วัตถุประสงค์ของการทบทวนวรรณกรรมนี้คืออะไร
วัตถุประสงค์ของ Cochrane Review นี้เพื่อหาว่าประเภทของแสงที่เฉพาะเจาะจงสามารถเปลี่ยนระดับความตื่นตัวและสภาพอารมณ์ในผู้ปฏิบัติงานช่วงเวลากลางวันได้หรือไม่
เรารวบรวมและวิเคราะห์การศึกษา 5 เรื่องที่ตอบคำถามนี้
ใจความสำคัญ
แสงแบบขาวนวล เป็นที่รู้จักกันในทางทิคนิคว่าเป็นแสงที่มีอุณหภูมิของสีสูง อาจเพิ่มความตื่นตัว แต่ไม่เพิ่มสภาพอารมณ์ในผู้ปฏิบัติงานช่วงเวลากลางวัน แสงแบบขาวนวลอาจทำให้เกิดการระคายเคือง ไม่สบายตา และปวดศีรษะ การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของแสงโดยตรงและโดยอ้อมในพื้นที่ทำงานอาจไม่มีผลต่อความตื่นตัวหรือสภาพอารมณ์ แว่นตาที่ติดตั้ง LEDs (ซึ่งหมายถึง light emitting diode) ที่อุดมด้วยแสงสีฟ้า อาจเพิ่มความตื่นตัวและสภาวะอารมณ์ของคนทำงาน การสัมผัสแสงสว่างในช่วงบ่ายเพิ่มความตื่นตัวและสภาพอารมณ์ได้ดีเท่ากับการสัมผัสแสงสว่างในช่วงเช้า ในคนที่แสดงอาการที่ไม่รุนแรงพอสำหรับการวินิจฉัยภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาล ผลที่พบทั้งหมดอยู่บนหลักฐานที่มีคุณภาพต่ำ หรือ คุณภาพต่ำมาก ดังนั้นยังต้องศึกษาเพิ่มเติม
ในการทบทวนวรรณกรรมนี้สิ่งที่ศึกษาคืออะไร
แสงสว่างเป็นสิ่งสำคัญในการทำงานทางชีวภาพหลายอย่าง เช่นการควบคุมการนอนหลับ และอาจมีอิทธิพลต่อสภาวะอารมณ์ของบุคคลและระดับของความตื่นตัว คนทำงานในช่วงกลางวันที่ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในห้องอาจได้สัมผัสแสงสว่างในระดับต่ำในช่วงเวลากลางวัน ซึ่งอาจจะนำไปสู่การลดระดับของการตื่นตัวและความผิดปกติทางอารมณ์
เราวิเคราะห์ข้อมูลจากการศึกษาที่ตรวจสอบผลของแสงประเภทใดก็ตามต่อความตื่นตัวและอารมณ์ในคนทำงานช่วงกลางวันที่ทำงานในห้อง แสงประเภทต่างๆ รวมถึงแสงสีขาวนวลเปรียบเทียบกับแสงแบบ อบอุ่น ความเข้มของแสงระดับต่างๆ การใช้แสงเฉพาะบุคคล หรือการได้รับแสงแดด
ผลลัพธ์หลักของการทบทวนวรรณกรรมคืออะไร
เรานำเข้าการศึกษา 5 เรื่อง ผู้เข้าร่วม 282 คน ผู้เข้าร่วมเป็นพนักงานบริษัทและโรงพยาบาล การศึกษา 2 เรื่องวัดผลของแสงแบบขาวนวลและ การศึกษา 1 เรื่องมุ่งเน้นที่แหล่งกำเนิดแสงโดยตรง การศึกษา 2 เรื่อง วัดผลกระทบของแสงที่ใช้ส่วนบุคคลโดยใช้แว่นตาพิเศษ หรือกล่องแสง (กล่องเรียบที่มีด้านข้างเป็นแก้วโปร่งแสงหรือพลาสติกที่มีแสง)
แสงแบบขาวนวลอาจช่วยเรื่องความตื่นตัว แต่ไม่ช่วยเรื่องสภาพอารมณ์ และอาจทำให้ลดการหงุดหงิด อาการไม่สบายตาและการปวดศีรษะลง ผลการวิจัยเหล่านี้ขึ้นอยู่กับการศึกษา 2 เรื่องที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคอุสาหกรรม
การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของแสงโดยตรงและโดยอ้อมในพื้นที่ทำงานอาจไม่มีผลต่อความตื่นตัวหรือสภาพอารมณ์
แสงที่อุดมด้วยสีฟ้า แต่มีข้อกำหนดให้ใช้แว่นตาที่ติดตั้ง LEDs อาจช่วยเรื่องความตื่นตัวและสภาพอารมณ์
การสัมผัสแสงจ้าส่วนบุคลโดยใช้กล่องแสงในช่วงบ่ายอาจช่วยเรื่องความตื่นตัวและสภาพอารม์เช่นเดียวกับการสัมผัสแสงจ้าในช่วงเช้าในผู้ที่แสดงอาการไม่รุนแรงพอสำหรับการวินิฉัยภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาล
ผลการวิจัยทั้งหมดขึ้นอยู่กับหลักฐานที่มีคุณภาพต่ำหรือต่ำมาก (เนื่องจากมีจำนวนการศึกษาและผู้เข้าร่วมน้อยและปัญหาเรื่องวิธีการศึกษา) ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาเพิ่มเติม
เราไม่พบการศึกษาที่วัดผลกระทบของความเข้มแสง ความเข้มแสงร่วมกับสีของแสง หรือการสัมผัสแสงแดด
การทบทวนวรรณกรรมนี้ทันสมัยอย่างไร
เราสืบค้นการศึกษาที่ตีพิมพ์ถึงวันที่ 17 มกราคม 2018
มีหลักฐานที่มีคุณภาพต่ำมากตามการศึกษาแบบ CBA 2 เรื่อง ที่รายงานว่าแสงแบบ CCT สูงอาจเพิ่มความตื่นตัว แต่ไม่ช่วยในเรื่องสภาวะอารมณ์ในผู้ปฏิบัติงานในช่วงเวลากลางวัน มีหลักฐานที่มีคุณภาพต่ำมากจากการศึกษาแบบ CBA 1 เรื่อง ที่รายงานว่าแสงที่มี CCT สูงอาจทำให้เกิดอาการหงุดหงิด ความไม่สบายตาและอาการปวดศีรษะน้อยลงกว่าแสงสว่างตามมาตรฐาน มีหลักฐานที่มีคุณภาพต่ำมากจากการศึกษาแบบ RCT 1 เรื่อง รายงานว่าสัดส่วนของแสงแบบทางตรงและทางอ้อมต่างกันในพื้นที่ทำงานไม่ส่งผลต่อความตื่นตัวหรือสภาวะอารมณ์ หลักฐานมีคุณภาพต่ำมากจากการศึกษาแบบ RCT 1 เรื่อง ที่ใช้แสงที่อุดมด้วยสีฟ้าส่วนบุคคลเพิ่มทั้งความตื่นตัวและสภาวะอารมณ์ หลักฐานที่มีคุณภาพต่ำมากอ้างอิงจากการศึกษาแบบ RCT 1 เรื่อง ที่ให้แสงสว่างแต่ละคนในช่วงเวลากลางวันมีประสิทธิผลเท่ากับการสัมผัสแสงสว่างในช่วงเช้าเพื่อเพิ่มความตื่นตัวและสภาพอารมณ์ในผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาล
การสัมผัสกับแสงมีบทบาทสำคัญในกระบวนการทางชีวภาพ มีอิทธิพลต่อสภาพอารมณ์และความตื่นตัว ผู้ปฏิบัติงานในช่วงเวลากลางวันอาจได้รับแสงที่ไม่เพียงพอ หรือไม่เหมาะสมในช่วงเวลากลางวัน ทำให้เกิดความแปรปรวนของสภาพอารมณ์ และลดระดับความตื่นตัว
เพื่อประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยของแสงเพื่อเพิ่มความตื่นตัวและสภาพอารมณ์ของผู้ปฏิบัติงานในช่วงเวลากลางวัน
เราสืบค้น the Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL), MEDLINE, Embase ฐานข้อมูลอื่นๆอีก 7 ฐาน ClinicalTrials.gov และ the World Health Organization trials portal จนถึงเดือนมกราคม 2018
เรานำเข้าการศึกษาแบบ randomised controlled trials (RCTs) และ non-randomised controlled before-after trials (CBAs) ที่ใช้การออกแบบ แบบ cross-over หรือ parallel-group มุ่งเน้นที่ชนิดของแสงที่ใช้ในผู้ปฏิบัติงานช่วงเวลากลางวัน
ผู้วิจัย 2 คนคัดกรองเอกสารอ้างอิงใน 2 ขั้นตอน คัดลอกข้อมูลผลลัพธ์และประเมินความเสี่ยงของการมีอคติอย่างอิสระต่อกัน เราใช้ standardised mean differences (SMDs) และช่วงเชื่อมั่น (CI) 95% เพื่อรวมข้อมูลจากแบบสอบถามและสเกลต่างๆ เพื่อประเมินผลลัพธ์เดียวกันในการศึกษาต่างๆ เรารวมการศึกษาทางคลินิกที่คล้ายคลึงกันใน meta-analysis เราใช้ระบบ GRADE เพื่อประเมินคุณภาพของหลักฐาน
จากการสืบค้นพบ 2844 รายการ หลังจากการคัดกรองจากชื่อเรื่องและบทคัดย่อ เราพิจารณาบทความแบบเต็มฉบับ 34 เรื่องเพื่อนำเข้า เราพิจารณารายงานตามเกณฑ์การคัดเข้า มีการศึกษา 5 เรื่องที่เป็นไปตามเกณฑ์คัดเข้า (การศึกษาแบบ RCTs 3 เรื่อง และการศึกษาแบบ CBAs 2 เรื่อง) มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 282 คน การศึกษาเหล่านี้ได้ประเมินการเปรียบเทียบ 4 ประเภท ได้แก่ แสงแบบขาวนวล ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในทางเทคนิคว่ามีความสัมพันธ์สูงกับอุณหภูมิของสี เปรียบเทียบกับแสงมาตรฐาน; สัดส่วนความแตกต่างของแสงทางอ้อมและแสงทางตรง; การใช้แสงแบบขาวนวลส่วนบุคคลเปรียบเทียบกับไม่มีการรักษา; และใช้แสงสว่างยามเช้ากับแสงสว่างในเวลากลางวันเพื่อความผิดปกติทางอารมณ์ตามฤดูกาล
เราไม่พบการศึกษาที่เปรียบเทียบแสงหนึ่งระดับเปรียบเทียบกับอีกหนึ่งระดับ
เราพบการศึกษาแบบ CBA 2 เรื่อง (ผู้เข้าร่วม 163 คน) เปรียบเทียบแสงแบบ CCT สูงกับแสงแบบมาตรฐาน เมื่อเปรียบเทียบผลการวิเคราะห์ด้วย meta-analysis พบว่า แสงแบบ CCT สูงอาจเพิ่มความตื่นตัว (SMD -0.69, 95% CI -1.28 ถึง -0.10; Columbia Jet Lag Scale และ the Karolinska Sleepiness Scale) เมื่อเปรียบเทียบกับแสงมาตรฐาน 1 ใน 2 การศึกษาแบบ CBA มีผู้เข้าร่วม 94 คน ไม่มีความแตกต่างของสภาพอารมณ์เชิงบวก (ความแตกต่างของค่าเฉลี่ย (MD) 2.08, 95% CI -0.1 ถึง 4.26) หรือสภาพอารมณ์เชิงลบ (MD -0.45, 95% CI -1.84 ถึง 0.94) ประเมินโดยการใช้สเกล the Positive and Negative Affect Schedule (PANAS) แสงแบบ CCT สูงอาจมีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์น้อยกว่าแสงมาตรฐาน (การศึกษาแบบ CBA 1 เรื่อง มีผู้เข้าร่วม 94 คน) การศึกษาทั้ง 2 เรื่องได้รับการสนับสนุนจากภาคอุตสาหกรรม เราประเมินคุณภาพของหลักฐานว่าต่ำมาก
เราไม่พบการศึกษาใดที่เปรียบเทียบความเข้มของการส่องสว่าง และ สเปกตรัมของแสงหรือ CCT เปรียบเทียบกับการรวมกันของความเข้มของการส่องสว่างและสเปกตรัมแสงหรือ CCT
เราไม่พบการศึกษาที่เปรียบเทียบแสงแดดกับแสงที่ประดิษฐ์ขึ้นเอง
เราพบการศึกษาแบบ RCT 1 เรื่อง (ผู้เข้าร่วม 64 คน) เปรียบเทียบผลของสัดส่วนของแสงแบบทางตรงและทางอ้อม แสงทางตรง 100%, แสงทางตรง 70% บวกกับแสงแบบทางอ้อม 30%, แสงแบบทางตรง 30% บวกกับแสงแบบทางอ้อม 70% และแสงแบบทางอ้อม 100% มีความแตกต่างอย่างไม่มีนัยสำคัญต่อสภาพอารมณ์ตามที่ประเมินโดย The Beck Depression Inventory หรือต่อเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ปัญหาเกี่ยวกับสายตา การอ่าน หรือสมาธิ ในระยะสั้นและระยะกลาง เราประเมินคุณภาพของหลักฐานว่าอยู่ในระดับต่ำ
เราพบการศึกษาแบบ RCT 2 เรื่อง เปรียบเทียบแสงที่ให้รายบุคคลกับ no treatment ตามรายงานของการศึกษาแบบ RCT 1 เรื่อง มีผู้เข้าร่วม 25 คน ให้แสงแบบขาวนวลแต่ละคนเป็นเวลา 30 นาทีต่อวัน อาจเพิ่มความตื่นตัว (MD -3.30, 95% CI -6.28 ถึง -0.32; Epworth Sleepiness Scale) และอาจเพิ่มสภาพอารมณ์ (MD -4.8, 95% CI -9.46 ถึง -0.14; Beck Depression Inventory) เราประเมินคุณภาพของหลักฐานว่าต่ำมาก การศึกษาแบบ RCT 1 เรื่อง มีผู้เข้าร่วม 30 คน เปรียบเทียบการใช้แสงสว่างของแต่ละคนในตอนเช้ากับแสงสว่างในยามบ่ายสำหรับภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาล ไม่มีความแตกต่างที่สำคัญเกี่ยวกับระดับการตื่นตัว (MD 7.00, 95% CI -10.18 ถึง 24.18) อาการภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาล (RR 1.60, 95% CI 0.81 ถึง 3.20; จำนวนผู้ร่วมที่มีคะแนน SIGH-SAD ลดลงอย่างน้อย 50%) หรือความถี่ของเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ (RR 0.53 95% CI 0.26 ถึง 1.07) ในบรรดาผู้เข้าร่วมทั้งหมด 57% มีคะแนน SIGH-SAD ลดลงอย่างน้อย 50% เราประเมินคุณภาพของหลักฐานว่าอยู่ในระดับต่ำ
ไม่สามารถประเมินอคติในการตีพิมพ์ได้สำหรับการเปรียบเทียบใด ๆ เหล่านี้
แปลโดย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2020