สมรรถนะของตนเองได้รายงานหลักฐานที่ขาดความชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบระหว่างการให้ความรู้ทางสุขภาพแบบ mHealth กับการให้ความรู้แบบปกติ การศึกษา 3 เรื่องที่ประเมินการดูแลตนเองเกี่ยวกับ HF ใช้เครื่องมือประเมินที่แตกต่างกัน เราไม่ได้รวบรวมการศึกษาเข้าด้วยกันเนื่องจากความแตกต่างของวิธีการวัดผลลัพธ์และหลักฐานที่ขาดความชัดเจน การศึกษาไม่ได้รายงานผลข้างเคียงใด ๆ ของการให้ความรู้แบบ mHealth การศึกษา 4 เรื่องประเมินคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพ และแสดงถึงหลักฐานที่ขาดความชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบระหว่างการให้ความรู้ด้านสุขภาพแบบ mHealth กับการให้ความรู้แบบปกติ การศึกษา 3 เรื่องรายงานเกี่ยวกับอัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับ HF การให้ความรู้ทางสุขภาพแบบ mHealth อาจส่งผลให้เกิดความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่เกิดเลยต่ออัตราการรักษาในโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับ HF
คุณภาพของหลักฐาน
เราให้คะแนนคุณภาพของหลักฐานต่ำมากถึงต่ำเนื่องจากข้อจำกัดในการออกแบบและการดำเนินการศึกษาและการมีผู้เข้าร่วมการศึกษาที่นำมาวิเคราะห์น้อยกว่า 500 คน
บทสรุป
ไม่มีหลักฐานแสดงถึงความแตกต่างของการให้ความรู้ด้านสุขภาพแบบ mHealth สำหรับผู้ที่มี HF ต่อความรู้เกี่ยวกับ HF หลักฐานขาดความชัดเจนสำหรับการรับรู้สมรรถนะของตนเอง การดูแลตนเอง และคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพ อาจมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในด้านอัตราการรักษาในโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับ HF เมื่อเทียบกับการให้ความรู้ตามปกติ 'การดูแลตามปกติ' ในกรณีนี้หมายถึงการลงทะเบียนในโปรแกรมการจัดการภาวะหัวใจล้มเหลว (แบบทำที่คลินิกหรือที่บ้าน) ดังนั้น การวิจัยเกี่ยวกับ HFในด้านนี้ ยังต้องมีการศึกษาต่อไปทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเพื่อให้มีหลักฐานเพิ่มเติม
เราพบว่า ไม่มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าการให้ความรู้ด้านสุขภาพแบบ mHealth สำหรับผู้ป่วย HF ทำให้เกิดความแตกต่างของความรู้เกี่ยวกับ HF; หลักฐานที่ปรากฏไม่ชัดเจนสำหรับผลด้าน การรับรู้สมรรถนะของตนเอง การดูแลตนเอง และคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพ; และอาจส่งผลให้เกิดความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่แตกต่างเลยต่ออัตราการเข้ารักษาในโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับ HF จากการศึกษาที่นำมาทบทวนแสดงให้เห็นว่าการศึกษาด้านนี้ยังคงดำเนินการอยู่และยังอยู่ระหว่างการรวบรวมองค์ความรู้จากการวิจัย ที่หลักฐานจะปรากฏเพิ่มเติมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
โรคหัวใจล้มเหลว (HF) เป็นโรคเรื้อรังที่มีผลกระทบอย่างมากต่อคุณภาพชีวิตและทำให้เกิดความท้าทายหลายประการต่อผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัย ทั้งนี้เนื่องจากความต้องการดูแลตนเองที่ค่อนข้างซับซ้อนในแต่ละวัน ได้แก่ ยา การเฝ้าระวังน้ำหนักและอาการ การระบุสัญญาณของการเสื่อมถอยของโรค และการมาตรวจติดตามการรักษาและการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคลากรสุขภาพที่หลากหลาย การให้ความรู้มีความสำคัญต่อความตระหนักถึงประโยชน์ของแนวทางการรักษาและการยึดมั่นปฏิบัติตาม การให้ความรู้แบบดั้งเดิมสำหรับผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้ในชุมชนหรือในโรงพยาบาล ใช้วิธีการให้ความรู้แบบเผชิญหน้าโดยใช้สื่อแบบกระดาษหรือ video/DVD ในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนาอย่างรวดเร็วและมีการใช้ smart phone และ tablet แพร่หลาย เทคโนโลย mHealth (นิยามโดยองค์การอนามัยโลกว่าเป็นเทคโนโลยีแบบเคลื่อนที่ได้และไร้สายเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ด้านสุขภาพ) เป็นนวัตกรรมใหม่ในการให้ความรู้ด้านสุขภาพ ซึ่งมีประโยชน์ต่อผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงหรือไม่ต้องการใช้โปรแกรมการให้ความรู้หรือบริการเกี่ยวกับ HF แบบดั้งเดิม
เพื่อทำการทบทวนอย่างเป็นระบบและประเมินผลเชิงปริมาณด้านความเป็นไปได้ที่จะได้รับประโยชน์และโทษจากการให้ความรู้ด้านสุขภาพแบบ mHealth แก่ผู้ป่วย HF
เราทำการสืบค้นฐานข้อมูลและทะเบียนบรรณานุกรมที่หลากหลาย (CENTRAL, MEDLINE, Embase, CINAHL, PsycINFO, IEEE Xplore, ClinicalTrials.gov และ WHO International Clinical Trials Registry Platform (ICTRP) Search Portal) โดยใช้คำที่ระบุถึง HF, การให้ความรู้ และ mHealth เราสืบค้นทุกฐานข้อมูลตั้งแต่ระยะเวลาเริ่มต้นฐานข้อมูจนถึง ตุลาคม 2019 โดยไม่จำกัดภาษาที่ตีพิมพ์
เราคัดการศึกษาเข้าในกรณีที่เป็นการศึกษาเชิงทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (RCT) ศึกษาในกลุ่มตัวอย่างผู้ใหญ่ (≥ 18 ปี) ที่ได้รับการวินิจฉัย HF การศึกษาที่เราคัดเลือกเข้าเป็นการศึกษาที่เปรียบเทียบการให้ความรูด้านสุขภาพแบบ mHealth เช่น โปรแกรมบน internet และ web-based ที่ให้ความรู้ผ่านทาง smartphones และ tablet (รวมถึง application) และอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่อื่น ๆ ข้อความ SMS และโปรแกรมการให้ความรู้ผ่านทาง social media เปรียบเทียบกับการดูแล HF ตามปกติ
ผู้ทำการทบทวน 2 คน คัดเลือกการศึกษา ประเมินความเสี่ยงต่ออคติ และสกัดข้อมูลจากรายงานการศึกษาที่คัดเลือก อย่างเป็นอิสระต่อกัน เราคำนวณความแตกต่างของค่าเฉลี่ย (MD) หรือความแตกต่างของค่าเฉลี่ยมาตรฐาน (SMD) สำหรับข้อมูลต่อเนื่อง และคำนวณค่า odds ratio (OR) สำหรับข้อมูลแบบ dichotomous โดยกำหนดช่วงความเชื่อมั่นที่ 95% (CI) เราประเมินความแตกต่างกันโดยใช้สถิติ I2 และประเมินคุณภาพของหลักฐานโดยใช้เกณฑ์ของ GRADE
เราได้คัดเลือกการศึกษาเชิงทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (RCTs) จำนวน 5 เรื่อง (ผู้เข้าร่วมการศึกษา 971 คน) ที่ทำการศึกษาโดยให้ความรู้ด้านสุขภาพแบบ mHealth แก่ผู้ที่เป็น HF จำนวนของผู้เข้าร่วมการศึกษามีตั้งแต่ 28 ถึง 512 คน อายุเฉลี่ยของผู้เข้าร่วมการศึกษาอยู่ระหว่าง 60 ถึง 75 ปี และ 63% ของผู้เข้าร่วมการศึกษาทั้งหมดเป็นผู้ชาย เป็นการศึกษาในประเทศออสเตรเลีย จีน อิหร่าน สวีเดน และเนเธอร์แลนด์ การศึกษาส่วนใหญ่คัดเลือกผู้เข้าร่วมที่มีอาการของ HF, NYHA Class II - III
จากการศึกษา 3 เรื่องที่กล่าวถึงความรู้เกี่ยวกับ HF; พบว่าไม่มีหลักฐานที่แสดงถึงความแตกต่างของความรู้เกี่ยวกับ HF ระหว่างการให้ความรูด้านสุขภาพแบบ mHealth เมื่อเทียบกับการให้การดูแลตามปกติ (MD 0.10, 95% CI −0.2 to 0.40, P = 0.51, I2 = 0%; การศึกษาจำนวน 3 เรื่อง, ผู้เข้าร่วมการศึกษา 411 คน; คุณภาพหลักฐานระดับต่ำ) จากการศึกษา 1 เรื่องที่ประเมินการรับรู้สมรรถนะของตนเองรายงานว่าทั้งสองกลุ่มมีการรับรู้สมรรถนะของตนเองอยู่ในระดับสูงตั้งแต่แรก และมีความไม่ชัดเจนในหลักฐานของการให้ความรู้ (MD 0.60, 95% CI −0.57 ถึง 1.77; P = 0.31; 1 การศึกษา, ผู้เข้าร่วมการศึกษา 29 คน; คุณภาพหลักฐานระดับต่ำมาก) การศึกษา 3 เรื่องที่ประเมินการดูแลตนเองเกี่ยวกับ HF พบว่าใช้เครื่องมือประเมินที่แตกต่างกัน ดังนั้น เราจึงไม่ได้รวบรวมการศึกษาเข้าด้วยกันเนื่องจากลักษณะที่แตกต่างกันของการประเมินผลลัพธ์ และหลักฐานที่ปรากฏขาดความชัดเจน ไม่มีการศึกษาใดที่รายงานการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ มีการศึกษาจำนวน 4 เรื่องที่ประเมินคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพ หลักฐานที่ปรากฏไม่ชัดเจนเกี่ยวกับผลของการให้ความรู้ด้านสุขภาพแบบ mHealth ต่อHRQoL (MD −0.10, 95% CI −2.35 ถึง 2.15; P = 0.93, I 2 = 61%; การศึกษาจำนวน 4 เรื่อง, ผู้เข้าร่วมการศึกษา 942 คน; คุณภาพหลักฐานระดับต่ำมาก) จากการศึกษา 3 เรื่องที่รายงานเกี่ยวกับอัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับ HF พบว่า การให้ความรู้ด้านสุขภาพแบบ mHealth อาจส่งผลให้อัตราการรักษาในโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับ HF แตกต่างกันเพียงเล็กน้อยหรือไม่แตกต่างกันเลย (OR 0.74, 95% CI 0.52 ถึง 1.06; P = 0.10, I 2 = 0%; การศึกษาจำนวน 3 เรื่อง, ผู้เข้าร่วมการศึกษา 894 คน; คุณภาพหลักฐานระดับต่ำ) เราให้ระดับคุณภาพของหลักฐานต่ำมากถึงต่ำ เนื่องจากจุดอ่อนในการออกแบบและการดำเนินการศึกษา ความแตกต่างระหว่างการศึกษา ค่าช่วงความเชื่อมั่น (CIs) กว้าง และการมีผู้เข้าร่วมการศึกษาที่นำมาวิเคราะห์น้อยกว่า 500 คน
แปลโดย ผศ.ดร.วาสนา รวยสูงเนิน คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 26 ธันวาคม 2563