การถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI) สำหรับการวินิจฉัยไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม

เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของการถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI) ซึ่งเป็นเครื่องมือสร้างภาพทางการแพทย์ที่ใช้สำหรับการถ่ายภาพรายละเอียดภายในร่างกาย เพื่อตรวจหาไส้ติ่งอักเสบ

ทำไมการวินิจฉัยไส้ติ่งอักเสบจึงสำคัญ

ไส้ติ่งอักเสบเป็นภาวะทั่วไปที่มักรักษาด้วยการผ่าตัดฉุกเฉิน แต่การวินิจฉัยอาจทำได้ยาก ผู้ป่วยมากถึงหนึ่งในสี่อาจได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไส้ติ่งอักเสบอย่างไม่ถูกต้อง เครื่องมือเช่น MRI สามารถช่วยวินิจฉัยไส้ติ่งอักเสบได้อย่างรวดเร็วและแต่แรก

การทบทวนวรรณกรรมนี้ศึกษาอะไร

เราศึกษาความแม่นยำของ MRI สำหรับไส้ติ่งอักเสบในผู้ป่วยทุกราย

ผลลัพธ์หลักของการทบทวนวรรณกรรมนี้คืออะไร

เราวิเคราะห์ผลการศึกษา 58 ฉบับ กับผู้เข้าร่วม 7462 คน เพื่อคำนวณความถูกต้องของ MRI ผลของการศึกษาเหล่านี้บ่งชี้ว่าในทางทฤษฎี ถ้า MRI ถูกใช้ในผู้ป่วย 1000 รายที่สงสัยว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ โดยที่ผู้ป่วย 250 รายมีไส้ติ่งอักเสบจริง ๆ แล้ว:

• ผู้ป่วยประมาณ 250 รายจะมีผลการตรวจ MRI บ่งชี้ว่าไส้ติ่งอักเสบ โดย 12 รายจะไม่มีไส้ติ่งอักเสบจริง และ

• จากผู้ป่วย 750 รายที่มีผลบ่งชี้ว่าไม่มีไส้ติ่งอักเสบ 30 รายจะเป็นไส้ติ่งอักเสบ

MRI ยังคงแม่นยำมากเมื่อดูโดยเฉพาะที่ผู้ใหญ่ สตรีมีครรภ์ และเด็ก

ผลของการศึกษาในการทบทวนวรรณกรรมนี้มีความน่าเชื่อถือเป็นอย่างไร

มีปัญหาเกี่ยวกับวิธีการดำเนินการศึกษาส่วนใหญ่ที่อาจส่งผลให้ดูเหมือนว่า MRI มีความแม่นยำมากกว่าที่เป็นจริง

ผลการทบทวนวรรณกรรมนี้สามารถนำไปใช้กับใครได้

ผลลัพธ์นี้ใช้กับผู้ที่สงสัยว่าไส้ติ่งอักเสบ รวมทั้งผู้ใหญ่ สตรีมีครรภ์ และเด็ก การศึกษาส่วนใหญ่ดำเนินการในยุโรปและอเมริกาเหนือในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ ผู้ป่วยมักได้รับอัลตราซาวนด์โดยไม่มีผลที่ชัดเจน

อะไรคือข้อความสำคัญของการทบทวนวรรณกรรมนี้

จากการศึกษาที่รวมอยู่ในการทบทวนวรรณกรรมนี้ MRI ดูเหมือนจะเป็นการทดสอบไส้ติ่งอักเสบที่แม่นยำมาก โอกาสในการวินิจฉัยผู้ป่วยที่เป็นไส้ติ่งอักเสบผิดหรือพลาดการวินิจฉ้ยไส้ติ่งอักเสบมีน้อยกว่า 5% อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการศึกษาที่รวบรวมมาส่วนใหญ่มีปัญหา เราจึงไม่สามารถเชื่อถือผลลัพธ์ทั้งหมดได้ แม้ว่า MRI จะมีแนวโน้มที่ดี แต่จนกว่าจะมีการศึกษาที่ดีขึ้น เราไม่สามารถแนะนำให้ใช้ MRI ในการวินิจฉัยไส้ติ่งอักเสบได้อย่างแน่วแน่

ความเป็นปัจจุบันของการทบทวนวรรณกรรมนี้เป็นอย่างไร

เราค้นหาและใช้การศึกษาที่เผยแพร่จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2021

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

MRI ดูเหมือนจะมีความแม่นยำสูงในการยืนยันและแยกไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลันออกในผู้ใหญ่ เด็ก และสตรีมีครรภ์โดยไม่เกี่ยวข้องกับโปรโตคอล คุณภาพของระเบียบวิธีของการศึกษาที่รวบรวมมานั้นโดยทั่วไปต่ำ เนื่องจากมาตรฐานการติดตามที่ไม่สมบูรณ์และต่ำ ดังนั้นการประมาณการโดยสรุปของความไวและความจำเพาะอาจมีอคติ เราไม่สามารถประเมินผลกระทบและทิศทางของอคติที่อาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากการศึกษาคุณภาพสูงมีจำนวนน้อยมาก การศึกษาเปรียบเทียบโปรโตคอล MRI มีน้อย และแม้ว่าเราจะพบว่าไม่มีอิทธิพลของตัวแปรโปรโตคอล MRI ต่อการประมาณการสรุปความถูกต้องของความแม่นยำ แต่ผลลัพธ์ของเราไม่ได้แยกแยะว่าโปรโตคอล MRI บางตัวมีความแม่นยำมากกว่าวิธีอื่นๆ

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

ไส้ติ่งอักเสบยังคงเป็นโรคที่วินิจฉัยได้ยาก และมักใช้การเสริมด้วยการถ่ายภาพ การถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI) เป็นการตรวจด้วยภาพที่สามารถใช้วินิจฉัยไส้ติ่งอักเสบได้ โดยทั่วไปไม่ถือ MRI เป็นการตรวจด้วยภาพทางเลือกแรกสำหรับไส้ติ่งอักเสบ แต่รายงานความแม่นยำในการวินิจฉัยที่รายงานในบางการศึกษาเทียบเท่ากับการสแกนด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) เนื่องจากไม่ให้ผู้ป่วยได้รับรังสี จึงเป็นวิธีการถ่ายภาพที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสตรีและเด็ก

วัตถุประสงค์: 

วัตถุประสงค์หลักคือเพื่อประเมินความแม่นยำในการวินิจฉัยของ MRI สำหรับการตรวจหาไส้ติ่งอักเสบในผู้ป่วยทุกราย

วัตถุประสงค์รอง:

เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของ MRI ในกลุ่มย่อยของหญิงตั้งครรภ์ เด็ก และผู้ใหญ่

เพื่อตรวจสอบผลของตัวแปรที่อาจมีผลต่อการสแกนด้วย MRI เช่น ลำดับ ความหนาของสไลซ์ หรือขอบเขตการมองเห็น

วิธีการสืบค้น: 

เราสืบค้น Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL), MEDLINE และ Embase จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2021 เราค้นหาข้อมูลอ้างอิงของการศึกษาที่รวบรวมมาและการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบอื่นๆ เพื่อหาการศึกษาเพิ่มเติม เราไม่ได้ยกเว้นการศึกษาที่ไม่ได้ตีพิมพ์ ตีพิมพ์เป็นภาษาอื่น หรือศึกษาย้อนหลัง

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวมการศึกษาที่เปรียบเทียบผลลัพธ์ของการสแกนด้วย MRI สำหรับการสงสัยไส้ติ่งอักเสบกับมาตรฐานอ้างอิงของจุลพยาธิวิทยา การค้นพบระหว่างการผ่าตัด หรือการติดตามผลทางคลินิก สมาชิกในทีมการศึกษาสามคนกรองผลการค้นหาสำหรับการศึกษาที่เข้าเกณฑ์อย่างอิสระ

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราคัดลอกข้อมูลการศึกษาและประเมินคุณภาพการศึกษาโดยใช้เครื่องมือ Quality Assessment of Studies of Diagnostic Accuracy - Revised (QUADAS-2) อย่างอิสระต่อกัน เราใช้ bivariate random effect model เพื่อคำนวนประมาณการรวมของความไวและความจำเพาะ

ผลการวิจัย: 

เราพบการศึกษา 58 ฉบับ ที่มีข้อมูลที่เพียงพอสำหรับ meta-analysis รวมผู้เข้าร่วมทั้งหมด 7462 คน (1980 มี และ 5482 ไม่มีไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน) ค่าประมาณของความไวอยู่ระหว่าง 0.18 ถึง 1.0; ค่าประมาณความจำเพาะอยู่ในช่วง 0.4 ถึง 1.0 ความไวโดยสรุปคือ 0.95 (ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) 0.94 ถึง 0.97); ความจำเพาะสรุปคือ 0.96 (95% CI 0.95 ถึง 0.97) ความไวและความจำเพาะยังคงสูงในการวิเคราะห์กลุ่มย่อยสำหรับสตรีตั้งครรภ์ (ความไว 0.96 (95% CI 0.88 ถึง 0.99) ความจำเพาะ 0.97 (95% CI 0.95 ถึง 0.98) การศึกษา 21 ฉบับ สตรี 2282 ราย); เด็ก (ความไว 0.96 (95% CI 0.95 ถึง 0.97) ความจำเพาะ 0.96 (95% CI 0.92 ถึง 0.98) การศึกษา 17 ฉบับ ศึกษาในเด็ก 2794 คน); และผู้ใหญ่ (ความไว 0.96 (95% CI 0.93 ถึง 0.97) ความจำเพาะ 0.93 (95% CI 0.80 ถึง 0.98) การศึกษา 9 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 1088 คน) ตลอดจนเทคนิคการสแกนแบบต่างๆ ในกลุ่มประชากรสมมุติฐานที่มีผู้ป่วย 1000 ราย จะมีผลลัพธ์ที่เป็นบวกลวง 12 ราย และผลลบลวง 30 ราย คุณภาพของระเบียบวิธีของการศึกษาที่รวบรวมมานั้นไม่ดี และความเสี่ยงของอคติสูงหรือไม่ชัดเจนใน 53% ถึง 83% ของ QUADAS-2 domains

บันทึกการแปล: 

แปลโดย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 13 มกราคม 2022

Tools
Information